เงินน้อยเป็นนักลงทุนแบบ VI ได้หรือไม่

แม้ผมจะเห็นด้วยกับหลายๆท่าน ว่าเงินลงทุนมากน้อย ก็สามารถลงทุนตามแนวทาง vi ได้ แต่อีกด้านนึงผมคิดว่า แม้จะลงทุนแบบ vi เหมือนกัน แต่ระดับเงินลงทุนก็มีผลต่อเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ควรจะใช้
ครั้งหนึ่ง Warren Buffett เคยพูดว่า หากวันนี้มีเงินลงทุนแค่ 1 ล้านเหรียญ เค้าสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า 50% ต่อปี ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะช่วงแรกๆที่วอร์เรนลงทุนผ่านห้างหุ้นส่วน เค้าสามารถทำผลตอบแทนได้ประมาณ 30% ต่อปี  ในทำนองเดียวกัน หาก ดร.นิเวศน์ มีเงินลงทุนวันนี้แค่ 1 ล้านบาท ผมคิดว่าแนวทางการเลือกหุ้นของท่าน อาจจะแตกต่างออกไป
เงินลงทุนน้อยๆ ตามนิยามง่ายๆของผม อาจจะเป็นเงินหมื่น เงินแสน และไม่เกิน 1 ล้านบาท ลำพังหากลงทุนโดยแนวทางอนุรักษ์นิยม อาจได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ซึ่งอาจจะเพียงพอและน่าพอใจหากเป็นพอร์ตการลงทุนขนาดกลางหรือใหญ่ แต่ผลตอบแทนระดับนี้ไม่อาจสร้างความแตกต่างในพอร์ตขนาดเล็ก
ดังนั้นหากเป็นพอร์ตการลงทุนระดับเล็กๆ ผมคิดว่าควรมีกลยุทธ์ที่แตกต่างออกไปเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น
กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ ผมมองผ่านภาพใหญ่ 2 ประเด็นคือ
1. ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด
2. ต้องทำให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด
ประเด็นแรก ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด สามารถแยกเป็นภาพย่อยๆได้อีกคือ
1.1 ควรเพิ่มรายได้ เพิ่มจำนวนเงินให้มากที่สุด
1.2 ลดรายจ่ายให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มเงินออม ที่จะนำมาลงทุน
1.1 เพิ่มรายได้  ผมมองในแง่คนทั่วไปที่ทำงานกินเงินเดือนไม่สูงมาก การเพิ่มรายได้สามารถทำได้โดยการหารายได้เสริม การย้ายงานใหม่ การเพิ่มความรู้เพื่อเพิ่มค่าจ้าง การแต่งงานที่คู่ชีวิตมีรายได้ด้วย (ถ้าโชคดีได้แฟนรวยจะดีมาก) การหยิบยืมเงินจากพ่อแม่หรือญาติในระดับที่หากเสียหายก็ไม่ทำให้เดือนร้อนมาก ที่สำคัญไม่ควรกู้เงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อมาลงทุน เพราะจะมีแรงกดดันจากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา
1.2 การลดรายจ่าย รายจ่ายที่หนักที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คือการผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน คุณสุวภา ผู้เขียนหนังสือ show me the money เคยพูดไว้ว่า ตัวอย่างการใช้เงินที่เลวที่สุดของหนุ่มสาวที่กำลังสร้างอนาคตคือ การซื้อรถ แต่ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร หลายท่านอาจจะบอกว่าทั้งบ้านและรถเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ หรือต้องใช้ประกอบการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ถ้ามองรอบด้าน เราอาจจะพบว่ามีทางเลือกอื่นๆอีก ที่ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้ เช่น
- แทนที่จะผ่อนบ้าน เราอาจจะอดทนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนที่สนิท หรือแม้แต่การเช่าบ้านที่ค่าเช่าไม่สูงมาก เหล่านี้แม้จะไม่สะดวกสบายเท่า แต่สามารถประหยัดทั้งดอกเบี้ยผ่อนและยังสามารถนำเงินต้นไปหาดอกผลจากการลงทุน
- แทนที่จะผ่อนรถ เสียทั้งเงินต้นและดอกและยังมีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ทางด่วน ซ่อมแซม ค่าประกัน เหล่านี้เป็นเงินจำนวนมากที่เราคาดไม่ถึง เราอาจจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ หรือกระทั่งซื้อรถมือสองที่ราคาถูกกว่ามาก หรือหากยังมีค่าใช้จ่ายสูง ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงาน หรือย้ายบ้าน ย้ายที่พักซะเลย ให้ที่ทำงานกับที่พักอยู่ใกล้ๆกันเพื่อประหยัดค่าเดินทาง
รายจ่ายอื่นๆที่พอจะประหยัดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ถ้าคิดเป็นรายจ่ายทั้งปีเราอาจจะตกใจ ทางเลือกคือ เราอาจะโทรน้อยลง หรือไม่โทรเลย (ไม่โทรไม่ตายซักหน่อย) เปลี่ยนเครื่องนานๆครั้ง ใช้เครื่องถูกๆ
ข้างต้นที่เขียนมาคงทำได้ไม่ง่ายครับ เพราะรายจ่ายเหล่านี้ คนปกติทั่วไปในสังคมเค้าทำกัน เรียกว่าบินก่อน ผ่อนทีหลัง เอาสบายไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน แต่หากเราต้องการที่จะแตกต่างจากคนอื่นๆ(อยากรวย) เราควรจะทำให้ได้ อาจจะในรูปแบบหรือวิธีที่ต่างกันออกไปตามฐานะ ความจำเป็นของแต่ละคน
ประเด็นแรก การหากเงินมาลงทุนให้มากที่สุด ผมคงไม่เน้นมากครับ แต่จะไปเน้นในประเด็นที่สองคือทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด
ประเด็นที่สอง ทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด
ประเด็นนี้เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต่างต้องการ และยิ่งหากมีเงินลงทุนไม่มาก การทำผลตอบแทนให้สูงๆยิ่งมีความสำคัญ การมีเงินลงทุนน้อยๆและทำผลตอบแทนในระดับปกติ เช่น 10-15% ต่อปี กว่าที่เงินลงทุนจะเติบโตสมมุติ 1 เท่าตัว อาจใช้เวลา 5 – 6 ปี ซึ่งอาจจะน่าพอใจหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทนกับเงินฝาก แต่อาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในการศึกษาการลงทุน นอกจากนั้น แม้เงินทุนจะเพิ่มขึ้นมาระดับนี้ แต่ด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อย กำไรที่ทำได้ก็น้อยไปด้วย และสุดท้ายจะพาลทำให้นักลงทุนหมดกำลังใจ เพราะดูเหมือนการลงทุนอย่างนี้ทำให้รวยช้า อาจหันเหไปเก็งกำไร หรือไปเสี่ยงโชคกับการธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นว่าจะทำให้รวยเร็วกว่า
การเพิ่มเทคนิค กลยุทธ์เพียงเล็กๆน้อยๆ สำหรับพอร์ตการลงทุนเล็กๆ อาจจะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ ที่จริงกลยุทธ์เหล่านี้ เพื่อนๆหลายท่านก็ทราบกันดีจากที่โพสต์มา แต่หากนำมาเรียบเรียงรวมกันเป็นหมวดหมู่ จะเป็นประโชน์กับเพื่อนๆได้พิจารณาเป็นทางเลือกใหม่ครับ
กลยุทธ์ที่ผมพอจะคิดออกมีดังนี้ครับ
1. การทำการบ้าน(หุ้น) ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นการแปรเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นพลัง – เป็นแรงบันดาลใจ ที่ชัดเจนที่สุด ยิ่งหากเราพอร์ตเล็กเท่าไหร่ เราก็ควรจะทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลหุ้นให้มากขึ้นเท่านั้น มีเพียงสิ่งนี้สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้โดยตรง ทำให้ทุกเวลา ทุกนาที โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่น หากเราไม่มีความรู้ที่จะหาหุ้น ไม่มีความรู้ด้านบัญชี ด้านการเงิน วิธีทีดีที่สุด ก็คือต้องไปเรียน หาหนังสือมาอ่าน หากไม่มีเวลา ไม่ค่อยมีเงิน ผมแนะนำให้ลงเรียนที่ ม.รามคำแหง บัญชีเบื้องต้น หรือการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียน ซื้อหนังสือซื้อชีทมาอ่าน ก็เข้าใจได้ครับ
2. ไปหาปลาตรงที่มีปลา เนื่องจากเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ ดังนั้นเราก็ต้องหาประเภทของหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงๆ เสมือนไปหาปลาตรงที่ๆมีปลา ข้อสังเกตุของผมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ มักเป็นหุ้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หุ้นเหล่านี้แม้มีความเสี่ยงทางธุรกิจบ้าง แต่การเพิ่มยอดขายหรือผลกำไรจะทำได้เร็วกว่าหุ้นมั่นคงขนาดใหญ่มาก ธุรกิจที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นหุ้นเหล่านี้ไม่คอ่ยมีนักวิเคราะห์คอยติดตาม ทำให้โอกาสที่จะเจอหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมีสูง
หลักทรัพย์บางประเภท เช่นวอร์แรนต์ ที่นักลงทุนมักหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งที่ในความเป็นจริงวอร์แรนต์เหล่านี้ในอนาคตก็คือหุ้นสามัญนั่นเอง ดังนั้นเราควรใช้บรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าวอร์แรนต์ในทำนองเดียวกับที่เราประเมินมูลค่าหุ้น หากมูลค่าวอร์แรนต์ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในวอร์แรนต์ และที่จริงการลงทุนในวอร์แรนต์โดยปกติจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นสามัญ เพราะคุณสมบัติจากอัตราทวีผลหรือ Gearing นั่นเอง นักลงทุนที่แสวงหากำไรสูงๆ ไม่ควรมองข้ามการลงทุนในวอร์แรนต์ครับ
3. มองหาตัวเร่งเร้า(ที่รุนแรง) หมายถึง มองหาปัจจัยที่จะเร่งให้กำไรของกิจการเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะหมายถึงราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ตัวเร่งในที่นี้อาจจะเป็นอะไรก็ตาม ที่จะทำให้กำไรของกิจการเพิ่มขึ้นทั้งโดยตัวพื้นฐาน เช่น การขยาย ปรับปรุงกำลังการผลิต การขยายตลาด รวมถึงการเจริญเติบโตปกติของกิจการ การกลับตัวของดีมาน-ซัพพลายของอุตสาหกรรม การซื้อกิจการ การเพิ่มปันผล  กำไรพิเศษ นอกจากนั้นยังอาจเป็นตัวเร่งทางปัจจัยจิตวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร การแตกหุ้น การแจกวอร์แรนต์
หากเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น 2 ตัว ที่มีปัจจัยทางด้านอื่นๆเหมือนๆกันหรือคุณภาพพอๆกัน หุ้นตัวที่มีตัวเร่ง มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
4. เริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด เพราะการที่พอร์ตการลงทุนจะโตมากๆ ต้องอาศัยการทบต้นหรือการนำกำไรไปลงทุนต่อ ดังนั้น ในปีหลังๆพอร์ตการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะเงินต้นมากกว่า แม้จะทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม
การลงทุนให้เร็วที่สุด จะทำให้เราไปถึงจุดที่เงินลงทุนออกดอกออกผลได้เร็ว นอกจากนั้น การที่เราเริ่มลงทุนเร็ว เท่ากับว่าเราได้เริ่มเรียนรู้เร็วไปด้วย ซึ่งความรู้จะพอกพูนไปตามวันเวลา และประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น
เคยมีผลการวิจัยศึกษาพบว่า นักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเท่าๆกัน ทำผลตอบแทนได้เท่าๆกัน ต่างกันตรงที่เริ่มลงทุนห่างกันหลายปี เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของทั้งสองคนจะห่างออกจากกันมากขึ้น เสมือนเส้น 2 เส้นที่ลากออกจากจุดเดียวกัน เส้นทั้ง 2 ทำมุมกันเพียงเล็กน้อย ถ้าลากเส้นยาวขึ้นเรื่อยๆ เส้นทั้งสองจะออกห่างกันมากขึ้นทุกที
5. ผู้บริหารในฝัน เพราะผู้บริหารที่ดีจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติ ผู้บริหารที่นักลงทุนควรมองหาคือ มีความรู้ซึ้งในธุรกิจที่ทำ มีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล มี passion ในงานที่ทำ มีความกระหายที่จะทำให้บริษัทเติบโตและที่สำคัญต้องมองผลประโยชน์ในมุมมองเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ถ้าเจอผู้บริหารที่มีคุณสมบัติข้างต้น ช่วยสะกิดบอกผมด้วย เพราะนี่เป็นสัญญานที่ดีที่จะเจอหุ้นดีๆ การศึกษาปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆประกอบเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนต่อไป
(เทคนิคไม่ยากที่เราอาจจะพบผู้บริหารอย่างนี้ สังเกตุจากบริษัทที่เข้าร่วมงาน oppurtunity day บ่อยๆ เพราะนั่นแสดงว่าผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ กล้าที่จะเปิดเผยต่อนักลงทุนรายย่อย แสดงว่าผู้บริหารอาจจะมั่นใจว่าบริษัทดีจริง)
6. ถือหุ้นน้อยตัว หากเรามีเงินทุนน้อย การกระจายการถือหุ้นหลายๆตัว อาจทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ผลตอบแทนที่ได้จะหักล้างกันทำให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่ควร การเลือกที่จะถือหุ้นน้อยตัวเช่น 2-5 ตัว จะทำให้เรามีความรอบคอบ พิถีพิถันที่จะเลือกถือหุ้นในกลุ่มที่ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้) และหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ผลตอบแทนที่ได้รับจะคุ้มค่า
ตัวเลข 2-5 ตัวอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามระดับความมั่นใจในพื้นฐานของหุ้นที่เราจะลงทุน
7. คาดหวังผลลัพธ์ 100% เลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้กำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง แม้หุ้นเหล่านี้อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะศึกษาให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงนี้ แน่นอนว่าในการลงทุนทุกอย่าง เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ หากเราลงทุนในหุ้นที่แพ้ เราจะแพ้ หากเราเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสทั้งชนะและแพ้ เราจะมีโอกาสทั้งชนะและแพ้ ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษามากน้อยแค่ไหน และบางทีก็เป็น โชคชะตา..
8. Growth always better ถ้าหากหลายท่านจำกันได้ กระทู้ของคุณริวกะเมื่อไม่นานมานี้ TVI Index ที่จริงอาจจะมีเพื่อนๆเอะใจว่า คำตอบการลงทุนที่เราค้นหามานาน อาจจะซ่อนอยู่ในกระทู้ที่ว่านี้ก็ได้ คำตอบที่ผมหมายถึงคือหากเราดูผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นหลายๆตัวที่ทำกำไรสูงๆ ในกระทู้นั้น สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกบริษัทเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock ทั้งสิ้น คำอธิบายแบบเรียบง่ายคือราคาหุ้นขึ้นอยู่กับกำไรที่กิจการทำได้ ถ้ากำไรเพิ่ม ราคาหุ้นก็เพิ่ม คนที่ถือไว้ก็ได้กำไร นักลงทุนทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะมีหุ้นเติบโตสูงอยู่ในพอร์ตเสมอๆ
…เวลาจะเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ หากเราลงทุนในหุ้น Growth…
กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนเบี้ยน้อยหอยน้อย คงมีแค่นี้ครับเท่าที่คิดออก ถ้าเพื่อนๆมีความเห็นอื่นจะเสริมก็จะเป็นประโยชน์ครับ และที่ต้องขอย้ำคือ กลยุทธ์ส่วนใหญ่ คงเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความรู้การลงทุนในระดับนึงแล้ว และจะไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าถามว่ากลยุทธ์ข้อไหนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคงเป็นข้อแรก ถ้าไม่มีข้อแรก ประเด็นอื่นๆก็จะไม่ตามมา
ผมและเพื่อนท่านอื่นๆอาจจะเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่นักลงทุนต้องเดินทางด้วยตัวเองครับ ระหว่างทางอาจจะมีความยากลำบาก มีอุปสรรค มีเพียงทัศนคติที่ถูกต้อง ความตั้งใจ และกำลังใจ จะทำให้เราไปถึงจุดหมายครับ มีบทกวีบทหนึ่ง นำมาฝากเป็นกำลังใจด้วยครับ
เมื่อเริ่มสู้นั้น มันมืดยิ่งกว่ามืด…
ครั้นยืนหยัดยาวยืด มืดค่อยหาย…
พอมองเห็นลางลาง อยู่ทางปลาย…
ชัยชนะ ขั้นสุดท้าย ไม่เกินรอ…

