เงินน้อยเป็นนักลงทุนแบบ VI ได้หรือไม่

แม้ผมจะเห็นด้วยกับหลายๆท่าน ว่าเงินลงทุนมากน้อย ก็สามารถลงทุนตามแนวทาง vi ได้ แต่อีกด้านนึงผมคิดว่า แม้จะลงทุนแบบ vi เหมือนกัน แต่ระดับเงินลงทุนก็มีผลต่อเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ควรจะใช้
ครั้งหนึ่ง Warren Buffett เคยพูดว่า หากวันนี้มีเงินลงทุนแค่ 1 ล้านเหรียญ เค้าสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า 50% ต่อปี ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะช่วงแรกๆที่วอร์เรนลงทุนผ่านห้างหุ้นส่วน เค้าสามารถทำผลตอบแทนได้ประมาณ 30% ต่อปี  ในทำนองเดียวกัน หาก ดร.นิเวศน์ มีเงินลงทุนวันนี้แค่ 1 ล้านบาท ผมคิดว่าแนวทางการเลือกหุ้นของท่าน อาจจะแตกต่างออกไป
เงินลงทุนน้อยๆ ตามนิยามง่ายๆของผม อาจจะเป็นเงินหมื่น เงินแสน และไม่เกิน 1 ล้านบาท ลำพังหากลงทุนโดยแนวทางอนุรักษ์นิยม อาจได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ซึ่งอาจจะเพียงพอและน่าพอใจหากเป็นพอร์ตการลงทุนขนาดกลางหรือใหญ่ แต่ผลตอบแทนระดับนี้ไม่อาจสร้างความแตกต่างในพอร์ตขนาดเล็ก
ดังนั้นหากเป็นพอร์ตการลงทุนระดับเล็กๆ ผมคิดว่าควรมีกลยุทธ์ที่แตกต่างออกไปเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น
กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ ผมมองผ่านภาพใหญ่ 2 ประเด็นคือ
1. ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด
2. ต้องทำให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด
ประเด็นแรก ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด สามารถแยกเป็นภาพย่อยๆได้อีกคือ
1.1 ควรเพิ่มรายได้ เพิ่มจำนวนเงินให้มากที่สุด
1.2 ลดรายจ่ายให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มเงินออม ที่จะนำมาลงทุน
1.1 เพิ่มรายได้  ผมมองในแง่คนทั่วไปที่ทำงานกินเงินเดือนไม่สูงมาก การเพิ่มรายได้สามารถทำได้โดยการหารายได้เสริม การย้ายงานใหม่ การเพิ่มความรู้เพื่อเพิ่มค่าจ้าง การแต่งงานที่คู่ชีวิตมีรายได้ด้วย (ถ้าโชคดีได้แฟนรวยจะดีมาก) การหยิบยืมเงินจากพ่อแม่หรือญาติในระดับที่หากเสียหายก็ไม่ทำให้เดือนร้อนมาก ที่สำคัญไม่ควรกู้เงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อมาลงทุน เพราะจะมีแรงกดดันจากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา
1.2 การลดรายจ่าย รายจ่ายที่หนักที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คือการผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน คุณสุวภา ผู้เขียนหนังสือ show me the money เคยพูดไว้ว่า ตัวอย่างการใช้เงินที่เลวที่สุดของหนุ่มสาวที่กำลังสร้างอนาคตคือ การซื้อรถ แต่ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร หลายท่านอาจจะบอกว่าทั้งบ้านและรถเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ หรือต้องใช้ประกอบการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ถ้ามองรอบด้าน เราอาจจะพบว่ามีทางเลือกอื่นๆอีก ที่ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้ เช่น
- แทนที่จะผ่อนบ้าน เราอาจจะอดทนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนที่สนิท หรือแม้แต่การเช่าบ้านที่ค่าเช่าไม่สูงมาก เหล่านี้แม้จะไม่สะดวกสบายเท่า แต่สามารถประหยัดทั้งดอกเบี้ยผ่อนและยังสามารถนำเงินต้นไปหาดอกผลจากการลงทุน
- แทนที่จะผ่อนรถ เสียทั้งเงินต้นและดอกและยังมีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ทางด่วน ซ่อมแซม ค่าประกัน เหล่านี้เป็นเงินจำนวนมากที่เราคาดไม่ถึง เราอาจจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ หรือกระทั่งซื้อรถมือสองที่ราคาถูกกว่ามาก หรือหากยังมีค่าใช้จ่ายสูง ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงาน หรือย้ายบ้าน ย้ายที่พักซะเลย ให้ที่ทำงานกับที่พักอยู่ใกล้ๆกันเพื่อประหยัดค่าเดินทาง
