คุณลักษณะของงบการเงินที่ดี

หากเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการทำสงคราม ผู้บริหารก็เหมือนแม่ทัพ ถ้าแม่ทัพเก่งก็จะรบชนะแย่งชิงทรัพยากรกลับมาให้นักลงทุนมั่งคั่งมากขึ้น (แต่ถ้าผลประกอบการเริ่มแย่ลงขอสละเรือก่อนนะ) ถ้าบริษัทจัดการธุรกิจดี(ทำเหตุดี) งบการเงินที่เป็นผลประกอบการควรจะมีลักษณะดังนี้

1.    จัดโครงสร้างกองทัพอย่างเหมาะสม โดยยุ่งอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน (SF) และแหล่งที่ใช้ไปของเงิน (UF) ทั้งส่วนของหนี้สิน ทุน สินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่นมีหนี้ไม่มากไม่น้อยไปธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดมาจ่ายภาระทางการเงินไหว วางแผนจัดหาเงินทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
2.    งบกำไรขาดทุนเหมือนการนำทัพไปเข้าโจมตี ถ้าแม่ทัพวางแผนรบมาดี เมื่อนำแผนไปปฏิบัติก็จะได้รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรกลับมาสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นได้ต่อเนื่อง
3.    เมื่อธุรกิจมีกำไรแหล่งที่มาของเงิน (SF) ก็จะมากขึ้น เงินสดด้านแหล่งที่ใช้ไปของเงิน (UF) ก็จะเพิ่มตาม หากไม่มีการขยายตัวของธุรกิจและเงื่อนไขการค้ายังเป็นเหมือนเดิม เงินสดในแหล่งที่ใช้ไปของเงิน(UF) จะเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการอาจตัดสินใจลดภาระหนี้ระยะสั้นลง ทำให้แหล่งที่มาของเงิน (SF) ที่ใช้ไปเพื่อสินทรัพย์หมุนเวียน มีส่วนของเงินทุนหมุนเวียนที่มาจากส่วนทุนของเจ้าของมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจไม่ต้องกู้เงินเลยก็เป็นได้ คงเหลือแต่การใช้แหล่งที่มาของเงิน (SF) จากเจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว สรุปง่ายๆก็คือหนี้สินจะลดลงเรื่อยๆนั่นเอง
4.    เฝ้าระแวดระวัง และคิดตลอดต่อการใช้ที่มาของเงิน (SF) ไปลงทุนในแหล่งที่ใช้ไป (UF) ของเงินอย่างเหมาะสมและไม่ใช้เงินผิดประเภท ถ้าผู้บริหารลงทุนผิดประเภทจะส่งผลให้อัตราหมุนเวียนทรัพย์สินลดลง (ยอดขาย/สินทรัพย์)

Credit >> http://www.investidea.in.th/2013/08/blog-post_14.html



ลงทุนหุ้น VI ควรถือยาวแค่ไหน

จะเป็น VI ที่จะถือหุ้นยาวๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นพื้นฐานดีแล้วถือระยะยาวแบบไม่สนใจใยดี นักลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ...เพื่อประเมินว่าหุ้นที่เราถืออยู่เหมาะที่จะถือต่อหรือ ไม่?

-    หุ้นยังมีการเติบโตหรือไม่?
-    หุ้นยังคงมีศักยภาพการเติบโต (Potential growth) อยู่หรือไม่?
-    ราคาหุ้นถึงมูลค่าเมื่อคิดรวมการเติบโตในระยะยาวหรือยัง? (Room of growth)

เมื่อมีสัญญาณว่าหุ้นไม่มีการเติบโตแล้ว หมดศักยภาพเติบโตแล้ว หมดโอกาสเติบโตทางธุรกิจแล้ว หุ้นถึงมูลค่าแล้ว ต่อให้ถือหุ้นในเวลาสั้นแค่ไหนก็ควรขายทิ้ง

เมื่อหุ้นยังคงมีการเติบโตของกิจการอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสทางธุรกิจเพิ่ม ศักยภาพทางธุรกิจเพิ่ม ต่อให้ถือหุ้นมานานแค่ไหนก็ควรถือต่อ เพราะมูลค่าหุ้นมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆตามการเจริญเติบโต ขายไปก็เหมือนขายหมูครับ ไม่สามารถกลับมาซื้อในราคาต่ำกว่า