http://stock-trading-technic.blogspot.com


วิธีลงทุนแบบ VI

วิถีชีวิต วิธีลงทุน แบบ VI

1. นักลงทุนเน้นคุณค่าต้องมีจิตอิสระ อิสระจากอารมณ์และอคติ หมายถึงพิจารณาการลงทุนตามเหตุและผลอย่างแท้จริง ไม่ใช้อารมณ์ และขจัดอคติ ความลำเอียงต่างๆ เช่น ความรักหุ้น ความชอบหุ้น ความเชื่อต่างๆที่ไม่จริง อคติเหล่านี้อยู่กับเราโดยไม่รู้ตัว
ส่งผลเสียต่อการลงทุน ยกตัวอย่างอคติบางอย่างนะครับ
- ซื้อหุ้นเพราะว่าเซียนก็ซื้อ
- ซื้อหุ้นเพราะว่าผู้บริหารสวย หล่อ
- ซื้อหุ้นตามกระแส เฮไหนเฮนั่น มีเพื่อนขาดทุนรู้สึกดีกว่ากำไรแต่ไม่มีเพื่อน
- หลีกเลี่ยงหุ้นบางตัวเพราะเป็นหุ้นบาป เป็นการใช้ความเชื่อมากกว่าการมองเป็นธุรกิจ
- หลีกเลี่ยงหุ้นบางตัวเพราะเราเคยขาดทุนตัวนี้มาก่อน ทำให้เข็ดหยาด ที่จริงการขาดทุนที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยกับการลงทุนในปัจจุบันเลย
เราจะขจัดอคติทางอารมณ์ต่างๆได้ เราต้องมีความคิดที่เป็นอิสระ ไม่ไหลไปตามกระแส นั่นทำให้เราต้องมีความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานแบบเหตุและผล เราอาจจะไม่สามารถเป็น VI ที่ดีได้หากเรา…
- กลัวสังคมไม่ยอมรับ
- กลัวตกกระแส
- เชื่อคนอื่นมากกว่าเชื่อเหตุผลที่ถูกต้อง
- เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง หูเบา
- เห่อหลินปิง
การลงทุน VI เป็นวิธีการครึ่งนึง อีกครึ่งนึงเป็นการควบคุมอารมณ์ให้คิดแบบเหตุและผล ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ยาก ปริญญาเอกหลายๆใบก็ช่วยไม่ได้ คล้ายๆกัน การลดความอ้วน ทุกคนรู้วิธีที่จะลดน้ำหนักกันทุกคน แต่ยังมีคนอ้วนเต็มบ้านเต็มเมือง
การลงทุนแบบ VI เป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย หลักการสมเหตุสมผลที่สุด แต่เวลาทำจริงๆกลับยาก เพราะมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง เวป Thaivi มียูสเซอร์ 23,000 คน แต่มีคนที่แอคทีฟไม่เกิน 1 พันคน นี่คงเป็นเพราะ VI ต้องฝืนธรรมชาติ ต้องฝืนอารมณ์ของคนส่วนใหญ่
ดังนั้นเป็น VI ต้องเป็นคนส่วนน้อยครับ
2. แนวทางการลงทุน กับแนวทางการใช้ชีวิตต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเราลงทุนตามแบบ VI แต่กลับใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า ไม่วางแผน อย่างนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความคิดกับการปฎิบัติจะขัดแย้งกันตลอดเวลา ดังนั้นเป็น VI ต้องเป็นทั้งชีวิตและจิตใจหรือพูดได้ว่าเป็น VI ต้องเป็นโดยจิตวิญญานเท่านั้น
3. การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เสมือนการปลูกต้นไม้ เราได้นั่งพักใต้ร่มเงาต้นไม้ นั่นเพราะเราได้ปลูกมันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราลงทุนวันนี้เพื่ออนาคตทางการเงินที่ดีในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า การลงทุนแบบ VI ไม่มีทางลัด ถ้าอยากรวยเร็วๆให้เล่นหวย ให้เล่น TFEX แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงมหาศาล ต้นทุนส่วนหนึ่งการการลงทุนแบบ VI คือความอดทน อดทนจนกว่าผลของมหัศจรรย์การทบต้นจะส่งผล ในปีแรกๆ เงินลงทุนจะเติบโตไปอย่างช้าๆ เงิบๆ หงอยๆ จนถึงจุดหนึ่งในปีหลังๆ เงินลงทุนจะเติบโตแบบจรวด เงินเพิ่มจนเรานับเงินไม่ทัน ดังนั้นอนาคต(ที่ดี)เริ่มตั้งแต่วันวานครับ
4. ชีวิตตลาดหุ้นกับชีวิตคนก็คล้ายๆกัน ในแง่ที่ว่า เราไม่สามารถประมาทมันได้ วันดีคืนดีหุ้นอาจพุ่งทะลุฟ้า แต่วันร้ายๆหุ้นอาจตกฟลอร์ทั้งตลาด เหมือนชีวิตที่เหตุการณ์ร้ายและดีเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีคำเตือน ดังนั้นไม่ว่าจะชีวิตจริงๆหรือชีวิตการลงทุน
จงอย่าตั้งอยู่ในความประมาท อย่ามองแต่ผลตอบแทนจนลืมความเสี่ยง เมื่อรู้ว่าเราอาจจะตายที่ไหน ก็อย่าไปที่นั่น ลงทุนอะไรที่มีโอกาสหมดตัว ก็อย่าไปลงทุนครับ

Credit >> http://stock-trading-technic.blogspot.com


วิธีการลงทุนสไตล์พี่โจ ลูกอีสาน

วิธีการเรียบง่ายที่ผมใช้ทำมาหากินแทบทุกครั้ง จะเป็นอย่างนี้ครับ..

1. หา P/E ที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท บริษัทไหนที่คาดการง่ายหน่อย กำไรโตเรื่อยๆ ปันผลดี พวกนี้จะ P/E สูงเหมือนพวกค้าปลีก โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนพวกที่ด้อยกว่า เช่น พวกรับเหมา ก็ให้ P/E ต่ำๆ
2. หา P/E ในอนาคต(อันใกล้)ของบริษัทที่เราสนใจ นี่หมายความว่าเราต้องประมาณกำไรของกิจการได้ เราจะทำได้ต้องหาข้อมูลเพื่อประเมินกำไรให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
3. หาส่วนต่างของ P/E ที่เหมาะสม และ P/E ที่จะเกิดขึ้นจริง เช่น เราประเมินว่าบริษัทนี้ควรมี P/E 15 เท่า แต่เราประเมินแล้วราคาตลาดวันนี้หรือในอนาคตใกล้ๆนี้ P/E แค่ 7 เท่า นั่นแสดงว่า ราคาตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 50% (มี margin of safety 50%) อย่างนี้น่าสนใจครับ ปกติต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นซัก 30% ผมก็สนใจแล้ว
ผมมีความเชื่ออย่างนี้นะ..
*ระยะยาว หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเสมอ
*ตลาดเหมือนฤดูกาลที่มีทั้งรุ่งเรืองตกต่ำ หน้าหนาว-หน้าร้อน ขอให้เราเข้าใจและหาประโยชน์จากความจริงข้อนี้
*นักลงทุนเอกของโลกทุกคน เคยผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง หนักหนากว่านี้ก็มี ถ้าหยุดลงทุนก็คงไม่มีวันนี้ แม้แต่ ดร.นิเวศน์ ท่านเริ่มลงทุน 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ดัชนีประมาณ 800 จุด ท่านได้ผลตอบแทน 30 เท่า ทั้งที่วันนี้ดัชนีตลาดต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว
*ผมพูดเสมอๆว่า ตรรกะของการทำกำไรจากหุ้นคือ ซื้อถูกขายแพง คำถามต่อไป แล้วเราจะขายได้แพงตอนตลาดเป็นแบบไหน และหากเราจะซื้อของให้ได้ราคาถูก เราจะซื้อได้ตอนที่ตลาดเป็นอย่างไร
*การขายหุ้นและเลิกลงทุนตอนตลาดตกต่ำ เป็นการละเมิดศีลที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน vi เพราะนั่นหมายความว่า เราจะไม่มีโอกาสได้กำไรกลับคืนตอนตลาดกลับไปรุ่งเรืองเลย
*มองไปวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แล้วทุกอย่างในวันนี้มันจะผ่านไป
*อย่าให้อารมณ์ของตลาด มาหยุดความมุ่งมั่นในการลงทุนของเรา อย่าทำให้เราหมดกำลังใจที่จะทำการบ้าน ศึกษาหาความรู้
*เราลงทุนวันนี้ ไม่ใช่เพื่อให้รวยพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ แต่เพื่อ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า
*เราจะรู้ว่าใครแก้ผ้า ก็ตอนน้ำลด
ผมแนะนำครับ..
1. หามูลค่าที่เหมาะสมเสียก่อน พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ
2. ดูราคาในตลาด ว่าสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่เราคำนวณได้
3. ตัดสินใจ ซื้อหรือขาย
ผมมองว่าที่หลักการลงทุน vi เติบโตเด่นได้รับความนิยมขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะมีตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเป็นเหตุเป็นผลของมัน คือหุ้นจะขึ้นจะลงเพราะมีเหตุผลทางธุรกิจ ไม่ใช่หุ้นจะขึ้นเพราะหลายคนบอกว่าจะขึ้น และมันจะลงเพราะหลายคนบอกว่ามันจะลง
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างเดียว เพราะเป็นคนก็ต้องมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมก็ยังเป็น แต่ถ้าเราจะเป็น vi ที่ประสบความสำเร็จ เราต้องพิจาณาด้วยเหตุผลธุรกิจเป็นหลักครับ
ส่วนเรื่องจาก ซื้อเพิ่ม, cut loss ผมไม่กล้าแนะนำ แต่ผมจำที่ใครคนหนึ่งเคยพูดทำนองว่า ลืมต้นทุนที่ซื้อมา คิดเสียว่าพอร์ตตอนนี้เป็นเท่าไหร่ หุ้นในตลาดตัวไหนน่าซื้อที่สุด ขายไปซื้อตัวนั้น ถ้าเป็นตัวเดิมก็ไม่ต้องทำไร
ผมเชื่อว่า มี 2 แรงที่ผลักดันราคาหุ้น
1. กำไร >> เราเรียกรวมว่า พื้นฐาน
2. ปัจจัยด้านจิตวิทยา – อารมณ์ของตลาด
ประเด็นแรก เป็นสิ่งที่นักลงทุนแนว vi ต้องวิเคราะห์อยู่แล้ว แต่ถ้าเข้าใจประเด็นที่สองด้วย ก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อีกครับ ผมตอบไม่ได้ชัดเจนว่า เราจะดูอารมณ์จิตวิทยาของตลาดได้อย่างไร(ยังไม่รู้จริง) แต่ประมาณว่า ถ้าเราเข้าใจอารมณ์ตลาด เรามักจะได้ซื้อหุ้นที่ดี ที่ราคาไม่แพง
เหมือนที่ Graham เปรียบเปรยเป็นนิทาน Mr. Market ครับ นอกจากนั้น เราอาจพิจารณาจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดว่า เค้านิยมหุ้นพิมพ์แบบไหน ในอุตสาหกรรมใดที่กำลังจะฮอต หุ้นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ราคาต่ำหรือราคาสูง เหล่านี้เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ครับ เราลงทุนแนว vi แต่พิจารณาไว้บ้างก็ไม่เสียอะไร
ผมปรับพอร์ตบ่อยๆครับ เหตุผลมักเป็นอย่างนี้
1. เจอหุ้นตัวที่ดีกว่า แต่ไม่มีเงินก็ต้องขายตัวที่ด้อยที่สุดไป
2. ตัวที่ถือพื้นฐานเปลี่ยน อันนี้แน่นอนก็ต้องขายออก
3. หุ้นขึ้นจนราคาสมเหตุสมผล ผมก็อาจจะขายไปเพิ่มตัวที่ยังต่ำกว่ามูลค่า
4. หุ้นลงผมก็ปรับพอร์ต ขายตัวที่ลงน้อยไปซื้อตัวที่มีอัพไซด์มาก
ผมก็ปรับไปเรื่อยครับ ตามข้อมูลที่ได้รับมา ไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าบ่อยแค่ไหน หรือกี่เปอร์เซนต์ของพอร์ต ตั้งแต่ซื้อหุ้นมายังถือไม่เกิน 3 ปีเลยครับ เฉลี่ยเกือบๆปีประมาณนั้น แต่เห็นด้วยครับว่า ตลาดผันผวน เราสามารถใช้การปรับพอร์ตหาประโยชน์จากความผันผวนนั้นได้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และหุ้น ถ้าตลาดซบเซาหนักๆเราก็ควรย้ายเงินจากกองทุนมาลงหุ้นให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนไปถือหุ้นตัวทีมีอัพไซด์สูงกว่า หากตลาดเป็นขาขึ้น หาหุ้นลงทุนได้ยาก อาจจะต้องเปลี่ยนไปถือตัวที่ defensive มีปันผลเยอะหน่อยๆ ประมาณนี้ครับ
ระยะเวลาที่ถือหุ้น สั้นที่สุดนี่จำได้ว่าประมาณ 1 อาทิตย์ครับ ซื้อแล้วขึ้นไปประมาณ 30% ผมก็ขายซิครับ เพราะผมหวังผลตอบแทนแค่นั้น ส่วนยาวนี่ไม่แน่ใจครับ ประมาณ 2 ปี ที่จริง ประเด็นเรื่องเวลาการถือครองหุ้นไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ คำถามที่สำคัญกว่าคือ ราคาเหมาะสมกับพื้นฐานหรือยัง และการถือหุ้นนานๆก็มีผลเสียนะครับ เช่น เราจะเฉื่อยชา ผูกผัน เกิดความลำเอียง รักหุ้นตัวเอง
และถ้ามองในแง่ผลตอบแทน ดูตัวเลขนี้ครับ
*หุ้นตัวแรก เราซื้อผ่านไป 1 ปี ขายที่ราคาเป้าหมายได้กำไร 60% ทั้งปีได้กำไร 60%
*หุ้นตัวที่ 2 เราซื้อผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมาย ขายออกไปซื้อหุ้นตัวที่ 3 ผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมายอีก รวมทั้งปีได้ผลตอบแทน 96%
หุ้นตัวแรกให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ถ้าให้เลือกผมขอซื้อหุ้นตัวที่ 2-3 ดีกว่า นี่คงคล้ายกับ turnover rate ในงบดุลครับ ยิ่งหมุนมากกำไรก็ยิ่งมาก(เรายังไม่พูดถึงความเสี่ยงนะ)
ผมติดตามพื้นฐานของหุ้นที่อยู่ใน watch list เสมอๆ
ผมมีหุ้นที่ติดตามผลกำไรทุกไตรมาส ประมาณ 80 ตัว และหุ้นที่ติดตามแบบห่างๆอีกประมาณ 120 ตัว รวมๆก็ครึ่งนึงของตลาดพอดี
ผมเชื่อว่า ยิ่งติดตามมาก เราก็ยิ่งรู้พื้นฐานมากขึ้น ขอบข่ายความรู้มากขึ้น ยิ่งติดตามมาก โอกาสที่จะเจอช้างเผือกก็สูง เวลามีข่าวสารเข้ามาเราก็รู้ทันทีว่า เป็นข่าวดีหรือไม่ดี ซื้อหรือไม่ซื้อ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้อมูลอีก
ผมอ่านหนังสือพิมพ์หุ้นเกือบทุกฉบับ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ อ่านงานวิจัยของโบรคเกอร์ อีไฟแนนซ์ ข่าวตลาด และ tvi ประมาณนี้ครับ อ่านแบบสแกน ถ้าเจอหุ้นที่น่าสนใจจะอ่านแบบละเอียด ไม่อย่างนั้นต้องใช้เวลาเยอะ
คือถ้าเราติดตามข่าวสารบ่อยๆเราจะรู้ว่าแหล่งข่าวไหนที่เราควรจะอ่านครับ
ที่จริงใช้เวลาวันละ 2 ชม. ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนแบบมุ่งเน้น(ผลตอบแทน) หรือวันละ 1 ชม. สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นแบบการออม
ผมเคยทำงานประจำมาก่อน ยอมรับว่ามีข้อจำกัดเยอะกว่าคนที่ลงทุนเต็มเวลา และไม่สนับสนุนให้ทุกคนลาออกเพียงเพื่อจะได้มีเวลาหาข้อมูล แต่เราก็ควรให้เวลากับการลงทุนตามสมควร
เพราะการใช้เวลาวันละเล็กละน้อยหลังเลิกงาน หาข้อมูล อาจจะเปลี่ยนสถานะภาพทางด้านการเงิน เปลี่ยนชีวิตคนๆนึงได้เลย ในขณะที่ถ้าทำงานประจำอย่างเดียวมีโอกาสน้อยกว่ามาก
ผมยังจำได้ดร.นิเวศน์เคยเขียนบทความทำนองว่า เราใช้เวลาส่วนใหญ่วันๆไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ และให้เวลาน้อยเกินไปกับเรื่องทีสำคัญที่สุด