รายจ่ายอื่นๆที่พอจะประหยัดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ถ้าคิดเป็นรายจ่ายทั้งปีเราอาจจะตกใจ ทางเลือกคือ เราอาจะโทรน้อยลง หรือไม่โทรเลย (ไม่โทรไม่ตายซักหน่อย) เปลี่ยนเครื่องนานๆครั้ง ใช้เครื่องถูกๆ
ข้างต้นที่เขียนมาคงทำได้ไม่ง่ายครับ เพราะรายจ่ายเหล่านี้ คนปกติทั่วไปในสังคมเค้าทำกัน เรียกว่าบินก่อน ผ่อนทีหลัง เอาสบายไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน แต่หากเราต้องการที่จะแตกต่างจากคนอื่นๆ(อยากรวย) เราควรจะทำให้ได้ อาจจะในรูปแบบหรือวิธีที่ต่างกันออกไปตามฐานะ ความจำเป็นของแต่ละคน
ประเด็นแรก การหากเงินมาลงทุนให้มากที่สุด ผมคงไม่เน้นมากครับ แต่จะไปเน้นในประเด็นที่สองคือทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด
ประเด็นที่สอง ทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด
ประเด็นนี้เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต่างต้องการ และยิ่งหากมีเงินลงทุนไม่มาก การทำผลตอบแทนให้สูงๆยิ่งมีความสำคัญ การมีเงินลงทุนน้อยๆและทำผลตอบแทนในระดับปกติ เช่น 10-15% ต่อปี กว่าที่เงินลงทุนจะเติบโตสมมุติ 1 เท่าตัว อาจใช้เวลา 5 – 6 ปี ซึ่งอาจจะน่าพอใจหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทนกับเงินฝาก แต่อาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในการศึกษาการลงทุน นอกจากนั้น แม้เงินทุนจะเพิ่มขึ้นมาระดับนี้ แต่ด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อย กำไรที่ทำได้ก็น้อยไปด้วย และสุดท้ายจะพาลทำให้นักลงทุนหมดกำลังใจ เพราะดูเหมือนการลงทุนอย่างนี้ทำให้รวยช้า อาจหันเหไปเก็งกำไร หรือไปเสี่ยงโชคกับการธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นว่าจะทำให้รวยเร็วกว่า
การเพิ่มเทคนิค กลยุทธ์เพียงเล็กๆน้อยๆ สำหรับพอร์ตการลงทุนเล็กๆ อาจจะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ ที่จริงกลยุทธ์เหล่านี้ เพื่อนๆหลายท่านก็ทราบกันดีจากที่โพสต์มา แต่หากนำมาเรียบเรียงรวมกันเป็นหมวดหมู่ จะเป็นประโชน์กับเพื่อนๆได้พิจารณาเป็นทางเลือกใหม่ครับ
กลยุทธ์ที่ผมพอจะคิดออกมีดังนี้ครับ
1. การทำการบ้าน(หุ้น) ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นการแปรเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นพลัง – เป็นแรงบันดาลใจ ที่ชัดเจนที่สุด ยิ่งหากเราพอร์ตเล็กเท่าไหร่ เราก็ควรจะทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลหุ้นให้มากขึ้นเท่านั้น มีเพียงสิ่งนี้สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้โดยตรง ทำให้ทุกเวลา ทุกนาที โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่น หากเราไม่มีความรู้ที่จะหาหุ้น ไม่มีความรู้ด้านบัญชี ด้านการเงิน วิธีทีดีที่สุด ก็คือต้องไปเรียน หาหนังสือมาอ่าน หากไม่มีเวลา ไม่ค่อยมีเงิน ผมแนะนำให้ลงเรียนที่ ม.รามคำแหง บัญชีเบื้องต้น หรือการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียน ซื้อหนังสือซื้อชีทมาอ่าน ก็เข้าใจได้ครับ
2. ไปหาปลาตรงที่มีปลา เนื่องจากเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ ดังนั้นเราก็ต้องหาประเภทของหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงๆ เสมือนไปหาปลาตรงที่ๆมีปลา ข้อสังเกตุของผมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ มักเป็นหุ้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หุ้นเหล่านี้แม้มีความเสี่ยงทางธุรกิจบ้าง แต่การเพิ่มยอดขายหรือผลกำไรจะทำได้เร็วกว่าหุ้นมั่นคงขนาดใหญ่มาก ธุรกิจที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นหุ้นเหล่านี้ไม่คอ่ยมีนักวิเคราะห์คอยติดตาม ทำให้โอกาสที่จะเจอหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมีสูง
หลักทรัพย์บางประเภท เช่นวอร์แรนต์ ที่นักลงทุนมักหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งที่ในความเป็นจริงวอร์แรนต์เหล่านี้ในอนาคตก็คือหุ้นสามัญนั่นเอง ดังนั้นเราควรใช้บรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าวอร์แรนต์ในทำนองเดียวกับที่เราประเมินมูลค่าหุ้น หากมูลค่าวอร์แรนต์ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในวอร์แรนต์ และที่จริงการลงทุนในวอร์แรนต์โดยปกติจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นสามัญ เพราะคุณสมบัติจากอัตราทวีผลหรือ Gearing นั่นเอง นักลงทุนที่แสวงหากำไรสูงๆ ไม่ควรมองข้ามการลงทุนในวอร์แรนต์ครับ
3. มองหาตัวเร่งเร้า(ที่รุนแรง) หมายถึง มองหาปัจจัยที่จะเร่งให้กำไรของกิจการเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะหมายถึงราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ตัวเร่งในที่นี้อาจจะเป็นอะไรก็ตาม ที่จะทำให้กำไรของกิจการเพิ่มขึ้นทั้งโดยตัวพื้นฐาน เช่น การขยาย ปรับปรุงกำลังการผลิต การขยายตลาด รวมถึงการเจริญเติบโตปกติของกิจการ การกลับตัวของดีมาน-ซัพพลายของอุตสาหกรรม การซื้อกิจการ การเพิ่มปันผล  กำไรพิเศษ นอกจากนั้นยังอาจเป็นตัวเร่งทางปัจจัยจิตวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร การแตกหุ้น การแจกวอร์แรนต์
หากเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น 2 ตัว ที่มีปัจจัยทางด้านอื่นๆเหมือนๆกันหรือคุณภาพพอๆกัน หุ้นตัวที่มีตัวเร่ง มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
4. เริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด เพราะการที่พอร์ตการลงทุนจะโตมากๆ ต้องอาศัยการทบต้นหรือการนำกำไรไปลงทุนต่อ ดังนั้น ในปีหลังๆพอร์ตการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะเงินต้นมากกว่า แม้จะทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม
การลงทุนให้เร็วที่สุด จะทำให้เราไปถึงจุดที่เงินลงทุนออกดอกออกผลได้เร็ว นอกจากนั้น การที่เราเริ่มลงทุนเร็ว เท่ากับว่าเราได้เริ่มเรียนรู้เร็วไปด้วย ซึ่งความรู้จะพอกพูนไปตามวันเวลา และประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น
เคยมีผลการวิจัยศึกษาพบว่า นักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเท่าๆกัน ทำผลตอบแทนได้เท่าๆกัน ต่างกันตรงที่เริ่มลงทุนห่างกันหลายปี เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของทั้งสองคนจะห่างออกจากกันมากขึ้น เสมือนเส้น 2 เส้นที่ลากออกจากจุดเดียวกัน เส้นทั้ง 2 ทำมุมกันเพียงเล็กน้อย ถ้าลากเส้นยาวขึ้นเรื่อยๆ เส้นทั้งสองจะออกห่างกันมากขึ้นทุกที
5. ผู้บริหารในฝัน เพราะผู้บริหารที่ดีจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติ ผู้บริหารที่นักลงทุนควรมองหาคือ มีความรู้ซึ้งในธุรกิจที่ทำ มีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล มี passion ในงานที่ทำ มีความกระหายที่จะทำให้บริษัทเติบโตและที่สำคัญต้องมองผลประโยชน์ในมุมมองเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ถ้าเจอผู้บริหารที่มีคุณสมบัติข้างต้น ช่วยสะกิดบอกผมด้วย เพราะนี่เป็นสัญญานที่ดีที่จะเจอหุ้นดีๆ การศึกษาปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆประกอบเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนต่อไป