ดังนั้นการลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ ว่าหุ้นที่เราถืออยู่ควรถือต่อหรือไม่? ถ้าหุ้นยังมีคุณสมบัติที่ดีประเมินแล้วสรุปว่าต้องถือต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นการลงทุนระยะยาวโดยปริยายครับ

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/10/vi.html



การตกแต่งงบกระแสเงินสด

รูปแบบการตกแต่งงบกระแสเงินสดในไทย

1.    รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งในกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
2.    จัดจำแนกรายการเงินให้กู้ยืมกรรมการและบำเหน็จไว้เป็นกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน
3.    แสดงรายการส่วนเกินจากการตีราคาทรัพย์สิน ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นของหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด(เงินลงทุนระยะยาว) และผลสะสมของการเปลี่ยนแปลงหลักการบัญชี(การเปลี่ยนแปลงวิธีบันทึกเงินลงทุนในบริษัทร่วมและย่อย จากวิธีราคาทุนเป็นวิธีส่วนได้เสีย) โดยปรับกับกำไรสุทธิ ทั้งๆ ที่รายการดังกล่าวจัดเป็นรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสด( Noncash Items)
4.    นำรายการกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย หรือกำไรจากการขายเงินลงทุน มาบวกกับกำไรสุทธิ
5.    นำรายการเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้ค่าหุ้นซึ่งเกิดจากการจัดหาเงินมาปรับกับกำไรสุทธิ
6.    นำรายการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเจ้าหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลงทุน (เช่น การซื้อเครื่องจักรโดยการก่อหนี้) มาปรับกับกำไรสุทธิ
7.    ไม่บันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย ออกจากการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงานตามวิธีทางอ้อม
8.    แสดงกำไรสุทธิในงบกระแสเงินสดแตกต่างไปจากกำไรสุทธิที่แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุนหรือ แสดงค่าเสื่อมราคาในงบฯต่างไปจากที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทั้งๆ ที่เป็นรายการเดียวกัน
9.    ไม่แยกแสดงเงินสดที่ไม่มีสภาพคล่อง ( เช่น เงินสดที่นำไปใช้ค้ำประกัน เงินเบิกเกินบัญชี และการออกหนังสือค้ำประกันต่างๆ) ออกจากรายการเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด
10.   รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
11.   รวมเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทอื่นๆ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดำเนินงาน ในขณะที่บันทึกเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยไว้ในกิจกรรมลงทุน
12.   รายการต่างๆ ที่รวมอยู่ในการคำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน เมื่อตรวจสอบการคำนวณใหม่ จะได้ยอดที่ไม่ตรงกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานตามที่แจ้งในงบกระแสเงินสด

Credit >> http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=3497


อยากลงทุนแบบ Value investor ต้องทำอย่างไร

ความหมายของ Value investor ก็คือนักลงทุนที่พยายามหาซื้อกิจที่ที่ดีในราคาโปรโมชั่น(ราคาต่ำกว่ามูลค่าของกิจการมากๆ) ซึ่งจะทำให้

    เอาไปขายต่อก็ได้ราคา (capital gain)
    ถือไว้ยาวๆก็ได้ผลตอบแทนเงินปันผลที่มากกว่าตลาด (dividend yield)

ซื้อหุ้นดีราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ

การลงทุนแบบ VI นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องซื้อหุ้นที่ดูเหมือนเป็นหุ้น VI ตามที่เค้าแนะนำมาตามแหล่งต่างๆ เช่น ห้องกระทิงคุณค่า หรือ www.thaivi.org นะครับ

ดังนั้นจะต้องแยกให้ออกว่าเราจะเป็น VI หรือ จะซื้อหุ้น VI ซึ่งอย่างหลังนั้นไม่ยากเพราะสามารถสอบถามจาก web ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ VI แต่การที่จะเป็น VI คือสามารถเลือกหาหุ้นที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพงเกินไปนักเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะทำหรือไม่นะครับ

