เริ่มลงทุนในหุ้นหรือเริ่มเล่นหุ้นอย่างไรดี

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความต้องการจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นอันดับแรก คือ เงินลงทุน

เงินที่จะนำมาลงทุนในหุ้นแนะนำว่า ควรจะเป็นเงินเย็น ความหมายก็คือ เป็นเงินที่แบ่งออกมาเพื่อลงทุนโดยเฉพาะ ไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายอย่างทันทีทันใด

เนื่องจากราคาของหุ้นจะมีความผันผวนเปลี่ยนไปในทิศทางขึ้น หรือ ลง ค่อนข้างไว หากท่านนำเงินที่มีกำหนดต้องใช้จ่ายแน่นอนมาใช้แล้ว เมื่อถึงเวลานั้น หากเป็นช่วงเวลาที่ราคาหุ้นกำลังตกต่ำอยู่ เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในประเทศ ท่านก็จะต้องขายหุ้นขาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆที่ท่านเองก็รู้ว่าหากรอให้พ้นสภาวะน้ำท่วมไปได้ ราคาหุ้นก็จะกลับมาสูงขึ้น

จำนวนเงินเริ่มต้น ควรจะเป็นเท่าไรดี ?

ไม่ได้มีข้อจำกัดมากนักในจำนวนเงินเริ่มต้นของการลงทุน ท่านจะเริ่มที่ 10,000 บาท หรือ 10,000,000 บาท ก็แล้วแต่ท่าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอแนะนำว่า หากท่านเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ควรจะเริ่มต้นที่เงินจำนวนน้อยก่อน จากนั้นใน 1-2 เดือนถัดไป ค่อยเพิมเงินเข้าไป

มีเงินแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?

เมื่อคุณเตรียมเงินลงทุนในหุ้นไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดไป คือ เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ โบรกเกอร์

โบรกเกอร์ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเข้าเป็น  “บริษัทสมาชิก” ของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เข้าสู่ระบบซื้อขาย ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง

ควรเลือกโบรกเกอร์อย่างไร ?

ควรเลือกบริษัทที่น่าเชื่อ และที่สำคัญควรพิจารณาถึงรูปแบบการซื้อขายหุ้นของคุณ และค่าธรรมเนียมการซื้อขายด้วย

ในการซื้อ หรือ ขายหุ้น คุณสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี

1. ซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทโบรกเกอร์ โดยโทรศัพท์ติดต่อเข้าไป (หลังจากเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว ท่านจะมีเจ้าหน้าที่ประจำตัว เรียกว่า มาร์ คอยติดต่อประสานงาน)

2. ซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต

การซื้อขายหุ้นผ่านมาร์เก็ตติ้ง จะเหมาะสำหรับนักลงทุน ผู้ที่ไม่สะดวกในการทำการซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ข้อดีของการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ คือ สะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ข้อเสีย คือ ค่าธรรมเนียมจะสูงกว่า

การซื้อขายด้วยตนองผ่านอินเตอร์เน็ต จะมีค่าคอมมิสชั่นที่ต่ำกว่า ในส่วนนี้ขอเน้นว่า ให้ท่านเลือกโบรกเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการซื้อขาย ซึ่งปัจจัย หลายบริษัทไม่คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ หากผู้ลงทุนเลือกรับข้อข้อมูลทางอีเมล์และแจ้งความประสงค์ให้ทราบตั้งแต่ตอนเปิดบัญชีซื้อขาย

คำว่า ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ คือ ค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าท่านซื้อขายหลักทรัพย์มูลค่ามากน้อยเพียงใด ก็ต้องเสียเท่านี้

ประเภทบัญชี ซื้อขายหุ้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. Cash Balance บัญชีประเภทนี้ ท่านจะต้องโอนเงินลงทุนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ก่อน และซื้อขายหุ้น ได้เท่าที่เงินลงทุนจะมีเท่านั้น

2. Credit Balance หรือ Cash Account บัญชีประเภทนี้ ท่านจะมีวงเงินซื้อ หรือ ขาย หุ้น มากกว่าเงินที่ท่านโอนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ กล่าวง่าย ๆ คือ ท่านสามารถยืมเงินโบรกเกอร์มาลงทุนได้ก่อน แล้วค่อยชำระคืนในเวลาที่โบรกเกอร์กำหนด

หากท่านเป็นนักลงทุนผู้เริ่มต้น ขอแนะนำให้เปิดบัญชีแบบที่ 1 จะดีกว่า คือ มีเงินเท่าไรก็ลงทุนเท่านั้น

หลังจากที่ท่านเปิดบัญชี ซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว ท่านก็สามารถเริ่มที่จะลงทุนได้ทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน

Credit >> http://www.setmai.com/


Ceiling และ Floor คืออะไร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันไว้ เพื่อไม่ให้ราคาของหุ้นมีความผันผวนมากจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเสี่ยงเกินกว่าจะรับได้สำหรับนักลงทุน

ราคา Ceiling ก็คือ ราคาสูงสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน กำหนดไว้ที่ + 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ราคา Floor คือ ราคาต่ำสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน  กำหนดไว้ที่ – 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ทั้งนี้หากเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายวันแรก หรือ ที่เรียกว่า หุ้น IPO
- ราคาหุ้นสูงสุด (Ceiling) จะเท่ากับ 3 เท่าของราคา IPO
- ส่วนราคาขั้นต่ำ (Floor) จะเท่ากับ 0.01 บาท

ส่วนหลักทรัพย์ประเภท Warrant / DW / TSR นั้น Ceiling/Floor คือ ราคา IPO ± (100% x
ราคาปิดหุ้น Underlying วันก่อนหน้า x อัตราการแปลงสภาพ) โดยราคาหุ้นขั้นต่ำเท่ากับ 0.01
บาท

ปล. รายละเอียดวิธีคำนวนราคา Ceiling และ ราคา Floor อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งที่เรานำมาลงในบทความนี้ เป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจาก ปก.(ว) 9/2555 ในวันที่ 16 กค. 2555

Credit >> http://www.setmai.com


ตลาดหมี ตลาดกระทิง คืออะไร

นักการเงินได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมา เพื่อแสดงถึงสภาวะของตลาดหุ้น ซึ่งมีทิศทางขึ้นหรือลง อย่างชัดเจน โดยได้นำสัตว์ 2 ชนิดมาเป็น สัญลักษณ์ได้แก่ กระทิง และ หมี

ตลาดกระทิง (bull market)  คือ สภาพตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนโปรดปรานมากที่สุด ทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นไปในทางที่ดี ราคาหุ้นและดัชนีหลักทรัพย์โดยรวมล้วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่เรียกว่า ตลาดกระทิง เนื่องจาก กระทิงจะโจมตีคู่จ่อสู้ด้วยการขวิดเขา จากด้านล่างขึ้นบน เหมือนกราฟดัชนีในช่วงนี้ที่พุ่งขึ้นด้านบน

ตลาดหมี (bear market) เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของนักลงทุน ดัชนีหลักทรัพย์และราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางทิศทางลบ

สาเหตุที่เรียกว่าช่วงเวลาซึ่งตลาดหุ้นดิ่งลงต่ำอย่างต่อเนื่องว่าตลาดหมี เพราะ เวลาที่หมีโจมตีคู่ต่อสู้ จะใช้กรงเล็บตะปบ จากด้านบนลงล่าง เหมือนช่วงเวลาที่กราฟหุ้นดิ่งลงต่ำนั่นเอง

Credit >> http://www.setmai.com/

เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆในตลาดหุ้นไทย

เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และเพื่อเป็นการเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำการขึ้นเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบ เรามาศึกษากันว่า แต่ละสัญลักษณ์ มีความหมายเช่นไร

เครื่องหมายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

XD (Excluding Dividend) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XI (Excluding Interest) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XE (Excluding Exercise) แสดงการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
XR (Excluding Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XW (Excluding Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
XS (Excluding Short-term Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นระยะสั้น
XT (Excluding Transferable Subscription Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XP (Excluding Principal) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XM (Excluding Meetings) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XN (Excluding Capital Return) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
XA (Excluding All) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิทุกประเภท

เครื่องหมายหุ้นที่แสดงการห้าม หรือ เตือน

NP (Notice Pending) บริษัทจดทะเบียนต้องรายงาน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
NR (Notice Received) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่ขึ้น
เครื่องหมาย NP แล้ว และจะขึ้นเครื่องหมาย NR เป็นเวลา 1 วัน
SP (Suspension) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย
H (Halt) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย

Credit >> http://www.setmai.com/


NVDR คืออะไร

เนื่องจากกฏหมายในประเทศไทยได้จำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติเอาไว้ ไม่ให้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทเกินสัดส่วนที่กำหนด เพื่อป้องกันการทุ่มซื้อกิจการจากต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนให้มากเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง  ”บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” (Thai NVDR Company Limited)”

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะทำหน้าที่ออกตราสารเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) ซึ่งจะอ้างอิงตรงกับหลักทรัพย์ทุกตัวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในระดับราคาที่เท่ากัน เมื่อนักลงทุนซื้อตราสารเอ็นวีดีอาร์ตัวไหน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ก็จะนำเงินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ตัวนั้น