(เทคนิคไม่ยากที่เราอาจจะพบผู้บริหารอย่างนี้ สังเกตุจากบริษัทที่เข้าร่วมงาน oppurtunity day บ่อยๆ เพราะนั่นแสดงว่าผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ กล้าที่จะเปิดเผยต่อนักลงทุนรายย่อย แสดงว่าผู้บริหารอาจจะมั่นใจว่าบริษัทดีจริง)
6. ถือหุ้นน้อยตัว หากเรามีเงินทุนน้อย การกระจายการถือหุ้นหลายๆตัว อาจทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ผลตอบแทนที่ได้จะหักล้างกันทำให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่ควร การเลือกที่จะถือหุ้นน้อยตัวเช่น 2-5 ตัว จะทำให้เรามีความรอบคอบ พิถีพิถันที่จะเลือกถือหุ้นในกลุ่มที่ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้) และหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ผลตอบแทนที่ได้รับจะคุ้มค่า
ตัวเลข 2-5 ตัวอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามระดับความมั่นใจในพื้นฐานของหุ้นที่เราจะลงทุน
7. คาดหวังผลลัพธ์ 100% เลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้กำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง แม้หุ้นเหล่านี้อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะศึกษาให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงนี้ แน่นอนว่าในการลงทุนทุกอย่าง เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ หากเราลงทุนในหุ้นที่แพ้ เราจะแพ้ หากเราเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสทั้งชนะและแพ้ เราจะมีโอกาสทั้งชนะและแพ้ ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษามากน้อยแค่ไหน และบางทีก็เป็น โชคชะตา..
8. Growth always better ถ้าหากหลายท่านจำกันได้ กระทู้ของคุณริวกะเมื่อไม่นานมานี้ TVI Index ที่จริงอาจจะมีเพื่อนๆเอะใจว่า คำตอบการลงทุนที่เราค้นหามานาน อาจจะซ่อนอยู่ในกระทู้ที่ว่านี้ก็ได้ คำตอบที่ผมหมายถึงคือหากเราดูผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นหลายๆตัวที่ทำกำไรสูงๆ ในกระทู้นั้น สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกบริษัทเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock ทั้งสิ้น คำอธิบายแบบเรียบง่ายคือราคาหุ้นขึ้นอยู่กับกำไรที่กิจการทำได้ ถ้ากำไรเพิ่ม ราคาหุ้นก็เพิ่ม คนที่ถือไว้ก็ได้กำไร นักลงทุนทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะมีหุ้นเติบโตสูงอยู่ในพอร์ตเสมอๆ
…เวลาจะเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ หากเราลงทุนในหุ้น Growth…
กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนเบี้ยน้อยหอยน้อย คงมีแค่นี้ครับเท่าที่คิดออก ถ้าเพื่อนๆมีความเห็นอื่นจะเสริมก็จะเป็นประโยชน์ครับ และที่ต้องขอย้ำคือ กลยุทธ์ส่วนใหญ่ คงเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความรู้การลงทุนในระดับนึงแล้ว และจะไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าถามว่ากลยุทธ์ข้อไหนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคงเป็นข้อแรก ถ้าไม่มีข้อแรก ประเด็นอื่นๆก็จะไม่ตามมา
ผมและเพื่อนท่านอื่นๆอาจจะเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่นักลงทุนต้องเดินทางด้วยตัวเองครับ ระหว่างทางอาจจะมีความยากลำบาก มีอุปสรรค มีเพียงทัศนคติที่ถูกต้อง ความตั้งใจ และกำลังใจ จะทำให้เราไปถึงจุดหมายครับ มีบทกวีบทหนึ่ง นำมาฝากเป็นกำลังใจด้วยครับ
เมื่อเริ่มสู้นั้น มันมืดยิ่งกว่ามืด…
ครั้นยืนหยัดยาวยืด มืดค่อยหาย…
พอมองเห็นลางลาง อยู่ทางปลาย…
ชัยชนะ ขั้นสุดท้าย ไม่เกินรอ…