Credit >> http://stock-trading-technic.blogspot.com


การดูค่า PE Ratio ของหุ้น

เวลาดูค่า P/E ว่าเหมาะสมแค่ไหนที่จะเข้าไปลงทุน โดยมากมักจะเอาค่า P/E ของตลาดโดยรวมมาเป็นตัวเปรียบเทียบก่อนว่า P/E ของหุ้นนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าตลาดแค่ไหน ต่อมาเราต้องดูศักยภาพของธุรกิจนั้นประกอบ เพราะหุ้นที่ P/E ต่ำกว่าตลาด เมื่อวิเคราะห์ไปแล้วอาจเป็นไปได้ทั้งกรณีที่ "ราคาหุ้นนี้ต่ำเกินไปจนน่าสนใจลงทุนมาก" หรือไม่ก็ "หุ้นตัวนั้นสมควรแล้วที่จะมี P/E ต่ำเพราะธุรกิจไม่โตหรือถดถอย" ก็ได้

ส่วนหุ้นที่มี P/E สูงๆ ไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นปั่นหรือไม่น่าซื้อเสมอไป หุ้นที่มี P/E ที่สูงแล้วยังน่าลงทุนอยู่นั้น จะต้องเป็นหุ้นที่ผลกำไรมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่มั่นคง (ไม่ใช่กำไรมาแบบวูบเดียวแล้วหายไป) ซึ่งจะทำให้กำไรในอนาคตสูงขึ้นมาก และ P/E จะต่ำลงในที่สุด
เวลาเจอหุ้น P/E ที่สูงกว่าตลาดจึงต้องพิจารณาดูว่า ธุรกิจนั้นมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ผลกำไรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและดีกว่าตลาดหรือเศรษฐกิจโดยรวมจนในอนาคตหุ้นตัวนี้จะมี P/E ที่ต่ำลงเอง (เพราะ E โตเร็ว) แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นไปได้ยาก ก็ไม่ควรไปยุ่งกับมันครับ เพราะความเสี่ยงจะสูง

สิ่งที่อยากเตือนผู้ลงทุนคือ "เวลาที่เราซื้อหุ้นหมายถึงเรากำลังซื้ออนาคตของหุ้นนั้น" ค่า E ที่เอามาใช้ในการประเมินค่า P/E ควรจะเป็นค่า E ในอนาคต ซึ่งมาจากการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ครับ เราควรเลือกหุ้นที่ E มีแนวโน้มจะโตขึ้นไม่ใช่ถดถอย เราอาจซื้อหุ้นที่ E ไม่โตหรือโตน้อยได้แต่หุ้นนั้นต้องมี P/E ที่ต่ำกว่าตลาดและควรเป็นธุรกิจที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้สูง สม่ำเสมอ และธุรกิจนั้นไม่ได้มีแนวโน้มถดถอย ความยากในการลงทุนก็คือการพยากรณ์อนาคตนี่แหละครับ ก่อนซื้อหุ้นใดจึงต้องพยายามคิดถึงแนวโน้มของธุรกิจให้ดีเสียก่อน

Credit >> http://www.thanachartfund.com



วิธีวัดมูลค่าหุ้นแบบ DCF

1.ว่ากันตามทฤษฎีทางการเงินการวัดมูลค่าหุ้นด้วย model ของ DCF ( Discounted Cash Flow ) จัดเป็นการวัดมูลค่าหุ้นที่แม่นยำที่สุด เพราะเป็นการประเมินมูลค่าหุ้นจากการนำกระแสเงินสดอิสระทั้งหมดที่บริษัทจะผลิตได้ ตั้งแต่วันนี้จนไปถึงอนันตกาล

2.คำถามแรกคือ กระแสเงินสดอิสระ ( Free Cash Flow : FCF ) คืออะไร, FCF ก็คือ กระแสเงินสดที่เกิดจากกำไรอันเป็นรูปเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ลบด้วยจำนวนเงินที่จะเก็บไว้ลงทุนต่อและเงินที่ต้องเก็บไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ( เขียนเป็นสมการจะได้เป็น : FCF = Operating Cash Flow – [ Capital Expenditure + Change in Working capital ] )

3.แล้วทำไมการวัดมูลค่าบริษัทด้วย Summation of FCF ถึงมีความแม่นยำสูงสุด? คำตอบก็คือเป็นเพราะ FCF เป็นสิ่งที่สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดีที่สุด เนื่องจาก FCF เป็นตัวที่บ่งบอกว่าบริษัทผลิต”เงินสด” ที่สามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ ( รวมทั้งเอามาจ่ายเป็นปันผลให้ ผถห. ) ได้มากน้อยแค่ไหน…. แน่นอนว่าเราลงทุนกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เราก็ย่อมจะคาดหวังว่าบริษัทจะเป็น”เครื่องจักรผลิตเงินสด” ให้เรา ดังนั้นการวัดที่กระแสเงินสดอิสระที่บริษัทจะผลิตได้ ย่อมเป็นการวัดที่ตรงประเด็นต่อนลท.ที่สุด ( การวัดที่กำไรสุทธิอย่างเดียว อาจไม่บอกอะไรมาก เพราะธุรกิจบางประเภทอาจจะต้องลงทุนตลอดเวลา ได้กำไรมาเท่าไรก็ต้องเอากำไรไปแปลงเป็นเครื่องจักรเสียหมด ไม่เหลือ”เงินสด”ลงมาถึงผถห. )

4.กลับมาที่สมการ FCF = OCF – [ CAPEX + CWC ] ผมจะอธิบายตัวแปรในสมการแต่ละตัวอย่างละเอียด

5.เริ่มจาก Operating cash flow ( OCF ) : OCF คือกระแสเงินสดที่ไหลเข้าบริษัทจากการดำเนินงาน ซึ่งวิธีคำนวณก็ง่ายๆ นั่นคือเอากำไรสุทธิของบริษัท มาบวกคืนด้วยรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก็ก็คือค่าเสื่อมและค่าความนิยม ( Depreciation and Amortization ) หรือเขียนเป็นสมการจะได้เป็น : OCF = Net Profit + DA

อย่างไรก็ตาม นลท.บางท่าน อาจจะใช้ OCF = EBIT x ( 1 – T ) + DA แทน, เหตุที่ใช้ EBIT x ( 1 – T ) แทน Net Profit เพราะถือว่า Interest เป็นผลตอบแทนของเจ้าหนี้ เลยต้องนำมาบวกคืน แต่สำหรับความเห็นผม ผมเห็นว่า Interest เป็นรายจ่ายที่เป็นเงินสดจริงๆ เลยไม่ได้นำมาบวกกลับเวลาคิด FCF

DA เราสามารถหาออกมาได้จากงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท

6.ตัวแปรตัวต่อมาที่ผมจะพูดถึงคือ Capital Expenditure ( CAPEX ) : CAPEX คือค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์มาใช้ในการดำเนินงานของบริษัท เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องจักรใหม่ ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ เป็นต้น, CAPEX ปกติจะมีด้วยกันสองส่วนคือ Investing CAPEX ( CAPEX ที่ใฃ้เพื่อซื้อสินทรัพย์ใหม่ ) และ Maintainance CAPEX ( CAPEX ที่ใช้ในการทำนุบำรุงสินทรัพย์เก่าให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ )

CAPEX เราสามารถหาได้จากงบกระแสเงินสดจากการลงทุนของบริษัท

7.ตัวแปรสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ Working Capital ( WC ) : WC ก็คือเงินที่บริษัทต้องใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการบริหารบริษัท เพราะในการทำการค้าบริษัทมักจะจำเป็นที่จะต้องให้ credit กับลูกค้า จึงจำเป็นจะต้องมีเงินสดจำนวนหนึ่งไว้หมุนเวียนก่อน ขณะที่ยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ( อย่างไรก็ดี บริษัทก็มักจะได้ credit จาก supplier ด้วย หากเครดิตจาก supplier ยาวนานกว่า credit ที่ให้ลูกค้า บริษัทก็อาจจะแทบไม่ได้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเลยก็ได้ )

สรุปออกมาเป็นสูตรง่ายๆว่า WC = ทรัพย์สินหมุนเวียน ( ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้การค้าของบริษัท ) – หนี้สินหมุนเวียน ( ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่ติด supplier ไว้ )

แต่สูตรที่เราใช้คำนวณนั้นเป็น Change in Working Capital ( CWC ) เนื่องจากเราต้องการรู้ว่าในแต่ละรอบปีที่เราจะคำนวณ FCF บริษัทจะต้องกันเงินไว้ใช้หมุนเวียน เพิ่มหรือลดลงเท่าไร

ซึ่ง CWC คำนวณได้จาก : WC ปีที่เราคิด – WC ปีก่อนหน้านั้น 1 ปี = ( ทรัพย์สินหมุนเวียนปีที่เราคิด – หนี้สินหมุนเวียนปีที่เราคิด ) – ( ทรัพย์สินหมุนเวียนปีก่อน – หนี้สินหมุนเวียนปีก่อน )

ตัวแปรที่ใช้คำนวณ CWC อันได้แก่ ทรัพย์สินหมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียน สามารถหาได้จากงบดุล

8.หลังจากเราหาตัวแปรต่างๆ ( อันได้แก่ OCF, CAPEX, WC ) ได้ครบ เราก็จะสามารถหา FCF ออกมาได้ ( การหา OCF, CAPEX, WC ในอนาคต จะกล่าวถึงในบทความต่อไป บทความนี้จะขอพูดแต่ concept การคิดคร่าวๆก่อน ) หลังจากนั้นเราก็เอา FCF มาบวกกันเสีย แล้วเอาหนี้มาลบออกเราก็จะได้มูลค่าของกิจการ

มูลค่าของกิจการ ( Market Cap ) = ( FCF ปีที่ 1 + FCF ปีที่ 2 + FCF ปีที่ 3 + …. + FCF ปีที่อนันต์ ) – หนี้ของบริษัท

9.การคำนวณแบบข้างบนดูเหมือนว่าน่าจะถูก แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมคิดไปก็คือว่า เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้า มีมูลค่าไม่เท่ากับเงิน 100 บาทในวันนี้

10. ผมจะลองยกตัวอย่างง่ายๆ ประกอบความเข้าใจ สมมติว่ามีเศรษฐีใจบุญคนนึงจะมาแจกเงินให้คุณ 100 บาท แล้วเค้าให้คุณเลือกว่า คุณจะเอาเงินตอนนี้เลยหรือ รออีกหนึ่งปีค่อยมาเอาก็ได้ แน่นอนว่าเราก็ต้องเลือกที่จะเอาตอนนี้เลย เพราะถ้าเราเลือกเอาตอนนี้แล้วเราเอาไปฝากประจำหนึ่งปี เงิน 100 จะงอกเงยเป็น 102 บาท แตกต่างจากการที่เรารออีก 1 ปี ค่อยไปเอา ที่มูลค่ามันก็ยัง 100 บาทเท่าเดิม