ผู้ถือตราสารเอ็นวีดีอาร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) ได้เสมือนลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายกว่านี้ คือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เหมือนกับเป็นตัวแทนในการถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างชาติ เพราะกฏหมายควบคุมไม่ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นของแต่ละบริษัทมากเกินไปจนกระทั่งสามารถเข้าไปมีสิทธิในการกำหนดทิศทางบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นได้ ดังนั้นถ้านักลงทุนต่างชาติอยากซื้อหุ้นตัวไหนในตลาดหลักทรัพย์ ก็เลือกซื้อผ่าน (NVDR) แทน ผลประโยชน์ที่ได้รับก็เหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป เพียงแต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อควรทราบก็คือ หุ้น NVDR ไม่ได้จำกัดให้ซื้อเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น นักลงทุนไทยก็สามารถซื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่บางราย ที่ไม่ต้องการให้ชื่อของตนปรากฏขึ้นมาในรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ของแต่ละบริษัทที่ลงทุน ก็จะเลือกซื้อหุ้น NVDR แทน

*** บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านบาท โดยตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน บริษัทประกอบธุรกิจโดยการออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt :NVDR) เพื่อขายให้แก่ผู้ลงทุน***

- หากท่านต้องการซื้อหุ้น NVDR สามารถที่จะสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่ท่านเป็นสมาชิกได้เลย แต่ถ้าท่านซื้อขายหุ้นด้วยตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็เพียงแค่เลือกประเภทหุ้นเป็น NVDR โดยเมื่อซื้อแล้วรายชื่อหุ้นที่แสดงจะเป็นชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุน ตามด้วย -R

Credit >> http://www.setmai.com/


Defensive Stock คือหุ้นแบบไหน

ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เรามักจะได้ยินนักวิชาการด้านการลงทุน ออกมาแนะนำผู้ลงทุน ให้เน้นไปที่หุ้นประเภท Defensive Stock  วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหุ้นประเภทนี้กัน

คำว่า Defensive Stock แปลว่า หุ้นตั้งรับ , ความหมาย คือ หุ้นที่มีเสถียรภาพสูงภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆได้รับผลกระทบในทางลบจากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ แต่หุ้นของบริษัทที่มีการดำเนินการอยู่ในรูปแบบ Defensive จะไม่ได้รับผลมากนัก เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทยังคงที่เช่นเดิม

ตัวอย่างของหุ้น Defensive Stock เช่น กิจการประเภทระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ,ประปา ) , อาหาร ,ยา ,โรงพยาบาล เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างข้างต้น ถ้าจะขยายความให้เห็นได้ชัด  เช่น กิจการไฟฟ้า ถึงแม้ว่าวงจรเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป

หุ้น Defensive Stock ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า non-cyclical stock ความหมายคือ เป็นหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในวงจรเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหุ้นประเภทนี้ จะมีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่ แต่ในทางกลับกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ ก็ยังให้ผลตอบแทนที่คงที่ไม่เพิ่มขึ้น มีอัตราการผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

Credit >> http://www.setmai.com


PEG Ratio คืออะไร

Price/Earnings To Growth หรือ PEG Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ P/E Ratio ที่ไม่ได้มีการนำเอาอัตราการเติบโตของผลกำไรมาร่วมคำนวนด้วย ทำให้ค่า P/E ของหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) อาจจะดูมีค่ามากเกินไปจนไม่น่าลงทุน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์การเติบโต มูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุนอยู่

วิธีคำนวน ค่า PEG Ratio ทำได้โดยนำค่า P/E มาหารด้วย เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth)

สำหรับ เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) นักลงทุนแต่ละท่านอาจจะเลือกใช้ตัวเลขที่แตกต่างกัน บางคนใช้อัตราเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปีล่าสุด ,บางคนใช้อัตราการเติบโตปีล่าสุดเพียงปีเดียวมาใช้ เป็นต้น

จากการที่ตัวแปรซึ่งใช้คำนวนมีความแตกต่างกัน ทำให้ค่า PEG Ratio ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจ หากดูข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิชาการจากหลายแห่งแล้วไม่ตรงกัน

ค่า PEG Ratio เหมือนกับ P/E คือ Ratio คือ  หุ้นตัวไหนที่มีค่าน้อย แสดงว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุน

มาตรฐานโดยส่วนมาก จะแนะนำกันว่าค่า PEG Ratio ไม่ควรเกิน 1 เท่า

ตัวอย่าง วิธีคำนวน PEG Ratio

หุ้น A มีค่า P/E = 16 , มีเปอร์เซ็นต์อัตราการเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่ 20%