http://stock-trading-technic.blogspot.com


วิธีลงทุนแบบ VI

วิถีชีวิต วิธีลงทุน แบบ VI

1. นักลงทุนเน้นคุณค่าต้องมีจิตอิสระ อิสระจากอารมณ์และอคติ หมายถึงพิจารณาการลงทุนตามเหตุและผลอย่างแท้จริง ไม่ใช้อารมณ์ และขจัดอคติ ความลำเอียงต่างๆ เช่น ความรักหุ้น ความชอบหุ้น ความเชื่อต่างๆที่ไม่จริง อคติเหล่านี้อยู่กับเราโดยไม่รู้ตัว
ส่งผลเสียต่อการลงทุน ยกตัวอย่างอคติบางอย่างนะครับ
- ซื้อหุ้นเพราะว่าเซียนก็ซื้อ
- ซื้อหุ้นเพราะว่าผู้บริหารสวย หล่อ
- ซื้อหุ้นตามกระแส เฮไหนเฮนั่น มีเพื่อนขาดทุนรู้สึกดีกว่ากำไรแต่ไม่มีเพื่อน
- หลีกเลี่ยงหุ้นบางตัวเพราะเป็นหุ้นบาป เป็นการใช้ความเชื่อมากกว่าการมองเป็นธุรกิจ
- หลีกเลี่ยงหุ้นบางตัวเพราะเราเคยขาดทุนตัวนี้มาก่อน ทำให้เข็ดหยาด ที่จริงการขาดทุนที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยกับการลงทุนในปัจจุบันเลย
เราจะขจัดอคติทางอารมณ์ต่างๆได้ เราต้องมีความคิดที่เป็นอิสระ ไม่ไหลไปตามกระแส นั่นทำให้เราต้องมีความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานแบบเหตุและผล เราอาจจะไม่สามารถเป็น VI ที่ดีได้หากเรา…
- กลัวสังคมไม่ยอมรับ
- กลัวตกกระแส
- เชื่อคนอื่นมากกว่าเชื่อเหตุผลที่ถูกต้อง
- เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง หูเบา
- เห่อหลินปิง
การลงทุน VI เป็นวิธีการครึ่งนึง อีกครึ่งนึงเป็นการควบคุมอารมณ์ให้คิดแบบเหตุและผล ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ยาก ปริญญาเอกหลายๆใบก็ช่วยไม่ได้ คล้ายๆกัน การลดความอ้วน ทุกคนรู้วิธีที่จะลดน้ำหนักกันทุกคน แต่ยังมีคนอ้วนเต็มบ้านเต็มเมือง
การลงทุนแบบ VI เป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย หลักการสมเหตุสมผลที่สุด แต่เวลาทำจริงๆกลับยาก เพราะมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง เวป Thaivi มียูสเซอร์ 23,000 คน แต่มีคนที่แอคทีฟไม่เกิน 1 พันคน นี่คงเป็นเพราะ VI ต้องฝืนธรรมชาติ ต้องฝืนอารมณ์ของคนส่วนใหญ่
ดังนั้นเป็น VI ต้องเป็นคนส่วนน้อยครับ
2. แนวทางการลงทุน กับแนวทางการใช้ชีวิตต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเราลงทุนตามแบบ VI แต่กลับใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า ไม่วางแผน อย่างนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความคิดกับการปฎิบัติจะขัดแย้งกันตลอดเวลา ดังนั้นเป็น VI ต้องเป็นทั้งชีวิตและจิตใจหรือพูดได้ว่าเป็น VI ต้องเป็นโดยจิตวิญญานเท่านั้น
3. การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เสมือนการปลูกต้นไม้ เราได้นั่งพักใต้ร่มเงาต้นไม้ นั่นเพราะเราได้ปลูกมันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราลงทุนวันนี้เพื่ออนาคตทางการเงินที่ดีในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า การลงทุนแบบ VI ไม่มีทางลัด ถ้าอยากรวยเร็วๆให้เล่นหวย ให้เล่น TFEX แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงมหาศาล ต้นทุนส่วนหนึ่งการการลงทุนแบบ VI คือความอดทน อดทนจนกว่าผลของมหัศจรรย์การทบต้นจะส่งผล ในปีแรกๆ เงินลงทุนจะเติบโตไปอย่างช้าๆ เงิบๆ หงอยๆ จนถึงจุดหนึ่งในปีหลังๆ เงินลงทุนจะเติบโตแบบจรวด เงินเพิ่มจนเรานับเงินไม่ทัน ดังนั้นอนาคต(ที่ดี)เริ่มตั้งแต่วันวานครับ
4. ชีวิตตลาดหุ้นกับชีวิตคนก็คล้ายๆกัน ในแง่ที่ว่า เราไม่สามารถประมาทมันได้ วันดีคืนดีหุ้นอาจพุ่งทะลุฟ้า แต่วันร้ายๆหุ้นอาจตกฟลอร์ทั้งตลาด เหมือนชีวิตที่เหตุการณ์ร้ายและดีเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีคำเตือน ดังนั้นไม่ว่าจะชีวิตจริงๆหรือชีวิตการลงทุน
จงอย่าตั้งอยู่ในความประมาท อย่ามองแต่ผลตอบแทนจนลืมความเสี่ยง เมื่อรู้ว่าเราอาจจะตายที่ไหน ก็อย่าไปที่นั่น ลงทุนอะไรที่มีโอกาสหมดตัว ก็อย่าไปลงทุนครับ

Credit >> http://stock-trading-technic.blogspot.com


วิธีการลงทุนสไตล์พี่โจ ลูกอีสาน

วิธีการเรียบง่ายที่ผมใช้ทำมาหากินแทบทุกครั้ง จะเป็นอย่างนี้ครับ..

