เริ่มลงทุนในหุ้นหรือเริ่มเล่นหุ้นอย่างไรดี

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความต้องการจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นอันดับแรก คือ เงินลงทุน

เงินที่จะนำมาลงทุนในหุ้นแนะนำว่า ควรจะเป็นเงินเย็น ความหมายก็คือ เป็นเงินที่แบ่งออกมาเพื่อลงทุนโดยเฉพาะ ไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายอย่างทันทีทันใด

เนื่องจากราคาของหุ้นจะมีความผันผวนเปลี่ยนไปในทิศทางขึ้น หรือ ลง ค่อนข้างไว หากท่านนำเงินที่มีกำหนดต้องใช้จ่ายแน่นอนมาใช้แล้ว เมื่อถึงเวลานั้น หากเป็นช่วงเวลาที่ราคาหุ้นกำลังตกต่ำอยู่ เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในประเทศ ท่านก็จะต้องขายหุ้นขาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆที่ท่านเองก็รู้ว่าหากรอให้พ้นสภาวะน้ำท่วมไปได้ ราคาหุ้นก็จะกลับมาสูงขึ้น

จำนวนเงินเริ่มต้น ควรจะเป็นเท่าไรดี ?

ไม่ได้มีข้อจำกัดมากนักในจำนวนเงินเริ่มต้นของการลงทุน ท่านจะเริ่มที่ 10,000 บาท หรือ 10,000,000 บาท ก็แล้วแต่ท่าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอแนะนำว่า หากท่านเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ควรจะเริ่มต้นที่เงินจำนวนน้อยก่อน จากนั้นใน 1-2 เดือนถัดไป ค่อยเพิมเงินเข้าไป

มีเงินแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?

เมื่อคุณเตรียมเงินลงทุนในหุ้นไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดไป คือ เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ โบรกเกอร์

โบรกเกอร์ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเข้าเป็น  “บริษัทสมาชิก” ของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เข้าสู่ระบบซื้อขาย ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง

ควรเลือกโบรกเกอร์อย่างไร ?

ควรเลือกบริษัทที่น่าเชื่อ และที่สำคัญควรพิจารณาถึงรูปแบบการซื้อขายหุ้นของคุณ และค่าธรรมเนียมการซื้อขายด้วย

ในการซื้อ หรือ ขายหุ้น คุณสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี

1. ซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทโบรกเกอร์ โดยโทรศัพท์ติดต่อเข้าไป (หลังจากเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว ท่านจะมีเจ้าหน้าที่ประจำตัว เรียกว่า มาร์ คอยติดต่อประสานงาน)

2. ซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต

การซื้อขายหุ้นผ่านมาร์เก็ตติ้ง จะเหมาะสำหรับนักลงทุน ผู้ที่ไม่สะดวกในการทำการซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ข้อดีของการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ คือ สะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ข้อเสีย คือ ค่าธรรมเนียมจะสูงกว่า

การซื้อขายด้วยตนองผ่านอินเตอร์เน็ต จะมีค่าคอมมิสชั่นที่ต่ำกว่า ในส่วนนี้ขอเน้นว่า ให้ท่านเลือกโบรกเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการซื้อขาย ซึ่งปัจจัย หลายบริษัทไม่คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ หากผู้ลงทุนเลือกรับข้อข้อมูลทางอีเมล์และแจ้งความประสงค์ให้ทราบตั้งแต่ตอนเปิดบัญชีซื้อขาย

คำว่า ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ คือ ค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าท่านซื้อขายหลักทรัพย์มูลค่ามากน้อยเพียงใด ก็ต้องเสียเท่านี้

ประเภทบัญชี ซื้อขายหุ้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. Cash Balance บัญชีประเภทนี้ ท่านจะต้องโอนเงินลงทุนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ก่อน และซื้อขายหุ้น ได้เท่าที่เงินลงทุนจะมีเท่านั้น

2. Credit Balance หรือ Cash Account บัญชีประเภทนี้ ท่านจะมีวงเงินซื้อ หรือ ขาย หุ้น มากกว่าเงินที่ท่านโอนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ กล่าวง่าย ๆ คือ ท่านสามารถยืมเงินโบรกเกอร์มาลงทุนได้ก่อน แล้วค่อยชำระคืนในเวลาที่โบรกเกอร์กำหนด

หากท่านเป็นนักลงทุนผู้เริ่มต้น ขอแนะนำให้เปิดบัญชีแบบที่ 1 จะดีกว่า คือ มีเงินเท่าไรก็ลงทุนเท่านั้น

หลังจากที่ท่านเปิดบัญชี ซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว ท่านก็สามารถเริ่มที่จะลงทุนได้ทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน

Credit >> http://www.setmai.com/


Ceiling และ Floor คืออะไร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันไว้ เพื่อไม่ให้ราคาของหุ้นมีความผันผวนมากจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเสี่ยงเกินกว่าจะรับได้สำหรับนักลงทุน

ราคา Ceiling ก็คือ ราคาสูงสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน กำหนดไว้ที่ + 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ราคา Floor คือ ราคาต่ำสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน  กำหนดไว้ที่ – 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ทั้งนี้หากเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายวันแรก หรือ ที่เรียกว่า หุ้น IPO
- ราคาหุ้นสูงสุด (Ceiling) จะเท่ากับ 3 เท่าของราคา IPO
- ส่วนราคาขั้นต่ำ (Floor) จะเท่ากับ 0.01 บาท

ส่วนหลักทรัพย์ประเภท Warrant / DW / TSR นั้น Ceiling/Floor คือ ราคา IPO ± (100% x
ราคาปิดหุ้น Underlying วันก่อนหน้า x อัตราการแปลงสภาพ) โดยราคาหุ้นขั้นต่ำเท่ากับ 0.01
บาท

ปล. รายละเอียดวิธีคำนวนราคา Ceiling และ ราคา Floor อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งที่เรานำมาลงในบทความนี้ เป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจาก ปก.(ว) 9/2555 ในวันที่ 16 กค. 2555

Credit >> http://www.setmai.com


ตลาดหมี ตลาดกระทิง คืออะไร

นักการเงินได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมา เพื่อแสดงถึงสภาวะของตลาดหุ้น ซึ่งมีทิศทางขึ้นหรือลง อย่างชัดเจน โดยได้นำสัตว์ 2 ชนิดมาเป็น สัญลักษณ์ได้แก่ กระทิง และ หมี

ตลาดกระทิง (bull market)  คือ สภาพตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนโปรดปรานมากที่สุด ทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นไปในทางที่ดี ราคาหุ้นและดัชนีหลักทรัพย์โดยรวมล้วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่เรียกว่า ตลาดกระทิง เนื่องจาก กระทิงจะโจมตีคู่จ่อสู้ด้วยการขวิดเขา จากด้านล่างขึ้นบน เหมือนกราฟดัชนีในช่วงนี้ที่พุ่งขึ้นด้านบน

ตลาดหมี (bear market) เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของนักลงทุน ดัชนีหลักทรัพย์และราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางทิศทางลบ

สาเหตุที่เรียกว่าช่วงเวลาซึ่งตลาดหุ้นดิ่งลงต่ำอย่างต่อเนื่องว่าตลาดหมี เพราะ เวลาที่หมีโจมตีคู่ต่อสู้ จะใช้กรงเล็บตะปบ จากด้านบนลงล่าง เหมือนช่วงเวลาที่กราฟหุ้นดิ่งลงต่ำนั่นเอง

Credit >> http://www.setmai.com/

เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆในตลาดหุ้นไทย

เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และเพื่อเป็นการเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำการขึ้นเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบ เรามาศึกษากันว่า แต่ละสัญลักษณ์ มีความหมายเช่นไร

เครื่องหมายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

XD (Excluding Dividend) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XI (Excluding Interest) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XE (Excluding Exercise) แสดงการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
XR (Excluding Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XW (Excluding Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
XS (Excluding Short-term Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นระยะสั้น
XT (Excluding Transferable Subscription Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XP (Excluding Principal) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XM (Excluding Meetings) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XN (Excluding Capital Return) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
XA (Excluding All) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิทุกประเภท

เครื่องหมายหุ้นที่แสดงการห้าม หรือ เตือน

NP (Notice Pending) บริษัทจดทะเบียนต้องรายงาน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
NR (Notice Received) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่ขึ้น
เครื่องหมาย NP แล้ว และจะขึ้นเครื่องหมาย NR เป็นเวลา 1 วัน
SP (Suspension) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย
H (Halt) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย

Credit >> http://www.setmai.com/


NVDR คืออะไร

เนื่องจากกฏหมายในประเทศไทยได้จำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติเอาไว้ ไม่ให้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทเกินสัดส่วนที่กำหนด เพื่อป้องกันการทุ่มซื้อกิจการจากต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนให้มากเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง  ”บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” (Thai NVDR Company Limited)”

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะทำหน้าที่ออกตราสารเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) ซึ่งจะอ้างอิงตรงกับหลักทรัพย์ทุกตัวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในระดับราคาที่เท่ากัน เมื่อนักลงทุนซื้อตราสารเอ็นวีดีอาร์ตัวไหน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ก็จะนำเงินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ตัวนั้น

ผู้ถือตราสารเอ็นวีดีอาร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) ได้เสมือนลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายกว่านี้ คือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เหมือนกับเป็นตัวแทนในการถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างชาติ เพราะกฏหมายควบคุมไม่ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นของแต่ละบริษัทมากเกินไปจนกระทั่งสามารถเข้าไปมีสิทธิในการกำหนดทิศทางบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นได้ ดังนั้นถ้านักลงทุนต่างชาติอยากซื้อหุ้นตัวไหนในตลาดหลักทรัพย์ ก็เลือกซื้อผ่าน (NVDR) แทน ผลประโยชน์ที่ได้รับก็เหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป เพียงแต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อควรทราบก็คือ หุ้น NVDR ไม่ได้จำกัดให้ซื้อเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น นักลงทุนไทยก็สามารถซื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่บางราย ที่ไม่ต้องการให้ชื่อของตนปรากฏขึ้นมาในรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ของแต่ละบริษัทที่ลงทุน ก็จะเลือกซื้อหุ้น NVDR แทน

*** บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านบาท โดยตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน บริษัทประกอบธุรกิจโดยการออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt :NVDR) เพื่อขายให้แก่ผู้ลงทุน***

- หากท่านต้องการซื้อหุ้น NVDR สามารถที่จะสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่ท่านเป็นสมาชิกได้เลย แต่ถ้าท่านซื้อขายหุ้นด้วยตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็เพียงแค่เลือกประเภทหุ้นเป็น NVDR โดยเมื่อซื้อแล้วรายชื่อหุ้นที่แสดงจะเป็นชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุน ตามด้วย -R

Credit >> http://www.setmai.com/


Defensive Stock คือหุ้นแบบไหน

ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เรามักจะได้ยินนักวิชาการด้านการลงทุน ออกมาแนะนำผู้ลงทุน ให้เน้นไปที่หุ้นประเภท Defensive Stock  วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหุ้นประเภทนี้กัน

คำว่า Defensive Stock แปลว่า หุ้นตั้งรับ , ความหมาย คือ หุ้นที่มีเสถียรภาพสูงภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆได้รับผลกระทบในทางลบจากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ แต่หุ้นของบริษัทที่มีการดำเนินการอยู่ในรูปแบบ Defensive จะไม่ได้รับผลมากนัก เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทยังคงที่เช่นเดิม

ตัวอย่างของหุ้น Defensive Stock เช่น กิจการประเภทระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ,ประปา ) , อาหาร ,ยา ,โรงพยาบาล เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างข้างต้น ถ้าจะขยายความให้เห็นได้ชัด  เช่น กิจการไฟฟ้า ถึงแม้ว่าวงจรเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป

หุ้น Defensive Stock ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า non-cyclical stock ความหมายคือ เป็นหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในวงจรเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหุ้นประเภทนี้ จะมีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่ แต่ในทางกลับกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ ก็ยังให้ผลตอบแทนที่คงที่ไม่เพิ่มขึ้น มีอัตราการผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

Credit >> http://www.setmai.com


PEG Ratio คืออะไร

Price/Earnings To Growth หรือ PEG Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ P/E Ratio ที่ไม่ได้มีการนำเอาอัตราการเติบโตของผลกำไรมาร่วมคำนวนด้วย ทำให้ค่า P/E ของหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) อาจจะดูมีค่ามากเกินไปจนไม่น่าลงทุน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์การเติบโต มูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุนอยู่

วิธีคำนวน ค่า PEG Ratio ทำได้โดยนำค่า P/E มาหารด้วย เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth)

สำหรับ เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) นักลงทุนแต่ละท่านอาจจะเลือกใช้ตัวเลขที่แตกต่างกัน บางคนใช้อัตราเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปีล่าสุด ,บางคนใช้อัตราการเติบโตปีล่าสุดเพียงปีเดียวมาใช้ เป็นต้น

จากการที่ตัวแปรซึ่งใช้คำนวนมีความแตกต่างกัน ทำให้ค่า PEG Ratio ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจ หากดูข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิชาการจากหลายแห่งแล้วไม่ตรงกัน

ค่า PEG Ratio เหมือนกับ P/E คือ Ratio คือ  หุ้นตัวไหนที่มีค่าน้อย แสดงว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุน

มาตรฐานโดยส่วนมาก จะแนะนำกันว่าค่า PEG Ratio ไม่ควรเกิน 1 เท่า

ตัวอย่าง วิธีคำนวน PEG Ratio

หุ้น A มีค่า P/E = 16 , มีเปอร์เซ็นต์อัตราการเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่ 20%

นำ 16 หารด้วย 20 จะ = 0.8 เท่า

Credit >> http://www.setmai.com/

กระแสเงินสด หรือ Cash flow คืออะไร

Cash flow หรือ กระแสเงินสด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจ การที่บริษัทมีเงินสดอยู่ในมือมากเพียงพอ จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บริษัทนั้นสามารถชำระเงินเจ้าหนี้ จ่ายค่าจ้างพนักงาน รวมไปถึงชำระค่าใช้จ่าย และการลงทุนต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง ในขณะเดียวกัน บริษัทไหนที่มีปัญหาติดขัดเรื่องกระแสเงินสด แสดงว่ากำลังมีปัญหาในการบริหารการเงินภายในอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาเรื่องหนี้สิน และล้มละลายได้

จากรายละเอียดข้างต้น Cash flow จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนนำมาวิเคราะห์บริษัท ว่ามีการบริหารเหมาะแก่การเข้าไปร่วมทุนหรือไม่

กระแสเงินสด (Cash flow) คือ การได้มาและการใช้จ่ายเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด ,เงินสดที่เข้าสู่บริษัท จะเรียกว่า Cash flow in ส่วนเงินที่ออกจากบริษัทเรียกว่า Cash flow out
กระแสเงินสด (Cash flow) ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operational Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ซึ่งมีผลมาจากการดำเนินงานของบริษัท เช่น เงินจากการขายสินค้า ,เงินที่จ่ายค่าจ้าง ,เงินที่จ่ายค่าวัตถุดิบ เป็นต้น