11.จากตัวอย่างในข้อ 10 ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าเงิน 100 บาทในวันนี้ มีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทที่จะได้ในอีก 1 ปีข้างหน้าแน่ๆ แต่คำถามต่อไปที่จะต้องคิดก็คือว่า แล้วเงิน 100 บาทที่จะได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า มีค่าเท่าไรกันแน่ถ้าเทียบเป็นมูลค่าในวันนี้ ? ถ้าคิดง่ายๆว่า เราจะเอาไปฝากประจำ 1 ปี แล้วได้ดอก 2% ดังนั้นเงิน 100 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า จะมีค่าเท่ากับ 100 / 1.02 = 98.04 บาท ( แปลง่ายๆอีกที เงิน 100 บาทใน 1 ปีข้างหน้า มีมูลค่าเทียบเท่ากับเงิน 98.04 บาทในวันนี้ เพราะเงิน 98.04 บาทสามารถเอาไปฝากประจำ 1 ปี ได้ดอก 2% แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 98.04 x 1.02 = 100 ] )

12. แล้วถามต่อว่าเงิน 100 บาที่เราจะได้ในอีก 2 ปี, 3ปี, 4ปี…. nปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเทียบเป็นเท่าไรในวันนี้? คำตอบก็ไม่ยาก คิดแบบฝากประจำดอกเบี้ยทบต้น 2% / yr เหมือนเดิม จะได้ว่าเงิน 100 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีค่าเท่ากับ 100 / ( 1.02 )^2 = 96.11 บาท เพราะเงิน 96.11 บาทสามารถเอาไปฝากประจำได้ดอก 2% /yr ( ทบต้น ) แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 96.11 x 1.02 x 1.02 = 100 ] ซึ่งถ้าเราเอามาคิดเป็นปีที่ n ก็จะได้ว่าเงิน 100 บาทในปีที่ n มีมูลค่าเท่ากับ 100 / ( 1.02 )^n

13. ที่นี้ถามว่า ถ้าเรามองไปที่บริษัท บริษัทหนึ่ง เงิน 100 บาท ที่บริษัทจะผลิตได้ในอีก 1 ปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเท่าใดเทียบกับปัจจุบัน แน่นอนว่าเราต้อง”คิดลด” มากกว่าการแค่เอาเงินไปฝากธนาคาร เพราะการทำธุรกิจมีความเสี่ยงมากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากธนาคารมาก ตรงนี้ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆให้เห็นภาพ การซื้อหุ้นกู้ของบลจ. เค้าจะให้ดอกกับเรามากกว่าดอกของธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล ( เพราะการลงทุนให้บลจ. กู้ มีความเสี่ยงมากกว่าการให้ธนาคาร หรือรบ.กู้ )

แม้แต่หุ้นกู้ด้วยกัน บริษัทที่มีความเสี่ยงมากย่อมจะต้องเสนอดอกเบี้ยที่มากกว่าเพื่อดึงดูดให้นลท.ซื้อหุ้นกู้ของตัวเอง ผมจะยกตัวอย่างง่าย ถ้า CAWOW ออกหุ้นกู้มาดอก 7% ก็คงไม่มีใครยอมชื้อ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่ CAWOW จะขาดทุนย่อยยับจนไม่มีเงินมาจ่ายคืนหุ้นกู้ ( CAWOW อาจจะต้องให้ดอก 20% มาล่อ ถึงจะคุ้มค่าเสี่ยง ) แต่ทำนองตรงข้าม ถ้า CPALL ออกหุ้นกู้ดอก 7% มา ก็คงมีนลท.มากมายแย่งกันไปซื้อ เพราะรู้แน่ๆ ว่า CPALL จะกำไรมากพอมาจ่ายดอกจ่ายต้นคืนให้กับเรา

14. จากตัวอย่างในข้อ 13 ผมจะใช้แนวคิดในเรื่องดอกเบี้ยของหุ้นกู้มาอธิบายเรื่องมูลค่าของเงินสดในอนาคต

สมมติเราลงทุนใน CAWOW แล้วเราคาดหวังว่าในอนาคตอีก 1 ปี CAWOW จะผลิตเงินสดให้เรา 100 บาท ถามว่าเงิน 100 บาทที่เราคาดหวังจาก CAWOW ในอีก 1 ปี ควรจะมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน คำตอบคือจะมีมูลค่าเพียง 100 / 1.2 = 83.33 บาท เพราะเงิน 83.33 บาทสามารถเอาไปซื้อหุ้นกู้ของ CAWOW ดอก 20% /yr แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 83.33 x 1.20 = 100 ] และในทำนองเดียวกันเงิน 100 บาทที่เราคาดหวังว่าจะได้จาก CPALL ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าในวันนี้เท่ากับ 100 / 1.07 = 93.45 บาท

15. การที่เราคำนวณว่าเงินในอีก 1, 2, 3,….. n ปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเทียบเท่าเป็นเงินกี่บาทในปัจจุบัน ดังที่ผมคำนวณให้ดูข้างต้น ภาษานักการเงินเค้าเรียกกันว่า “การคิดลด” และการนำกระแสเงินสดที่คาดหวังในแต่ละปี มาคิดลด แล้วก็นำมารวมกันเพื่อหามูลค่าของกิจการ เราเรียกว่า “ Discounted cash flow ( การคิดลดกระแสเงินสด ) “

16. คำถามต่อมาก็คิอ แล้วหุ้นตัวไหน เราควรจะคิดลดเท่าไร อันที่จริงการหาตัวเลขมาคิดลด มีสูตรคำนวณที่เรียกว่า WACC ( Weighted average cost of capitol ) แต่เนื่องจากผมจะพยายามนำเสนอการทำ DCF แบบง่ายๆ เลยตัดการคำนวณตรงนี้ทิ้งไป และว่ากันตามจริง ผมก็ไม่ค่อยเชื่อการคำนวณของ WACC ด้วยซ้ำ เพราะการคำนวณ WACC ต้องอาศัยค่า Beta ของหุ้น ซึ่งสมมติฐานสำคัญของการใช้ Beta ก็คือตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ซึ่งผมเองในฐานะ Value Investor ไม่เคยเชื่อว่าตลาดจะมีประสิทธิภาพ

17.แล้วผมคิดลดอย่างไร? ผมคิดลดโดยอาศัยการดูข้อมูลเชิงคุณภาพของบริษัทเอา อย่างเช่นกรณีของ CPALL ผมอาจจะคิดลดสักแค่ 7 -8% แต่กรณีของ N-PARK ผมอาจจะใช้ที่ 12 -13% และส่วนใหญ่ผมจะคิดลดไว้หลายๆ ค่า แล้วมาดูต่อว่ามูลค่าของกิจกา ที่เราคิดโดยอาศัยการคิดลดเยอะๆ นั้น มากน้อยกว่าราคาในกระดานอย่างไร เพื่อเป็นการเผื่อ MOS ไปเลย

18. โดยสรุป เราจะได้สมการออกมาว่า

มูลค่าของกิจการ ( Market Cap ) = ( [FCF ปีที่ 1 / 1.0X] + [FCF ปีที่ 2 / 1.0X^2] +[ FCF ปีที่ 3/1.0X^3] + …. + [FCF ปีที่อนันต์ / 1.0x^อนันต์] ) – หนี้ของบริษัท


PE ratio

1. การใช้ PE ratio เพื่อประเมิน fair value ของกิจการที่เราลงทุน จัดได้ว่าเป็นวิธีการที่ง่าย และให้ sense ถึงความถูกแพงของหุ้นได้เป็นอย่างดี

2. อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ การใช้ PE ratio อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ยาก เพราะการใช้ PE ratio นั้นต้องอาศัยทั้ง”ศิลปะ” และ “ประสบการณ์” พอสมควร

3. สิ่งแรกที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ PE ratio ที่เราใช้นั้นควรจะเป็น PE ratio ของ”อนาคต” นั่นหมายความว่าเราต้องสามารถใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพมาประเมินผลกำไรในอนาคตให้ได้เสียก่อน ( ผมมองว่าอย่างน้อยเราควรจะต้องประเมินผลกำไรอีก 2 ปี ข้างหน้าให้ได้ ) ก่อนที่จะให้อัตราส่วนทางการเงินตัวนี้

4. ไกด์ไลน์คร่าวๆ สำหรับการใช้ PE ratio… สิ่งแรกที่ผมจะพิจารณาก็คือคุณภาพของ E ( ซึ่งก็คือคุณภาพของกิจการ ) ถ้ากิจการเป็นกิจการที่ดีมากๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง ( super stock ) มีรายได้ที่สม่ำเสมอ และมีกำไรที่มีสเถียรถาพซึ่งสามารถเติบโตได้ทุกปี ผมมักจะให้ pe 12 -15 สำหรับกิจการที่ดีพอสมควร มีการเติบโตติดกันหลายๆปี แต่อาจจะไม่ได้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันมากนัก รายได้อาจจะผันผวนในบางไตรมาส ผมก็มักจะลด pe ลงมาเหลือ 8 -12 ส่วนกิจการ”งั้นๆ” กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ผมก็มักจะให้ที่น้อยกว่า 8

5. สิ่งที่ผมจะใช้ต่อไป ก็คือ PE ratio เฉลี่ยของอุตสาหกรรม อย่าลืมว่า E เกิดจากคุณภาพของกิจการ แต่ PE ratio เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุน ดังนั้น PE ratio ของอุตสาหกรรมนั้นจะเป็น reference คร่าวๆ ให้กับเราได้เป็นอย่างดีว่านักลงทุนส่วนใหญ่มองอุตสาหกรรมนั้นๆอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราไปพบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งถูกเทรดที่ PE แค่ 5 แล้วเราดูงบการเงินย้อนหลังไป เราก็พบว่าบริษัทก็มีผลกำไรสม่ำเสมอ พอสมควร แบรนด์ของบริษัท ก็เป็นที่รู้จักในตลาด เราอาจจะคิดว่านี่คือหุ้นที่”ดี” และน่าจะเทรดที่ PE 7-8 แต่ถ้าเราไปดูข้อมูลของอุตสาหกรรม เราจะพบว่า มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กมากมายที่เทรดกันแค่ PE 4-5 ( หลายตัวอาจมีงบการเงินที่”แข็งแรง”กว่าบริษัทที่เราสนใจด้วยซ้ำ ) นั่นเป็นเพราะมุมมองของตลาดเราต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ไม่เคยดีอีกเลย นับตั้งแต่วิกฤติ 40 เป็นต้นมา

6. PE / % Growth ( PEG ) เป็นอีกวิธีที่อาจจะใช้หา PE ratio ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับหุ้นโตเร็ว ที่บางครั้งการใช้ Forward PE ratio ไปแค่ 1-2 ปี อาจจะ”หลอกตา” ทำให้หุ้นดูแพงเกินจริง ปีเตอร ลินช์ ให้หลักการคร่าวๆว่า PEG ที่เหมาะสมของหุ้นโตเร็วคือ 1 ซึ่งก็แปลว่า PE ratio ที่เหมาะสมของหุ้นโตเร็วนั้นเท่ากับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยนั่นเอง

7. หุ้นอีกประเภทที่การใช้ PE อย่างเดียวอาจจะหลอกตา นั่นก็คือหุ้นที่ต้องลงทุนกับ asset ขนาดใหญ่ และมีภาระค่าเสื่อมในแต่ละปีมากๆ เพราะบริษัทประเภทนี้ผลกำไร ( E ) จะดูน้อย เพราะผลจากค่าเสื่อม ทั้งที่จริงๆแล้ว กระแสเงินสดอิสระที่ไหลเข้าบริษัทนั้นมาก ( จนบางครั้งบริษัทแทบจะปันผลออกมาได้หมดทั้ง 100% ของ EPS ) การประเมิน FV ของหุ้นประเภทนี้ ดีที่สุดคือการใช้ DCF หรือถ้าจะทำให้ง่าย ก็อาจจะประเมินด้วย P / Cash flow or EV / EBITDA แทน

8. แล้วถามว่า PE เท่าไรถึงจะเรียกว่า Undervalue? คำตอบของคำถามนี้ก็ง่ายๆ นั่นคือเมื่อเราเห็นว่าบริษัทนั้นๆ กำลังถูกเทรดกันที่ PE ratio ที่น้อยกว่า PE ratio ที่เหมาะสมที่เราประเมินไว้ ( ลำพังโดยตัวที่ PE เองนั้นไม่อาจบอกได้ว่าหุ้นถูกหรือแพง เช่น PE 8 สำหรับอุตสาหกรรมตะวันตกดิน อาจจะเรียกได้ว่าแพง แต่ PE 8 สำหรับหุ้น modern tade อาจจะเรียกได้ว่าถูก )

9. อย่างไรก็ดี PE ที่น้อยมากๆ เช่นต่ำกว่า 3 -4 ก็อาจจะจัดได้ว่า undervalue โดยไม่ต้องสนกับคุณภาพของกิจการมากนัก เพราะที่ PE ระดับนี้ ปันผลมักจะเกิน 10% ( ถ้า payout ไม่ต่ำกว่า 50% ของ EPS ) ซึ่งปันผลที่ขึ้นถึงสองหลักถือว่า undervalue มาก หากมองด้วย dividend approach ( รายละเอียดเรื่อง dividend approach จะกล่าวถึงในบทความถัดๆไป )

10. สำหรับหุ้นวัฎจักร ส่วนตัวผมไม่ค่อยนิยมใช้ PE ratio ในการประเมิน FV เท่าไรนัก เพราะ E ของบริษัทเหล่านี้มักจะผันผวนได้มากๆ ผมมักจะใช้ PB ในการประเมินมูลค่ามากกว่า ( อาศัยหลักการที่ว่า นักลงทุนจะยินดีซื้อกิจการต่อจากเจ้าของกี่เท่า ในขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ใน up-cycle ) โดยอาศัยข้อมูลย้อนหลังว่า ตลาดมักจะให้ PB เท่าไรใน”ขาขึ้น” รอบก่อนๆ

อย่างไรก็ดีหลักการในข้อ 9 เรื่อง PE ratio ที่ต่ำมากๆ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับหุ้นวัฎจักรได้ นั่นคือ ถ้าเราเห็นแล้วว่า E ของขาขึ่นรอบนี้ จะทำให้ Forward PE ratio ต่ำกว่า 3 -4 ก็เป็นจุดที่เรามั่นใจได้พอสมควรว่าหุ้นยัง undervalue อยู่มาก

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com


การหาหุ้นแบบ fundamentalist

ผมเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานคนหนึ่งที่นิยมลงทุนกับ good stock ในราคาที่ undervalue มากๆ มากกว่า great stock ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก

ข้อดีของการลงทุนในวิธีนี้ คืออาจจะเหมาะกับตลาดทุนที่คุณภาพของกิจการในตลาดไม่ได้”ดีเลิศ”แบบประเทศไทย และ”ความถูก”ของหุ้นก็เป็นตัวป้องกัน downside ในระยะสั้นถึงกลางได้ดีในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนใน good stock ที่มีส่วนลดมากๆ ก็มีข้อเสียประการสำคัญก็คือ บริษัทที่มีคุณสมบัติแบบที่ว่านี้ มักจะเป็นบริษัทที่เราไม่สามารถือหุ้นไว้ได้ตลอดกาล เพราะโดยตัวคุณภาพก็เป็นเพียงกิจการที่”ดี” ไม่ใช่”ดีเลิศ” ที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน หรือจะมีการเติบโตเยอะๆ ไปอีกเป็นสิบปี

ดังนั้นเมื่อเราถือหุ้นมาได้ระยะหนึ่ง และราคาในกระดาน”สะท้อนมูลค่า”ไปเรียบร้อยแล้ว เราก็มักที่จะจำเป็นต้องขายหุ้นตัวนั้นออกมาเสีย

ผมย้อนไปดู portfolio ของตัวเองในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพอร์ตของผม มักจะมี “big move” โดยเฉลี่ยทุกๆ ประมาณ 3 -6 เดือน นั่นก็คงเป็นเพราะ good stock ที่ผมถือ”สะท้อนมูลค่า” จนไม่มีส่วนลดเหลือแล้วนั่นเอง

หลายคนมักจะถามผมว่า แล้วผมหา good stock ตัวใหม่ๆ มาลงทุนเป็นระยะๆ ได้อย่างไร ผมก็มักจะตอบว่าโดยวิถีชีวิตของการเป็น fundamentalist ของผมนั้นเอื้ออำนวยต่อการทำความรู้จักกิจการใหม่ๆอยู่แล้ว

ประการแรกเลยก็คือผมมีสังคมเพื่อนนักลงทุนค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมก็มักจะมีกิจกรรมการพบปะ กินข้าวกับเพื่อนนักลงทุนอยู่บ่อยๆ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 -3 ครั้ง ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง นอกจากเราจะคุยกันเรื่องสารทุกข์สุขดิบ เหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไปแล้ว เราก็มักจะคุยกันเรื่องการลงทุน กิจการที่เราถืออยู่ กิจการใหม่ๆที่น่าสนใจ หรือข่าวคราวบางอย่างที่จะทำให้บริษัทที่อยู่ในความสนใจของเรามีผลการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง ผมก็มักจะได้ไอเดียเกี่ยวกับกิจการที่ผมไม่เคยรู้จัก ทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ๆ มาศึกษาเองต่อ

นอกจากผมก็ยังมี online social network กับเพื่อนนักลงทุนอีกหลายๆ กลุ่ม ที่บางครั้งเราอาจได้พบปะกันแค่ปีละครั้งสองครั้ง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เราใกล้กัน จนบางครั้งผมก็รู้สึกว่า ผมใกล้ชิดกับเพื่อนนักลงทุนกลุ่มนี้ ไม่ต่างอะไรไปจากกลุ่มที่ผมพบปะเป็นประจำ

ประการที่สอง ผมมักที่จะใช้เวลาว่างไปกับการดู opportunity day, เวลาผมไม่มีอะไรทำ ผมมักจะเปิดไฟล์ opp day ของกิจการที่ผมไม่รู้จักมาดู ผมมีความเห็นว่าการฟัง opp day เป็นทางลัดที่ง่ายที่สุด ที่เราจะเข้าใจความเป็นไปของกิจการต่างๆ เพราะใน opp day คนที่มาพูดเกี่ยวกับกิจการนั้นๆ ให้เราฟัง ก็คือคนที่ดูแลบริหารกิจการนั้น”มากับมือ”

หลายคนอาจจะบอกว่า การฟัง opp day ต้องใช้เวลามาก และหลายกิจการเวลาฟังแล้วก็ไม่รู้สึกว่าน่าสนใจ ทำให้เสียเวลาฟังไปฟรีๆ แต่ผมมองว่า ถ้าเราคิดว่าการลงทุนก็เป็นอีกอาชีพของเรา ทำไมเราที่ยอมเสียเวลาวันละ 8 ชม. ให้กับงานอาชีพประจำ จะเจียดเวลาวันละ 1 -2 ชม.ให้กับ”อาชีพ”นักลงทุนไม่ได้ และการฟัง opp day ของบริษัทที่สุดท้ายเราไม่ได้ลงทุนด้วย ก็ไม่ใช่การ ”เสียเวลาเปล่า” แต่หากเป็นการที่เราได้มีโอกาสศึกษาธุรกิจที่เราไม่เคยรู้ อุตสาหกรรมที่เราอาจจะไม่เคยรู้จัก และที่สำคัญแม้เราจะไม่ได้ลงทุนกับกิจการนั้น ในวันนี้ แต่หากวันหน้า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็คงจะไม่ต้องเสียเวลาศึกษากิจการตั้งแต่ศูนย์ใหม่

ประการต่อมา ผมชอบอ่านเวบไทยวีไอ, ใครจะโจมตีจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ผมเชื่อว่าฐานข้อมูลของเวบนี้ เป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนแนวพื้นฐานมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว เมื่อผมมีเวลาว่าง ผมชอบเปิดห้องร้อยคนร้อยหุ้นมาไล่ดูห้องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ผมจะไล่อ่านย้อนหลังไปจากหน้าสุดท้ายประมาณ 7 -8 หน้า บ่อยครั้งที่ผมพบ”ไอเดียหลัก”ของการลงทุนในกิจการนั้นๆ จากการอ่านห้องร้อยคนร้อยหุ้นกลับไปไม่กี่หน้า ทำให้ผมไปศึกษากิจการนั้นต่อในเชิงลึกโดยสะดวกและง่ายขึ้นมาก

ประการสุดท้าย เมื่อผมหาหุ้นมาลงทุนไม่ได้จริงๆ และผมพบว่าเงินสดในพอร์ตมีปริมาณมากในระดับที่ผมไม่สบายใจ ผมจะไปเปิดเวบ settrade เพื่อสกรีนหุ้นเป็นรายอุตสาหกรรม โดยผมจะเปิดเวบทีละ sector แล้วให้เวบเรียงหุ้นจาก pe ต่ำสุดไปยัง pe สูงสุด แล้วผมก็จะเลือกหุ้นที่ pe ต่ำสุด 4- 5 อันดับแรก มาศึกษาโดยละเอียดต่อ ว่าทำไมหุ้นมันถุงเทรดกันที่พีอีเพียงเท่านี้ มีรายการพิเศษอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ และมีแนวโน้มที่ตลาดจะปลดล็อคความถูกหรือเปล่า

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com

หุ้นรับเหมา

หุ้นรับเหมาในนิยามของผม หมายถึง หุ้นของบริษัท ที่มีรายได้จากการประมูลงานมาเป็นครั้งๆ เช่น งานประมูลก่อสร้าง งานประมูลวางระบบวิศวกรรม / ระบบ IT เป็นต้น

โดยส่วนตัวผมไม่ใคร่จะนิยมลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มากนักสักเท่าไร เพราะผลประกอบการณ์ของหุ้นในกลุ่มนี้มีความผันผวนค่อนข้างมากตามแต่ปริมาณงานที่ประมูลได้ และถ้าว่ากันตามปัจจัยเชิงคุณภาพ ก็ไม่เชื่อว่าบริษัทในกลุ่มนี้จะมี DCA อะไรให้ผมมั่นใจในการลงทุนระยะยาวได้

และปัจจัยอีกข้อที่ทำให้ผมไม่ใคร่จะสบายใจกับการลงทุนในหุ้นหลุ่มนี้ ก็คือความ”เทา”ของบริษัท ซึ่งโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจของหุ้นในกลุ่มนี้นั้นเอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของผบห.อยู่แล้ว ( สังเกตได้ง่ายๆ บริษัทรับเหมาบางบริษัทรายได้เป็นหมื่นล้านทุกปีแต่แทบไม่เคยมีกำไร )

แต่อย่างไรก็ดี บางครั้งผมก็อาจจะสนใจหุ้นในกลุ่มนี้ ถ้าหากราคามันถูกมากๆ และว่ากันตามจริง ผมก็เคยลงทุนในช่วงสั้นๆ กับบางบริษัทในกลุ่มนี้ โดยที่ได้ผลตอบแทนมามากพอสมควร

หุ้นกลุ่มนี้มักจะถูกมากๆ หากบริษัทได้งานขนาดใหญ่เข้ามาในมือ หรือได้งานเยอะๆ จนมี backlog ที่จะรับรู้ในปีที่เรากำลังสนใจหุ้นเป็นจำนวนมาก สิ่งที่จะเกิดก็คือ หลังจากบริษัทรับรู้รายได้จากงานเหล่านี้จนครบ บางครั้ง PE จะลงไปต่ำมาก ที่ 2, 3 หรือ 4 ซึ่งพอหุ้นมี PE เหลือเท่านี้แล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือปันผลของหุ้นมักจะมี % ที่มากถึงหลัก double digit ซี่งผมมองว่าจะเป็นตัว catalyst ราคาในกระดานได้อย่างดี

ผมเองเคยมีประสบการณ์ลงทุนช่วงสั้นๆ กับ STPI ในช่วงกลางปี 52 ผมมองเห็นว่าบริษัทกำลังจะรับรู้รายได้จากงานที่ woodside และ EPS ในปี 52 น่าจะอยู่ที่แถวๆ 5 บาท ซึ่ง ณ ราคาที่ผมกำลังสนใจ บริษัทมีพีอีไม่ถึงสอง

ในที่สุดผลประกอบการณ์ก็มาตามที่ผมคาด พร้อมกับที่บริษัทจ่ายปันผลระหว่างกาลออกมา 1 บาท ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ผมได้กำไรจาก STPI ประมาณ 80% โดยที่ถืออยู่แค่ประมาณสามเดือน

คำถามต่อมาก็คือ แล้วถ้าเราเจอหุ้นลักษณะนี้ เราควรจะซื้อหุ้นตอนไหน ซื้อตอนที่มีข่าวกำลังจะประมูลงานใหญ่ๆ? ซื้อตอนที่ประมูลงานได้แล้ว? หรือซื้อตอนที่ผลประกอบการณ์ดีมากๆ ออกมาแล้ว? ความเห็นของผมก็คือทางเลือกที่สอง เพราะหากเราเข้าซื้อระหว่างกำลังรองานประมูล ผมมองว่าเรากำลังจะ bet มากเกินไป และหากบริษัทประมูลเมกะโปรเจคต์ที่ว่าไม่ได้ เราก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้มาก

หลายคนอาจจะมองว่าซื้อหลังบริษัทชนะประมูลแล้ว เราอาจจะได้ต้นทุนที่แพง ซึ่งผมเองก็มองว่าจริง หากเราไปไล่ซื้อหุ้นตอนที่หุ้นกำลัง”ฮอต” หรือเพิ่งมี”ข่าวดี”เรื่องการชนะประมูลออกมาใหม่ๆ แต่ผมเชื่อว่าระยะเวลาหลังจากบริษัทชนะประมูล จนกระทั่งผลประกอบการณ์ที่ดีออกมานั้น ทอดยาวพอสมควร และในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มักจะมีช่วงเวลาที่ตลาดไม่ดี และลดราคาหุ้นที่เราสนใจจนกลับมาอยู่ในจุดที่มี MOS เพียงพอ และผมพึงพอใจที่จะเข้าไปถือ

ส่วนการซื้อหลังผลประกอบการณ์ที่ดีออกมาแล้วนั้น ผมมองว่าที่จุดนั้น ราคามักสะท้อนมูลค่าของเมกะโปรเจคต์ไปเรียบร้อยแล้ว และหากเราเข้าไปซื้อ เราก็มักจะเป็น ” VI ไม้สุดท้าย “

อย่างไรก็ดี หากผมจะลงทุน ( แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ) กับบริษัทเหล่านี้ ผมมักจะเตือนตัวเองไว้สองข้อเสมอ

1.เราอาจจะประเมิน revenue จากมูลค่าของโปรเจคต์ หรือแบคลอกได้ แต่มักจะประเมินมาร์จินและผลกำไรได้อย่างไม่ใคร่จะแม่นยำนัก เพราะปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งสภาพการสู้ราคา ณ วันที่ประมูล ต้นทุนการก่อสร้าง ความล่าช้าที่อาจจะเกิดในการก่อสร้าง และเหนืออื่นใดคือธรรมชาติความ”เทา” ของหุ้นในกลุ่มนี้

2.บางครั้งตลาดก็มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ให้ราคากับ one time gain อันเกิดจากผลประกอบการณ์ที่ดีมากๆ เพียงปีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า EPS ที่สูงมากๆนั้น ไม่ได้แปรสภาพออกมาเป็นปันผล ( ผมยกตัวอย่างในเคสของ STPI ที่ผมเคยลงทุนมา งบไตรมาสสองของปี 52 ออกมาดีตามคาดที่ EPS 4 บาท แต่หลังจากงบออก ราคาก็ยังหยุดนิ่งอยู่ที่แถวๆ 8 บาท จนกระทั่ง บริษัทจ่ายปันผลระหว่างกาล ออกมา 1 บาท ราคาถึงจะเริ่มวิ่งรับงบที่ดี ไปที่ 13 -14 บาท )

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com

หุ้นการเมือง

โดยส่วนตัว ผมแบ่งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นสองประเภทคือ หุ้นที่แอบอิงกับสัมปทานของรัฐ หรือค้าขายกับรัฐ และหุ้นที่ไม่ได้ทำมาหากินอะไรกับรัฐเลย เพียงแต่มีผถห.หรือผบห.ที่เป็นนักการเมือง

การพิจารณาที่จะลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหล่านี้ โดยหลักการก็ไม่ต่างจากการลงทุนให้บริษัทอื่นๆ คือเราต้องพิจารณาคุณภาพบริษัท และประสิทธิภาพในการทำกำไร เพื่อมองหาว่า ราคาที่ซื้อขายในกระดานนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทหรือไม่

โดยทั่วไปบริษัทที่ต้องพึ่งพาอาศัยสัมปทานของรัฐ หรือที่หนักกว่านั้นคือบริษัทที่ต้องทำมาค้าขายกับรัฐ ( เช่น ต้องประมูลโครงการของรัฐ หรือประมูลขายสินค้าให้รัฐ ) มักจะเป็นบริษัทที่เราไม่อาจคาดการณ์ผลประกอบการในระยะยาวได้ เนื่องจากธรรมชาติของหุ้นรับเหมาก็มีความผันผวนของผลประกอบการมากพอสมควรอยู่แล้ว ยิ่งเป็นค้าขายกับรัฐ ( รวมทั้งสัมปทาน / สัญญาที่ทำกับรัฐบางประเภท ) ก็ยิ่งมีความเสี่ยงกับการไหวเอนไปตาม”ขั้วการเมือง”ที่มีอำนาจในขณะนั้น และที่สำคัญหุ้นเหล่านี้มักจะมี”ผลประกอบการ”ที่แย่ หากโดนการเมือง”ขั้วตรงข้าม”รังแก