1. หา P/E ที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท บริษัทไหนที่คาดการง่ายหน่อย กำไรโตเรื่อยๆ ปันผลดี พวกนี้จะ P/E สูงเหมือนพวกค้าปลีก โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนพวกที่ด้อยกว่า เช่น พวกรับเหมา ก็ให้ P/E ต่ำๆ
2. หา P/E ในอนาคต(อันใกล้)ของบริษัทที่เราสนใจ นี่หมายความว่าเราต้องประมาณกำไรของกิจการได้ เราจะทำได้ต้องหาข้อมูลเพื่อประเมินกำไรให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
3. หาส่วนต่างของ P/E ที่เหมาะสม และ P/E ที่จะเกิดขึ้นจริง เช่น เราประเมินว่าบริษัทนี้ควรมี P/E 15 เท่า แต่เราประเมินแล้วราคาตลาดวันนี้หรือในอนาคตใกล้ๆนี้ P/E แค่ 7 เท่า นั่นแสดงว่า ราคาตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 50% (มี margin of safety 50%) อย่างนี้น่าสนใจครับ ปกติต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นซัก 30% ผมก็สนใจแล้ว
ผมมีความเชื่ออย่างนี้นะ..
*ระยะยาว หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเสมอ
*ตลาดเหมือนฤดูกาลที่มีทั้งรุ่งเรืองตกต่ำ หน้าหนาว-หน้าร้อน ขอให้เราเข้าใจและหาประโยชน์จากความจริงข้อนี้
*นักลงทุนเอกของโลกทุกคน เคยผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง หนักหนากว่านี้ก็มี ถ้าหยุดลงทุนก็คงไม่มีวันนี้ แม้แต่ ดร.นิเวศน์ ท่านเริ่มลงทุน 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ดัชนีประมาณ 800 จุด ท่านได้ผลตอบแทน 30 เท่า ทั้งที่วันนี้ดัชนีตลาดต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว
*ผมพูดเสมอๆว่า ตรรกะของการทำกำไรจากหุ้นคือ ซื้อถูกขายแพง คำถามต่อไป แล้วเราจะขายได้แพงตอนตลาดเป็นแบบไหน และหากเราจะซื้อของให้ได้ราคาถูก เราจะซื้อได้ตอนที่ตลาดเป็นอย่างไร
*การขายหุ้นและเลิกลงทุนตอนตลาดตกต่ำ เป็นการละเมิดศีลที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน vi เพราะนั่นหมายความว่า เราจะไม่มีโอกาสได้กำไรกลับคืนตอนตลาดกลับไปรุ่งเรืองเลย
*มองไปวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แล้วทุกอย่างในวันนี้มันจะผ่านไป
*อย่าให้อารมณ์ของตลาด มาหยุดความมุ่งมั่นในการลงทุนของเรา อย่าทำให้เราหมดกำลังใจที่จะทำการบ้าน ศึกษาหาความรู้
*เราลงทุนวันนี้ ไม่ใช่เพื่อให้รวยพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ แต่เพื่อ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า
*เราจะรู้ว่าใครแก้ผ้า ก็ตอนน้ำลด
ผมแนะนำครับ..
1. หามูลค่าที่เหมาะสมเสียก่อน พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ
2. ดูราคาในตลาด ว่าสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่เราคำนวณได้
3. ตัดสินใจ ซื้อหรือขาย
ผมมองว่าที่หลักการลงทุน vi เติบโตเด่นได้รับความนิยมขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะมีตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเป็นเหตุเป็นผลของมัน คือหุ้นจะขึ้นจะลงเพราะมีเหตุผลทางธุรกิจ ไม่ใช่หุ้นจะขึ้นเพราะหลายคนบอกว่าจะขึ้น และมันจะลงเพราะหลายคนบอกว่ามันจะลง
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างเดียว เพราะเป็นคนก็ต้องมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมก็ยังเป็น แต่ถ้าเราจะเป็น vi ที่ประสบความสำเร็จ เราต้องพิจาณาด้วยเหตุผลธุรกิจเป็นหลักครับ
ส่วนเรื่องจาก ซื้อเพิ่ม, cut loss ผมไม่กล้าแนะนำ แต่ผมจำที่ใครคนหนึ่งเคยพูดทำนองว่า ลืมต้นทุนที่ซื้อมา คิดเสียว่าพอร์ตตอนนี้เป็นเท่าไหร่ หุ้นในตลาดตัวไหนน่าซื้อที่สุด ขายไปซื้อตัวนั้น ถ้าเป็นตัวเดิมก็ไม่ต้องทำไร
ผมเชื่อว่า มี 2 แรงที่ผลักดันราคาหุ้น
1. กำไร >> เราเรียกรวมว่า พื้นฐาน
2. ปัจจัยด้านจิตวิทยา – อารมณ์ของตลาด
ประเด็นแรก เป็นสิ่งที่นักลงทุนแนว vi ต้องวิเคราะห์อยู่แล้ว แต่ถ้าเข้าใจประเด็นที่สองด้วย ก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อีกครับ ผมตอบไม่ได้ชัดเจนว่า เราจะดูอารมณ์จิตวิทยาของตลาดได้อย่างไร(ยังไม่รู้จริง) แต่ประมาณว่า ถ้าเราเข้าใจอารมณ์ตลาด เรามักจะได้ซื้อหุ้นที่ดี ที่ราคาไม่แพง
