วิธีการลงทุนสไตล์พี่โจ ลูกอีสาน

วิธีการเรียบง่ายที่ผมใช้ทำมาหากินแทบทุกครั้ง จะเป็นอย่างนี้ครับ..

1. หา P/E ที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท บริษัทไหนที่คาดการง่ายหน่อย กำไรโตเรื่อยๆ ปันผลดี พวกนี้จะ P/E สูงเหมือนพวกค้าปลีก โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนพวกที่ด้อยกว่า เช่น พวกรับเหมา ก็ให้ P/E ต่ำๆ
2. หา P/E ในอนาคต(อันใกล้)ของบริษัทที่เราสนใจ นี่หมายความว่าเราต้องประมาณกำไรของกิจการได้ เราจะทำได้ต้องหาข้อมูลเพื่อประเมินกำไรให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
3. หาส่วนต่างของ P/E ที่เหมาะสม และ P/E ที่จะเกิดขึ้นจริง เช่น เราประเมินว่าบริษัทนี้ควรมี P/E 15 เท่า แต่เราประเมินแล้วราคาตลาดวันนี้หรือในอนาคตใกล้ๆนี้ P/E แค่ 7 เท่า นั่นแสดงว่า ราคาตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 50% (มี margin of safety 50%) อย่างนี้น่าสนใจครับ ปกติต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นซัก 30% ผมก็สนใจแล้ว
ผมมีความเชื่ออย่างนี้นะ..
*ระยะยาว หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเสมอ
*ตลาดเหมือนฤดูกาลที่มีทั้งรุ่งเรืองตกต่ำ หน้าหนาว-หน้าร้อน ขอให้เราเข้าใจและหาประโยชน์จากความจริงข้อนี้
*นักลงทุนเอกของโลกทุกคน เคยผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง หนักหนากว่านี้ก็มี ถ้าหยุดลงทุนก็คงไม่มีวันนี้ แม้แต่ ดร.นิเวศน์ ท่านเริ่มลงทุน 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ดัชนีประมาณ 800 จุด ท่านได้ผลตอบแทน 30 เท่า ทั้งที่วันนี้ดัชนีตลาดต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว
*ผมพูดเสมอๆว่า ตรรกะของการทำกำไรจากหุ้นคือ ซื้อถูกขายแพง คำถามต่อไป แล้วเราจะขายได้แพงตอนตลาดเป็นแบบไหน และหากเราจะซื้อของให้ได้ราคาถูก เราจะซื้อได้ตอนที่ตลาดเป็นอย่างไร
*การขายหุ้นและเลิกลงทุนตอนตลาดตกต่ำ เป็นการละเมิดศีลที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน vi เพราะนั่นหมายความว่า เราจะไม่มีโอกาสได้กำไรกลับคืนตอนตลาดกลับไปรุ่งเรืองเลย
*มองไปวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แล้วทุกอย่างในวันนี้มันจะผ่านไป
*อย่าให้อารมณ์ของตลาด มาหยุดความมุ่งมั่นในการลงทุนของเรา อย่าทำให้เราหมดกำลังใจที่จะทำการบ้าน ศึกษาหาความรู้
*เราลงทุนวันนี้ ไม่ใช่เพื่อให้รวยพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ แต่เพื่อ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า
*เราจะรู้ว่าใครแก้ผ้า ก็ตอนน้ำลด
ผมแนะนำครับ..