คุณ Inivisible Hand [1]ได้เขียนคำแนะนำขั้นต้นหากต้องการเป็น VI ไว้ดังนี้

1.    หาหนังสือแนว VI มาอ่าน ตอนนี้มีการแปลหลายเล่มมาก เช่น
    - หนังสือต่างๆ ที่เขียนโดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เช่น ตีแตก ชนะอย่างเต่า ฯลฯ มีขายตามร้านหนังสือทั่วไปครับ เช่น SE-ED
    - หนังสือแปลจากต่างประเทศเช่น
    - The new Buffetology ผู้แปล คือ คุณพรชัย
    - One up on wallstreet ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
    - Common stocks uncommon profit ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
2.    จะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างน้อยวันละ 1 เล่ม ถ้าให้ดีควรจะอย่างน้อย 2 และหนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วัน 7 วัน เช่น ประชาชาติธุรกิจหรือฐานเศรษฐกิจ หรือ Biz Week อย่างน้อย 1 เล่ม เป็นขั้นต่ำ ถ้าให้ดีควรอ่านทุกเล่มเลยครับ
3.    จะต้องอ่านหนังสือธุรกิจรายเดือน เช่น ผู้จัดการรายเดือน Brandage Thaicoon Marketeer การเงินการธนาคาร อย่างน้อยเดือนละ 1-2 เล่ม
4.    จะต้องหา Pocket book ต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจ ( ซึ่งหลายๆ เล่มมีฉบับแปล ) มาอ่านให้ได้อย่างน้อยปีละ 4-5 เล่ม เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก และสามารถวิเคราะห์ภาพใหญ่ๆ ได้ ยกตัวอย่างหนังสือดีๆ ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว เช่น Blue ocean strategy หรือ ใครว่าโลกกลม ( The world is flat )
5.    หากสนใจหุ้นตัวใดแล้ว จะต้องอ่านข้อมูลอย่างน้อยคือ 56-1 รายงานประจำปี งบการเงิน รวมไปถึงการ search หาข่าวเก่าๆ ที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆ ง่ายที่สุดคือ พิมพ์ชื่อบริษัท หรือชื่อ นามสกุล กรรมการผู้จัดการ ลงใน www.google.com ครับ
6.    ฝึกเป็นคนสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของวัน เช่น การขับรถ การเดินห้าง การดู TV ฟังวิทยุ ไปต่างประเทศ หรือการพูดคุยกับคนต่างๆ อาชีพ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกและวิเคราะห์หุ้นได้เป็นอย่าง ดี
7.    ฝึกการคิดต่างจากคนอื่นๆ เพราะถ้ามีเรื่องแบบเดียวกันและเราคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป โอกาสประสบความสำเร็จจะมียากกว่าคนที่ฝึกการคิดแตกต่าง เปรียบเหมือนกับการหาที่จอดรถในห้าง หากเราขับตามๆ กันไปเราก็ต้องได้ที่จอดรถหลังคันหน้าเราอยู่ดี ดังนั้นเราควรจะเลือกขับไปในจุดที่เราเป็นคันแรกจะมีโอกาสได้ที่จอดรถ มากกว่า
8.    หาโอกาสไปประชุมผู้ถือหุ้น หรือ งาน Opportunity day เพื่อทำความรู้จักผู้บริหารและซักถามข้อสงสัยต่างๆ
9.    จะต้องเป็นคนรู้กว้าง อ่านและฟังมากๆ ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นเท่านั้น แต่ควรจะรู้ความเป็นไปในโลกให้มากที่สุด เพราะบางครั้งความรู้ต่างๆ ที่เรามีนั้นจะถูกเชื่อมโยงเป็นข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ต่างๆ ของเราได้ เพราะผมเองยังได้กำไรจากหุ้นตัวหนึ่งจากการอ่านหนังสือบันเทิงอย่าง Maya Channel เลยครับ ดังนั้นผมจะอ่านนิตยสารอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหุ้นด้วยจำนวนหนึ่งเพื่อหาความรู้ทั่วไปและการผ่อนคลาย เช่น แพรว ยานยนต์ สารคดี ฯลฯ VI ที่ดีควรเข้าร้านหนังสืออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งครับ
10.  ฯลฯ มีอีกหลายข้อแต่ยังนึกไม่ออกครับ

ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนทำได้ยาก แต่เมื่อลองทำจริงๆ แล้วมันจะเป็นนิสัยและจะอยู่ในชีวิตเราเองแบบไม่ตั้งใจ แล้วเราจะสามารถมีชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปครับ สามารถเดินห้าง ดูหนัง ซื้อของ สังสรรค์ ท่องเที่ยว ได้ตามปกติครับ และก็ไม่ได้เป็นการทำงานหนักมากด้วย เพราะเราจะเป็น VI ที่คอยสังเกตสิ่งต่างๆ และหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงครับ

จะเห็นว่าการเป็นนักลงทุนแบบที่เค้าเรียกกันว่า VI นั้น ไม่ได้มาด้วยความฟลุ๊กแน่นอนครับ

Credit >> http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=24502


การใช้ EBITDA และข้อจำกัด

EBITDA วิธีจำความหมายให้ขึ้นใจก็จำเป็นตัวย่อไว้ดังนี้ กำไร(Earning) ก่อน(Before) ดอกเบี้ยจ่าย(Interest) ภาษี(Tax) ค่าเสื่อม(Depreciation) ถ้าดูเผินก็เหมือนกำไรที่มาจากธุรกิจจริงยังไม่แบ่งให้เที่มาของทุน (เจ้าหนี้ เจ้าของทุน) แต่มันลึกกว่านั้นครับ ก็ยกบทความของคุณ green-orange [1] มาให้อ่านกันครับ เชิญอ่านโดยพัน

การนำเอา EBITDA ไปใช้และข้อจำกัด
ต่อ จากบทความที่แล้ว และที่น้องปิ๊กขอมา เป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมต้องมานั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนอย่างไรดี แล้วผมจะเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องได้ไหมเนี่ย…แต่แล้วผมก็คิดว่าผมจะพยายาม ลองดูครับ เป็นการฝึกฝนตนเองไปด้วย ถ้าผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ขออภัยมา ณ ที่นี้
เริ่มเลยแล้วกัน……

ในการนำเอา EBITDA ไปใช้นั้น ในความคิดส่วนตัว ผมเห็นว่าเราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลายสิ่งด้วยกันดังนี้
1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่าย
2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
3 ลักษณะของกิจการ
4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
5 Utilization Rate

ทีนี้เราลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ ว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการพิจารณาอย่างไร

1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ย
เหตุผล ที่เราต้องมาพิจารณาหนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่ายประกอบนั้น เนื่องจากว่า EBITDA นั้นเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่าย ซึ่งยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงโครงสร้างหนี้สินต่อทุนของกิจการ (หนี้สินในที่นี้หมายถึงหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย) เลยว่าสินทรัพย์ที่ได้มานั้นได้มาจากส่วนไหนในอัตราส่วนเท่าไหร่ เช่น ถ้าหากกิจการ A มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน = 1:1 ส่วน B มีภาระหนี้สินต่อทุน 1:2 และอัตราดอกเบี้ยจ่าย = 5% เท่ากันทั้ง 2 บริษัท นั่นก็จะทำให้เราทราบคร่าวๆว่า บริษัท A นั้นมีความเสี่ยงที่สูงกว่า B ในเรื่องของภาระดอกเบี้ยจ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาระดอกเบี้ยจ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้นำไปหักออกจาก EBITDA ซึ่งการดูเฉพาะเรื่องของอัตราหนี้สินต่อทุนก็ยังบอกอะไรเราไม่ได้มากนัก ต้องดูอย่างอื่นประกอบเพิ่มเติม

2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
ทำไม เราต้องมาดูเรื่องอัตรากำไรจากการดำเนินงานของกิจการกัน (EBIT) สาเหตุก็เนื่องจากถ้า 2 กิจการมี EBIT ที่เท่ากันแต่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและดอกเบี้ยจ่ายที่แตกต่างกันแล้ว ก็จะทำให้มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนดังที่แสดงในตารางด้าน ล่างซ้ายมือ เราลองมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมกันนะครับ สมมุติว่าทั้ง 2 บริษัทที่มี EBIT เท่ากันที่ 10% ในตอนแรกนั้นมียอดขายลดลง 10% เท่ากันพอดี แต่บริษัท B มีอัตราหนี้สินน้อยกว่า A ที่อัตราดอกเบี้ยจ่าย 5% เท่ากัน สังเกตุว่าบริษัท A เกือบจะขาดทุนแต่บริษัท B ยังพออยู่ได้ ดังแสดงในตารางด้านล่างด้านขวามือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่ารายได้ลดลงมากกว่า 10%??? เพื่อนลองจินตนาการดูเอาเองนะครับ

3 ลักษณะของกิจการ
ที่ นี้เราก็จะมาดูกันนะครับว่าลักษณะของกิจการมันมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร กับเรื่องนี้กันครับ ผมคิดว่ากิจการที่เราควรจะระมัดระวังก็คือกิจการที่มีต้นทุนคงที่สูงและมี รายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กิจการลักษณะนี้ก็จะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสูง ซึ่งสินทรัพย์ถาวรเหล่านี้จะใช้เป็นตัวสร้างรายได้หลักของกิจการ และโดยปกติก็จะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาที่สูงตามไปด้วย เช่น กิจการโรงแรม โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น