เหมือนที่ Graham เปรียบเปรยเป็นนิทาน Mr. Market ครับ นอกจากนั้น เราอาจพิจารณาจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดว่า เค้านิยมหุ้นพิมพ์แบบไหน ในอุตสาหกรรมใดที่กำลังจะฮอต หุ้นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ราคาต่ำหรือราคาสูง เหล่านี้เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ครับ เราลงทุนแนว vi แต่พิจารณาไว้บ้างก็ไม่เสียอะไร
ผมปรับพอร์ตบ่อยๆครับ เหตุผลมักเป็นอย่างนี้
1. เจอหุ้นตัวที่ดีกว่า แต่ไม่มีเงินก็ต้องขายตัวที่ด้อยที่สุดไป
2. ตัวที่ถือพื้นฐานเปลี่ยน อันนี้แน่นอนก็ต้องขายออก
3. หุ้นขึ้นจนราคาสมเหตุสมผล ผมก็อาจจะขายไปเพิ่มตัวที่ยังต่ำกว่ามูลค่า
4. หุ้นลงผมก็ปรับพอร์ต ขายตัวที่ลงน้อยไปซื้อตัวที่มีอัพไซด์มาก
ผมก็ปรับไปเรื่อยครับ ตามข้อมูลที่ได้รับมา ไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าบ่อยแค่ไหน หรือกี่เปอร์เซนต์ของพอร์ต ตั้งแต่ซื้อหุ้นมายังถือไม่เกิน 3 ปีเลยครับ เฉลี่ยเกือบๆปีประมาณนั้น แต่เห็นด้วยครับว่า ตลาดผันผวน เราสามารถใช้การปรับพอร์ตหาประโยชน์จากความผันผวนนั้นได้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และหุ้น ถ้าตลาดซบเซาหนักๆเราก็ควรย้ายเงินจากกองทุนมาลงหุ้นให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนไปถือหุ้นตัวทีมีอัพไซด์สูงกว่า หากตลาดเป็นขาขึ้น หาหุ้นลงทุนได้ยาก อาจจะต้องเปลี่ยนไปถือตัวที่ defensive มีปันผลเยอะหน่อยๆ ประมาณนี้ครับ
ระยะเวลาที่ถือหุ้น สั้นที่สุดนี่จำได้ว่าประมาณ 1 อาทิตย์ครับ ซื้อแล้วขึ้นไปประมาณ 30% ผมก็ขายซิครับ เพราะผมหวังผลตอบแทนแค่นั้น ส่วนยาวนี่ไม่แน่ใจครับ ประมาณ 2 ปี ที่จริง ประเด็นเรื่องเวลาการถือครองหุ้นไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ คำถามที่สำคัญกว่าคือ ราคาเหมาะสมกับพื้นฐานหรือยัง และการถือหุ้นนานๆก็มีผลเสียนะครับ เช่น เราจะเฉื่อยชา ผูกผัน เกิดความลำเอียง รักหุ้นตัวเอง
และถ้ามองในแง่ผลตอบแทน ดูตัวเลขนี้ครับ
*หุ้นตัวแรก เราซื้อผ่านไป 1 ปี ขายที่ราคาเป้าหมายได้กำไร 60% ทั้งปีได้กำไร 60%
*หุ้นตัวที่ 2 เราซื้อผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมาย ขายออกไปซื้อหุ้นตัวที่ 3 ผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมายอีก รวมทั้งปีได้ผลตอบแทน 96%
หุ้นตัวแรกให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ถ้าให้เลือกผมขอซื้อหุ้นตัวที่ 2-3 ดีกว่า นี่คงคล้ายกับ turnover rate ในงบดุลครับ ยิ่งหมุนมากกำไรก็ยิ่งมาก(เรายังไม่พูดถึงความเสี่ยงนะ)
ผมติดตามพื้นฐานของหุ้นที่อยู่ใน watch list เสมอๆ
ผมมีหุ้นที่ติดตามผลกำไรทุกไตรมาส ประมาณ 80 ตัว และหุ้นที่ติดตามแบบห่างๆอีกประมาณ 120 ตัว รวมๆก็ครึ่งนึงของตลาดพอดี
ผมเชื่อว่า ยิ่งติดตามมาก เราก็ยิ่งรู้พื้นฐานมากขึ้น ขอบข่ายความรู้มากขึ้น ยิ่งติดตามมาก โอกาสที่จะเจอช้างเผือกก็สูง เวลามีข่าวสารเข้ามาเราก็รู้ทันทีว่า เป็นข่าวดีหรือไม่ดี ซื้อหรือไม่ซื้อ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้อมูลอีก
ผมอ่านหนังสือพิมพ์หุ้นเกือบทุกฉบับ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ อ่านงานวิจัยของโบรคเกอร์ อีไฟแนนซ์ ข่าวตลาด และ tvi ประมาณนี้ครับ อ่านแบบสแกน ถ้าเจอหุ้นที่น่าสนใจจะอ่านแบบละเอียด ไม่อย่างนั้นต้องใช้เวลาเยอะ
คือถ้าเราติดตามข่าวสารบ่อยๆเราจะรู้ว่าแหล่งข่าวไหนที่เราควรจะอ่านครับ
ที่จริงใช้เวลาวันละ 2 ชม. ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนแบบมุ่งเน้น(ผลตอบแทน) หรือวันละ 1 ชม. สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นแบบการออม
ผมเคยทำงานประจำมาก่อน ยอมรับว่ามีข้อจำกัดเยอะกว่าคนที่ลงทุนเต็มเวลา และไม่สนับสนุนให้ทุกคนลาออกเพียงเพื่อจะได้มีเวลาหาข้อมูล แต่เราก็ควรให้เวลากับการลงทุนตามสมควร
เพราะการใช้เวลาวันละเล็กละน้อยหลังเลิกงาน หาข้อมูล อาจจะเปลี่ยนสถานะภาพทางด้านการเงิน เปลี่ยนชีวิตคนๆนึงได้เลย ในขณะที่ถ้าทำงานประจำอย่างเดียวมีโอกาสน้อยกว่ามาก
ผมยังจำได้ดร.นิเวศน์เคยเขียนบทความทำนองว่า เราใช้เวลาส่วนใหญ่วันๆไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ และให้เวลาน้อยเกินไปกับเรื่องทีสำคัญที่สุด