2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน คือ (Investment Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ซึ่งมีผลมาจากการลงทุน เป็นงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัท

3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน (Financing Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ที่มีผลมาจากกิจกรรมทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยที่ได้รับ หรือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพื่อชำระหนี้

** นักลงทุนบางคนพิจารณาการซื้อหุ้นของบริษัทต่าง ๆ โดยดูจากผลกำไรของบริษัทเท่านั้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้

จริงอยู่ที่กำไรของบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ต้องทราบด้วยว่า ด้วยเทคนิคทางบัญชีและการทำธุรกรรมที่ไม่ใช้เงินสด บริษัทที่เราเห็นข้อมูลว่ามีกำไรมาก อาจจะกำลังอยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำไรดังกล่าวก่อให้เกิดเงินสดเพียงเล็กน้อย

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มียอดขายสูงมากแต่เป็นยอดขายเครดิตที่ยังไม่ได้รับเป็นเงินสดจริง ๆ เราอาจเห็นว่าบริษัทนั้นมีกำไร น่าจะมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ความเป็นจริงหากไม่ได้เป็นเงินสดมาก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบกับบริษัทได้ **

Credit >> http://www.setmai.com/


Growth Stock คืออะไร

หุ้นที่เติบโตสูง หรืิอ Growth Stock คือ หุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและก็มีแนวโน้มที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จุดที่น่าสนใจของหุ้นประเภทนี้คือ บริษัทมักจะไม่จ่ายปันผลหรือจ่ายในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากบริษัทต้องการเก็บผลกำไรสะสมไว้เพื่อลงทุน อีกทั้งราคาของหุ้นก็มักจะสูงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานในปัจจุบัน เพราะนักลงทุนคาดการณ์ผลกำไรที่บริษัทจะได้รับในอนาคตล่วงหน้าไว้แล้ว

หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี มักจะเป็นหุ้นประเภทเติบโตสูง หุ้นที่เติบโตสูงนี้ บางครั้งอาจจะพบในชื่อ glamor stock

Credit >> http://www.setmai.com/


Free Float คืออะไร

Free Float คือ ปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นปริมาณหุ้นที่ไม่ได้ถือโดยผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหารหรือถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร และ ผู้ถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ได้แก่

- กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหาร 4 ระดับแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่มีความสัมพันธ์

-  ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มดังต่อไปนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน

- ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สัดส่วนหุ้น Free Float ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทัพย์ จะต้องไม่น้อยกว่า 15%และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย

หากบริษัทใดมีจำนวนหุ้นที่ถือโดยรายย่อย ( Free Float ) น้อยกว่า 15% เมื่อครบปีที่ 1 จะถูกประกาศชื่ออยู่ในรายการบริษัทที่มี Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์

จากนั้นหากยังแก้ปัญหาไม่ได้เมื่อครบปีที่ 2 จะถูกประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC  (Non – Compliance) พร้อมทั้งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท

และหากในปีที่ 3 บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยได้เกินกำหนด บริษัทนั้นก็จะถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่ม NPG (NPG หรือ Non Performing Group) และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข

แนวทางแก้ไขสำหรับบริษัทซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหุ้น Free Float น้อยกว่า 15%

- การเสนอขายหุ้นเพิ่มให้นักลงทุนรายย่อย การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล

สามารถตรวจดูอัตราส่วน Free Float ของแต่ละบริษัทได้ที่ไหน

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน SET สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน MAI สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

หุ้นที่มี Free Float สูง หรือ ต่ำ จะเป็นอย่างไร

หุ้นที่มีเปอร์เซ็นต์สัดส่วน Free Float ต่ำ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะถูกควบคุมโดยนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหุ้นได้ง่าย เมื่อเจ้าของหุ้นต้องการให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง ทิศทางราคาก็จะเคลื่อนไหวอย่างหวือหวามากกว่าหุ้นที่มีFree Float สูง

หุ้นที่มี Free Float สูง แสดงว่าเจ้าของหุ้นปล่อยหุ้นออกสู่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ส่วนที่จะปล่อยมากเพราะอะไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจเป็นเพราะกิจการมีแนวโน้มไม่ดีผู้บริหารเลยไม่ถือไว้ หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่นก็ได้

หุ้นที่มี Free Float ต่ำ อาจจะมีสภาพคล่อง หรือ ปริมาณการซื้อขายต่ำ แต่เมื่อใดที่มีแรงซื้อเข้ามา ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

Credit >> http://www.setmai.com/

Short Selling หรือการขายชอร์ต คืออะไร

เคยหรือไม่ที่มีเหตุการณ์ซึ่งทำให้คุณทราบอย่างชัดเจนว่าราคาหุ้นจะตกลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน ในกรณีเช่นนี้คุณสามารถทำกำไรจากราคาหุ้นที่จะตกลงไปได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้น วิธีนี้เรียกว่า การขายชอร์ต (Short Selling)

** หมายเหตุ : การขายชอร์ตที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เป็นการขายเฉพาะในส่วนของหุ้น และเป็นกรณีของลูกค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่สถาบัน **

การขายชอร์ต คือ การยืมหุ้นจากบริษัทโบรกเกอร์มาขายก่อน จากนั้นค่อยมาซื้อคืนภายหลังในราคาที่ต่ำกว่า โดยจะได้กำไรจากส่วนต่างราคา นักลงทุนจะใช้วิธีนี้เมื่อมีเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ว่าราคาหุ้นจะต้องตกลงไปมากอย่างแน่นอน

การจะขายชอร์ตได้นั้น นักลงทุนจะต้องทำในบัญชีมาร์จิ้นเท่านั้น และหุ้นที่จะขาบชอร์ตได้ต้องเป็นหุ้นของบริษัที่อยู่ใน SET 100 Index เท่านั้น

หากต้องการขายชอร์ต นักลงทุนที่มีบัญชีมาร์จิ้นอยู่กับโบรกเกอร์ใด ก็ให้ติดต่อไปที่บริษัทโบรกเกอร์นั้น และแจ้งความประสงค์

การทำ Short Selling นั้น เป็นการยืมหุ้นมาขาย ดังนั้นสุดท้ายแล้วก็ต้องซื้อหุ้นกลับคืนโบรกเกอร์ (Buy To Cover) เท่ากับจำนวนที่ยืมมา ซึ่งหากราคาหุ้นไม่ได้ตกลงอย่างที่คาดไว้ แทนที่จะได้กำไรก็ต้องขาดทุนจากส่วนต่างที่ขายไปถูกและซื้อกลับคืนในราคาแพง

เหตุผลในการทำ Short Selling มีอยู่ 2 ประการ 1. คือเพื่อลดความเสี่ยง 2. เก็งกำไร สำหรับข้อมูลการขายชอร์ตในแต่ละวันสามารถดูได้ที่ http://www.setmai.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%95-short-selling/

Credit >> http://www.setmai.com/


วิเคราะห์พื้นฐานบริษัทด้วยวิธี Five Force Model

Five Force Model คือ โมเดลในการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและคู่แข่ง เพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธการแข่งขัน ผู้คิดค้นหลักการนี้ขึ้นมา คือ ไมเคิล อี พอตเตอร์

ในทฤษฏีนี้ ระบุไว้ว่า มี 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ควรพิจารณาว่า บริษัทในอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้น มีอุปสรรคในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน

1. การคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่

หากธุรกิจไหนง่ายต่อการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ จะส่งผลเกิดการแข่งขันกันสูง ปัจจัยที่จะช่วยป้องกันคู่แข่งเพิ่มเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเดียวกัน คือ

- ตราสินค้าที่แข็งแกร่ง

- กลุ่มฐานลูกค้าประจำ

- ต้นทุนในการดำเนินกิจการสูง

- ทรัพยากร หรือ วัตถุดิบ ที่จำกัด

- ข้อจำกัดทางกฏหมายในการดำเนินธุรกิจ การผูกขาดโดยรัฐบาล เช่น ธุรกิจสัมปทาน

2. อำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ

หากซัปพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูงมาก อาจะส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียกำไร และขาดความคล่องแคล่วในการดำเนินการต่าง ๆ ปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ว่าอำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบมีมากหรือน้อย พิจารณาได้จาก

- มีจำนวนซัปพลายเออร์ในอุตสาหกรรมไม่มาก

- ไม่มีวัตถุดิบทดแทน แม้ราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้นเท่าไร ก็จำเป็นต้องซื้อ

- การเปลี่ยนแปลงไปใช้วัตถุดิบอื่นมีต้นทุนสูง

- วัตถุดิบของซัปพลายเออร์มีความสำคัญกับบริษัทมาก ไม่สามารถดับเนินธุรกิจได้เลยหากปราศจากสินค้าจากซัปพลายเออร์

- ธุรกิจของบริษัทซัปพลายเออ มีผลกำไรสูงกว่า ธุรกิจของบริษัทที่ซื้อสินค้า

3. อำนาจของผู้บริโภค

หากธุรกิจไหนที่ลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองสูง จะส่งผลให้บริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของผลกำไรและปริมาณการขายได้ง่าย ปัจจัยที่สังเกตุว่าธุรกิจนั้น ๆ ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูงหรือไม่ ดูได้จาก

- กลุ่มลูกค้ามีขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก บริษัทต้องเอาใจลูกค้า

- การซื้อของลูกค้าเป็นการซื้อจำนวนมาก ทำให้สามารถต่อรองได้มาก

- ลูกค้ามีทางเลือกในการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของคู่แข่งอื่น

- สินค้าไม่ได้มีความสำคัญมากกับลูกค้า ลูกค้าอาจไม่ต้องใช้สินค้าก็ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

- ราคาสินค้ามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ถ้าเจอสินค้าบริษัทไหนถูกกว่า ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยน

4. สินค้าทดแทน
หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ของบริษัทใด มีสินค้าหรือบริการที่สามารถทดแทนได้ ซึ่งลูกค้าสามารถเปลี่ยนไปใช้แทน โดยไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มเติมที่สูง ธุรกิจนั้นก็มีความเสี่ยงต่อการรักษากำไรให้คงที่ เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

- สินค้าของบริษัทมีสินค้าใกล้เคียงกันที่สามารถทดแทนได้หรือไม่ เช่น ถ้าราคากาแฟขึ้นสูงมาก ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปดื่มชาแทน

5. การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน ธุรกิจในอุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีการแข่งขันสูง จะมีแนวโน้มที่ได้รับอัตราผลกำไรต่ำ เพราะจะต้องแบ่งงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการแข่งขัน เราสามารถพิจารณาได้ว่าในอุตสาหกรรมนั้นมีการแข่งขันสูงหรือไม่ ดังนี้

- ในอุตสาหกรรมนั้น ขนาดของแต่ละบริษัทใกล้เคียงกัน

- มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างสินค้าของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม

- การเติบโตของแต่ละบริษัทมีอัตราที่ต่ำ และทุกบริษัทมีช่องทางที่จะแย่งชิงลูกค้าของแต่ละฝ่ายได้

หลักการของ Porter ‘ Five Force Model เป็นอีกหนึ่งทฤษฏีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจที่ลงทุนได้ มีความใกล้เคียงกับการพิจารณาการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟต คือ มักจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด

Credit >> http://www.setmai.com

อัตราส่วนเงินสดหรือ Cash Ratio คืออะไร

อัตราส่วนเงินสด (cash ratio) คือ เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ชี้วัดสภาพคล่องของบริษัท โดยการนำเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด หรือ เงินลงทุนที่มีอยู่ในสินทรัพย์หมุนเวียน มาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน

เป็นอัตราส่วนที่เข้มงวดมากที่สุดในบรรดา 3 อัตราส่วนสภาพคล่องระยะสั้น อันได้แก่ อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current ratio) , อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio) และ อัตราส่วนเงินสด (cash ratio)

การใช้อัตราส่วนเงินสด จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบว่าบริษัทมีจำนวนเงินหมุนเวียนระยะสั้นมากกว่าหนี้สิ้นระยะสั้นที่ต้องชำระหรือไม่ ซึ่งหากผลออกมาเป็นตัวเลขที่สูง แสดงว่าบริษัทที่วิเคราะห์มีสภาพคล่องในการดำเนินงานสูง (ไม่มีปัญหาขาดเงินสดจนชอต)

แต่ในขณะเดียวกันการที่อัตราส่วนเงินสดสูงจนเกินไป ก็แสดงว่าบริษัทเก็บเงินสดไว้มากเกินไป ไม่นำไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรกลับมา

วิธีคำนวนหาอัตราส่วนเงินสด ทำได้โดยนำ เงินสด+รายการเทียบเท่าเงินสด+เงินลงทุน หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน

อย่างไรก็ตามมีบริษัทน้อยรายที่จะมีเงินสด + รายการเทียบเท่าเงินสด มากกว่า หนี้สินหมุนเวียนของบริษัท ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องไปโฟกัสว่าผลการคำนวนต้องเป็น 1 ต่อ 1 ถึงจะเข้าไปลงทุน แต่ให้ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อตรวจสอบว่าสภาพคล่องของบริษัทไม่ได้เลวร้ายมากไป หรืออาจใช้ในการเทียบแต่ละปีว่าแนวโน้มของบริษัทในส่วนสภาพคล่องมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

Credit >> http://www.setmai.com/


เงินปันผลกับสิ่งที่ควรรู้

เป้าหมายหลักจริง ๆ ของการลงทุนในตลาดหุ้น คือ การซื้อเพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนและรับผลตอบแทนจากเงินปันผล แต่ต่อมาเมื่อมีผู้สนใจลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ทำให้หุ้นกลายเป็นสิ่งที่ซื้อว่ายขายคล่อง ส่งผลให้ราคาหุ้นขยับเคลื่อนไหวขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจำนวนมากจึงเปลี่ยนมาต้องการกำไรจากส่วนต่างราคา มากกว่าเงินปันผล

เงินปันผล คือ เงินส่วนหนึ่งจากผลกำไรที่บริษัทมอบตอบแทนให้กับนักลงทุน ทั้งนี้จะเป็นจำนวนเท่าไรต่อหุ้น ปีหนึ่งจะจ่ายกี่ไตรมาส ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายของบริษัท

ในบางครั้งบริษัทอาจทำการเพิ่มทุนโดยการเพิ่มหุ้นและจ่ายผลตอบแทนเป็นหุ้น เรียกว่าหุ้นปันผล

หากท่านเป็นนักลงทุนที่ต้องการเงินปันผลเพียงอย่างเดียวแล้วละก็ สิ่งที่สำคัญ คือ

1. จะต้องใช้เงินเย็นเท่านั้นซื้อหุ้น (เงินเหลือเก็บที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้)

2. ควรเลือกซื้อหุ้นของกิจการที่มีการปันผลอย่างต่อเนื่อง

3. บริษัทที่จะลงทุนต้องมีความมั่นคงสูง เลือกบริษัทที่คิดว่าไม่มีวันเจ๊ง

4. เลือกซื้อหุ้นของกิจการประเภท defensive stock ซึ่งราคาจะไม่ขึ้นลงหวือหวามากนัก และจะไม่ได้รับผลกระทบในการดำเนินกิจการเมื่อถึงช่วงเศรษฐกิจขาลง

5. ควรนำผลตอบแทนจากเงินปันผลส่วนหนึ่งมาลงทุนต่อ เพื่อได้รับเงินมากขึ้นจากผลกำไรทบต้น

จะหาข้อมูลว่าที่ผ่านมาแต่ละบริษัทจ่ายเงินปันผลเท่าไรได้จากที่ไหน ?