นำ 16 หารด้วย 20 จะ = 0.8 เท่า

Credit >> http://www.setmai.com/

กระแสเงินสด หรือ Cash flow คืออะไร

Cash flow หรือ กระแสเงินสด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจ การที่บริษัทมีเงินสดอยู่ในมือมากเพียงพอ จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บริษัทนั้นสามารถชำระเงินเจ้าหนี้ จ่ายค่าจ้างพนักงาน รวมไปถึงชำระค่าใช้จ่าย และการลงทุนต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง ในขณะเดียวกัน บริษัทไหนที่มีปัญหาติดขัดเรื่องกระแสเงินสด แสดงว่ากำลังมีปัญหาในการบริหารการเงินภายในอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาเรื่องหนี้สิน และล้มละลายได้

จากรายละเอียดข้างต้น Cash flow จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนนำมาวิเคราะห์บริษัท ว่ามีการบริหารเหมาะแก่การเข้าไปร่วมทุนหรือไม่

กระแสเงินสด (Cash flow) คือ การได้มาและการใช้จ่ายเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด ,เงินสดที่เข้าสู่บริษัท จะเรียกว่า Cash flow in ส่วนเงินที่ออกจากบริษัทเรียกว่า Cash flow out
กระแสเงินสด (Cash flow) ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operational Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ซึ่งมีผลมาจากการดำเนินงานของบริษัท เช่น เงินจากการขายสินค้า ,เงินที่จ่ายค่าจ้าง ,เงินที่จ่ายค่าวัตถุดิบ เป็นต้น

2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน คือ (Investment Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ซึ่งมีผลมาจากการลงทุน เป็นงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัท

3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน (Financing Cash Flows) คือ เงินสดที่เข้าหรือออกจากบริษัท ที่มีผลมาจากกิจกรรมทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยที่ได้รับ หรือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพื่อชำระหนี้

** นักลงทุนบางคนพิจารณาการซื้อหุ้นของบริษัทต่าง ๆ โดยดูจากผลกำไรของบริษัทเท่านั้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้

จริงอยู่ที่กำไรของบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ต้องทราบด้วยว่า ด้วยเทคนิคทางบัญชีและการทำธุรกรรมที่ไม่ใช้เงินสด บริษัทที่เราเห็นข้อมูลว่ามีกำไรมาก อาจจะกำลังอยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำไรดังกล่าวก่อให้เกิดเงินสดเพียงเล็กน้อย

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มียอดขายสูงมากแต่เป็นยอดขายเครดิตที่ยังไม่ได้รับเป็นเงินสดจริง ๆ เราอาจเห็นว่าบริษัทนั้นมีกำไร น่าจะมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ความเป็นจริงหากไม่ได้เป็นเงินสดมาก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบกับบริษัทได้ **

Credit >> http://www.setmai.com/


Growth Stock คืออะไร

หุ้นที่เติบโตสูง หรืิอ Growth Stock คือ หุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและก็มีแนวโน้มที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จุดที่น่าสนใจของหุ้นประเภทนี้คือ บริษัทมักจะไม่จ่ายปันผลหรือจ่ายในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากบริษัทต้องการเก็บผลกำไรสะสมไว้เพื่อลงทุน อีกทั้งราคาของหุ้นก็มักจะสูงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานในปัจจุบัน เพราะนักลงทุนคาดการณ์ผลกำไรที่บริษัทจะได้รับในอนาคตล่วงหน้าไว้แล้ว

หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี มักจะเป็นหุ้นประเภทเติบโตสูง หุ้นที่เติบโตสูงนี้ บางครั้งอาจจะพบในชื่อ glamor stock

Credit >> http://www.setmai.com/


Free Float คืออะไร

Free Float คือ ปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นปริมาณหุ้นที่ไม่ได้ถือโดยผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหารหรือถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร และ ผู้ถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ได้แก่

- กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหาร 4 ระดับแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่มีความสัมพันธ์

-  ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มดังต่อไปนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน

- ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สัดส่วนหุ้น Free Float ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทัพย์ จะต้องไม่น้อยกว่า 15%และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย

หากบริษัทใดมีจำนวนหุ้นที่ถือโดยรายย่อย ( Free Float ) น้อยกว่า 15% เมื่อครบปีที่ 1 จะถูกประกาศชื่ออยู่ในรายการบริษัทที่มี Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์

จากนั้นหากยังแก้ปัญหาไม่ได้เมื่อครบปีที่ 2 จะถูกประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC  (Non – Compliance) พร้อมทั้งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท

และหากในปีที่ 3 บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยได้เกินกำหนด บริษัทนั้นก็จะถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่ม NPG (NPG หรือ Non Performing Group) และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข

แนวทางแก้ไขสำหรับบริษัทซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหุ้น Free Float น้อยกว่า 15%

- การเสนอขายหุ้นเพิ่มให้นักลงทุนรายย่อย การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล

สามารถตรวจดูอัตราส่วน Free Float ของแต่ละบริษัทได้ที่ไหน

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน SET สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน MAI สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

หุ้นที่มี Free Float สูง หรือ ต่ำ จะเป็นอย่างไร

หุ้นที่มีเปอร์เซ็นต์สัดส่วน Free Float ต่ำ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะถูกควบคุมโดยนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหุ้นได้ง่าย เมื่อเจ้าของหุ้นต้องการให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง ทิศทางราคาก็จะเคลื่อนไหวอย่างหวือหวามากกว่าหุ้นที่มีFree Float สูง

หุ้นที่มี Free Float สูง แสดงว่าเจ้าของหุ้นปล่อยหุ้นออกสู่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ส่วนที่จะปล่อยมากเพราะอะไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจเป็นเพราะกิจการมีแนวโน้มไม่ดีผู้บริหารเลยไม่ถือไว้ หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่นก็ได้

หุ้นที่มี Free Float ต่ำ อาจจะมีสภาพคล่อง หรือ ปริมาณการซื้อขายต่ำ แต่เมื่อใดที่มีแรงซื้อเข้ามา ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

Credit >> http://www.setmai.com/

Short Selling หรือการขายชอร์ต คืออะไร

เคยหรือไม่ที่มีเหตุการณ์ซึ่งทำให้คุณทราบอย่างชัดเจนว่าราคาหุ้นจะตกลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน ในกรณีเช่นนี้คุณสามารถทำกำไรจากราคาหุ้นที่จะตกลงไปได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้น วิธีนี้เรียกว่า การขายชอร์ต (Short Selling)

** หมายเหตุ : การขายชอร์ตที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เป็นการขายเฉพาะในส่วนของหุ้น และเป็นกรณีของลูกค้าทั่วไป ที่ไม่ใช่สถาบัน **

การขายชอร์ต คือ การยืมหุ้นจากบริษัทโบรกเกอร์มาขายก่อน จากนั้นค่อยมาซื้อคืนภายหลังในราคาที่ต่ำกว่า โดยจะได้กำไรจากส่วนต่างราคา นักลงทุนจะใช้วิธีนี้เมื่อมีเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ว่าราคาหุ้นจะต้องตกลงไปมากอย่างแน่นอน

การจะขายชอร์ตได้นั้น นักลงทุนจะต้องทำในบัญชีมาร์จิ้นเท่านั้น และหุ้นที่จะขาบชอร์ตได้ต้องเป็นหุ้นของบริษัที่อยู่ใน SET 100 Index เท่านั้น

หากต้องการขายชอร์ต นักลงทุนที่มีบัญชีมาร์จิ้นอยู่กับโบรกเกอร์ใด ก็ให้ติดต่อไปที่บริษัทโบรกเกอร์นั้น และแจ้งความประสงค์

การทำ Short Selling นั้น เป็นการยืมหุ้นมาขาย ดังนั้นสุดท้ายแล้วก็ต้องซื้อหุ้นกลับคืนโบรกเกอร์ (Buy To Cover) เท่ากับจำนวนที่ยืมมา ซึ่งหากราคาหุ้นไม่ได้ตกลงอย่างที่คาดไว้ แทนที่จะได้กำไรก็ต้องขาดทุนจากส่วนต่างที่ขายไปถูกและซื้อกลับคืนในราคาแพง

เหตุผลในการทำ Short Selling มีอยู่ 2 ประการ 1. คือเพื่อลดความเสี่ยง 2. เก็งกำไร สำหรับข้อมูลการขายชอร์ตในแต่ละวันสามารถดูได้ที่ http://www.setmai.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%95-short-selling/

Credit >> http://www.setmai.com/


วิเคราะห์พื้นฐานบริษัทด้วยวิธี Five Force Model

Five Force Model คือ โมเดลในการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและคู่แข่ง เพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธการแข่งขัน ผู้คิดค้นหลักการนี้ขึ้นมา คือ ไมเคิล อี พอตเตอร์

ในทฤษฏีนี้ ระบุไว้ว่า มี 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ควรพิจารณาว่า บริษัทในอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้น มีอุปสรรคในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน

1. การคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่

หากธุรกิจไหนง่ายต่อการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ จะส่งผลเกิดการแข่งขันกันสูง ปัจจัยที่จะช่วยป้องกันคู่แข่งเพิ่มเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเดียวกัน คือ

- ตราสินค้าที่แข็งแกร่ง

- กลุ่มฐานลูกค้าประจำ

- ต้นทุนในการดำเนินกิจการสูง

- ทรัพยากร หรือ วัตถุดิบ ที่จำกัด

- ข้อจำกัดทางกฏหมายในการดำเนินธุรกิจ การผูกขาดโดยรัฐบาล เช่น ธุรกิจสัมปทาน

2. อำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ

หากซัปพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูงมาก อาจะส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียกำไร และขาดความคล่องแคล่วในการดำเนินการต่าง ๆ ปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ว่าอำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบมีมากหรือน้อย พิจารณาได้จาก