Credit >> http://stock-trading-technic.blogspot.com


การดูค่า PE Ratio ของหุ้น

เวลาดูค่า P/E ว่าเหมาะสมแค่ไหนที่จะเข้าไปลงทุน โดยมากมักจะเอาค่า P/E ของตลาดโดยรวมมาเป็นตัวเปรียบเทียบก่อนว่า P/E ของหุ้นนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าตลาดแค่ไหน ต่อมาเราต้องดูศักยภาพของธุรกิจนั้นประกอบ เพราะหุ้นที่ P/E ต่ำกว่าตลาด เมื่อวิเคราะห์ไปแล้วอาจเป็นไปได้ทั้งกรณีที่ "ราคาหุ้นนี้ต่ำเกินไปจนน่าสนใจลงทุนมาก" หรือไม่ก็ "หุ้นตัวนั้นสมควรแล้วที่จะมี P/E ต่ำเพราะธุรกิจไม่โตหรือถดถอย" ก็ได้

ส่วนหุ้นที่มี P/E สูงๆ ไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นปั่นหรือไม่น่าซื้อเสมอไป หุ้นที่มี P/E ที่สูงแล้วยังน่าลงทุนอยู่นั้น จะต้องเป็นหุ้นที่ผลกำไรมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่มั่นคง (ไม่ใช่กำไรมาแบบวูบเดียวแล้วหายไป) ซึ่งจะทำให้กำไรในอนาคตสูงขึ้นมาก และ P/E จะต่ำลงในที่สุด
เวลาเจอหุ้น P/E ที่สูงกว่าตลาดจึงต้องพิจารณาดูว่า ธุรกิจนั้นมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ผลกำไรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและดีกว่าตลาดหรือเศรษฐกิจโดยรวมจนในอนาคตหุ้นตัวนี้จะมี P/E ที่ต่ำลงเอง (เพราะ E โตเร็ว) แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นไปได้ยาก ก็ไม่ควรไปยุ่งกับมันครับ เพราะความเสี่ยงจะสูง

สิ่งที่อยากเตือนผู้ลงทุนคือ "เวลาที่เราซื้อหุ้นหมายถึงเรากำลังซื้ออนาคตของหุ้นนั้น" ค่า E ที่เอามาใช้ในการประเมินค่า P/E ควรจะเป็นค่า E ในอนาคต ซึ่งมาจากการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ครับ เราควรเลือกหุ้นที่ E มีแนวโน้มจะโตขึ้นไม่ใช่ถดถอย เราอาจซื้อหุ้นที่ E ไม่โตหรือโตน้อยได้แต่หุ้นนั้นต้องมี P/E ที่ต่ำกว่าตลาดและควรเป็นธุรกิจที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้สูง สม่ำเสมอ และธุรกิจนั้นไม่ได้มีแนวโน้มถดถอย ความยากในการลงทุนก็คือการพยากรณ์อนาคตนี่แหละครับ ก่อนซื้อหุ้นใดจึงต้องพยายามคิดถึงแนวโน้มของธุรกิจให้ดีเสียก่อน

Credit >> http://www.thanachartfund.com