สามารถดูได้จาก แหล่้งข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ http://www.set.or.th

เงินปันผล

1. วันที่คณะกรรมการมีมติ หมายถึง วันที่กรรมการบริหารบริษัทประชุมกันว่าจะจ่ายเงินปันผลเมื่อไร เท่าไร อย่างไร

2. วันที่ขึ้นเครื่องหมาย คือ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD (exclude dividend) เป็นวันที่หมดสิทธิ์ได้รับเงินปันผลในรอบนี้ตามที่มีคณะกรรมการมีมติ หากมาซื้อในวันที่ขึ้นเครื่องหมายจะไม่ได้รับเงินปันผล ถ้าต้องการเงินปันผลรอบนี้ต้องซื้อก่อนขึ้นเครื่องหมายอย่างน้อย 1 วัน

เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ถึงจะไม่มีหุ้นแล้วแต่ก็จะได้รับเงินปันผลในรอบนี้ตามสัดส่วนหุ้นก่อนที่จะขาย

3. วันที่จ่ายเงินปันผล คือวันที่คุณจะได้รับเงินปันผลนั่นเอง เมื่อคุณได้รับสิทธิ์เงินปันผลแล้ว เงินจะยังไม่เข้าบัญชี จนกระทั่งถึงวันนี้

4. อัตราเงินปันผล เช่น รอบล่าสุด คือ 1.130 บาท ต่อ หนึ่งหุ้น หากคุณมีหุ้น 100 หุ้นก็จะได้เงินปันผล 113 บาท แต่เงินปันผลที่จะได้รับต้องถูกนำไปหักภาษี 10%เสียก่อน ดังนั้นเงินได้รับจริงจะเหลือ 101.7 บาท

*** ในบางครั้งบางบริษัทอาจมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษ ซึ่งอาจมาจากกำไรที่ไม่ได้จากการดำเนินการตามปกติ หรือ การปรับโครงสร้างบางอย่างภายในบริษัท นักลงทุนควรหาข้อมูลไม่ควรไปหลงติดกับดักเงินปันผลที่เยอะตรงนี้ เช่น เงินปันผลจากมติกรรมการในวันที่ 15/12/11 อนุมัติจ่ายถึง 16.46 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นเงินปันผลพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าจะจ่ายเยอะแบบนี้ทุกครั้ง ***

Credit >> http://www.setmai.com/

หุ้น IPO คืออะไร

หุ้นไอพีโอ (IPO) ย่อมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Initial public offering หมายถึง หุ้นที่ถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเสนอขายหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับนักลงทุนทั่วไปก่อนที่หุ้นจะทำการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นที่กำลังจะเข้าทำการซื้อขายจะเรียกกันว่า หุ้นไอพีโอ กล่าวง่าย ๆ ก็คือหุ้นของบริษัทใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนสามารถติดต่อขอซื้อหุ้นIPO ได้จากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ซึ่งถ้าเป็นหุ้นดัง ๆ ก็จะซื้อยากสักหน่อยเพราะมีรายใหญ่จองเก็บหุ้นไว้หมดแล้ว เนื่องจากมั่นใจว่าในวันแรกที่หุ้นของบริษัทเข้าซื้อขาย ราคาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่บางครั้งหากเป็นหุ้นไม่ดังโบรกเกอร์จะติดต่อมาเสนอขายเองเลย

ราคา IPO ก็คือ ราคาแรกที่โบรกเกอร์ตั้งขายหุ้นให้นักลงทุนก่อนที่หุ้นจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถดูข้อมูลว่ามีบริษัทไหนบ้างที่กำลังจะจำหน่ายหุ้นไอพีโอได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์โดยตรง

จากสถิติที่ผ่านมา หุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในวันแรก จะมีราคาปิดที่สูงกว่าราคาไอพีโอ ดังนั้นจึงมีนักลงทุนจำนวนมาก ที่ต้องการซื้อหุ้นไอพีโอ เนื่องจากมีโอกาสได้กำไรสูงมาก

Credit >> http://www.setmai.com


ESOP คืออะไร

ESOP ย่อมาจากคำว่า employee stock ownership plan หมายถึง โครงการสำหรับจูงใจให้พนักงานมีความรู้สึกว่าตนเองมีความเป็นเจ้าของบริษัทเช่นกัน บริษัทที่นำวิธี ESOP มาใช้ จะทำการออกหุ้นให้กับพนักงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทน

ประโยชน์ที่ได้จากการออกหุ้น ESOP ให้กับพนักงาน เชื่อกันว่า จะทำให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่น ทุ่มเท ให้กับการทำงานมากกว่าปกติ เพราะเมื่อทุกคนเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทและการเติบโตของบริษัทก็มีผลต่อราคาหุ้น ก็จะเกิดความร่วมมือร่วมใจพัฒนาองค์กรอย่างเต็มที่

สำหรับพนักงานหุ้นได้รับจากบริษัทเปรียบเสมือนเงินออมยามเกษียณอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามข้อเสียของการได้รับหุ้นเป็นผลตอบแทนของพนักงานก็มีอยู่ เช่น ในกรณีที่บริษัทต้องล้มละลายปิดตัวลง หุ้นที่ถือไว้ก็จะไม่มีค่าอะไรเลย นี่คือความเสี่ยงของการถือหุ้นบริษัท

จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยพบว่า การจัดสรรหุ้นให้กับพนักงานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพโดยทันที จะต้องมีการดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการระบบทำงานแบบเน้นการมีส่วนร่วมด้วย

หุ้น esop

- Direct purchase plans คือ การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นบริษัทโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่มีส่วนลด

- Stock options คือ การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นของบริษัทในราคาคงที่ ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับกรณีนี้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะทำการออก Employee Stock Option Program ที่มีตัวย่อว่า ESOP เช่นกัน ในรูปแบบของใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุนสามัญหรือที่เรียกกันว่า warrant ให้กับพนักงาน

- Restricted stock คือ การให้หุ้นกับพนักงานเป็นของขวัญหรือให้ซื้อ โดยมีข้อกำหนด เช่น ระยะเวลาที่ทำงาน หรือ ผลสำเร็จในการทำงานตามที่ตั้งเป้าไว้

Credit >> http://www.setmai.com/


วิธีคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนแบบง่ายๆ

งานวิจัยของอาจารย์ไพบูรณ์ เสรีวิวัฒนาครับ จากงานวิจัยเรื่อง Common Financial Ratios and Value Investing in Thailand เป็นวิธีการเลือกหุ้นแบบง่ายๆ โดยเลือกหุ้นด้วยตัวเลขทางการเงิน 5 ตัว  ประกอบด้วย

    p/e คือ ราคาหารด้วยกำไรต่อหุ้น
    p/b คือ ราคาหารด้วยมูลค่าทางบัญชี
    d/p คือ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล
    ROE คืออัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น
    ROA คืออัตราผลตอลแทนต่อทรัพย์สิน
    ตัวเลขการเงินทั้ง5ตัว มีอยู่ใน website set.or.th ครับ

เลือกมาต้นปีพอสิ้นปีก็ขาย แล้วก็เลือกใหม่
สรุปสั้นๆ ว่า p/e ใช้ได้ดีที่สุดครับ
……………
p/e ยิ่งต่ำยิ่งดี ผลตอบแทน 38.96% ต่อปี
ตามด้วย p/b ยิ่งต่ำยิ่งดี ผลตอบแทน 33.47% ต่อปี
และ ROE ยิ่งสูงยิ่งดี ผลตอบแทน 30.23% ต่อปี
ส่วน ROA นั้นถือว่าทับซ้อนกับ ROE และสู้ ROE ไม่ได้ ผลตอบแทน 22.02% ต่อปี
และ d/p หรือผลตอบแทนจากปันผล ซึ่งยิ่งสูงยิ่งดี ผลตอบแทน 20.38% ต่อปี
โดยสรุปแล้ว
หากต้องใช้อัตราส่วนทางการเงินตัวเดียว
เรียงตามลำดับตัวที่ทำให้ผลตอบแทนสูงสุดคือ
P/e p/b ROE d/p ครับ

Credit >> http://www.investidea.in.th


การวิเคราะห์หุ้น turnaround

หุ้น turnaround คือหุ้นที่กำลังจะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร เปรียบเหมือนคนที่ ชัวหนที่ 7 กำลังมาดีอีก 7 หน หุ้นบางตัวก็ turn แล้วจบเลยไม่ growth บางตัวก็ไม่ turn เน่าเหมือนเดิมแก้ไม่หาย บางตัว turn แล้ว growth ต่อ วิธีวิเคราะห์และลงทุนก็ไม่ยาก ตามหลักอริยสัจ 4

1 "ทุกข์ ให้รู้" ในทางพระพุทธศาสนาทุกข์คือความเปลี่ยนแปลง หุ้นที่เข้าข่าย turnaround คือมันเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดีนั่นเอง ผลประกอบการขาดทุน จ่ายปันผลไม่ได้ หรือใครๆก็เรียกกันว่าหุ้นเน่านั่นเอง เน่าก็ให้รู้ว่าเน่าไม่เห็นต้องไปตกอกตกใจอะไร ดูมันด้วยใจที่เป็นกลางไปเรือย

ข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถมองปัญหาด้วยใจที่เป็นกลางได้ เพราะทชอบทำตัวเหมือนคนวงในถ้าปรียบเหมือนการชกมวยนักมวยที่ชกกันไม่ค่อยรู้หรอกเมาหมัดไปเรื่อย แต่คนดูรู้ทุก short บอกได้หมด แก้เกมส์ยังไง ดังนั้นเพื่อให้เราเห็นปัญหาให้เราทำตัวเหมือนคนวงนอก เป็นกรรมการห้ามมวยที่เที่ยงธรรมเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่อาชีพที่ปรึกษาธุรกิจยังไงก็ไม่ตายเพราะเขาเป็นคนวงนอกครับ

2 "สมุหทัย ให้ละ" เหตุแห่งทุกข์ หุ้นแต่ละตัวมีสาเหตุให้ขาดทุนไม่เหมือนกัน ต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะให้ออกว่าปัญหาเกิดจากอะไร ที่พบบ่อยๆก็เช่น
2.1 ขาดทุนชั่วคราว เช่นปี 2554 มีน้ำท่วมหลายบริษัทขาดทุนจากน้ำท่วม บางบริษัทก็ตัดด้อยค่าทรัพย์สินมากมาย
2.2 หุ้นวัฎจักร อยู่ในช่วงตกต่ำ
3.3 ธุรกิจยังมีลูกค้าไม่ถึงจุดคุ้มทุน เช่น simat ลงทุนไปเยอะแต่กำลังทยอยหาลูกค้ามาใช้บริการอยู่เขาว่า 2 ปีน่าจะถึงจุดคุ้มทุน, bch สร้างโรงพญาบาลใหม่ ลูกค้ายังน้อยกำไรก็หดกันไป
4.4 หนี้ท่วมดอกเบี้ยบาน ธรุกกิจเริ่มมีปัญหาอยากรักษาก็กู้มาหมุนเรื่อยๆ ถ้ามันไม่ดีขึ้นก็หนี้เหลือบาน
5.5 แข่งขันไม่ได้ อันนี้ปัญหาหนัก

3 "นิโรธ ให้แจ้ง" เห็นภาพว่าถ้าเหตุของปัญหาดับไป ปัญหาก็จะดับ ธุรกิจก็จะมีกำไร ล้างขาดทุนสะสม และแมงเม่ามาแย่งกันซื้อ

4 "มรรค ให้เจริญ" วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาของผู้บริหารว่ามีโอกาสสำเร็จหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือเปล่า เราจะซื้อหุ้นที่ผู้บริหารกำลังมุ่งมั่นทำให้เหตุแห่งปัญหากำลังหมดไป เท่านั้น
4.1 ขาดทุนชั่วคราวหรือหุ้นวัฎจักร บางทีไม่ต้องทำอะไรทนๆไป เดี๋ยววัฎจักรก็มา
4.2 วางแผนหาลูกค้ามากขึ้นให้ถึงจุดคุ้มทุน
4.3 ปรับโครงสร้างหนี้
4.4 ตัดขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หาวิธีลดต้นทุน หรือหันทำธุรกิจใหม่แม่ง
หุ้นที่กำลังจะ turnaround

วิเคราะห์ได้ตาม 4 ขั้นคือ รู้ทุกข์ ละสมุหทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ท่านจะลงทุนหุ้น turnaround อย่างไม่ทุกข์ และไม่ต้องส่งข้อความมาถามเซียนที่ไหนครับ

Credit >> http://www.investidea.in.th


การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average)

สวัสดีครับ ผมห่างหายไปจากการเขียนบล๊อกนี้ซะนาน ต้องขออภัยทุกท่านด้วยครับ บังเอิญได้แวะเข้ามาเช็คเรตติ้ง ปรากฎว่าระหว่างที่ผมหายไปจากการเขียนนี้ ยังมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมบล๊อกนี้อยู่อย่างต่อเนื่องจนยอดรวมแตะหลักหมื่นแล้ว ผมแอบปลื้มใจเพราะตอนเขียนแรกๆ แทบไม่มีคนอ่านเลย แต่มาวันนี้ ยอดผู้อ่านแต่ละวันเฉลี่ย 100 คน และยังมีผู้อ่านที่อยู่ต่างประเทศด้วยครับ หากอยากทักทายกันก็อีเมล์มาหากันได้นะครับ ที่ pattanachai.k@gmail.com ครับ

เมื่อสัปดาห์ที่่ผ่านมา ทางสมาคมนักวางแผนการเงิน ได้ส่งอีเมล์มายังนักวางแผนการเงินที่เป็นสมาชิกสมาคม (รวมตัวผมด้วย) เชิญชวนให้เข้าไปตอบคำถามที่เว็บบอร์ดของสมาคม เนื่องจากมีผู้เข้ามาเขียนกระทู้คำถามเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินต่างๆ ผมจึงลองเข้าไปดู โดยมีหัวข้อหนึ่งมีผู้ถามเกี่ยวกับ DCA ซึ่งผมได้ตอบกระทู้ไป และจึงอยากมาเขียนขยายความเรื่องนี้ในบล๊อกของผมด้วยให้หลายๆ ท่านได้อ่านกันครับ