4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
ถาม ว่าข้อนี้แตกต่างอย่างไรกับลักษณะของกิจการในข้อ 3 ผมคิดว่ามีความแตกต่างแน่นอนครับ เพราะลักษณะกิจการบางอย่างเป็นกิจการที่มีความจำเป็นและไม่ค่อยมีความอ่อน ไหวกับภาวะเศรษฐกิจมากนัก ลูกค้าไม่สามารถชะลอการใช้จ่ายได้นานมากนัก ทำให้รายได้มีความสม่ำเสมอและค่อนข้างมั่นคงมากกว่า เพราะเป็นสินค้าปัจจัย 4 เช่น โรงพยาบาล ห้างค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งก็ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่แตกต่างกับพวกโรงแรมหรือโรงงานปิโตรเคมีนั้น ค่อนข้างชัดเจนคือ ความสม่ำเสมอของรายได้ และความจำเป็นที่ต้องใช้

5 Utilization Rate
อัน นี้ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สาเหตุก็เนื่องจากถ้าหากกิจการมีอัตราการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ใกล้จะเต็ม กำลังแล้วนั้น กิจการจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ซึ่งต้องการเงินลงทุนในปริมาณสูงมาก และจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าเสื่อมราคามาลดกำไรลง เพราะกว่าที่สินทรัพย์ใหม่จะสามารถสร้างรายได้จนถึงจุด คืนทุนได้นั้นก็คงต้องใช้เวลาสักระยะขึ้นอยู่กลับลักษณะของกิจการ

สรุป แล้วในความคิดส่วนตัวของผมนั้น ผมไม่ชอบที่จะใช้ EBITDA ในการประเมินมูลค่าหุ้นมากนัก เนื่องจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่ายนั้น ผมคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายจริงๆที่เกิดขึ้น แต่ว่ากิจการได้จ่ายเงินสดในการลงทุนในสินทรัยพ์นั้นๆออกไปก่อนแล้ว เพียงแต่ในทางบัญชีอนุญาติให้บริษัทค่อยนำเอาค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาแบ่งหัก ออกเป็นค่าใช้จ่ายตามแต่วิธีที่กิจการเห็นว่าเหมาะสมในการเลือกใช้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะต้องถูกนำไปใช้ซื้อสินทรัยพย์ใหม่เข้ามาทดแทนของ เก่าที่หมดสภาพลงในอนาคตอยู่ดี แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรจะพิจารณาก็คือระยะเวลาและวิธีการที่ บริษัทเลือกใช้ในการตัดค่าเสื่อมราคานั้นมีความเหมาะสมกับอายุการใช้งานของ สินทรัพย์เหล่านั้นและสอดคล้องกับกลยุทธของบริษัทหรือไม่ และผมเห็นว่าเราควรที่จะนำเอา EBIT ไปใช้มากกว่าในการประเมินมูลค่าหรือวิเคราะห์กิจการ แทนที่จะนำเอา EBITDA ไปใช้ และก็ต้องใช้ประกอบกับอัตราส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น กระแสเงินสดอิสระหลังจากที่ได้ลงทุนในส่วนของการบำรุงรักษาและส่วนของการ เติบโตด้วย เป็นต้น และสุดท้ายคือ EBITDA นั้น ส่วนของ ค่าเสื่อมราคา (D) นั้นมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดในวันนี้ที่จะต้องถูกนำไปใช้ทดแทนหรือ ปรับสภาพสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือดีขึ้นในอนาคตเนื่องจากมี เทคโนโลยี่ใหม่มาทดแทนของเดิมที่อาจจะทำให้สินทรัพย์เดิมล้าสมัยเร็วกว่า เวลาอันควร โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นพวกเทคโนโลยี่หรือแม้กระทั่งธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี่ใน การผลิตที่ใครๆมีเงินก็หาซื้อมาใช้ได้

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/02/ebitda.html


งบกระแสเงินสดกับบริษัทในตลาดหุ้น

บทความสอนอ่านงบกระแสเงินสดเขียนโดยคุณ chatchai [1] แห่งเว็ปไทยวีไอ สอนอ่านงบการะแสดเงินสด และไปเชื่อมโยงให้เห็นภาพของวงจรชีวิตของกิจการครับ