1. หามูลค่าที่เหมาะสมเสียก่อน พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ
2. ดูราคาในตลาด ว่าสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่เราคำนวณได้
3. ตัดสินใจ ซื้อหรือขาย
ผมมองว่าที่หลักการลงทุน vi เติบโตเด่นได้รับความนิยมขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะมีตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเป็นเหตุเป็นผลของมัน คือหุ้นจะขึ้นจะลงเพราะมีเหตุผลทางธุรกิจ ไม่ใช่หุ้นจะขึ้นเพราะหลายคนบอกว่าจะขึ้น และมันจะลงเพราะหลายคนบอกว่ามันจะลง
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างเดียว เพราะเป็นคนก็ต้องมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมก็ยังเป็น แต่ถ้าเราจะเป็น vi ที่ประสบความสำเร็จ เราต้องพิจาณาด้วยเหตุผลธุรกิจเป็นหลักครับ
ส่วนเรื่องจาก ซื้อเพิ่ม, cut loss ผมไม่กล้าแนะนำ แต่ผมจำที่ใครคนหนึ่งเคยพูดทำนองว่า ลืมต้นทุนที่ซื้อมา คิดเสียว่าพอร์ตตอนนี้เป็นเท่าไหร่ หุ้นในตลาดตัวไหนน่าซื้อที่สุด ขายไปซื้อตัวนั้น ถ้าเป็นตัวเดิมก็ไม่ต้องทำไร
ผมเชื่อว่า มี 2 แรงที่ผลักดันราคาหุ้น
1. กำไร >> เราเรียกรวมว่า พื้นฐาน
2. ปัจจัยด้านจิตวิทยา – อารมณ์ของตลาด
ประเด็นแรก เป็นสิ่งที่นักลงทุนแนว vi ต้องวิเคราะห์อยู่แล้ว แต่ถ้าเข้าใจประเด็นที่สองด้วย ก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อีกครับ ผมตอบไม่ได้ชัดเจนว่า เราจะดูอารมณ์จิตวิทยาของตลาดได้อย่างไร(ยังไม่รู้จริง) แต่ประมาณว่า ถ้าเราเข้าใจอารมณ์ตลาด เรามักจะได้ซื้อหุ้นที่ดี ที่ราคาไม่แพง
เหมือนที่ Graham เปรียบเปรยเป็นนิทาน Mr. Market ครับ นอกจากนั้น เราอาจพิจารณาจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดว่า เค้านิยมหุ้นพิมพ์แบบไหน ในอุตสาหกรรมใดที่กำลังจะฮอต หุ้นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ราคาต่ำหรือราคาสูง เหล่านี้เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ครับ เราลงทุนแนว vi แต่พิจารณาไว้บ้างก็ไม่เสียอะไร
ผมปรับพอร์ตบ่อยๆครับ เหตุผลมักเป็นอย่างนี้
1. เจอหุ้นตัวที่ดีกว่า แต่ไม่มีเงินก็ต้องขายตัวที่ด้อยที่สุดไป
2. ตัวที่ถือพื้นฐานเปลี่ยน อันนี้แน่นอนก็ต้องขายออก
3. หุ้นขึ้นจนราคาสมเหตุสมผล ผมก็อาจจะขายไปเพิ่มตัวที่ยังต่ำกว่ามูลค่า
4. หุ้นลงผมก็ปรับพอร์ต ขายตัวที่ลงน้อยไปซื้อตัวที่มีอัพไซด์มาก
ผมก็ปรับไปเรื่อยครับ ตามข้อมูลที่ได้รับมา ไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าบ่อยแค่ไหน หรือกี่เปอร์เซนต์ของพอร์ต ตั้งแต่ซื้อหุ้นมายังถือไม่เกิน 3 ปีเลยครับ เฉลี่ยเกือบๆปีประมาณนั้น แต่เห็นด้วยครับว่า ตลาดผันผวน เราสามารถใช้การปรับพอร์ตหาประโยชน์จากความผันผวนนั้นได้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และหุ้น ถ้าตลาดซบเซาหนักๆเราก็ควรย้ายเงินจากกองทุนมาลงหุ้นให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนไปถือหุ้นตัวทีมีอัพไซด์สูงกว่า หากตลาดเป็นขาขึ้น หาหุ้นลงทุนได้ยาก อาจจะต้องเปลี่ยนไปถือตัวที่ defensive มีปันผลเยอะหน่อยๆ ประมาณนี้ครับ