DCA คือ Dollar Cost Averaging เป็นรูปแบบการลงทุนลักษณะหนึ่ง ขอนุญาตอธิบายเพิ่มนะครับ คือเป็นการที่เราทะยอยเอาเงินจำนวนเท่าๆ กัน ไปลงทุนอะไรอย่างหนึ่ง (ส่วนมากอนุมานว่าเป็นหุ้น) เป็นประจำ เช่น เป็นรายเดือน และทำแบบต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. นำเงิน 3,000 บาท ไปลงทุนซื้อหุ้นบริษัท ญ ทุกๆ วันที่ 10 ของทุกเดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี (60 เดือน)   บางคนอาจจะเรียกว่า การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า DCA นะครับ

การลงทุนแบบนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า
1. เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่า เราควรซื้อหุ้นตอนไหน จึงจะได้ราคาดีที่สุด
2. การทะยอยซื้อหุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อผิดจังหวะ (คือซื้อตรงราคาแพง) และเพิ่มโอกาสในการเข้าซื้อถูกจังหวะ

ฟังแล้วงง ไม่เป็นไรครับ เอาเป็นว่า DCA ก็คือการซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยไปเรื่อยๆ โดยอาจกำหนดวันที่จะซื้อไว้แน่นอน เช่น ทุกวันที่ 25 ของเดือนซื้อทีนึง เดือนหน้าก็ซื้ออีกทีนึงวันที่ 25 เหมือนเดิม เดือนนู้นอีกทีนึง....ไปเรื่อยๆ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างวินัยในการลงทุน คือบางครั้ง การที่เราเก็บเงินไว้เป็นก้อนใหญ่ แล้วกะจะเอาไปลงทุนตูมเดียวครั้งเดียวใน 1 ปี บางคนก็คิดเยอะ คิดนาน พยายามหาจังหวะที่จะคิดว่าดีที่สุด แล้วก็ไม่ลงทุนซักที แล้วพอตัดสินใจได้ บางทีก็สายไป หรือไม่ก็ไปซื้อเอาตอนที่คนส่วนใหญ่ก็ซื้อกัน ดังนั้นราคาหุ้นก็แพงสิครับ (ตามหลัก อุปสงค์ อุปทาน ทั่วไป) เช่น คนส่วนใหญ่จะซื้อเอาตอนปลายปี เช่น ท่านที่ซื้อ LTF , RMF ซึ่ง เอาไปใช้หักลดหย่อนภาษี และช่วงใกล้ปลายปี ทางธนาคารต่างๆ ก็พยายามออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมายั่วใจนักลงทุน ทำให้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นในช่วงปลายปีหรือโค้งสุดท้าย ไม่เช่นนั้นก็จะเสียดาย ลดหย่อนภาษีไม่ทัน

ผมทำตารางผลตอบแทนมาให้ดูว่า ถ้าหากท่านมีเงินต้น 1 แสนบาท นำไปลงทุน และแต่ละเดือน ท่านยังเติมเงินเข้าไปอีกเดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือน และแต่ละปี ท่านเพิ่มเงินลงทุนนี้ ปีละ 5% เพราะท่านมีรายได้เพิ่มทุกปี จึงสามารถนำเงินมาลงทุนเพิ่มได้ และกำหนดว่าถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%*  ลองดูนะครับ ว่าเวลาผ่านไปกี่ปี เงินดังกล่าวก้อนนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นกี่บาท

ตัวอาจจะเล็กไปหน่อยนะครับ ขออภัยด้วยครับ แต่สรุปว่า ถ้าทำแบบนี้ไปจนเกษียณ หรือใช้เวลาสัก 29 ปี เงินดังกล่าว จะกลายเป็นเงิน 10 ล้านบาทครับ!  ดังนั้น ถ้าเริ่มเร็ว และมีวินัย เราก็สามารถมีเงินใช้ยามเกษียณได้อย่างสบายๆ นะครับ เริ่มเสียแต่วันนี้นะครับ

สำหรับตัวผมเอง มีประสบการณ์ตรง กับการลงทุนแบบ DCA โดยลงทุนใน LTF ครับ เพิ่งครบกำหนดขายกองทุนได้ตอนปีนี้เอง ผลปรากฎว่า คำนวณดูแล้ว ได้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ต่อปีอีกนะครับ (ขออุบว่ามากกว่าเท่าไหร่ เดี๋ยวบางท่านอิจฉา) ลองดูกันนะครับ เริ่มจากจำนวนเงินไม่ต้องมากก็ได้ครับ และไม่จำเป็นต้องลงทุนใน LTF เสมอไป เดี๋ยวนี้มีกองทุนเปิดที่ลงทุนในหุ้น มากมายหลายกองทุนครับ

อย่างไรก็ดี การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ


การเทรดหุ้นจำลองดีไหม

เมื่อไม่นานมานี้มีเพื่อนนักลงทุนมือใหม่มาถามผมเกี่ยวกับการเทรดหุ้นในพอร์ทจำลอง เพื่อนนักลงทุนคนนี้บอกว่าตัวเขาอยากเทรดหุ้นในพอร์ทจำลองเพื่อจะได้ทดลองแนวทางการเทรดของตัวเอง

เนื่องจากว่าเค้าเพิ่งลงทุนมาไม่นาน จึงยังไม่รู้ว่าแนวทางการเทรดของตนว่าดีและเหมาะสมหรือยัง เขาถามผมว่าผมมีความคิดเห็นอย่างไร…

ผมตอบไปตามความคิดและประสบการณ์ของตัวเองว่า ผมไม่ค่อยเห็นด้วยซักเท่าไหร่นัก จีงขอยกมุมมองของ Mark Minervini หนึ่งใน Market Wizard เกี่ยวกับการเทรดจำลองมาให้ลองดูกันครับ

Minervini บอกว่า ตัวเค้าเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่ชอบการเทรดจำลอง (หรือ Paper Trade) แม้ว่าการเทรดจำลองเพื่อการฝึกฝนก่อนการใช้เงินจริงอาจจะฟังดูสมเหตุสมผลก็ตาม

โดย Minervini ยกตัวอย่าง การฝึกฝนเพื่อเป็นนักมวยมืออาชีพด้วยการชกลมอย่างเดียว

กล่าวคือ ‘คุณไม่ทางรู้ว่าคุณจะโดนหมัดแบบไหนบ้าง หากคุณไม่ลองขึ้นชกบนเวทีพร้อมกับคู่ต่อสู้จริงๆ’

การเทรดหุ้นจำลองก็เปรียบเสมือนการเป็นนักมวยที่ ‘ชกแต่ลม’ หากคุณไม่ขึ้นสังเวียน ไม่เข้าไปเทรดด้วยเงินจริงในตลาด คุณก็จะไม่รู้สึกถึงหมัดจริง ไม่รู้สึกถึงความกดดันจากเงินจริงๆของคุณเองในตลาด

แม้ว่าการเทรดจำลองอาจจะช่วยให้คุณเรียนรู้การเทรดของตัวเองได้บ้าง แต่มันอาจก่อให้เกิดความเชื่อหรือสัญชาติญาณการลงทุนแบบผิดๆ การตัดสินใจแบบผิดๆ

เพราะเมื่อเป็นการเทรดจำลอง คุณย่อมตัดสินใจได้ง่ายดายกว่าเงินจริงอย่างแน่นอน และไม่มีหลักประกันอะไรมารองรับว่า คุณจะตัดสินใจในการเทรดจริงเหมือนกับที่คุณตัดสินใจในการเทรดจำลอง

ดังนั้น ถ้าหากคุณเป็นนักลงทุนที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกหัด คุณควรเริ่มด้วยเงินจริงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยให้เริ่มด้วยเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งคุณสามารถสูญเสียมันได้โดยไม่มีผลกระทบกับชีวิตของคุณ แต่ก็ต้องเป็นเงินจำนวนมากพอที่จะทำให้คุณรู้สึก “เจ็บปวด” เมื่อคุณต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปจากความผิดพลาด

จงทำตัวให้คุ้นชินกับการเทรดของจริง เพราะสิ่งที่คุณต้องการคือเงินจริงๆเช่นกัน…

Credit >> http://www.sarut-homesite.net


จุดสังเกตุงบการเงิน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น จะมีการวิเคราะห์ด้วยกัน 2 แบบ คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณนี้ ก็หนีไม่พ้นต้องวิเคราะห์จากงบการเงิน โดยวิเคราะห์งบการเงินย้อนหลังให้มากที่สุด เท่าที่ข้อมูลเราจะหาได้

ในงบการเงินนั้นจะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญๆ คือ งบดุล(Balance Sheet) งบกำไรขาดทุน (Income Statement) งบกระแสเงินสด(Cash Flow Statement) และหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement) ข้อมูลทั้งหมดนี้จะต้องใช้ร่วมกัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

งบดุล จะให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆบริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สินและทุน มากน้อยเท่าไร มีความมั่นคงเพียงใด

สังเกตง่ายๆว่า หากหนี้สินมากกว่าทุน แสดงว่า บริษัทนี้กู้เงินมาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ และมักจะมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นมากมายและยาวนานหลายปี สินทรัพย์ที่มีเกือบทั้งหมดจะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ รายได้ที่ทำมาหาได้จากการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นของเจ้าหนี้ ส่วนที่เหลือถึงจะตกมาถึงผู้ถือหุ้น บริษัทนี้หากเกิดวิกฤติขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน

ในทางกลับกัน หากบริษัทมีหนี้น้อย รายได้ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ถือหุ้น สินทรัพย์ที่บริษัทมีจะเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่

บริษัทที่ Value Investor ชอบ ก็คือ บริษัทที่ไม่มีหนี้สิน หรือมีน้อยมาก เพราะปลอดภัยและรายได้ที่หาได้เป็นของผู้ถือหุ้น

“งบกำไรขาดทุน” จะให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ดำเนินกิจการในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆ มีรายได้จากการดำเนินงานมาจากอะไรบ้าง มีต้นทุนเกิดขึ้นเท่าไรบ้าง ในงบกำไรขาดทุนนี้จะมีการบันทึกบัญชีการได้ค่าใช้จ่ายแบบคงค้าง คือได้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อส่งสินค้าแล้วถือว่า ได้ขายออกไปแล้ว

ดังนั้น เวลาวิเคราะห์งบการเงินต้องทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการบันทึกบัญชีให้ละเอียดว่า บริษัทมีนโยบายในการบันทึกบัญชีอย่างไร..?

“งบกระแสเงินสด” จะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงิน 3 ส่วน คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ให้ข้อมูลที่ปรับจากเกณฑ์คงค้างในงบกำไรขาดทุนมาเป็นเกณฑ์เงินสด เราจะได้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆนั้น บริษัทขายสินค้าแล้วสามารถเก็บเป็นเงินสดได้มากน้อยเท่าไร ทั้งนี้ จะมีการปรับรายการที่ไม่ใช่เงินสดออกจนหมด เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือต่างๆ และข้อมูลอีกมาก

ส่วนกระแสเงินสดจากการลงทุน จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทว่า ในเวลางวดนั้น บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในเรื่องใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใด

กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ให้ข้อมูลว่า บริษัทจัดหาเงินมาใช้ลงทุนและดำเนินกิจการจากแหล่งใด กู้มาหรือใช้ทุนเดิมหรือเพิ่มทุน

ผมอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ กับการสังเกตงบการเงินเพื่อการลงทุนที่ปลอดภัย หลายท่านคงจะจำกรณี “หุ้น ROYNET” กันได้ดี หรือหากเป็นนักลงทุนใหม่คงจะต้องกลับไปค้นกันหน่อยครับ เพราะกรณีนี้โด่งดังมากและทำให้นักลงทุนกลายร่าง ปีกงอกเป็นแมงเม่ากันมากมาย จน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องลงมาจัดการกันจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนทุกวันนี้ยังไม่จบเรื่องเลยครับ

รายการนี้นักลงทุนหลายคนเจออาการที่เรียกว่า ผีหลอกกลางวัน ครับ กำไรอยู่ดีๆตั้งสองไตรมาส 10.2 ล้านบาท ก้าวกระโดดจากขาดทุนสุทธิ 11.19 ล้านบาทในปีก่อน แล้วกลับมาเป็นขาดทุนสุทธิ 36.7 ล้านบาทในไตรมาส 3 ขาดทุนสะสมแล้ว 71ล้านบาท

ก่อนหน้านั้นบริษัทรายงานว่า บริษัทพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้อย่างมากมาย จัดว่า “ก้าวกระโดด” เลยก็ว่าได้ ที่มาของอาการผีหรอกก็ไม่มีอะไรมากครับ ผู้บริหารแกล้งทำเป็นไร้เดียงสาบันทึกรายได้เร็ว(เกิน)ไป(ไม่)หน่อยครับ แต่แล้วก่อนประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 พวกท่านก็เกิดรู้เดียงสาขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยนำหุ้นของพวกในตระกูลท่านที่มีอยู่ 60% ของทุนจดทะเบียน เข้าไปขายให้แมงเม่าทั้งหลายจนหมดสิ้น

พอ…งบออกเท่านั้นแหละครับ ซากแมงเม่าก็กองเกลื่อนไปทั่วตลาดหลักทรัพย์

ผมลองเข้าไปดูงบย้อนหลังดูพบว่า บริษัทฯขายชั่วโมง Internet แบบฝากขาย บริษัทย่อยให้บริการอี-คอมเมิร์ซและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการออกแบบ website และการรับรู้รายได้ก็เปิดเผยอย่างชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงินในข้อที่ 3 สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ หัวข้อย่อยที่ 3.1 บริษัทรับรู้รายได้ดังนี้

3.1.1 รายได้จากการขายบันทึกรับรู้ เมื่อส่งมอบสินค้า

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

แต่ในงบกำไรขาดทุนมีหัวข้อ รายได้จากการขาย รายได้จากการให้บริการ รายได้ดอกเบี้ย รายได้อื่นๆ ไม่มีหัวข้อรายได้จากการฝากขาย จึงเป็นช่องทางให้ผู้บริหารเล่นแร่แปรธาตุได้อย่างง่ายดาย โดยผู้สอบบัญชีเองก็ไม่อาจตรวจพบได้ (อันนี้ไม่รับรองนะครับ)

เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส จนไตรมาส 3 ผู้สอบบัญชีทนไม่ได้ จึงทำการปรับงบการเงินให้สะท้อนภาพความเป็นจริง ซึ่งเป็นเหตุให้แมงเม่าวงแตกกระเจิง

โดยไตรมาส 1 รับรู้รายได้ 24 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6.9 ล้านบาท ไตรมาส 2 รับรู้รายได้ 23.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3.24 ล้านบาท

ทีนี้ มาดูที่งบกระแสเงินสด ผมพบตัวเลขในหัวข้อ ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ ในไตรมาสแรกประมาณ 22 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 34,738 บาท ในไตรมาส 2 งวด 6 เดือนประมาณ 42.25 ล้านบาท เทียบกับงวด 6 เดือนของปีก่อนหน้าที่ประมาณ 504,143 บาท พอมาในงวด 9 เดือน ตัวเลขเหล่านี้ถูกปรับใหม่จนมีสภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างที่ยกตัวอย่างมานี่แหละครับ แค่เรื่องการรับรู้รายได้แค่นี้ ก็ทำร้อนไปตามๆกัน เหตุการณ์นี้บอกให้รู้ว่า งบการเงินนั้น หากเราวิเคราะห์และสังเกตให้ดีๆ มันคือแหล่งข้อมูลที่จะบอกพิรุธได้อย่างมาก แต่ก็น้อยคนจริงๆที่จะใส่ใจดูกัน

สำหรับผมและเพื่อน Value Investor อีกหลายท่านมุ่งเน้นว่า ต้องรู้เรื่องธุรกิจให้ชัดเจนทุกขุมขนเลย มีความรู้เรื่องบัญชีเล็กน้อยแต่ให้สังเกตและตั้งข้อสงสัยให้มากไว้ แล้วหาคำตอบให้ได้ก่อนการลงทุน จะปลอดภัยครับ

Credit >> http://www.sarut-homesite.net


ทำไมหุ้นถึงลง

“ทำไมหุ้นถึงลง?” ฟังดูเหมือนคำถามง่ายๆที่ใครๆก็อยากรู้นะครับ แต่คำถามนี้ ถ้าลองไปถามนักลงทุนแต่ละท่านแล้วละก็ ผมเชื่อว่าจะได้รับคำตอบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งคำตอบของใครจะถูกหรือผิดนั้นไม่เป็นไรเพราะต่างคนก็ต่างมุมมอง แต่ผมมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงนำมาเขียนเป็นบทความนี้ครับ

เมื่อไม่นานมานี้ Mark Minervini หนึ่งในเซียนหุ้นของอเมริกา ได้เขียนบล็อคส่วนตัวของเขาซึ่งพูดถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นลง โดย Mark บอกว่า ตัวเค้าก็ถูกถามตลอดเวลาเช่นกันว่า “หุ้นตัวนี้พื้นฐานก็ดี แต่ทำไมหุ้นถึงลง?”