- มีจำนวนซัปพลายเออร์ในอุตสาหกรรมไม่มาก

- ไม่มีวัตถุดิบทดแทน แม้ราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้นเท่าไร ก็จำเป็นต้องซื้อ

- การเปลี่ยนแปลงไปใช้วัตถุดิบอื่นมีต้นทุนสูง

- วัตถุดิบของซัปพลายเออร์มีความสำคัญกับบริษัทมาก ไม่สามารถดับเนินธุรกิจได้เลยหากปราศจากสินค้าจากซัปพลายเออร์

- ธุรกิจของบริษัทซัปพลายเออ มีผลกำไรสูงกว่า ธุรกิจของบริษัทที่ซื้อสินค้า

3. อำนาจของผู้บริโภค

หากธุรกิจไหนที่ลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองสูง จะส่งผลให้บริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของผลกำไรและปริมาณการขายได้ง่าย ปัจจัยที่สังเกตุว่าธุรกิจนั้น ๆ ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูงหรือไม่ ดูได้จาก

- กลุ่มลูกค้ามีขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก บริษัทต้องเอาใจลูกค้า

- การซื้อของลูกค้าเป็นการซื้อจำนวนมาก ทำให้สามารถต่อรองได้มาก

- ลูกค้ามีทางเลือกในการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของคู่แข่งอื่น

- สินค้าไม่ได้มีความสำคัญมากกับลูกค้า ลูกค้าอาจไม่ต้องใช้สินค้าก็ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

- ราคาสินค้ามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ถ้าเจอสินค้าบริษัทไหนถูกกว่า ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยน

4. สินค้าทดแทน
หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ของบริษัทใด มีสินค้าหรือบริการที่สามารถทดแทนได้ ซึ่งลูกค้าสามารถเปลี่ยนไปใช้แทน โดยไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มเติมที่สูง ธุรกิจนั้นก็มีความเสี่ยงต่อการรักษากำไรให้คงที่ เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

- สินค้าของบริษัทมีสินค้าใกล้เคียงกันที่สามารถทดแทนได้หรือไม่ เช่น ถ้าราคากาแฟขึ้นสูงมาก ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปดื่มชาแทน

5. การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน ธุรกิจในอุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีการแข่งขันสูง จะมีแนวโน้มที่ได้รับอัตราผลกำไรต่ำ เพราะจะต้องแบ่งงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการแข่งขัน เราสามารถพิจารณาได้ว่าในอุตสาหกรรมนั้นมีการแข่งขันสูงหรือไม่ ดังนี้

- ในอุตสาหกรรมนั้น ขนาดของแต่ละบริษัทใกล้เคียงกัน

- มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างสินค้าของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม

- การเติบโตของแต่ละบริษัทมีอัตราที่ต่ำ และทุกบริษัทมีช่องทางที่จะแย่งชิงลูกค้าของแต่ละฝ่ายได้

หลักการของ Porter ‘ Five Force Model เป็นอีกหนึ่งทฤษฏีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจที่ลงทุนได้ มีความใกล้เคียงกับการพิจารณาการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟต คือ มักจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด

Credit >> http://www.setmai.com

อัตราส่วนเงินสดหรือ Cash Ratio คืออะไร

อัตราส่วนเงินสด (cash ratio) คือ เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ชี้วัดสภาพคล่องของบริษัท โดยการนำเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด หรือ เงินลงทุนที่มีอยู่ในสินทรัพย์หมุนเวียน มาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน

เป็นอัตราส่วนที่เข้มงวดมากที่สุดในบรรดา 3 อัตราส่วนสภาพคล่องระยะสั้น อันได้แก่ อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current ratio) , อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว (Quick Ratio) และ อัตราส่วนเงินสด (cash ratio)

การใช้อัตราส่วนเงินสด จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบว่าบริษัทมีจำนวนเงินหมุนเวียนระยะสั้นมากกว่าหนี้สิ้นระยะสั้นที่ต้องชำระหรือไม่ ซึ่งหากผลออกมาเป็นตัวเลขที่สูง แสดงว่าบริษัทที่วิเคราะห์มีสภาพคล่องในการดำเนินงานสูง (ไม่มีปัญหาขาดเงินสดจนชอต)

แต่ในขณะเดียวกันการที่อัตราส่วนเงินสดสูงจนเกินไป ก็แสดงว่าบริษัทเก็บเงินสดไว้มากเกินไป ไม่นำไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรกลับมา

วิธีคำนวนหาอัตราส่วนเงินสด ทำได้โดยนำ เงินสด+รายการเทียบเท่าเงินสด+เงินลงทุน หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน

อย่างไรก็ตามมีบริษัทน้อยรายที่จะมีเงินสด + รายการเทียบเท่าเงินสด มากกว่า หนี้สินหมุนเวียนของบริษัท ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องไปโฟกัสว่าผลการคำนวนต้องเป็น 1 ต่อ 1 ถึงจะเข้าไปลงทุน แต่ให้ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อตรวจสอบว่าสภาพคล่องของบริษัทไม่ได้เลวร้ายมากไป หรืออาจใช้ในการเทียบแต่ละปีว่าแนวโน้มของบริษัทในส่วนสภาพคล่องมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

Credit >> http://www.setmai.com/


เงินปันผลกับสิ่งที่ควรรู้

เป้าหมายหลักจริง ๆ ของการลงทุนในตลาดหุ้น คือ การซื้อเพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนและรับผลตอบแทนจากเงินปันผล แต่ต่อมาเมื่อมีผู้สนใจลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ทำให้หุ้นกลายเป็นสิ่งที่ซื้อว่ายขายคล่อง ส่งผลให้ราคาหุ้นขยับเคลื่อนไหวขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจำนวนมากจึงเปลี่ยนมาต้องการกำไรจากส่วนต่างราคา มากกว่าเงินปันผล

เงินปันผล คือ เงินส่วนหนึ่งจากผลกำไรที่บริษัทมอบตอบแทนให้กับนักลงทุน ทั้งนี้จะเป็นจำนวนเท่าไรต่อหุ้น ปีหนึ่งจะจ่ายกี่ไตรมาส ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายของบริษัท

ในบางครั้งบริษัทอาจทำการเพิ่มทุนโดยการเพิ่มหุ้นและจ่ายผลตอบแทนเป็นหุ้น เรียกว่าหุ้นปันผล

หากท่านเป็นนักลงทุนที่ต้องการเงินปันผลเพียงอย่างเดียวแล้วละก็ สิ่งที่สำคัญ คือ

1. จะต้องใช้เงินเย็นเท่านั้นซื้อหุ้น (เงินเหลือเก็บที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้)

2. ควรเลือกซื้อหุ้นของกิจการที่มีการปันผลอย่างต่อเนื่อง

3. บริษัทที่จะลงทุนต้องมีความมั่นคงสูง เลือกบริษัทที่คิดว่าไม่มีวันเจ๊ง

4. เลือกซื้อหุ้นของกิจการประเภท defensive stock ซึ่งราคาจะไม่ขึ้นลงหวือหวามากนัก และจะไม่ได้รับผลกระทบในการดำเนินกิจการเมื่อถึงช่วงเศรษฐกิจขาลง

5. ควรนำผลตอบแทนจากเงินปันผลส่วนหนึ่งมาลงทุนต่อ เพื่อได้รับเงินมากขึ้นจากผลกำไรทบต้น

จะหาข้อมูลว่าที่ผ่านมาแต่ละบริษัทจ่ายเงินปันผลเท่าไรได้จากที่ไหน ?

สามารถดูได้จาก แหล่้งข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ http://www.set.or.th

เงินปันผล

1. วันที่คณะกรรมการมีมติ หมายถึง วันที่กรรมการบริหารบริษัทประชุมกันว่าจะจ่ายเงินปันผลเมื่อไร เท่าไร อย่างไร

2. วันที่ขึ้นเครื่องหมาย คือ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD (exclude dividend) เป็นวันที่หมดสิทธิ์ได้รับเงินปันผลในรอบนี้ตามที่มีคณะกรรมการมีมติ หากมาซื้อในวันที่ขึ้นเครื่องหมายจะไม่ได้รับเงินปันผล ถ้าต้องการเงินปันผลรอบนี้ต้องซื้อก่อนขึ้นเครื่องหมายอย่างน้อย 1 วัน

เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ถึงจะไม่มีหุ้นแล้วแต่ก็จะได้รับเงินปันผลในรอบนี้ตามสัดส่วนหุ้นก่อนที่จะขาย

3. วันที่จ่ายเงินปันผล คือวันที่คุณจะได้รับเงินปันผลนั่นเอง เมื่อคุณได้รับสิทธิ์เงินปันผลแล้ว เงินจะยังไม่เข้าบัญชี จนกระทั่งถึงวันนี้

4. อัตราเงินปันผล เช่น รอบล่าสุด คือ 1.130 บาท ต่อ หนึ่งหุ้น หากคุณมีหุ้น 100 หุ้นก็จะได้เงินปันผล 113 บาท แต่เงินปันผลที่จะได้รับต้องถูกนำไปหักภาษี 10%เสียก่อน ดังนั้นเงินได้รับจริงจะเหลือ 101.7 บาท