ดังนั้นการที่จะหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในระยะยาวย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ การจะลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ผมมองว่าเราสามารถลงทุนได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่สัมปทานยังมีอยู่ ( และยังไม่มีใครขุดคุ้ยมาเล่นงานทางการเมืองกัน ) หรือในช่วงที่บริษัทกำลังได้โครงการขนาดใหญ่จากรัฐ

สำหรับหุ้นอีกประเภท ซึ่งก็คือหุ้นที่ไม่ได้แอบอิงอะไรกับรัฐ เพียงแต่มีผถห.หรือผบห. ที่ข้องเกี่ยวกับการเมือง หุ้นประเภทนี้ โดยปกติเวลาที่ผมพิจารณาหุ้นมูลค่าที่แท้จริง ผมแทบจะไม่ได้ใส่ปัจจัยทางการเมืองมาในการวิเคราะห์เสียด้วยซ้ำ แต่หุ้นเหล่านี้มักจะถูกตลาด discount ด้วยปัจจัยทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ

แล้วผมมุมมองในการลงทุนอย่างไรกับหุ้นประเภทนี้ โดยปกติผมก็ใช้วิธีการวิเคราะห์บริษัทด้วยปัจจัยเชิงคุณภาพ และงบการเงินเหมือนบริษัทอื่นๆ หลังจากนั้นผมก็มาดูราคาในกระดานว่า undervalue หรือไม่ ถ้าหุ้นยังมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผมมั่นใจได้ว่า ราคาที่ถูก discount ไปนั้น เป็นเหตุผลจากการเมืองล้วนๆ นั่นก็คือโอกาสที่ดีมากสำหรับการลงทุน

คำถามต่อมาก็คือ แล้วผมกลัวการเมืองจะกดดันราคาหุ้นจนหุ้น”ถูกเรื้อรัง” หรือไม่ คำตอบคือไม่กลัว เพราะการเมืองไทยหลังยุคประชาธิปไตยเต็มใบ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการเปลี่ยนขั้วไม่เกินทุกๆ 2 ปี ( ยกเว้นบางสมัยที่รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากอย่างรัฐบาลของคุณทักษิณ ) ดังนั้นการรอให้การเมืองมาปลดล็อคราคาหุ้น โดยเฉลี่ยก็รอไม่เกินนี้ และยิ่งถ้าหุ้นถูกการเมือง discount ไปมากๆ ปันผลของบริษัทก็จะสูงไปเองโดยอัตโนมัติ ทำให้ผมรับปันผลปีละ 8 -9% ได้ในระหว่างรอโดยไม่เดือดร้อน ( แต่อย่างไรก็ดี ผมอาจจะมี timing บ้างกับหุ้นการเมืองเหล่านี้ โดยผมอาจจะพิจารณาเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เมื่อผมเห็นว่าจะมีโอกาสของการเปลี่ยนขั้วการเมืองในอนาคต อันใกล้ )

ทังนี้ทั้งนั้นในฐานะ low PE investor ผมมีความเห็นว่า การปลดล็อคด้วยการเมืองนั้น เป็นการปลดล็อคที่มีประสิทธิภาพมาก พอๆกับการปลดล็อคด้วยปันผล เพราะการปลดล็อคหุ้นถูกเรื้อรังด้วยวิธีอื่นๆ เราจำเป็นที่จะต้องทำให้ตลาดมีมุมมองใหม่กับธุรกิจของเรา ในขณะที่การปลดล็อคด้วยการเมืองนั้น ตลาดมักจะมองเห็นว่า”ธุรกิจ” ของเรา”ดี” อยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้ตลาดหมดความ “กลัว” เท่านั้นเอง

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com


หุ้นหลักทรัพย์

หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์อาจจะเป็นหุ้นที่ไม่ใช่”พระเอก”ในตลาดหุ้นยุคปัจจุบัน แต่หากไปถามนักลงทุนในยุคก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นกลุ่มนี้เคยเป็นหุ้น”บลูชิพ”ชั้นดี ที่ติด most active volume/value แทบจะทุกวัน

แต่สำหรับนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ( โดยเฉพาะสาย super stock อย่าง บัฟเฟต์ ) หุ้นหลักทรัพย์คงไม่ได้อยู่ในสายตามากนัก เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่ไม่ได้มีใครได้เปรียบเหนือใคร, มีการแข่งขันต่อการแย่งตัวลูกค้าและมาร์เกตติ้งที่รุนแรง รวมทั้งผลประกอบการที่อ่อนไหวต่อภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างมาก และยิ่งประกอบกับการที่รัฐบาลจะเปิดเสรีธุรกิจโบรคเกอร์ในอีกสองปีข้างหน้ายิ่งเป็นตัวกดดันในการแข่งขันของธุรกิจนี้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยลักษณะของธุรกิจที่ไม่มีความแข็งแรงดังที่กล่าวในข้างต้น ทำให้หุ้นหลักทรัพย์เกือบทั้งหมดถูกเทรดที่ต่ำกว่า book value และบางบริษัทถูกเทรดที่ต่ำกว่าเงินสดต่อหุ้นที่บริษัทมีเสียอีก ซึ่งถ้าหากเรามองจากมุมของเกรแฮมนี่คือการสถานการณ์ของการซื้อแบงค์ดอลลาร์ในราคา 50 เซนต์

แต่ปัญหาก็คือหุ้นในลักษณะนี้มักจะประสบปัญหากับการถูกเรื้อรังอยู่เสมอๆ เพราะตลาดไม่เคยมีมุมมองที่ดีกับหุ้นกลุ่มนี้ ( เราอาจจะคิดว่าเราซื้อได้ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลู ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก แต่หลังจากที่เราถือหุ้นไปสองปีสามปี ราคาก็ยัง”ถูก” อยู่ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลูเท่าเดิม เพราะตลาดก็ยังมีมุมมองที่แย่จ่อหุ้นหลักทรัพย์เหมือนเดิม )

ผมเองเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าสาย bargain hunter ที่มาล่าส่วนลดกับหุ้นหลักทรัพย์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่ใช่เพราะว่าผมเห็นส่วนต่างระหว่างราคาในกระดานกับบุคแวลู แต่ผมเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นวัฎจักรที่อิงกับวัฎจักรของเศรษฐกิจมหภาค ( economic cycle ) เพราะรายได้หลักของบริษัททั้งสามทาง อันได้แก่ 1.ค่าคอมมิชชั่นจากการที่ลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2.กำไร/ขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนของบริษัทเอง และ 3.รายได้จากงานวาณิชธนกิจ ( เช่น การเป็น underwriter เอาหุ้นใหม่เข้าตลาด ) นั้นแปรผันขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งสิ้น ( ในยุคปัจจุบันบางบริษัทจะมีรายได้อีกทาง คือการเป็นเจ้ามือออก DW )

ผมจะเริ่ม watch หุ้นกลุ่มนี้เมื่อเศรษฐกิจมหภาคเริ่มมีปัญหา เพราะอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า รายได้ของบริษัทนั้นผันผวนตามสภาพ macroeconomic และเมื่อ macro มีปัญหา บริษัทมีโอกาสที่จะโดน “perfect storm”เล่นงาน เพราะรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมักจะลดลงอย่างมากจากสภาพตลาดหุ้นที่ซบเซา บริษัทอาจจะไม่มีรายได้จากงานวาณิชธนกิจเลย เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ไม่มีใครอยากจะมาระดมทุนในตลาด หรืออยากจะควบรวมกิจการกัน รวมทั้งบริษัทอาจจะเจอ”แจ๊คพอต” ขาดทุนอย่างหนักจากพอร์ตการลงทุนตามดัชนีที่ลดลงมาอย่างมาก

ผลจาก “perfect storm” และความหวาดกลัวของนักลงทุน มักจะทำให้หุ้นกลุ่มนี้ถูก discount ลงไปอย่างมากในช่วง economic down cycle บางครั้งอาจจะลงไปเหลือแค่ 0.1 -0.2 เท่าของบุคแวลู หรืออาจจะเหลือแค่ 0.5-0.6 เท่าของเงินสดต่อหุ้น

ผมมักจะ watch หุ้นกลุ่มนี้จนผมเริ่มมองเห็น sign of economic recovery หรือเห็น sign of market recovery ( ทั้งในแง่วอลุมและตัวเลขดัชนีตลาด ) เพราะผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมากำไรอย่างมากในช่วง bull market และราคาในกระดานอาจจะพุ่งไปได้หลาย”เด้ง” จากจุดต่ำสุดหลังจากบริษัทเจอ perfect storm

นอกจากนี้บริษัทในกลุ่มนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องกระแสเงินสด เนื่องจากบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนกับสินทรัพย์ถาวรอะไรมากมาย รวมทั้งไม่จำเป็นจะต้องใช้ working capitol ในปริมาณมากเพื่อดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทมักจะมีกระแสเงินสดที่ดีมาก และสามารถจ่ายปันผลได้เป็น%มากๆของกำไร ( บางบริษัทอาจจะปันผลทั้ง 100% ) ซึ่งปันผลที่มาก ก็จะเป็น catalyst ทีดีมากอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ราคาพุ่งไปได้ไกลในช่วง up cycle

อย่างไรก็ดี ข้อที่เราควรจะพึงระวังอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าเศรษฐกิจ/ตลาดหึ้นจะเป็นรอบขาขึ้น บางครั้งผลประกอบการของบริษัทก็อาจจะแย่ลงก็ได้ หากบริษัทบังเอิญไปขาดทุนจากพอร์ตการลงทุน ( เช่นไป short future ไว้มาก หรือขาดทุนจากตลาด commodity ) หรือในกรณีที่บริษัทสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ( เช่นลูกค้าย้ายจากบริษัทเราตามมาร์เกตติ้งออกไป ) ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เราก็ต้องมองภาพรายบริษัทด้วย ไม่ใช่เพียงมองแต่ภาพรวมของตลาดเพียงอย่างเดียว

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com


กับดักของ financial ratio

VI มือใหม่จำนวนมากมักจะคัดเลือกและตัดสินใจลงทุนกับกิจการใดกิจการหนึ่ง โดยอาศัยการดูอัตราส่วนทางการเงินเป็นหลัก โดยพวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นที่มี PE ต่ำๆ PB ไม่ถึงหนึ่ง Dividend yield มากกว่า 5% เป็นหุ้นที่มี”ราคา”ต่ำกว่า”มูลค่า” และนี่คือหุ้น”แวลู”ที่สมควรลงทุน

การพิจารณาสกรีนหากิจการที่น่าสนใจโดยการอาศัย financial ratio เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีวิธีหนึ่ง, แต่อย่างไรก็ดี การใช้ financial ratio นั้น เหมาะสมเพียงเพื่อจะเป็นการสกรีนหาหุ้นให้เราสนใจเอาไปศึกษาในเชิงคุณภาพต่อ การใช้ financial ratio เพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจที่จะซื้อหุ้น เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ไม่ได้บอกว่าเราเลยว่า หลังจากที่เราเข้าซื้อกิจการไปแล้ว บริษัทจะกำไรมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร เราอาจจะซื้อหุ้นที่มี PE, PB ต่ำๆ แต่เราไม่ทันศึกษาว่าหลังจากนั้นผลประกอบการณ์ของบริษัทจะตกต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงตาม จนเราขาดทุนได้มาก

ผมจะลองยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามาเปรียบเทียบให้เป็นกรณีศึกษา

ถ้าเราลองมาดูอัตราส่วนทางการเงินของหุ้นโรงไฟฟ้าสามโรงในตลาด ( ใช้ข้อมูล ณ 20 / 6 / 54 )

EGCO PE 7.88 PB 0.84 Div 5.9%
GLOW PE 14.56 PB 2.1 Div 3.9%
RATCH PE 12.35 PB 1.31 Div 5.3%

ถ้าเราใช้แต่อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ในการพิจารณาซื้อขายหุ้น เราก็จะบอกว่า EGCO เป็นหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด เพราะ PE ต่ำ Div สูงเกือบ 6% และราคายังอยู่ต่ำกว่า book value ในขณะที่ GLOW นั้นเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย

แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า อัตราส่วนทางการเงินเป็นเรื่องของความสามารถในการทำกำไรในอดีต แต่ผลประกอบการในอนาคตต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดราคาของหุ้น

ถ้าเราดูแต่ Financial ratio แล้วตัดสินใจซื้อ EGCO, สิ่งที่จะตามมาก็คือเรากำลังจะเผชิญกับการลดลงของผลกำไรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่เป็นรายได้หลักเกินกว่าครึ่งของบริษัทอันได้แก่ โรงไฟฟ้าระยอง ( 1,232 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2558 และโรงไฟฟ้าขนอม ( 800 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2559

ซึ่งถ้าทาง EGAT ( การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ) ไม่ต่อสัญญาให้กับทาง EGCO ก็เป็นที่แน่นอนว่า ผลกำไรของ EGCO จะหายไปเกินกว่าครึ่ง และราคาที่เราเห็นจากอัตราส่วนทางการเงินว่า”ถูก”ในวันนี้ หลังจากปี 58 เป็นต้นไปอาจจะกลายเป็น”แพงมาก” และทำให้ราคาปรับลดลงอย่างรุนแรง

หรือแม้แต่ถ้า EGAT ต่อสัญญาให้ แน่นอนว่า ค่าไฟที่ EGAT จะจ่ายให้กับ EGCO ก็ต้องต่ำลงกว่าในปัจจุบัน ทำให้ผลกำไรของ EGCO ต้องลดต่ำลงอยู่ดี ( ร่วมกับ EGCO จะยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามานอกจาก SPP ขนาดเล็ก ( 375 MW ) ในปี 58 )

ตรงกันข้ามกับ GLOW ที่ในช่วงอีกปีสองปีต่อจากนี้จะมีกำลังการผลิตเข้ามาใหม่ถึง 1176 MW ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มถึง 63% ของกำลังการผลิตเดิม ซึ่งถ้าคิดแบบง่ายๆเลยว่า กำลังการผลิตเพิ่ม 63% ผลกำไรก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 63% แต่ถ้าคำนวณแบบละเอียดจริงๆ จะพบว่า ผลกำไรของ GLOW จะเพิ่มมากกว่านั้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามา สามารถผลิตไฟได้มีประสิทธิภาพมากกว่าและใช้ต้นทุนเชื้อเพลิงน้อยกว่าโรงเก่า รวมทั้งลักษณะสัญญาขายไฟที่ช่วงแรกจะขายได้ราคาต่อหน่วยมากกว่าช่วงท้ายของสัญญา