ซึ่ง Mark ก็ตอบคำถามด้วยคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า หุ้นมันลงก็เพราะ มีคนขายมากกว่าคนซื้อ ซึ่งเป็นไปตามหลักพื้นฐานในตลาด หรือกฏของ Demand Supply เท่านั้นเอง

และเขายังกล่าวอีกด้วยว่า สาเหตุ ที่ทำให้หุ้นขึ้นหรือลงนั้น จริงๆเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้คือ การสังเกตพฤติกรรมของหุ้นผ่านทาง Price & Volume Action ต่างหาก

ใช่แล้วครับ! เหตุผลง่ายๆและจริงที่สุดที่ทำให้หุ้นลงก็เป็นอย่างที่ Mark ว่า ก็คือ มีคนขายมากกว่ามีคนซื้อ

เมื่อ Supply มากกว่า Demand จึงทำให้ราคาลดลง และบ่อยครั้งที่กว่านักลงทุนทั่วไปจะรับรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นราคาลงมาอย่างรุนแรง ก็มักจะสายเกินกว่าที่จะหลีกเลี่ยงการขาดทุนไปแล้ว หรือในทางตรงกันข้าม คุณอาจจะพลาดกำไรก้อนโตไปเสียแล้ว เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมี ราคาเป้าหมาย หรือ ราคาที่ควรจะเป็น ของหุ้นที่ตัวเองสนใจอยู่เสมอ เมื่อราคาที่ปรากฏในตลาดนั้นแตกต่างไปจากสิ่งที่ตัวเองคิด ก็มักจะทุ่มเทความพยายามไปกับการค้นหาคำตอบว่าทำไมมันถึงไม่เป็นไปตามที่ตนได้คิดคำนวนเอาไว้

มีประโยคหนึ่งที่ Mark ได้ฝากเอาไว้ให้กับเหล่านักลงทุนว่า “A stock is like a painting, It’s only worth what someone else is willing to pay” หรือ “หุ้นก็เปรียบเสมือนกับภาพเขียน มันมีมูลค่าเท่าที่คนอื่นพอใจจะซื้อเท่านั้น”

ดังนั้น อย่ามัวยึดติดอยู่กับราคาที่คุณคาดหวังจะให้หุ้นของคุณเป็น เพราะคุณไม่ใช่คนกำหนดราคาหุ้น แต่ตลาดคือคนกำหนดราคาของหุ้นผ่านทาง Price & Volume Action ของหุ้นแต่ละตัวนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆท่านอาจจะไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกว่าสิ่งที่ผมพยายามพูดถึงนั้นมันขัดกับหลักการลงทุนของตัวท่าน หลายท่านอาจจะคิดในใจขึ้นมาว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ การที่เราไม่รู้สาเหตุของการขึ้นหรือลงของหุ้นแต่ละตัว แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าหุ้นตัวนั้นมันจะขึ้นหรือมันจะลง?

คำตอบก็คือ การฝึกสังเกต Price & Volume Action อย่างที่ Mark ได้พูดถึงนั่นเองครับ

Credit >> http://www.sarut-homesite.net


เคล็ดลับลงทุนหุ้น 5 ข้อ

"จุดได้เปรียบของผม อยู่ที่การใช้เครื่องมือและสัญญาณทางเทคนิคประกอบการตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก"
การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายแนวทาง ทางหนึ่งก็คือการใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบเทคนิเคิล เช่น .."ธิติ ธาราสุข" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์ตมาสเตอร์ จำกัด ได้เผยเคล็ดลับการลงทุนว่า เขายึดหลักการลงทุน 5 ข้อ เป็นแนวทางก่อนก้าวเท้าเข้าลงทุนในตลาดหุ้น..



หนึ่ง..จะต้องรู้ถึงแนวโน้มของตลาด หรือภาพรวมก่อนว่า ก่อนลงทุนต้องมอง “แนวโน้มเป็นเพื่อนของคุณ” (Trend is Your Friends) ถ้าตลาดเป็นขาลงไม่จำเป็นต้องลงทุน แต่พอตลาดเป็นขาขึ้น ก็ค่อยกระโจนลงสู่ตลาดหุ้นได้

สอง..จังหวะเวลา (Timing) ที่เหมาะสมเข้าลงทุน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของตลาดทุกอย่างมี "วัฏจักร" มีทั้งขาขึ้นและขาลง

"เล่นหุ้นในเชิงเทคนิค คุณต้องลงทุนในช่วงขาขึ้นเท่านั้น อย่าไปเสี่ยงลงทุนในช่วงขาลง หรือสัญญาณจะปรับตัวเป็นขาลง"

สาม..ต้องดูดีมานด์และซัพพลายของตลาด

ธิติบอกว่า หุ้นแต่ละตัวมีอุปสงค์และอุปทานเหมือนกับ "ตาชั่งวัด" จะมีการปรับตัวโยกขึ้น โยกลง และปรับสู่สมดุลเสมอ การเข้าสู่ตลาดตอนที่ตาชั่งแกว่งตัว ปรับจากการไม่สมดุลสู่สมดุล จะเกิดการปรับทิศทางแล้วค่อยเข้าลงทุนช่วงนั้น

"ช่วงที่ซัพพลายมากๆ จะเป็นช่วงเทขาย ขณะที่ซัพพลายน้อย ดีมานด์มากขึ้นถึงจุดสมดุล เราค่อยเข้าสู่ตลาด คือตลาดบ้านเราจะแกว่งตลอดเวลาตามดีมานด์และซัพพลาย"

สี่.."ห้ามโลภ"

หากได้กำไรเมื่อหุ้นขึ้นไป 1-2 ช่อง ให้ตัดขายทำกำไรทันที (ถ้าเล่นเร็ว) และให้คิดเสมอว่า หุ้นที่ขายแล้วแม้จะปรับตัวขึ้นไปอีก ให้ถือว่าคุณได้ถ่ายทอดความเสี่ยงแก่คนที่รับซื้อต่อ

"นักลงทุนบ้านเรา เวลาขายหุ้นไปแล้วขึ้น จะไปรับซื้ออีกครั้ง บางทีกลับเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้น"

และห้า..พิจารณาตัวเองก่อนเข้าตลาด โดยให้พิจารณาว่าตัวเอง "ได้เปรียบ" นักลงทุนคนอื่นหรือไม่

"ถ้าคุณไม่ได้เปรียบ แสดงว่าคุณเสียเปรียบ ห้ามลงทุนเด็ดขาด เมื่อประเมินตัวเองว่าได้เปรียบใครบ้าง อย่างนักลงทุนบ้านเรามี 2 แสนคน ก็ต้องมาพิจารณาว่าเราได้เปรียบกี่คนในสองแสนคน ถ้าไม่ได้เปรียบ คำตอบคืออย่าลงทุน"

แนวทางการลงทุนของธิติ เขาจะใช้หลักวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค และตัดสินใจลงทุนเป็นรอบๆ โดยเขาจะลงทุนเพียง 2-3 รอบต่อปี เท่านั้น

"การลงทุนเชิงเทคนิคอล มันเป็นเหมือนเวทมนตร์ เพราะมักมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนที่ดีเสมอ ผมจึงเปลี่ยนจากแนวการลงทุนปัจจัยพื้นฐาน มาเป็นการลงทุนเชิงเทคนิค ซึ่งลงทุนแล้วประสบผลสำเร็จจริง แม้หุ้นที่มีพื้นฐานดีแต่เรารอให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไม่ไหว เพราะการปรับตัวขึ้นต้องใช้เวลานาน

และเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของหุ้นบลูชิพจะน้อยกว่าการเล่นแบบเทคนิค ซึ่งเมื่อหาจังหวะลงทุนที่เหมาะสมได้ ผลตอบแทนที่ได้จะสูงกว่ามาก โดยไม่ต้องลงทุนตลอดปี ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ และปีหนึ่งๆ ผมจะลงทุน 2-3 รอบเท่านั้น และหากตลาดหุ้นไม่ใช่ขาขึ้น ก็จะไม่ต้องลงทุนเด็ดขาด"

วิธีการเล่นทางเทคนิคของธิติ เขาจะสร้าง "โปรแกรม" ที่เรียกว่า "BOT" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่หาข้อมูลและค้นหาหุ้นในตลาด โดยสร้างเงื่อนไขว่าต้องการหุ้นแบบไหน และหุ้นตัวไหนมีสัญญาณเป็นบวก จากนั้นจะใช้ความสามารถของคนมาคัดเลือกหรือสกรีนหุ้นให้เหลือ 2-3 หุ้น ที่มีสัญญาณชัดเจนและน่าสนใจลงทุนเท่านั้น

"จุดได้เปรียบของผม อยู่ที่การใช้เครื่องมือและสัญญาณทางเทคนิค มาประกอบการตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก"

ธิติบอกว่า เขาเริ่มลงทุนจริงจังเมื่อราวปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีตลาดอยู่ที่ 380 จุด และได้ปรับขึ้นเป็น 800 จุด มูลค่าการซื้อขายของตลาดสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน

"ตอนเริ่มลงทุนใหม่ใช้เงิน 2 แสนบาท จากนั้นขยับขยายไปเรื่อยๆ ตอนนั้นผลตอบแทนที่ได้จะคูณสอง จากนั้นมูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 5 แสนบาทได้

จากนั้นผมเริ่มลดพอร์ต เพราะดัชนีได้ปรับตัวสูงขึ้นเกินไป และมีสัญญาณลบออกมา โดยปกติเมื่อใดที่ค่าพีอีจะสูงถึง 31 เท่า แสดงว่าตลาดร้อนแรงเกินไปแล้ว จากนั้นจะปรับตัวลดลง แม้ช่วงนั้นค่าพีอีจะไม่ถึง 31 เท่า แต่มีสัญญาณบางอย่างไม่ดีออกมา ผมจึงกระโดดออกจากตลาด และลดพอร์ตลงมาเรื่อยๆ

ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตหุ้นของเขาอยู่ที่ 3.8 แสนบาท หลังจากที่ได้ทยอยขายหุ้นนำกำไรออกไปบ้างแล้ว

ส่วนจำนวนหุ้นในพอร์ต เขาจะเล่นหุ้นไม่เกิน 5 บริษัท เพื่อให้สามารถดูภาพรวมทั้งหมดได้ โดยกระจายลงทุนในหุ้น 3 ส่วนหลัก คือ ลงทุนหุ้นกลุ่มนำเข้า กลุ่มส่งออก และหุ้นกลุ่มพลังงาน

"ผมจะไม่ลงทุนหุ้นใหญ่ เพราะเล่นเทคนิคจะไม่ลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก และไม่สนใจเงินปันผล แต่เราสนใจว่าเมื่อเราซื้อหุ้นแล้ว หุ้นต้องขึ้น เมื่อขายแล้วหุ้นต้องลง ซึ่งเป็นหลักเทคนิคอล"

ธิติบอกว่า ผลตอบแทนการลงทุนใน 2550 ไม่ค่อยสูงมากนัก จะอยู่ประมาณ 28-32%

"เพิ่งจะตีตื้นตอน 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่เราทำเงินได้มาก และหุ้นมีสัญญาณชัดเจนปรับตัวขึ้น จริง ๆ เริ่มตอนที่ตลาด Crash ไปครั้งหนึ่ง ช่วงนั้นเราจับสัญญาณได้ เราจึงเริ่มเข้าตลาด และซื้อเมื่อขึ้นไปสักพักจึงเริ่มขาย เราไม่สนใจว่าหุ้นนั้นเป็นอะไร แต่สนใจว่าเมื่อซื้อต้องขึ้น ขายต้องลง"

ปัจจุบันแนวทางการบริหารเงินส่วนตัวของผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเน็กซ์วิว จะนำเงินลงทุน 30% ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยซื้อบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ จะซื้อเก็บและให้เช่า เงินลงทุนอีก 30% นำไปลงทุนในตลาดหุ้น

ส่วนที่เหลือ 40% เป็นเงินฝาก และลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

Credit >> http://www.technicalday.com


การใช้อัตราส่วนต่างๆเพื่อหามูลค่า

อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) หรือมูลค่าทางบัญชี (P/B) นำมาใช้ประเมินมูลค่าแบบคร่าวๆ ได้ เช่น