ระยะเวลาที่ถือหุ้น สั้นที่สุดนี่จำได้ว่าประมาณ 1 อาทิตย์ครับ ซื้อแล้วขึ้นไปประมาณ 30% ผมก็ขายซิครับ เพราะผมหวังผลตอบแทนแค่นั้น ส่วนยาวนี่ไม่แน่ใจครับ ประมาณ 2 ปี ที่จริง ประเด็นเรื่องเวลาการถือครองหุ้นไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ คำถามที่สำคัญกว่าคือ ราคาเหมาะสมกับพื้นฐานหรือยัง และการถือหุ้นนานๆก็มีผลเสียนะครับ เช่น เราจะเฉื่อยชา ผูกผัน เกิดความลำเอียง รักหุ้นตัวเอง
และถ้ามองในแง่ผลตอบแทน ดูตัวเลขนี้ครับ
*หุ้นตัวแรก เราซื้อผ่านไป 1 ปี ขายที่ราคาเป้าหมายได้กำไร 60% ทั้งปีได้กำไร 60%
*หุ้นตัวที่ 2 เราซื้อผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมาย ขายออกไปซื้อหุ้นตัวที่ 3 ผ่านไป 6 เดือนได้กำไร 40% ตามเป้าหมายอีก รวมทั้งปีได้ผลตอบแทน 96%
หุ้นตัวแรกให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ถ้าให้เลือกผมขอซื้อหุ้นตัวที่ 2-3 ดีกว่า นี่คงคล้ายกับ turnover rate ในงบดุลครับ ยิ่งหมุนมากกำไรก็ยิ่งมาก(เรายังไม่พูดถึงความเสี่ยงนะ)
ผมติดตามพื้นฐานของหุ้นที่อยู่ใน watch list เสมอๆ
ผมมีหุ้นที่ติดตามผลกำไรทุกไตรมาส ประมาณ 80 ตัว และหุ้นที่ติดตามแบบห่างๆอีกประมาณ 120 ตัว รวมๆก็ครึ่งนึงของตลาดพอดี
ผมเชื่อว่า ยิ่งติดตามมาก เราก็ยิ่งรู้พื้นฐานมากขึ้น ขอบข่ายความรู้มากขึ้น ยิ่งติดตามมาก โอกาสที่จะเจอช้างเผือกก็สูง เวลามีข่าวสารเข้ามาเราก็รู้ทันทีว่า เป็นข่าวดีหรือไม่ดี ซื้อหรือไม่ซื้อ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้อมูลอีก
ผมอ่านหนังสือพิมพ์หุ้นเกือบทุกฉบับ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ อ่านงานวิจัยของโบรคเกอร์ อีไฟแนนซ์ ข่าวตลาด และ tvi ประมาณนี้ครับ อ่านแบบสแกน ถ้าเจอหุ้นที่น่าสนใจจะอ่านแบบละเอียด ไม่อย่างนั้นต้องใช้เวลาเยอะ
คือถ้าเราติดตามข่าวสารบ่อยๆเราจะรู้ว่าแหล่งข่าวไหนที่เราควรจะอ่านครับ
ที่จริงใช้เวลาวันละ 2 ชม. ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนแบบมุ่งเน้น(ผลตอบแทน) หรือวันละ 1 ชม. สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นแบบการออม
ผมเคยทำงานประจำมาก่อน ยอมรับว่ามีข้อจำกัดเยอะกว่าคนที่ลงทุนเต็มเวลา และไม่สนับสนุนให้ทุกคนลาออกเพียงเพื่อจะได้มีเวลาหาข้อมูล แต่เราก็ควรให้เวลากับการลงทุนตามสมควร
เพราะการใช้เวลาวันละเล็กละน้อยหลังเลิกงาน หาข้อมูล อาจจะเปลี่ยนสถานะภาพทางด้านการเงิน เปลี่ยนชีวิตคนๆนึงได้เลย ในขณะที่ถ้าทำงานประจำอย่างเดียวมีโอกาสน้อยกว่ามาก
ผมยังจำได้ดร.นิเวศน์เคยเขียนบทความทำนองว่า เราใช้เวลาส่วนใหญ่วันๆไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ และให้เวลาน้อยเกินไปกับเรื่องทีสำคัญที่สุด

Credit >> http://stock-trading-technic.blogspot.com