ในปี 2013 -2014 เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่เดินเครื่องเต็มที่แล้ว, GLOW น่าจะมีกำไรแตะถึงหลักหมื่นล้าน ( คิด EPS ประมาณ 7 บาท ) ซึ่งทำให้ PE ในตอนนั้นลดลงเหลือไม่ถึง 7 เปรียบเทียบกับ PE 14.5 ที่ดูเหมือนว่าจะ”แพง”จนไม่น่า”ลงทุน”ในเวลานี้

สำหรับ RATCH นั้น ถูกเทรดที่อัตราส่วนทางการเงินที่อยู่ระหว่าง GLOW กับ EGCO ซึ่งก็สมเหตุสมผล ที่ RATCH จะถูกเทรดอยู่ตรงกลางระหว่างอีกสองเจ้า เพราะ RATCH ไม่ได้มีโปรเจคในมือที่จะเพิ่มผลกำไรในอนาคตชนิดที่ชัดเจนแบบ GLOW ( RATCH มีการลงทุนใหม่ๆ แต่ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นของ EDL GEN หรือการซื้อกองทุนสาธารณูปโภคที่ออสเตรเลีย ) แต่โรงไฟฟ้าหลักของ RATCH ก็ไม่ได้ใกล้จะหมดอายุสัมปทานแบบ EGCO ( อย่างน้อยผถห.ก็สบายใจได้ว่า แม้การลงทุนใหม่ๆจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า อย่างน้อยผลกำไรจากโรงเก่า ก็จะไม่น้อยลงไปกว่าเดิม )

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com


สภาพคล่องของหุ้น

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor “พันธุ์แท้” จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลยก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะนี่คือปัจจัยที่ “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน” ของกิจการ หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึงสภาพคล่องของหุ้น คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเท็คนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็เป็นหุ้นที่นักเท็คนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์ ว่าที่จริงนักเท็คนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเท็คนิคไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของ VI ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร และต่อไปนี้เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น
ประเด็นแรกก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิตินั่นคือ มิติแรก มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่าย ๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงินเท่าไร ตัวอย่างเช่น พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณเท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียง หนึ่งแสนบาท นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมุติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อมที่จะถือมันไว้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่องก็คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นี่เป็นการวัดอย่างคร่าว ๆ ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คนที่ลงทุนในบริษัทนี้ โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษ ๆ ก็ขายทิ้งแล้ว ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจจะจ่ายปีละครั้ง
คำถามที่อาจจะตามมาก็คือ คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว? คำตอบนั้นก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า 3 เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้ เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้คือ 8.5 ล้าน ล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ 340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย
ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัวก็คือ มันเป็นการบอกถึง “ดีกรี” หรืออัตราในการ “เก็งกำไร” ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว นั่นก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ 100 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่าง ๆ
เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น “เก็งกำไร” และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น ส่วนตัวผมเอง กำหนดว่า หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น “หุ้นเก็งกำไร” ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้น โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่งก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1% ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป
กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัวเนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้นเนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อวันของหุ้นได้ การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้นทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น “เบี้ยหัวแตก” และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลงเนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลัง ๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็ก ๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อองค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนักลงทุนเท่ากัน

Credit >> ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การเลือกลงทุนกับกองทุน

หากท่านตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกลงทุน โดยให้มืออาชีพดูแลเงินลงทุนให้ โดยลงทุนผ่านกองทุนรวม ทีนี้ท่านก็ต้องทำการตัดสินใจว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนแบบผสม หรือกองทุนทางเลือกอื่นๆ ดี

การที่จะเลือก กองทุนไหนอยู่ที่วัตถุประสงค์ที่ลงทุน และความชอบส่วนตัวของคุณ ตอบตนเองก่อนว่า คุณต้องการอะไร และยอมรับเงื่อนไขต่อไปนี้ได้หรือไม่
เลือกลงทุนกองทุนหุ้น ถ้าท่าน ไม่กลัวราคาที่ขึ้นๆลงๆ ไม่กลัวที่บางวันหรือบางปีจะขาดทุน หวังผลตอบแทนสูงกว่าที่ได้จากเงินฝากหรือพันธบัตร และมีเวลารอเก็บเกี่ยวกำไรได้สักห้าปี หรือมากกว่านั้น

เลือกลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ถ้าท่าน กลัวเงินต้นหาย ไม่อยากเสี่ยงกับราคาที่หวือหวา เดี๋ยวกำไร เดี๋ยวขาดทุน ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากสักนิด อยากเปลี่ยนใจได้ง่ายๆโดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องขาดทุนตลอดเวลา คาดหวังว่าเงินต้นที่ลงทุนจะได้กลับคืน

เลือกลงทุนกองทุนรวมแบบผสม ถ้าท่านไม่อยากที่จะตัดสินใจเองว่าจะต้องลงทุนแบบไหน สัดส่วนเท่าใด และอยากให้มีคนจัดพอร์ตให้แทนดีกว่า

เมื่อท่านตัดสินใจได้แล้วว่าท่านต้องการอะไรและสามารถยอมรับเงื่อนไขได้ท่านก็ทำ การลงทุนอย่างที่ต้องการ แต่ก็มีหลายๆท่านเห็นทางเลือกการลงทุนประเภทอื่นๆอีกนอกเหนือจาก 3 ทางเลือกนี้ก็เกิดความสนใจและต้องการที่จะลงทุนเพราะเห็นว่าสามารถช่วย กระจายการลงทุนได้ อย่างเช่นการลงทุนในกองทุนทองคำ กองทุนทองคำถือ เป็นกองทุนทางเลือก ทำให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้ มีผู้นิยมอย่างมากในกองทุนประเภทนี้เพราะกระแสของราคาทองคำที่สูงขึ้นและ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้กองทุนทองคำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและมีผู้ให้ความสนใจมาก จึงเกิดคำถามว่ากองทุนทองคำมีข้อดีอย่างไร

1.การลงทุนใช้เงินจำนวนน้อยก็สามารถลงทุนในกองทุนทองคำได้แล้ว ไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนโต แล้วค่อยไปซื้อทองคำแท่งไม่จำเป็นต้องมีเงินซื้อจำนวนมากเท่าซื้อทองคำแท้ๆ และในทางกลับกันเวลาขาย เช่น ถ้าถือทองคำไว้ 1 บาททอง หรือ ประมาณ 17,800 บาท ต้องการใช้เงินแค่ 5,000 บาท ต้องขายทั้ง 17,800 บาท แต่กองทุนของเราไม่จำเป็นขายเอาเงินออกแค่ 5,000 บาทได้เลย

2.ลดความเสี่ยงในเรื่องของการสูญหายและลดค่าใช้จ่ายในการหาที่จัดเก็บรักษา (หากจะลงทุนในทองคำแท่งเป็นจำนวนมากผู้ลงทุนยังต้องรับความเสี่ยงจากการถูก โจรกรรมหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา)

3.ช่องทาง การขายสะดวกไม่ต้องกลับไปที่ร้านเดิมอย่างทองคำแท่ง (หากผู้ลงทุนต้องการจะขายก็จะต้องเดินทางไปขายที่ร้านเดิมที่ซื้อมาถึงจะได้ ราคาที่ดี)

4.ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนร้านค้าหลอกในเรื่องความบริสุทธิ์ของทองคำ

5.การลงทุนในกองทุนทองคำ ราคาที่ได้จะได้ราคาอ้างอิงกับทองคำในประเทศ ทำให้ตรวจสอบการขึ้นลงของราคาทองคำได้ง่าย

6.การลงทุนในกองทุนทองคำหลายๆคนอาจจะกลัวความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในความเป็นจริงแล้วราคาทองคำในประเทศที่ถูกกำหนดโดยสมาคมค้าทองก็อ้างอิง อัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน

7.ไม่ต้องห่วงในเรื่องไม่ได้รับเงินคืน (เพราะมี กลต.ค่อยควบคุมกำกับดูแล)

8.กำไรที่เกิดจากการลงทุนไม่เสียภาษี (สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา)

ทั้งนี้ไม่ว่าท่านจะเลือกลงทุนกองทุนใด และแบบไหน ที่สำคัญที่สุดท่านควรศึกษาข้อมูลกองทุนก่อนการลงทุน เพื่อให้ท่านได้รับประโยชน์จากการลงทุนจริงๆ

Credit >> http://xn--12cfan0fnd6dr4ha1dxai1ola.blogspot.com


ทำไมต้องลงทุนในตลาดหุ้น

ทำไมต้องลงทุนในตราสารทางการเงิน บางคนอาจจะมีความเห็นว่าเอาเงินไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีกว่าเหรอ
การซื้อที่ดินนั้นนานวันเข้ามูลค่าของที่ดินโดยส่วนใหญ่จะต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ที่ดินมีเท่าเดิมแต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความต้องการจึงต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปริมาณของมีเท่าเดิมราคาก็ต้องขึ้น แต่ก็มียกเว้นเช่นที่ดินที่โดนน้ำท่วมหรือประสบเหตุที่ทำให้ไม่น่าอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไฟฟ้าไม่เข้า น้ำไม่ไหล การสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึงเป็นต้น
ถ้าเราจะลองทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดูบ้าง ทำอพาร์ทเมนท์ให้คนเช่าก็ดีนะ ถ้าผมมีเงินมาก ๆ ผมยังเคยคิดว่าจะทำเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทำอพาร์ทเมนท์ให้คนเช่า คนที่ทำธุรกิจก็ต้องลงแรงอยู่บ้าง เช่นหาคนมาเช่า เวลาอพาร์ทเมนท์หรือบ้านที่นักลงทุนปลูกเพื่อให้คนเช่า หรือตึกแถว พื้นที่ตลาดที่ลงทุนทำขึ้นมาเพื่อหวังกินค่าเช่ามีปัญหาเจ้าของก็ต้องมาดูแล เจ้าของหรือนักลงทุนก็ต้องเสียเวลามาบริหารอยู่ดี มาแก้ปัญหาท่อตันบ้างตามอพาร์ทเมนท์ ตึกแถวไม่สะอาดบ้าง ตลาดสกปรกบ้าง โดยรวมแล้วเจ้าของก็ต้องมาดูแลแก้ปัญหา มันเหมือนกับว่าเจ้าของเป็นผู้รับใช้ของผู้เช่าอย่างไรก็ไม่รู้ แม้ว่านักลงทุนหรือเจ้าของจะลงทุนจ้างผู้จัดการมาบริหารแทนตน นักลงทุนหรือเจ้าของก็ต้องมาคอยดูแลกิจการของตนอยู่ดี มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะผู้บริหารจะทำกิจการให้กำไรไม่ดีเท่าที่ควรก็ในเมื่อไม่ใช่กิจการของเขา และถ้าปัญหาต่าง ๆ พวกนี้ไม่เกิดขึ้น
การลงทุนซื้อที่ดินหรือทำอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องใช้เงินมาก น้อยคนนักที่จะใช้เงินส่วนตัวมาทำธุรกิจนี้ได้เลย บางคนก็ต้องกู้เงินธนาคารมา บางคนก็ต้องรวมเงินกับเพื่อนกับญาติพี่น้องมา ไหนจะเรื่องหนี้สินกับธนาคารหรือปัญหากับหุ้นส่วนผู้ร่วมลงเงินกับเรา ปัญหาที่แน่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทรัพย์สินเหล่านี้แปลงเป็นเงินได้ยากลำบากมากเมื่อเทียบกับหุ้น แม้จะเทียบกับหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ ๆ ก็ตาม หายากมากที่จะเจอหุ้นที่ตลอดอาทิตย์ไม่มีคนมาตั้งซื้อหุ้นเลย เว้นแต่หุ้นนั้นแย่จริง ๆ
ถ้าเราจะทำธุรกิจส่วนตัวดูบ้าง ถ้าเป็นธุรกิจSMEแน่นอนเจ้าของธุรกิจก็ต้องลงมาบริหารดูแลกิจการของตนเองแม้ว่าจะมีลูกจ้างก็ต้องบริหารการทำงานของลูกจ้าง
เราลองมาพิจารณาในเรื่องของการลงทุนในตราสารทางการเงินดูบ้าง เริ่มจากตั๋วเงินฝาก ฝากประจำ ฝากออมทรัพย์ หุ้นกู้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองว่า จริงอยู่มันแทบไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย แต่ผลตอบแทนมันน้อยมากไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี หรืออย่างมากก็ร้อยละ 5 ต่อปี ค่อนข้างใกล้เคียงกับระดับอัตราเงินเฟ้อ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าจริง ๆ เว้นแต่ต้องการเป็นที่พักเงินเพื่อรอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมที่ให้ผลตอบแทนที่หอมหวาน
ถ้าลองมาพิจารณาในการลงทุนในหุ้นดูบ้าง ผมว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าสมมุติเราเจอบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งทำกำไรในปีที่แล้วได้ 183.74 ล้านบาท รายได้ปีที่แล้ว 910.48 ล้านบาท ปันผลปีที่แล้วคำนวณได้ 156.8 ล้านบาท ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ราคาตลาดของบริษัทนี้หาจากจำนวนหุ้นทั้งหมดคูณกับราคาหุ้นในตลาดได้ 1,666 ล้านบาท ถ้าใช้เงินดังกล่าวก็ซื้อบริษัทได้ทั้งบริษัท(แต่ในความเป็นจริงถ้าจะทำได้ต้องใช้เงินมากกว่านั้นเพราะผมคิดว่าเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คงไม่อยากจะขาย) มาดูด้านเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นดูบ้าง เงินสดมีอยู่ 159.45 ล้านบาท เงินลงทุนระยะสั้น 223.76 ล้านบาท ผมดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้วพบว่า เงินลงทุนระยะสั้นประกอบด้วยเงินฝากประจำ ตั๋วแลกเงิน หน่วยลงทุน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของการบริหารเงินจึงอนุมานให้มีค่าเทียบเท่าเงินสดได้ รวมแล้วมีเงินสด 383.21 ล้านบาท สำหรับภาระหนี้สินที่สำคัญมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันทางการเงินจำนวน 117.58 ล้านบาท หนี้ระยะยาวไม่มี หักลบแล้วเหลือเงินสด 265.53 ล้านบาท ตอนนี้เงินลงทุนที่ลงไป 1,666 ล้านบาทจึงเหลือเพียงแค่ประมาณ 1,400 ล้านบาท เพราะได้เงินสดที่มีในบริษัทมาครอบครองทันทีที่ซื้อบริษัท
ถ้าบังเอิญผมมีเงินค่อนข้างน้อยสมมุติลงทุนซื้อกิจการตัวนี้ในรูปของหุ้นจำนวน 140,000 บาท ผมน่าจะได้กำไร 18,374 บาทต่อปี ธุรกิจนี้น่าจะสร้างรายได้ให้ 91,048 บาทต่อปี ในระหว่างลงทุนน่าจะมีเงินปันผลคืนกลับมา 15,680 บาท พิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถ้าลงทุนธุรกิจนี้จะได้กำไรคืนทุนโดยใช้เวลาประมาณ 7 ปีกว่า ๆ ได้เงินปันผลร้อยละ 11.2 ต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มว่ากิจการจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้การันตีถึงผลการดำเนินงานในอนาคต (ตัวเลขกำไร รายได้ เงินปันผล ได้จากการเทียบอัตราส่วน)
ตอนนี้ผู้อ่านคิดว่าน่าจะลงทุนในหุ้นที่ดีหรือยังครับ การลงทุนในหุ้นนักลงทุนสามารถนำเงินออกจากหุ้นได้ทันที ทันทีที่พบว่ากิจการนั้น ๆ มีปัญหา ผิดกับทำธุรกิจส่วนตัวทันทีที่พบว่ากิจการนั้นมีปัญหาการโยกเงินหนีไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การลงทุนในหุ้นนั้นใช้เงินเริ่มต้นน้อยมากและสภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้ามาลงทุนหรือถอนตัว
หรือถ้าผู้อ่านยังชอบที่จะลงทุนในกิจการส่วนตัว ลงทุนอย่างอื่นก็ไม่เป็นไรก็สามารถลงทุนในหุ้นได้ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้นและถ้านักลงทุนลงทุนอย่างถูกวิธี การลงทุนในหุ้นจะเปรียบเสมือนการให้เงินทำงานแทนเราอย่างแท้จริง โดยที่ผู้ลงทุนใช้ชีวิตไปตามเดิมของตนได้