1.    P/E ของกิจการใดต่ำกว่า P/E เฉลี่ยของกิจการอื่นที่ทำธุรกิจเดียวกันและมีขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งที่ไม่มีปัญหาอะไร ย่อมถือว่า เป็นหุ้นที่ถูกกว่า ตลาดอาจจะให้มูลค่าผิดไปในบางช่วงเวลา และราคาจะกลับมาที่ควรจะเป็นได้
2.    P/B ที่ต่ำกว่า 1 หมายถึงราคาตลาดของหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยหลักการทางบัญชีแล้ว หากการบันทึกราคาครอบคลุมทั้งสินทรัพยที่มีและไม่มีตัวตนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ P/B ควรจะเท่ากับ 1 ที่ P/B ต่ำกว่า 1 อาจจะเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การบันทึกมูลค่าสินทรัพย์ไม่ได้ปรับราคาตามความเป็นจริง (เช่นที่ดิน เครื่องจักร มูลค่าแบรนด์ ลิขสิทธิ์ หรือมูลค่าโอกาสทางธุรกิจในอนาคต) หรือหากเป็นตามความเชื่อของการลงทุนแบบคุณค่าก็คือ นักลงทุนในตลาดประเมินมูลค่าหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หากเป็นกรณีนี้ นักลงทุนก็จะมีโอกาสทำกำไรหากราคาหุ้นกลับเข้ามาสู่มูลค่าที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามการใช้อัตราส่วนทั้ง P/E และ P/B ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น

1.    มาตรฐานการบันทึกมูลค่าทางบัญชีของแต่ละบริษัทต่างกัน จึงไม่สามารถเทียบกันได้อย่างสมบูรณ์
2.    วิธีการทำบัญชีของแต่ละประเทศต่างกัน
3.    บอกความเสี่ยงของกิจการได้ไม่สมบูรณ์ อันที่จริง หุ้นที่ P/E และ P/B ต่ำนั้น จะมีค่าความเสี่ยงสูงกว่าโดยเฉลี่ย (ข้อมูลเพิ่มเติม ลองอ่าน Fama (1991) และ Fama (1998) )
4.    มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า P/E ไม่บอกถึงความเติบโตของกิจการ อันที่จริง หุ้นที่มี P/E สูงก็เนื่องจากว่านักลงทุกคาดหมายการเติบโตที่สูงมากนั่นเอง

Credit >> http://th.wikipedia.org


การประเมินมูลค่ากิจการ

การลงทุนแบบคุณค่านั้นมีหลายแนวทางอยู่ที่การตีความ วิธีประเมินมูลค่าตามแบบของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของ ตามหนังสือ Value Investing from Graham to Buffett and Beyond ของ Greenwald และคณะ ได้แสดงไว้ 3 วิธี

    วิธีต้นทุนทดแทน (Replacement Cost) คือการหาว่าหากต้องการสร้างกิจการนี้ขึ้นมาใหม่ จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ วิธีนี้จะแก้ไขการใช้มูลค่าทางบัญชี ซึ่งไม่ได้รวมต้นทุนการสร้างกิจการไว้ทั้งหมด เช่นค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร แบรนด์ ความนิยมหรือใบอนุญาตประกอบกิจการเฉพาะ
    ความสามารถในการทำกำไร (Earning Power Value) พิจารณามูลค่ากิจการจากความสามารถในการสร้างเงินสด และ/หรือกำไรจากผลประกอบการ
    การเติบโต (Growth) พิจารณาความเติบโตของผลกำไร

Credit >> http://th.wikipedia.org


หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นักลงทุนจะประเมินมูลค่าบริษัทและหุ้นของบริษัทด้วยปัจจัยพื้นฐาน เมื่อได้มูลค่าที่เหมาะสมแล้วจึงพิจารณาราคาในตลาดหลักทรัพย์ หากพบว่าราคาของหลักทรัพย์ทั้งหมดต่ำกว่า ก็จะเข้าซื้อหุ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าราคาในตลาดจะวิ่งไปหามูลค่าที่เหมาะสมในระยะยาว อันที่จริง หลักการลงทุนทุกรูปแบบยกเว้นแบบเทคนิคอล จะเลือกซื้อหุ้นเมื่อพบว่าราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน (หลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็บอกเช่นกันว่า ให้ลงทุนในโครงการที่มี Abnormal Profit หรือ Economic Profit) ดังนั้น การเลือกหุ้นที่ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน จึงมิไม่เป็นหลักการเฉพาะของการลงทุนแบบคุณค่าแต่อย่างใด ที่หลักการการลงทุนแบบคุณค่าแตกต่างกับวิธีการการลงทุนแบบอื่นๆก็คือ การลงทุนแบบคุณค่าเชื่อว่าอัตราส่วนทางบัญชี เช่น P/E และ P/BV ที่ต่ำ สามารถบ่งบอกว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ในขณะที่การลงทุนแบบอื่น อาทิ แบบ Growth เชื่อว่าอัตราเติบโตเร็วบ่งบอกว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้นนั้นสูงกว่าราคาปัจจุบัน (ซึ่งก็แปลว่า ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานเช่นกัน นั่นเอง) สาเหตุที่หุ้นที่ P/E และ P/BV ต่ำมักจะมีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน งานวิจัยบางส่วนบ่งบอกว่าเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินหุ้นที่มีผลการดำเนินงานช่วงหลังๆไม่ค่อยดี หรือว่าหุ้นที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ผลตรงนี้สนับสนุนความเชื่อของ เบนจามิน เกรแฮม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการวิจัยพบว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในระยะยาว ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการว่า สาเหตุของกำไรเกิดจากอะไร ฝ่ายหนึ่งดังที่กล่าวไปแล้ว เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากผลทางจิตวิทยา (Behavioural Finance) นำโดยศาสตราจารย์ ริชาร์ด ทาเลอร์ เดเนียล คาห์เนมาน (โนเบล 2004) ฯลฯ โดยการงานวิจัยทางจิตวิทยาสนับสนุนในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการที่หุ้นที่มีอัตราส่วนทางบัญชีต่ำนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นโดยทั่วไป ซึ่งค่ายนี้นำโดย ยูจีน ฟามา มาร์ค รูบินสไตน์ ฯลฯ โดยมีหลักฐานชี้ว่า หากมีการปรับ Asset Pricing Model โดยพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราส่วนบัญชีเข้าไปด้วย การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนแบบทั่วไปแต่อย่างใด กำไรที่สูงกว่าเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่มากกว่าเท่านั้นเอง (ข้อมูลเพิ่มเติม: Fama and French (1996) )

ปัจจุบันได้มีหนังสือที่ออกมาเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวหลายเล่ม ที่ยอมรับนับถือว่าเป็นคัมภีร์ของนักลงทุนก็เช่น Security Analysis และ The Intelligent Investor โดยเบนจามิน เกรแฮม

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการในการลงทุน จึงมีแนวคิดอื่นเช่นการลงทุนในหุ้นโตเร็ว และปัจจัยทางการบริหารจัดการ ฟิล ฟิชเชอร์เป็นเจ้าของแนวคิดดังกล่าว ท่านเป็นนักลงทุนอีกท่านในยุคนั้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้แต่งหนังสือชื่อ Common Stock and Uncommon Profit ขึ้นมา ในหนังสือนี้จะสอนให้นักลงทุนพิจารณาปัจจัยทางคุณภาพมากกว่า ปัจจัยทางปริมาณซึ่งหลักการนี้ต่างจากหลักการของเกรแฮมที่สอนให้นักลงทุนศึกษาปัจจัยทางปริมาณ

ปัจจุบันมีแนวคิดและหลักการต่างๆ ประยุกต์และแตกแขนงออกไปจากหลักการพื้นฐาน แต่ทุกแนวคิดก็ยังต้องอิงกับปัจจัยทางปริมาณ และปัจจัยทางคุณภาพ ร่วมกันเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม

Credit >> http://th.wikipedia.org


คุณลักษณะของงบการเงินที่ดี

หากเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการทำสงคราม ผู้บริหารก็เหมือนแม่ทัพ ถ้าแม่ทัพเก่งก็จะรบชนะแย่งชิงทรัพยากรกลับมาให้นักลงทุนมั่งคั่งมากขึ้น (แต่ถ้าผลประกอบการเริ่มแย่ลงขอสละเรือก่อนนะ) ถ้าบริษัทจัดการธุรกิจดี(ทำเหตุดี) งบการเงินที่เป็นผลประกอบการควรจะมีลักษณะดังนี้

1.    จัดโครงสร้างกองทัพอย่างเหมาะสม โดยยุ่งอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน (SF) และแหล่งที่ใช้ไปของเงิน (UF) ทั้งส่วนของหนี้สิน ทุน สินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่นมีหนี้ไม่มากไม่น้อยไปธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดมาจ่ายภาระทางการเงินไหว วางแผนจัดหาเงินทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
2.    งบกำไรขาดทุนเหมือนการนำทัพไปเข้าโจมตี ถ้าแม่ทัพวางแผนรบมาดี เมื่อนำแผนไปปฏิบัติก็จะได้รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรกลับมาสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นได้ต่อเนื่อง
3.    เมื่อธุรกิจมีกำไรแหล่งที่มาของเงิน (SF) ก็จะมากขึ้น เงินสดด้านแหล่งที่ใช้ไปของเงิน (UF) ก็จะเพิ่มตาม หากไม่มีการขยายตัวของธุรกิจและเงื่อนไขการค้ายังเป็นเหมือนเดิม เงินสดในแหล่งที่ใช้ไปของเงิน(UF) จะเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการอาจตัดสินใจลดภาระหนี้ระยะสั้นลง ทำให้แหล่งที่มาของเงิน (SF) ที่ใช้ไปเพื่อสินทรัพย์หมุนเวียน มีส่วนของเงินทุนหมุนเวียนที่มาจากส่วนทุนของเจ้าของมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจไม่ต้องกู้เงินเลยก็เป็นได้ คงเหลือแต่การใช้แหล่งที่มาของเงิน (SF) จากเจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว สรุปง่ายๆก็คือหนี้สินจะลดลงเรื่อยๆนั่นเอง
4.    เฝ้าระแวดระวัง และคิดตลอดต่อการใช้ที่มาของเงิน (SF) ไปลงทุนในแหล่งที่ใช้ไป (UF) ของเงินอย่างเหมาะสมและไม่ใช้เงินผิดประเภท ถ้าผู้บริหารลงทุนผิดประเภทจะส่งผลให้อัตราหมุนเวียนทรัพย์สินลดลง (ยอดขาย/สินทรัพย์)

Credit >> http://www.investidea.in.th/2013/08/blog-post_14.html



ลงทุนหุ้น VI ควรถือยาวแค่ไหน

จะเป็น VI ที่จะถือหุ้นยาวๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นพื้นฐานดีแล้วถือระยะยาวแบบไม่สนใจใยดี นักลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ...เพื่อประเมินว่าหุ้นที่เราถืออยู่เหมาะที่จะถือต่อหรือ ไม่?

-    หุ้นยังมีการเติบโตหรือไม่?
-    หุ้นยังคงมีศักยภาพการเติบโต (Potential growth) อยู่หรือไม่?
-    ราคาหุ้นถึงมูลค่าเมื่อคิดรวมการเติบโตในระยะยาวหรือยัง? (Room of growth)

เมื่อมีสัญญาณว่าหุ้นไม่มีการเติบโตแล้ว หมดศักยภาพเติบโตแล้ว หมดโอกาสเติบโตทางธุรกิจแล้ว หุ้นถึงมูลค่าแล้ว ต่อให้ถือหุ้นในเวลาสั้นแค่ไหนก็ควรขายทิ้ง

เมื่อหุ้นยังคงมีการเติบโตของกิจการอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสทางธุรกิจเพิ่ม ศักยภาพทางธุรกิจเพิ่ม ต่อให้ถือหุ้นมานานแค่ไหนก็ควรถือต่อ เพราะมูลค่าหุ้นมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆตามการเจริญเติบโต ขายไปก็เหมือนขายหมูครับ ไม่สามารถกลับมาซื้อในราคาต่ำกว่า

ดังนั้นการลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ ว่าหุ้นที่เราถืออยู่ควรถือต่อหรือไม่? ถ้าหุ้นยังมีคุณสมบัติที่ดีประเมินแล้วสรุปว่าต้องถือต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นการลงทุนระยะยาวโดยปริยายครับ

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/10/vi.html



การตกแต่งงบกระแสเงินสด

รูปแบบการตกแต่งงบกระแสเงินสดในไทย

1.    รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งในกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
2.    จัดจำแนกรายการเงินให้กู้ยืมกรรมการและบำเหน็จไว้เป็นกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน
3.    แสดงรายการส่วนเกินจากการตีราคาทรัพย์สิน ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นของหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด(เงินลงทุนระยะยาว) และผลสะสมของการเปลี่ยนแปลงหลักการบัญชี(การเปลี่ยนแปลงวิธีบันทึกเงินลงทุนในบริษัทร่วมและย่อย จากวิธีราคาทุนเป็นวิธีส่วนได้เสีย) โดยปรับกับกำไรสุทธิ ทั้งๆ ที่รายการดังกล่าวจัดเป็นรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสด( Noncash Items)
4.    นำรายการกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย หรือกำไรจากการขายเงินลงทุน มาบวกกับกำไรสุทธิ
5.    นำรายการเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้ค่าหุ้นซึ่งเกิดจากการจัดหาเงินมาปรับกับกำไรสุทธิ
6.    นำรายการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเจ้าหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลงทุน (เช่น การซื้อเครื่องจักรโดยการก่อหนี้) มาปรับกับกำไรสุทธิ
7.    ไม่บันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย ออกจากการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงานตามวิธีทางอ้อม
8.    แสดงกำไรสุทธิในงบกระแสเงินสดแตกต่างไปจากกำไรสุทธิที่แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุนหรือ แสดงค่าเสื่อมราคาในงบฯต่างไปจากที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทั้งๆ ที่เป็นรายการเดียวกัน
9.    ไม่แยกแสดงเงินสดที่ไม่มีสภาพคล่อง ( เช่น เงินสดที่นำไปใช้ค้ำประกัน เงินเบิกเกินบัญชี และการออกหนังสือค้ำประกันต่างๆ) ออกจากรายการเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด
10.   รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
11.   รวมเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทอื่นๆ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดำเนินงาน ในขณะที่บันทึกเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยไว้ในกิจกรรมลงทุน
12.   รายการต่างๆ ที่รวมอยู่ในการคำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน เมื่อตรวจสอบการคำนวณใหม่ จะได้ยอดที่ไม่ตรงกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานตามที่แจ้งในงบกระแสเงินสด

Credit >> http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=3497


อยากลงทุนแบบ Value investor ต้องทำอย่างไร

ความหมายของ Value investor ก็คือนักลงทุนที่พยายามหาซื้อกิจที่ที่ดีในราคาโปรโมชั่น(ราคาต่ำกว่ามูลค่าของกิจการมากๆ) ซึ่งจะทำให้

    เอาไปขายต่อก็ได้ราคา (capital gain)
    ถือไว้ยาวๆก็ได้ผลตอบแทนเงินปันผลที่มากกว่าตลาด (dividend yield)

ซื้อหุ้นดีราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ

การลงทุนแบบ VI นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องซื้อหุ้นที่ดูเหมือนเป็นหุ้น VI ตามที่เค้าแนะนำมาตามแหล่งต่างๆ เช่น ห้องกระทิงคุณค่า หรือ www.thaivi.org นะครับ