*** ในบางครั้งบางบริษัทอาจมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษ ซึ่งอาจมาจากกำไรที่ไม่ได้จากการดำเนินการตามปกติ หรือ การปรับโครงสร้างบางอย่างภายในบริษัท นักลงทุนควรหาข้อมูลไม่ควรไปหลงติดกับดักเงินปันผลที่เยอะตรงนี้ เช่น เงินปันผลจากมติกรรมการในวันที่ 15/12/11 อนุมัติจ่ายถึง 16.46 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นเงินปันผลพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าจะจ่ายเยอะแบบนี้ทุกครั้ง ***

Credit >> http://www.setmai.com/

หุ้น IPO คืออะไร

หุ้นไอพีโอ (IPO) ย่อมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Initial public offering หมายถึง หุ้นที่ถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเสนอขายหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับนักลงทุนทั่วไปก่อนที่หุ้นจะทำการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นที่กำลังจะเข้าทำการซื้อขายจะเรียกกันว่า หุ้นไอพีโอ กล่าวง่าย ๆ ก็คือหุ้นของบริษัทใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนสามารถติดต่อขอซื้อหุ้นIPO ได้จากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ซึ่งถ้าเป็นหุ้นดัง ๆ ก็จะซื้อยากสักหน่อยเพราะมีรายใหญ่จองเก็บหุ้นไว้หมดแล้ว เนื่องจากมั่นใจว่าในวันแรกที่หุ้นของบริษัทเข้าซื้อขาย ราคาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่บางครั้งหากเป็นหุ้นไม่ดังโบรกเกอร์จะติดต่อมาเสนอขายเองเลย

ราคา IPO ก็คือ ราคาแรกที่โบรกเกอร์ตั้งขายหุ้นให้นักลงทุนก่อนที่หุ้นจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถดูข้อมูลว่ามีบริษัทไหนบ้างที่กำลังจะจำหน่ายหุ้นไอพีโอได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์โดยตรง

จากสถิติที่ผ่านมา หุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในวันแรก จะมีราคาปิดที่สูงกว่าราคาไอพีโอ ดังนั้นจึงมีนักลงทุนจำนวนมาก ที่ต้องการซื้อหุ้นไอพีโอ เนื่องจากมีโอกาสได้กำไรสูงมาก

Credit >> http://www.setmai.com


ESOP คืออะไร

ESOP ย่อมาจากคำว่า employee stock ownership plan หมายถึง โครงการสำหรับจูงใจให้พนักงานมีความรู้สึกว่าตนเองมีความเป็นเจ้าของบริษัทเช่นกัน บริษัทที่นำวิธี ESOP มาใช้ จะทำการออกหุ้นให้กับพนักงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทน

ประโยชน์ที่ได้จากการออกหุ้น ESOP ให้กับพนักงาน เชื่อกันว่า จะทำให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่น ทุ่มเท ให้กับการทำงานมากกว่าปกติ เพราะเมื่อทุกคนเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทและการเติบโตของบริษัทก็มีผลต่อราคาหุ้น ก็จะเกิดความร่วมมือร่วมใจพัฒนาองค์กรอย่างเต็มที่

สำหรับพนักงานหุ้นได้รับจากบริษัทเปรียบเสมือนเงินออมยามเกษียณอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามข้อเสียของการได้รับหุ้นเป็นผลตอบแทนของพนักงานก็มีอยู่ เช่น ในกรณีที่บริษัทต้องล้มละลายปิดตัวลง หุ้นที่ถือไว้ก็จะไม่มีค่าอะไรเลย นี่คือความเสี่ยงของการถือหุ้นบริษัท

จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยพบว่า การจัดสรรหุ้นให้กับพนักงานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพโดยทันที จะต้องมีการดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการระบบทำงานแบบเน้นการมีส่วนร่วมด้วย

หุ้น esop

- Direct purchase plans คือ การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นบริษัทโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่มีส่วนลด

- Stock options คือ การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นของบริษัทในราคาคงที่ ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับกรณีนี้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะทำการออก Employee Stock Option Program ที่มีตัวย่อว่า ESOP เช่นกัน ในรูปแบบของใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุนสามัญหรือที่เรียกกันว่า warrant ให้กับพนักงาน

- Restricted stock คือ การให้หุ้นกับพนักงานเป็นของขวัญหรือให้ซื้อ โดยมีข้อกำหนด เช่น ระยะเวลาที่ทำงาน หรือ ผลสำเร็จในการทำงานตามที่ตั้งเป้าไว้

Credit >> http://www.setmai.com/