Credit >> http://thaijvi.blogspot.com

ทำไมจึงต้องลงทุน

ทำไมจึงต้องลงทุนก็ในเมื่อแค่ตั้งใจทำมาหากิน มีเงินก็ฝากธนาคารไม่ดีกว่าเหรอ ผมยอมรับว่าความคิดนี้ถูกต้อง แต่มันใช้ได้กับในอดีตเท่านั้น แต่ก่อนสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ก่อนปีพ.ศ. 2540 อัตราดอกเบี้ยธนาคารสูงมาก เท่าที่ผมรู้จะประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าเป็นผม ผมจะไม่มาลงทุนอะไรให้ปวดหัวหรอก เอาเงินฝากธนาคารอย่างเดียวพอ เอาเวลาไปตั้งใจทำมาหากินดีกว่า มีงานประจำก็ทำไป มีธุรกิจส่วนตัวSMEอะไรก็ทำไป
แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ผู้อ่านลองไปที่ธนาคารจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยน้อยมาก น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน กล่าวคือราคาสินค้าจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราการเพิ่มของราคาสินค้า เมื่อเวลาผ่านไปเงินที่มีอยู่จะซื้อของได้น้อยลงเปรียบได้กับค่าของเงินลดลง การฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเหมือนเป็นที่พักเงินเท่านั้น
ผมอยากเล่าเรื่องสมัยเด็กให้ฟัง ก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านราคาชามละ 15 บาท เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ณ ตอนนี้ชามละ 40 บาท มีความรู้สึกว่าปริมาณจะน้อยกว่าตอนเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่าราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ถ้าจะฝากเงินธนาคาร ณ ปัจจุบันนี้คงหายากมากที่ธนาคารจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ผมเชื่อว่าประสบการณ์นี้ผู้อ่านทุก ๆ คนย่อมเคยเจอ
ตอนนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนน่าจะมองออกแล้วว่า การฝากเงินไว้กับธนาคารไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรรังแต่จะทำให้ค่าของเงินน้อยลง แต่ผู้อ่านบางคนอาจจะแย้งว่าก็ไม่เป็นไร เพราะผมมีเงินเยอะผมต้องการแค่ให้ธนาคารช่วยดูแลเงินของผม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต่อไปข้างหน้ารัฐบาลจะไม่ค้ำประกันเงินฝากกับธนาคารแบบเต็มจำนวน ดังนั้นการฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเป็นเหมือนกับการร่วมลงทุนกับธนาคาร โดยรับความเสี่ยงไปกับธนาคารและรับอัตราผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยแพ้อัตราเงินเฟ้อเสียอีก
จะเห็นได้ว่าทุก ๆ คน ไม่มีทางหลีกหนีการลงทุนได้ แม้คุณจะมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยงก็ตามที ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือเป็นฝ่ายเลือกการลงทุนที่เหมาะสมที่คาดว่าจะได้อัตราผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยงเสียเองจะดีกว่า
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำเงินที่มีทั้งหมดมาลงทุนทันที เริ่มทีละน้อย ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป อาจจะเริ่มแบบง่าย ๆ เช่น ฝากประจำ ซื้อสลากออมสิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อตั๋วแลกเงิน ควรเดินด้วยทางสายกลางไม่สุดโต่งหรือหย่อนจนเกินไป นำเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในการลงทุน ผมอยากแนะนำว่าควรจะเป็นเงินเย็นเพื่อจะได้ไม่กดดันตนเอง และในบางครั้งการลงทุนต้องใช้เวลา และที่เหลือจึงเป็นเงินส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้จ่ายและซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนต้องการตามความพอดีกับฐานะ กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เราควรดำเนินชีวิตรวมถึงการลงทุนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายตามกำลังฐานะ
สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกคนสามารถบริหารเงินเพื่อการลงทุน เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

Credit >> http://thaijvi.blogspot.com

การประเมินมูลค่าหุ้น

การประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อหาราคาที่เหมาะสมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ง่ายนัก เพราะนักลงทุนแต่ละคนมีความคิดและวิธีการที่แตกต่างกัน ต้องใช้ศิลปะพอสมควรในการประเมินควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เชิงตัวเลข วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีหลายวิธีมากเช่น วิธี PE, PB หรือ DCF เป็นต้น ซึ่งผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงวิธีดังกล่าวเพราะมีบทความหรือว่าหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับวิธีประเมินมูลค่าหุ้นมากมายอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร

ผมขอยกตัวอย่าง มีขวดโหลใส 1 ขวด บรรจุเหรียญต่างๆกันคือเหรียญ 1,2,5,10 บรรจุอยู่ในขวดโหลอย่างอัดแน่นทั้งขวด และผมจะกำหนดราคาขายมาให้ คุณมีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะซื้อในราคาที่กำหนดหรือไม่ คุณมีโอกาสตัดสินใจในการซื้อเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกผมจะให้คุณมองขวดโหลด้วยสายตาเปล่าเพียงอย่างเดียวห้ามมีการสัมผัสขวดโหล คุณจะเห็นเหรียญแค่ภายนอกเท่านั้นและตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ สำหรับครั้งที่ 2 ผมจะให้คุณสามารถสัมผัสขวดโหลได้ แต่ห้ามเปิดขวดโหล และตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ สำหรับครั้งที่ 3 ผมให้คุณสามารถสัมผัสขวดโหลและเทเหรียญออกมานับได้ครึ่งหนึ่งของขวด แล้วทำการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่เช่นกัน

สำหรับการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ของคุณทั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีความเสี่ยงมากหากคุณจะตัดสินใจซื้อในราคาที่กำหนด เพียงเห็นเหรียญแค่ภายนอกเท่านั้น โดยที่ไม่สามารถประเมินเหรียญที่อยู่ภายในได้ทั้งหมด และคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าราคาที่เสนอขายนั้นมีราคาต่ำหรือว่าสูงกว่ามูลค่าเหรียญทั้งหมดที่อยู่ในขวดโหล สำหรับครั้งที่ 2 คุณจะมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้นจากการสัมผัสขวดโหล ทำให้คุณสามารถประเมินน้ำหนักขวดโหลได้ หากมีน้ำหนักมากโอกาสที่ราคาเสนอขายจะต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นเป็นไปได้ การซื้อครั้งนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างมากแต่น่าจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าครั้งแรก สำหรับครั้งสุดท้าย ครั้งนี้คุณมีความเสี่ยงลดลงค่อนข้างมากเพราะคุณรู้มูลค่าเหรียญที่เทออกมาครึ่งหนึ่ง คุณก็สามารถประเมินมูลค่าน้ำหนักของเหรียญที่เหลือได้ ทำให้คุณสามารถประเมินมูลค่าเหรียญและเปรียบเทียบกับราคาที่เสนอขายได้อย่างสมเหตุสมผล หากราคาที่เสนอขายมีราคาสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับราคาที่คุณประเมิน คุณก็จะไม่ตัดสินใจซื้อเพราะมันมีโอกาสขาดทุนได้

สำหรับการประเมินมูลค่าหุ้นก็มีความคล้ายคลึงกับการประเมินมูลค่าเหรียญในขวดโหล ถ้าเราซื้อหุ้นเหมือนกับตัดสินใจแบบครั้งแรกคือใช้สายตามองดูเหรียญที่อยู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนว่าคุณซื้อหุ้นบริษัท A โดยที่พิจารณาราคาซื้อเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร หรือแม้แต่ชื่อบริษัทคุณก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไป ทำให้คุณไม่สามารถบอกได้ว่าราคาที่ซื้อมานั้นมันมีราคาที่สูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากในการซื้อ แต่หากคุณซื้อหุ้นเหมือนกับการประเมินเหรียญในครั้งที่ 2 เปรียบได้กับการที่คุณได้มีการศึกษาบริษัทนั้นมาบ้าง พอเข้าใจว่าบริษัทที่คุณซื้อนั้นประกอบธุรกิจอะไร มีแนวโน้มเป็นอย่างไร แต่อาจยังไม่รู้ลึก แต่ก็พอมองเห็นทิศทางของบริษัท แต่การประเมินมูลค่าบริษัทนั้นก็ยังขาดข้อมูลที่สำคัญพอสมควรในการประเมินมูลค่าที่แท้จริง สำหรับครั้งที่ 3 คือคุณสามารถนับเหรียญที่อยู่ภายในได้ครึ่งหนึ่งหรือถ้ามีโอกาสที่จะนับได้มากกว่านั้น เปรียบเสมือนว่าคุณได้เข้าไปเจาะลึกบริษัทอย่างละเอียด เข้าใจธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ทิศทางบริษัทได้ในอนาคต แต่ก็อาจมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่มันก็เป็นการยากมากที่เราจะสามารถรู้ข้อมูลบริษัททุกอย่าง แต่หากเราเข้าใจบริษัทมากเท่าไร การประเมินมูลค่าของบริษัทนั้นจะเป็นมูลค่าที่มีเหตุผล สามารถใช้ตัดสินใจในการลงทุนได้ และหากราคาที่เสนอขายมีส่วนต่างกับราคาทีเราประเมินไว้มากจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่ลดลง และมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่ยังซื้อหรือขายหุ้นโดยไม่สนใจมูลค่าที่แท้จริง พิจารณาเพียงแค่ราคาที่ซื้อเท่านั้น ถ้าหุ้นขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจรีบขายออกไป ซึ่งราคาที่ขายนั้นอาจยังเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก ทำให้เสียโอกาสในการทำกำไรที่มากในอนาคต แต่ถ้าหุ้นตกก็จะรีบขายออกไปเพราะตอนซื้อนั้นพิจารณาเพียงแค่ราคาอย่างเดียว แต่หากนักลงทุนนั้นสามารถหามูลค่าที่แท้จริงได้เวลาหุ้นตกก็อาจเป็นโอกาสในการที่จะซื้อเพิ่ม ซึ่งจะทำให้มีส่วนต่างของราคาที่ซื้อกับมูลค่าที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น หรือที่เรียกว่า ส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of safety) ถ้ามีค่าส่วนต่างความปลอดภัยมากๆ ก็จะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงในการซื้อ และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบที่สูงมากกว่าการซื้อที่พิจารณาแค่ราคาที่ซื้อเท่านั้น แล้วคุณละใช้หลักการใดเวลาซื้อหุ้นขายหุ้น พิจารณาราคาหรือมูลค่าที่ควรจะเป็น?

Credit >> SETHA

การลงทุนแบบ VI

ในปี 2552 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนจาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นสูงมาก โดย SET เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยประมาณ เป็นผลตอบแทนที่สูงอย่างเหลือเชื่อทำให้หลายๆ คน หลงคิดไปว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ และให้ผลตอบแทนดี จนบางคนอาจจะถึงขั้นลาออกจากงานมาลงทุนหุ้นเต็มตัวเลยก็มี

นักลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงมากปีที่แล้วจำนวนมากคิดว่ากลยุทธ์หรือว่าแนวทางในการลงทุนของตนเองนั้น “Work!” และเป็นวิธีที่เชื่อถือได้ ในบางครั้งอาจจะเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามในหลายๆ กรณี ผลตอบแทนที่สูงมากเกิดจากเหตุผลในเรื่องของโชคและการลงทุนถูกจังหวะเท่านั้น และในอีกหลายๆ กรณี ผลตอบแทนที่สูงเกิดจากการเสี่ยงในระดับที่เกินกว่าปกติ ซึ่งหากตลาดอยู่ในภาวะปกติแล้ว ความเสี่ยงในระดับดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้

จากสถานการณ์ข้างต้น เซียนหุ้นบางคนถึงกับกล่าวในทำนองว่าเมื่อไรก็ตามที่คนซึ่งไม่ได้มีความรู้ทางการลงทุนอะไรมากมาย สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง มันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นภาวะที่ผิดปกติและไม่สามารถจะคงอยู่ได้ตลอดไป ในภาวะตลาดกระทิงดุนั้น ราคาหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ดีนักก็ยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 3-4 เท่าหรือมากกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่สูงขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลที่ดีเพียงพอมารองรับนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็จะยืนอยู่ไม่ได้ ซึงคนที่แห่ตามเข้าไปลงทุนก็ต้องเจ็บตัวกันอย่างหนัก หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ติดดอย มาร์ค โมเบียส ราชันย์แห่งตลาดเกิดใหม่ เคยบอกว่าเมื่อไรก็ตามที่การลงทุนดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้สมอง ให้จำไว้ว่า คุณมีสมอง

การลงทุนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเพียงพอจะต้องเกิดจากแนวทางที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงในทุกสภาวะตลาดและมีความเสี่ยงต่ำ หนึ่งในแนวทางที่ว่าคือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือการลงทุนแบบ VI ซึ่งได้รับการนำไปปฏิบัติโดยนักลงทุนหลายรุ่นหลายรายซึ่งแต่ะลรายก็ล้วนแล้วแต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพอใจตลอดช่วงระยะเวลาเป็นสิบๆ ปีทั้งนั้น

Credit >> http://www.toro.in.th