ดังนั้นจะต้องแยกให้ออกว่าเราจะเป็น VI หรือ จะซื้อหุ้น VI ซึ่งอย่างหลังนั้นไม่ยากเพราะสามารถสอบถามจาก web ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ VI แต่การที่จะเป็น VI คือสามารถเลือกหาหุ้นที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพงเกินไปนักเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะทำหรือไม่นะครับ

คุณ Inivisible Hand [1]ได้เขียนคำแนะนำขั้นต้นหากต้องการเป็น VI ไว้ดังนี้

1.    หาหนังสือแนว VI มาอ่าน ตอนนี้มีการแปลหลายเล่มมาก เช่น
    - หนังสือต่างๆ ที่เขียนโดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เช่น ตีแตก ชนะอย่างเต่า ฯลฯ มีขายตามร้านหนังสือทั่วไปครับ เช่น SE-ED
    - หนังสือแปลจากต่างประเทศเช่น
    - The new Buffetology ผู้แปล คือ คุณพรชัย
    - One up on wallstreet ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
    - Common stocks uncommon profit ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
2.    จะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างน้อยวันละ 1 เล่ม ถ้าให้ดีควรจะอย่างน้อย 2 และหนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วัน 7 วัน เช่น ประชาชาติธุรกิจหรือฐานเศรษฐกิจ หรือ Biz Week อย่างน้อย 1 เล่ม เป็นขั้นต่ำ ถ้าให้ดีควรอ่านทุกเล่มเลยครับ
3.    จะต้องอ่านหนังสือธุรกิจรายเดือน เช่น ผู้จัดการรายเดือน Brandage Thaicoon Marketeer การเงินการธนาคาร อย่างน้อยเดือนละ 1-2 เล่ม
4.    จะต้องหา Pocket book ต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจ ( ซึ่งหลายๆ เล่มมีฉบับแปล ) มาอ่านให้ได้อย่างน้อยปีละ 4-5 เล่ม เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก และสามารถวิเคราะห์ภาพใหญ่ๆ ได้ ยกตัวอย่างหนังสือดีๆ ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว เช่น Blue ocean strategy หรือ ใครว่าโลกกลม ( The world is flat )
5.    หากสนใจหุ้นตัวใดแล้ว จะต้องอ่านข้อมูลอย่างน้อยคือ 56-1 รายงานประจำปี งบการเงิน รวมไปถึงการ search หาข่าวเก่าๆ ที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆ ง่ายที่สุดคือ พิมพ์ชื่อบริษัท หรือชื่อ นามสกุล กรรมการผู้จัดการ ลงใน www.google.com ครับ
6.    ฝึกเป็นคนสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของวัน เช่น การขับรถ การเดินห้าง การดู TV ฟังวิทยุ ไปต่างประเทศ หรือการพูดคุยกับคนต่างๆ อาชีพ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกและวิเคราะห์หุ้นได้เป็นอย่าง ดี
7.    ฝึกการคิดต่างจากคนอื่นๆ เพราะถ้ามีเรื่องแบบเดียวกันและเราคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป โอกาสประสบความสำเร็จจะมียากกว่าคนที่ฝึกการคิดแตกต่าง เปรียบเหมือนกับการหาที่จอดรถในห้าง หากเราขับตามๆ กันไปเราก็ต้องได้ที่จอดรถหลังคันหน้าเราอยู่ดี ดังนั้นเราควรจะเลือกขับไปในจุดที่เราเป็นคันแรกจะมีโอกาสได้ที่จอดรถ มากกว่า
8.    หาโอกาสไปประชุมผู้ถือหุ้น หรือ งาน Opportunity day เพื่อทำความรู้จักผู้บริหารและซักถามข้อสงสัยต่างๆ
9.    จะต้องเป็นคนรู้กว้าง อ่านและฟังมากๆ ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นเท่านั้น แต่ควรจะรู้ความเป็นไปในโลกให้มากที่สุด เพราะบางครั้งความรู้ต่างๆ ที่เรามีนั้นจะถูกเชื่อมโยงเป็นข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ต่างๆ ของเราได้ เพราะผมเองยังได้กำไรจากหุ้นตัวหนึ่งจากการอ่านหนังสือบันเทิงอย่าง Maya Channel เลยครับ ดังนั้นผมจะอ่านนิตยสารอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหุ้นด้วยจำนวนหนึ่งเพื่อหาความรู้ทั่วไปและการผ่อนคลาย เช่น แพรว ยานยนต์ สารคดี ฯลฯ VI ที่ดีควรเข้าร้านหนังสืออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งครับ
10.  ฯลฯ มีอีกหลายข้อแต่ยังนึกไม่ออกครับ

ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนทำได้ยาก แต่เมื่อลองทำจริงๆ แล้วมันจะเป็นนิสัยและจะอยู่ในชีวิตเราเองแบบไม่ตั้งใจ แล้วเราจะสามารถมีชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปครับ สามารถเดินห้าง ดูหนัง ซื้อของ สังสรรค์ ท่องเที่ยว ได้ตามปกติครับ และก็ไม่ได้เป็นการทำงานหนักมากด้วย เพราะเราจะเป็น VI ที่คอยสังเกตสิ่งต่างๆ และหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงครับ

จะเห็นว่าการเป็นนักลงทุนแบบที่เค้าเรียกกันว่า VI นั้น ไม่ได้มาด้วยความฟลุ๊กแน่นอนครับ

Credit >> http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=24502


การใช้ EBITDA และข้อจำกัด

EBITDA วิธีจำความหมายให้ขึ้นใจก็จำเป็นตัวย่อไว้ดังนี้ กำไร(Earning) ก่อน(Before) ดอกเบี้ยจ่าย(Interest) ภาษี(Tax) ค่าเสื่อม(Depreciation) ถ้าดูเผินก็เหมือนกำไรที่มาจากธุรกิจจริงยังไม่แบ่งให้เที่มาของทุน (เจ้าหนี้ เจ้าของทุน) แต่มันลึกกว่านั้นครับ ก็ยกบทความของคุณ green-orange [1] มาให้อ่านกันครับ เชิญอ่านโดยพัน

การนำเอา EBITDA ไปใช้และข้อจำกัด
ต่อ จากบทความที่แล้ว และที่น้องปิ๊กขอมา เป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมต้องมานั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนอย่างไรดี แล้วผมจะเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องได้ไหมเนี่ย…แต่แล้วผมก็คิดว่าผมจะพยายาม ลองดูครับ เป็นการฝึกฝนตนเองไปด้วย ถ้าผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ขออภัยมา ณ ที่นี้
เริ่มเลยแล้วกัน……

ในการนำเอา EBITDA ไปใช้นั้น ในความคิดส่วนตัว ผมเห็นว่าเราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลายสิ่งด้วยกันดังนี้
1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่าย
2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
3 ลักษณะของกิจการ
4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
5 Utilization Rate

ทีนี้เราลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ ว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการพิจารณาอย่างไร

1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ย
เหตุผล ที่เราต้องมาพิจารณาหนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่ายประกอบนั้น เนื่องจากว่า EBITDA นั้นเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่าย ซึ่งยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงโครงสร้างหนี้สินต่อทุนของกิจการ (หนี้สินในที่นี้หมายถึงหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย) เลยว่าสินทรัพย์ที่ได้มานั้นได้มาจากส่วนไหนในอัตราส่วนเท่าไหร่ เช่น ถ้าหากกิจการ A มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน = 1:1 ส่วน B มีภาระหนี้สินต่อทุน 1:2 และอัตราดอกเบี้ยจ่าย = 5% เท่ากันทั้ง 2 บริษัท นั่นก็จะทำให้เราทราบคร่าวๆว่า บริษัท A นั้นมีความเสี่ยงที่สูงกว่า B ในเรื่องของภาระดอกเบี้ยจ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาระดอกเบี้ยจ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้นำไปหักออกจาก EBITDA ซึ่งการดูเฉพาะเรื่องของอัตราหนี้สินต่อทุนก็ยังบอกอะไรเราไม่ได้มากนัก ต้องดูอย่างอื่นประกอบเพิ่มเติม

2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
ทำไม เราต้องมาดูเรื่องอัตรากำไรจากการดำเนินงานของกิจการกัน (EBIT) สาเหตุก็เนื่องจากถ้า 2 กิจการมี EBIT ที่เท่ากันแต่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและดอกเบี้ยจ่ายที่แตกต่างกันแล้ว ก็จะทำให้มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนดังที่แสดงในตารางด้าน ล่างซ้ายมือ เราลองมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมกันนะครับ สมมุติว่าทั้ง 2 บริษัทที่มี EBIT เท่ากันที่ 10% ในตอนแรกนั้นมียอดขายลดลง 10% เท่ากันพอดี แต่บริษัท B มีอัตราหนี้สินน้อยกว่า A ที่อัตราดอกเบี้ยจ่าย 5% เท่ากัน สังเกตุว่าบริษัท A เกือบจะขาดทุนแต่บริษัท B ยังพออยู่ได้ ดังแสดงในตารางด้านล่างด้านขวามือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่ารายได้ลดลงมากกว่า 10%??? เพื่อนลองจินตนาการดูเอาเองนะครับ

3 ลักษณะของกิจการ
ที่ นี้เราก็จะมาดูกันนะครับว่าลักษณะของกิจการมันมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร กับเรื่องนี้กันครับ ผมคิดว่ากิจการที่เราควรจะระมัดระวังก็คือกิจการที่มีต้นทุนคงที่สูงและมี รายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กิจการลักษณะนี้ก็จะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสูง ซึ่งสินทรัพย์ถาวรเหล่านี้จะใช้เป็นตัวสร้างรายได้หลักของกิจการ และโดยปกติก็จะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาที่สูงตามไปด้วย เช่น กิจการโรงแรม โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น

4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
ถาม ว่าข้อนี้แตกต่างอย่างไรกับลักษณะของกิจการในข้อ 3 ผมคิดว่ามีความแตกต่างแน่นอนครับ เพราะลักษณะกิจการบางอย่างเป็นกิจการที่มีความจำเป็นและไม่ค่อยมีความอ่อน ไหวกับภาวะเศรษฐกิจมากนัก ลูกค้าไม่สามารถชะลอการใช้จ่ายได้นานมากนัก ทำให้รายได้มีความสม่ำเสมอและค่อนข้างมั่นคงมากกว่า เพราะเป็นสินค้าปัจจัย 4 เช่น โรงพยาบาล ห้างค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งก็ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่แตกต่างกับพวกโรงแรมหรือโรงงานปิโตรเคมีนั้น ค่อนข้างชัดเจนคือ ความสม่ำเสมอของรายได้ และความจำเป็นที่ต้องใช้

5 Utilization Rate
อัน นี้ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สาเหตุก็เนื่องจากถ้าหากกิจการมีอัตราการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ใกล้จะเต็ม กำลังแล้วนั้น กิจการจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ซึ่งต้องการเงินลงทุนในปริมาณสูงมาก และจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าเสื่อมราคามาลดกำไรลง เพราะกว่าที่สินทรัพย์ใหม่จะสามารถสร้างรายได้จนถึงจุด คืนทุนได้นั้นก็คงต้องใช้เวลาสักระยะขึ้นอยู่กลับลักษณะของกิจการ

สรุป แล้วในความคิดส่วนตัวของผมนั้น ผมไม่ชอบที่จะใช้ EBITDA ในการประเมินมูลค่าหุ้นมากนัก เนื่องจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่ายนั้น ผมคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายจริงๆที่เกิดขึ้น แต่ว่ากิจการได้จ่ายเงินสดในการลงทุนในสินทรัยพ์นั้นๆออกไปก่อนแล้ว เพียงแต่ในทางบัญชีอนุญาติให้บริษัทค่อยนำเอาค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาแบ่งหัก ออกเป็นค่าใช้จ่ายตามแต่วิธีที่กิจการเห็นว่าเหมาะสมในการเลือกใช้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะต้องถูกนำไปใช้ซื้อสินทรัยพย์ใหม่เข้ามาทดแทนของ เก่าที่หมดสภาพลงในอนาคตอยู่ดี แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรจะพิจารณาก็คือระยะเวลาและวิธีการที่ บริษัทเลือกใช้ในการตัดค่าเสื่อมราคานั้นมีความเหมาะสมกับอายุการใช้งานของ สินทรัพย์เหล่านั้นและสอดคล้องกับกลยุทธของบริษัทหรือไม่ และผมเห็นว่าเราควรที่จะนำเอา EBIT ไปใช้มากกว่าในการประเมินมูลค่าหรือวิเคราะห์กิจการ แทนที่จะนำเอา EBITDA ไปใช้ และก็ต้องใช้ประกอบกับอัตราส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น กระแสเงินสดอิสระหลังจากที่ได้ลงทุนในส่วนของการบำรุงรักษาและส่วนของการ เติบโตด้วย เป็นต้น และสุดท้ายคือ EBITDA นั้น ส่วนของ ค่าเสื่อมราคา (D) นั้นมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดในวันนี้ที่จะต้องถูกนำไปใช้ทดแทนหรือ ปรับสภาพสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือดีขึ้นในอนาคตเนื่องจากมี เทคโนโลยี่ใหม่มาทดแทนของเดิมที่อาจจะทำให้สินทรัพย์เดิมล้าสมัยเร็วกว่า เวลาอันควร โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นพวกเทคโนโลยี่หรือแม้กระทั่งธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี่ใน การผลิตที่ใครๆมีเงินก็หาซื้อมาใช้ได้

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/02/ebitda.html


งบกระแสเงินสดกับบริษัทในตลาดหุ้น

บทความสอนอ่านงบกระแสเงินสดเขียนโดยคุณ chatchai [1] แห่งเว็ปไทยวีไอ สอนอ่านงบการะแสดเงินสด และไปเชื่อมโยงให้เห็นภาพของวงจรชีวิตของกิจการครับ


งบกระแสเงินสดนั้นจะเป็นงบที่แสดงการได้รับเงินสดและการใช้จ่ายเงินสดของกิจการ

งบกระแสเงินสดนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามกิจกรรมต่างๆของกิจการ ประกอบด้วย

1. กิจกรรมดำเนินงาน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามปรกติของกิจการ ดังนั้นรายการนี้จะสามารถบอกเราได้ว่ากิจการนั้นดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินสด รับมากกว่าจ่าย หรือว่าจ่ายมากกว่ารับ

2. กิจกรรมการลงทุน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตรต่างๆ และรายการที่ขายสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภท

3. กิจกรรมเกี่ยวกับการเงิน ทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียน การกู้ยืม/ชำระหนี้เงินกู้ยืม การจ่ายเงินปันผล

ดังนั้นการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจะสามารถบอกเราได้ว่า สถานะของบริษัทนั้นอยู่ในประเภทใด

1. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมทางการเงิน เช่น การเพิ่มทุน การกู้ยืม และบริษัทมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การดำเนินงานยังไม่สามารถหาเงินสดได้เพียงพอในการขยายการลงทุนที่ยังคง มากอยู่

2. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะการเติบโต ธุรกิจของบริษัทสามารถหาเงินสดได้แล้ว แต่ยังคงมีภาระที่จะขยายการลงทุนอยู่

3. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน เช่น ชำระหนี้เงินกู้ แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะที่โตเต็มที่ ไม่มีภาระที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม

4. บริษัทจะมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน คือ การจ่ายเงินปันผล แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะ ห่านทองคำครับ คือบริษัทสามารถหาเงินสดจากการดำเนินงานได้ อีกทั้งยังไม่มีภาระการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนหรือการชำระหนี้เงินกู้ บริษัทจึงมีเงินสดเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/02/blog-post.html


Supply Chain Management คืออะไร

เป็นบทความที่ ด.ร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุลเขียนไว้บน facebook ครับ ขอรวบรวมไว้กันลืม

คนสับสนคำว่า Chain เพราะไปแปลตื้นๆว่า"โซ่/ห่วงโซ่".ที่จริงแล้ว Chain ใน Supply Chain Managementแปลว่า "สัมพันธภาพหรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน" เช่นเดียวกับการแปล Supply เป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า "อุปทาน" ซึ่งกว้างไป ทั้งที่ใน SCM หมายถึง "วัตถุดิบ ชิ้นส่วน/ปัจจัยที่จำเป็นในการผลิต/แปรรูป" ดังนั้น Supply Chain ที่ถูก ควรแปลว่า"สัมพันธภาพ/ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของวัตถุดิบ ชิ้นส่วน ปัจจัยที่จำเป็นในการผลิตแปรรูปหรือการดำเนินธุรกิจ โดยความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้านซัพพลายนี้ มีผลต่อประสิทธิภาพ ศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และการตอบสนองความต้องการของตลาดของบริษัทหนึ่งๆ

ตัวอย่างน้ำท่วม2554 หลายบริษัทมีปัญหาSupply Chain นั้นก็หมายถึงปัญหาด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วนหรือปัจจัยในการทำธุรกิจที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริษัท

อย่างเช่นบริษัทรถญี่่ปุ่น ประสบปัญหา Supply Chain อย่างหนักจากน้ำท่วมโรงงานผลิตชิ้นส่วนในไทย ทำให้ขาดวัตถุดิบ ชิ้นส่วนรถยนต์ป้อมโรงงานต่างๆ

หรืออย่างบริษัท computerทั่วโลก ก็ประสบปัญหา Supply Chain จากน้ำท่วมเช่นกัน เนื่่องจากโรงงานผลิต Harddisk ในไทยถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่มีของผลิต

หรือในช่วงที่ของต่างๆตาม Tesco หรือ 7-11 ไม่มี ก็ปัญหาSupply Chainเช่นกัน เนื่องจากโรงงานหรือระบบโลจิสติกส์ถูกน้ำท่วม ทำให้สินค้าขาเข้าไม่มี

สัมพันธภาพหรือความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางด้านซัพพลาย ถ้าเป็นเรื่องที่บริษัทจัดการภายในบริษัทได้เองก็จะเรียกเชิงทฤษฎีว่า "Internal Supply Chain" แต่ถ้าบริษัทต้องไปบริหารสิ่งที่เชื่อมโยงหรือมีปัจจัยความสัมพันธ์กับภายนอก ทีี่มาจากซัพพลายเออร์หรือลูกค้า จะเรียกว่า "External Supply Chain"

การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องซัพพลายซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ (วัตถุดิบ ชิ้นส่วนหรือปัจจัยที่ป้อนธุรกิจ) จึงถูกเรียกว่า "Supply Chain Management" จำไว้นะครับ..แวดวงคนรู้จริงและผู้บริหารส่วนมากจะทับศัพท์ "Supply Chain Management" ว่า "การจัดการซัพพลายเชน" น้อยคนจะใช้ "การจัดการโซ่อุปทาน" คนไม่รู้ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มา แบบว่า "เปิดพจนานุกรมเอา" ถึงจะใช้คำว่า "การจัดการโซ่หรือห่วงโซ่อุปทาน" เมื่อพูดถึง "Supply Chain Management" ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญกับ Supply Chain Management มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะอิทธิพลของ Global sourcing, Offshore Manufacturing, Business Outsourcing

Global Sourcing เกิดขึ้นเมื่อบริษัท จัดหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน/สินค้าทดแทนต่างๆ จากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายให้ดีขึ้น

Offshore Manufacturing เกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจไปตั้งโรงงานต่างๆในต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือสร้างโอกาสในการเจาะตลาดในต่างประเทศ

Business Outsourcing เกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจให้ บริษัทภายนอกดูแลหรือบริหารจัดการฟังก์ชันสำคัญๆของธุรกิจเช่น Sales, Procurement, Logistics

Best Practices ทั้ง 3 อย่างนี้ แม้ว่าจะทำให้บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจสูงขึ้น แต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อการบริหารด้านซัพพลายของธุรกิจ Side Effect หรือผลกระทบกับซัพพลายของการดำเนินการดังกล่าวทั้ง 3 ทำให้บริษัทต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ภายนอกมากขึ้น เกิด Uncertainty&Risk มากขึ้น การพึ่งพาศักยภาพขีดความสามารถภายนอกมากขึ้น แม้ว่าเกิดผลดีในแง่ประสิทธิภาพ แต่ก็ทำให้บริษัท"depend on"ซัพพลายและซัพพลายเออร์มากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการบริหารด้านซัพพลายในปัจจุบันเปลี่ยนรูปโฉมไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่เน้นไปแค่เรื่องการจัดซื้อและการผลิตของบริษัท ขบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตและโลจิสติกส์ต่างๆ จำเป็นต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อสอดรับกับ Global Sourcing, Biz Outsourcing, and Offshoring ซึ่งการบริหารแบบบูรณาการฟังก์ชันสำคัญทั้งสามนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ ขณะที่ลด Uncertainty&Risk เราเรียกว่า SCM หรือ Supply Chain Management "จึงเกิดขึ้นและตั้งอยู่" บนอิทธิพลของ Global Sourcing, Offshore Manufacturing และBusiness Outsourcingนั้นเอง

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/01/supply-chain-management.html


ปัจจัยที่จะทำให้เล่นหุ้นประสบความสำเร็จ

ผู้ใหญ่ที่นับถือคนหนึ่งบอกผมว่าคนเราจะประสบความสำเร็จเป็นที่ 1 ได้ประกอบด้วยคำสามคำ
O : Opportunity โอกาสต่อให้เก่งแค่ไหนถ้าไม่มีโอกาสแสดงฝีมือชาตินี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
N : Network คบเยอะๆหลายๆกลุ่มจะช่วยให้โอกาสเข้าหาตัวได้มากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาหลายๆอย่างให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ
E : Expert ถ้าไม่เก่งจริงถึงมีโอกาสและเครื่อข่ายแค่ไหนก็ล้มเหลวครับ

จากปัจจัยของความสู่ความสำเร็จ สำหรับปัจจัยแรก O : Opportunity ,โอกาส สำหรับคนที่คิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เงินทุนไม่มี หาที่ลงไม่ได้ ขาดแรงงาน ฯลฯ ตลาดหุ้นเป็นสุดสุดยอดของคนที่แสวงหาโอกาสครับเพราะทุกวันที่ตลาดเปิด จะมีคนเสนอขาย (Offer) กิจการให้เราได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของตลอดเวลา

โอกาสผ่านเข้ามาในชีวิตตลอดเวลา แต่มันจะเป็นโอกาสหรือแค่สิ่งที่ผ่านไปผ่านมา ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติตัวเราด้วยครับ สมมติมีวิกฤติเข้ามาบางคนมองเป็นโอกาส ในหัวใจเขาจะมีแต่คำว่า "ความหวัง" ในขณะที่บางคนเห็นแต่ปัญหา ในตลาดหุ้นจะมีหุ้นที่กำลังฟื้นตัวหรือหุ้น turnaround ถ้าคนธรรมดาก็จะเห็นแค่เป็นบริษัทเน่าๆแล้วปล่อยผ่านไปในขณะที่จะมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เห็น "ความหวัง" เขาก็เข้าไปศึกษาและลงทุน เมื่อวันใดที่กิจการฟื้นตัวขึ้นมาก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้หลายเท่าตัว ในเว็ป thaivi ที่ดังๆเป็นเซียนหุ้น turnaround ก็เช่นคุณ pak

ปัจจัยความสำเร็จตัวที่สอง N : Network หัวใจหลักของการลงทุนคือความเข้าใจธุรกิจ แตว่าแต่ละคนก็มีประสบการชีวิตที่ต่างกันทำให้ความเข้าใจในธุรกิจก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นขีดจำกัดของการลงทุนก็คือขอบเขตความรู้ที่คุณมี ปู่วอเร็นเรียกว่า Cycle of knowledge แต่จากกที่ที่ผมเปิดคอร์สสอนลงทุนหุ้นมาก็มีนักเรียนมาเรียนหลายรุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการแชร์ความรู้กัน หมวดธุรกิจหลายหมวดที่ไม่เคยลงทุนเพราะ Cycle of knowledge คลุมไม่ถึงทำให้ไม่เข้าใจธุรกิจและพลาดโอกาสลงทุนก็เปิดมากขึ้น

ปัจจัยความสำเร็จตัวสุดท้าย E : Expert ถ้าลงทุนโดยไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหัวใจของการลงทุนอย่างไรก็เจ้งครับ และความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆก็เจ้งครับ หรือไม่ก็ได้แต่ตามคนอื่นอย่างเดียว

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/01/blog-post.html


การเก็งกำไรค่าเงิน

ใครชอบเทรดรายวันต้องขอแนะนำตลาดฟิวเจอร์สค่าเงิน(ซื้อขายล่วงหน้า) ที่ที่เรียนกันว่า forex รับรองมันส์สะใจ สมัยก่อนตลาดนี้ไม่เปิดให้คนทั่วไปเทรดคนที่เทรดจะเป็นธนาคาร ใครชวนไปเทรดให้รู้ไว้เลยว่า"เถื่อน" จากข่าว "ดีเดย์เมษาเทรดฟิวเจอร์สค่าเงิน เล็งเปิดให้บุคคลธรรมดาซื้อขายได้"(ผู็จัดการ) คนทั่วไปเริ่มมีหวังแล้วครับ

ความมันส์ของตลาดนี้คือซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง ตอนเช้าเทรดตลาดญี่ปุน บ่าย 2 เทรดตลาดลอนดอน ตอนค่ำเทรดตลาดอเมริกา พอตลาดเมกาปิดก็มาเทรดตลาดญี่ปุ่นต่อไม่ต้องหลับต้องนอน เทรดใช้เงินนิดเดียวใด้เสียเป็นเท่าตัวและก็หมดเนื้อหมดตัวได้ในวันเดียวได้เช่นเดียวกัน หุหุ ตลาด forex ใหญ่มากครับวันนึงเทรดกันมหาศาล ดูในรูปที่เปรียบเทียบขนาดตลาด

คนในตลาดมีสองจำพวกครับพวกแรกคือ Hedger หรือผู้ป้องกันความเสี่ยง มีประมาณ 10%ของการซื้อขาย สมมติเขานำเข้าสินค้าจากเมกาชิ้นละ 1 ดอลล่าห์ (สมมติวันที่ตกลงซื้ออัตราและเปลี่ยนอยู่ที่ 31 บาทต่อ 1 ดอลล่าห์) เอามาขายในไทย 40 บาท ได้กำไร 9 บาท แต่สมมติีอีกว่าวันที่จ่ายเงินค่าของที่นำเข้ามาอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทแทนที่จะได้กำไร 9 ก็เหลือเพียง 4 บาทหักต้นทุนนู่นนี่นั่นแล้วขาดทุนกระจาย เขาเลยป้องกันความเสี่ยงโดยการโทรไปหาธนาคารตอนวันที่ตกลงซื้อจากเมกา บอกว่าขอซื้อดอลล่าล่วงหน้าที่ 31 บาท พอถึงวันส่งมอบของชำระเงินจริงผู้นำเข้าก็ได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาท ควบคุมต้นทุนได้

อีกพวกหนึ่งคือ speculator หรือนักเกร็งกำไร มีประมาณ 90% ของการซื้อขาย พวกนี้เขาไม่ได้นำเข้าส่งออกสินค้าอะไรทั้งสิ้น มีเงินมาดูกราฟแล้วก็ซื้อๆขายๆ ได้เงินก็ดีใจ เสียเงินก็หดหู่ พวกนี้วันๆไม่ทำอะไรครับลุ้นกันตัวเกร็งทั้งวัน เหมือนเข้าบ่อนเล่นไฮโลยังไงก็ไม่รู้ เหมาะกับพวกเล่น day trade มากครับ

ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง สรุปมาจากการบรรยายของ k-bank ครับ

* ค่าเงินจะขึ้นกับสภาพเศษฐกิจ ทุกวันศุกร์ประมาณ 1 ทุ่ม เมกาก็จะประการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ยอดขายปลีก ฯลฯ ตัวเลขไม่ดีค่าเงิน USD ก็อ่อน ตัวเลขดีค่าเงิน USD ก็แข็ง เขาเทรดกันแค่นี้แหละไม่ต้องคิดมาก

* สงคราม เวลาเมกาสำแดงเดชไปถล่มประเทศนู้นี้นั้น ก็ต้องใช้เงินเยอะ ค่าเงิน USD ก็อ่อน
* น้ำมัน ทอง หุ้น อยู่ตรงข้ามกับ USD วันไหนทองราคาขึ้น USD ก็อ่อน
* ค่าเงินประเทศอื่น ยูโร หยวน บาท  อยู่ตรงข้ามกับ USD (หยวน กับ บาท วิ่งทางเดียวกัน)
* ตอนนี้ เมกากลัวจีนมากเพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จะบีบก็ตายจะคลากก็รอด
* ตอนต้นปี 54 ทุกคนคิดว่า USD พังแน่ค่าเงินต้องอ่อน แต่ปลายปี euro เจ้งซะงั้น คนก็เลยแห่กันมาซื้อ USD ทำให้เงินแข็งซะงั้น คาดการณ์ผิดหมด 555 ตอนนี้ค่าเงินก็เลยผันผวนทั่วโลก เพราะเมกาก็ยังเศรษฐกิจไม่ดีมาเท่าไร

trick
* ทองจะขึ้นช่วง มีนา-เมษา
    เหตุผล : ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำรายใหญ่ของโลก ช่วง มีนา-เมษา ทั่วโลกแห่กันมาใช้หนี้ ญี่ปุ่น รวมถึ่งเงินปันผลจากบริษัทลูกๆของญี่ปุ่นที่กระจายทั่วโลก เข้ามาช่วงนี้ คนก็แห่กันขาย USD ซื้อ YEN พอ USD อ่อนทองก็ขึ้น
* ช่วงบ่ายสอง ราคาจะสวิงกิ้งมากเพราะตลาดลอนดอนเปิด

Credit >> http://www.investidea.in.th/2011/12/blog-post_29.html