งบกระแสเงินสดนั้นจะเป็นงบที่แสดงการได้รับเงินสดและการใช้จ่ายเงินสดของกิจการ

งบกระแสเงินสดนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามกิจกรรมต่างๆของกิจการ ประกอบด้วย

1. กิจกรรมดำเนินงาน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามปรกติของกิจการ ดังนั้นรายการนี้จะสามารถบอกเราได้ว่ากิจการนั้นดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินสด รับมากกว่าจ่าย หรือว่าจ่ายมากกว่ารับ

2. กิจกรรมการลงทุน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตรต่างๆ และรายการที่ขายสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภท

3. กิจกรรมเกี่ยวกับการเงิน ทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียน การกู้ยืม/ชำระหนี้เงินกู้ยืม การจ่ายเงินปันผล

ดังนั้นการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจะสามารถบอกเราได้ว่า สถานะของบริษัทนั้นอยู่ในประเภทใด

1. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมทางการเงิน เช่น การเพิ่มทุน การกู้ยืม และบริษัทมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การดำเนินงานยังไม่สามารถหาเงินสดได้เพียงพอในการขยายการลงทุนที่ยังคง มากอยู่

2. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะการเติบโต ธุรกิจของบริษัทสามารถหาเงินสดได้แล้ว แต่ยังคงมีภาระที่จะขยายการลงทุนอยู่

3. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน เช่น ชำระหนี้เงินกู้ แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะที่โตเต็มที่ ไม่มีภาระที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม

4. บริษัทจะมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน คือ การจ่ายเงินปันผล แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะ ห่านทองคำครับ คือบริษัทสามารถหาเงินสดจากการดำเนินงานได้ อีกทั้งยังไม่มีภาระการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนหรือการชำระหนี้เงินกู้ บริษัทจึงมีเงินสดเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/02/blog-post.html


Supply Chain Management คืออะไร

เป็นบทความที่ ด.ร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุลเขียนไว้บน facebook ครับ ขอรวบรวมไว้กันลืม

คนสับสนคำว่า Chain เพราะไปแปลตื้นๆว่า"โซ่/ห่วงโซ่".ที่จริงแล้ว Chain ใน Supply Chain Managementแปลว่า "สัมพันธภาพหรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน" เช่นเดียวกับการแปล Supply เป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า "อุปทาน" ซึ่งกว้างไป ทั้งที่ใน SCM หมายถึง "วัตถุดิบ ชิ้นส่วน/ปัจจัยที่จำเป็นในการผลิต/แปรรูป" ดังนั้น Supply Chain ที่ถูก ควรแปลว่า"สัมพันธภาพ/ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของวัตถุดิบ ชิ้นส่วน ปัจจัยที่จำเป็นในการผลิตแปรรูปหรือการดำเนินธุรกิจ โดยความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้านซัพพลายนี้ มีผลต่อประสิทธิภาพ ศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และการตอบสนองความต้องการของตลาดของบริษัทหนึ่งๆ

ตัวอย่างน้ำท่วม2554 หลายบริษัทมีปัญหาSupply Chain นั้นก็หมายถึงปัญหาด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วนหรือปัจจัยในการทำธุรกิจที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริษัท

อย่างเช่นบริษัทรถญี่่ปุ่น ประสบปัญหา Supply Chain อย่างหนักจากน้ำท่วมโรงงานผลิตชิ้นส่วนในไทย ทำให้ขาดวัตถุดิบ ชิ้นส่วนรถยนต์ป้อมโรงงานต่างๆ

หรืออย่างบริษัท computerทั่วโลก ก็ประสบปัญหา Supply Chain จากน้ำท่วมเช่นกัน เนื่่องจากโรงงานผลิต Harddisk ในไทยถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่มีของผลิต

หรือในช่วงที่ของต่างๆตาม Tesco หรือ 7-11 ไม่มี ก็ปัญหาSupply Chainเช่นกัน เนื่องจากโรงงานหรือระบบโลจิสติกส์ถูกน้ำท่วม ทำให้สินค้าขาเข้าไม่มี

สัมพันธภาพหรือความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางด้านซัพพลาย ถ้าเป็นเรื่องที่บริษัทจัดการภายในบริษัทได้เองก็จะเรียกเชิงทฤษฎีว่า "Internal Supply Chain" แต่ถ้าบริษัทต้องไปบริหารสิ่งที่เชื่อมโยงหรือมีปัจจัยความสัมพันธ์กับภายนอก ทีี่มาจากซัพพลายเออร์หรือลูกค้า จะเรียกว่า "External Supply Chain"

การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องซัพพลายซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ (วัตถุดิบ ชิ้นส่วนหรือปัจจัยที่ป้อนธุรกิจ) จึงถูกเรียกว่า "Supply Chain Management" จำไว้นะครับ..แวดวงคนรู้จริงและผู้บริหารส่วนมากจะทับศัพท์ "Supply Chain Management" ว่า "การจัดการซัพพลายเชน" น้อยคนจะใช้ "การจัดการโซ่อุปทาน" คนไม่รู้ไม่เคยผ่านงานด้านนี้มา แบบว่า "เปิดพจนานุกรมเอา" ถึงจะใช้คำว่า "การจัดการโซ่หรือห่วงโซ่อุปทาน" เมื่อพูดถึง "Supply Chain Management" ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญกับ Supply Chain Management มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะอิทธิพลของ Global sourcing, Offshore Manufacturing, Business Outsourcing

Global Sourcing เกิดขึ้นเมื่อบริษัท จัดหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน/สินค้าทดแทนต่างๆ จากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายให้ดีขึ้น

Offshore Manufacturing เกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจไปตั้งโรงงานต่างๆในต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือสร้างโอกาสในการเจาะตลาดในต่างประเทศ

Business Outsourcing เกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจให้ บริษัทภายนอกดูแลหรือบริหารจัดการฟังก์ชันสำคัญๆของธุรกิจเช่น Sales, Procurement, Logistics

Best Practices ทั้ง 3 อย่างนี้ แม้ว่าจะทำให้บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจสูงขึ้น แต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อการบริหารด้านซัพพลายของธุรกิจ Side Effect หรือผลกระทบกับซัพพลายของการดำเนินการดังกล่าวทั้ง 3 ทำให้บริษัทต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ภายนอกมากขึ้น เกิด Uncertainty&Risk มากขึ้น การพึ่งพาศักยภาพขีดความสามารถภายนอกมากขึ้น แม้ว่าเกิดผลดีในแง่ประสิทธิภาพ แต่ก็ทำให้บริษัท"depend on"ซัพพลายและซัพพลายเออร์มากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการบริหารด้านซัพพลายในปัจจุบันเปลี่ยนรูปโฉมไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่เน้นไปแค่เรื่องการจัดซื้อและการผลิตของบริษัท ขบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตและโลจิสติกส์ต่างๆ จำเป็นต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อสอดรับกับ Global Sourcing, Biz Outsourcing, and Offshoring ซึ่งการบริหารแบบบูรณาการฟังก์ชันสำคัญทั้งสามนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ ขณะที่ลด Uncertainty&Risk เราเรียกว่า SCM หรือ Supply Chain Management "จึงเกิดขึ้นและตั้งอยู่" บนอิทธิพลของ Global Sourcing, Offshore Manufacturing และBusiness Outsourcingนั้นเอง

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/01/supply-chain-management.html


ปัจจัยที่จะทำให้เล่นหุ้นประสบความสำเร็จ

ผู้ใหญ่ที่นับถือคนหนึ่งบอกผมว่าคนเราจะประสบความสำเร็จเป็นที่ 1 ได้ประกอบด้วยคำสามคำ
O : Opportunity โอกาสต่อให้เก่งแค่ไหนถ้าไม่มีโอกาสแสดงฝีมือชาตินี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
N : Network คบเยอะๆหลายๆกลุ่มจะช่วยให้โอกาสเข้าหาตัวได้มากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาหลายๆอย่างให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ
E : Expert ถ้าไม่เก่งจริงถึงมีโอกาสและเครื่อข่ายแค่ไหนก็ล้มเหลวครับ

จากปัจจัยของความสู่ความสำเร็จ สำหรับปัจจัยแรก O : Opportunity ,โอกาส สำหรับคนที่คิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เงินทุนไม่มี หาที่ลงไม่ได้ ขาดแรงงาน ฯลฯ ตลาดหุ้นเป็นสุดสุดยอดของคนที่แสวงหาโอกาสครับเพราะทุกวันที่ตลาดเปิด จะมีคนเสนอขาย (Offer) กิจการให้เราได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของตลอดเวลา

โอกาสผ่านเข้ามาในชีวิตตลอดเวลา แต่มันจะเป็นโอกาสหรือแค่สิ่งที่ผ่านไปผ่านมา ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติตัวเราด้วยครับ สมมติมีวิกฤติเข้ามาบางคนมองเป็นโอกาส ในหัวใจเขาจะมีแต่คำว่า "ความหวัง" ในขณะที่บางคนเห็นแต่ปัญหา ในตลาดหุ้นจะมีหุ้นที่กำลังฟื้นตัวหรือหุ้น turnaround ถ้าคนธรรมดาก็จะเห็นแค่เป็นบริษัทเน่าๆแล้วปล่อยผ่านไปในขณะที่จะมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เห็น "ความหวัง" เขาก็เข้าไปศึกษาและลงทุน เมื่อวันใดที่กิจการฟื้นตัวขึ้นมาก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้หลายเท่าตัว ในเว็ป thaivi ที่ดังๆเป็นเซียนหุ้น turnaround ก็เช่นคุณ pak

ปัจจัยความสำเร็จตัวที่สอง N : Network หัวใจหลักของการลงทุนคือความเข้าใจธุรกิจ แตว่าแต่ละคนก็มีประสบการชีวิตที่ต่างกันทำให้ความเข้าใจในธุรกิจก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นขีดจำกัดของการลงทุนก็คือขอบเขตความรู้ที่คุณมี ปู่วอเร็นเรียกว่า Cycle of knowledge แต่จากกที่ที่ผมเปิดคอร์สสอนลงทุนหุ้นมาก็มีนักเรียนมาเรียนหลายรุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการแชร์ความรู้กัน หมวดธุรกิจหลายหมวดที่ไม่เคยลงทุนเพราะ Cycle of knowledge คลุมไม่ถึงทำให้ไม่เข้าใจธุรกิจและพลาดโอกาสลงทุนก็เปิดมากขึ้น

ปัจจัยความสำเร็จตัวสุดท้าย E : Expert ถ้าลงทุนโดยไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหัวใจของการลงทุนอย่างไรก็เจ้งครับ และความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆก็เจ้งครับ หรือไม่ก็ได้แต่ตามคนอื่นอย่างเดียว

Credit >> http://www.investidea.in.th/2012/01/blog-post.html


การเก็งกำไรค่าเงิน

ใครชอบเทรดรายวันต้องขอแนะนำตลาดฟิวเจอร์สค่าเงิน(ซื้อขายล่วงหน้า) ที่ที่เรียนกันว่า forex รับรองมันส์สะใจ สมัยก่อนตลาดนี้ไม่เปิดให้คนทั่วไปเทรดคนที่เทรดจะเป็นธนาคาร ใครชวนไปเทรดให้รู้ไว้เลยว่า"เถื่อน" จากข่าว "ดีเดย์เมษาเทรดฟิวเจอร์สค่าเงิน เล็งเปิดให้บุคคลธรรมดาซื้อขายได้"(ผู็จัดการ) คนทั่วไปเริ่มมีหวังแล้วครับ

ความมันส์ของตลาดนี้คือซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง ตอนเช้าเทรดตลาดญี่ปุน บ่าย 2 เทรดตลาดลอนดอน ตอนค่ำเทรดตลาดอเมริกา พอตลาดเมกาปิดก็มาเทรดตลาดญี่ปุ่นต่อไม่ต้องหลับต้องนอน เทรดใช้เงินนิดเดียวใด้เสียเป็นเท่าตัวและก็หมดเนื้อหมดตัวได้ในวันเดียวได้เช่นเดียวกัน หุหุ ตลาด forex ใหญ่มากครับวันนึงเทรดกันมหาศาล ดูในรูปที่เปรียบเทียบขนาดตลาด

คนในตลาดมีสองจำพวกครับพวกแรกคือ Hedger หรือผู้ป้องกันความเสี่ยง มีประมาณ 10%ของการซื้อขาย สมมติเขานำเข้าสินค้าจากเมกาชิ้นละ 1 ดอลล่าห์ (สมมติวันที่ตกลงซื้ออัตราและเปลี่ยนอยู่ที่ 31 บาทต่อ 1 ดอลล่าห์) เอามาขายในไทย 40 บาท ได้กำไร 9 บาท แต่สมมติีอีกว่าวันที่จ่ายเงินค่าของที่นำเข้ามาอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทแทนที่จะได้กำไร 9 ก็เหลือเพียง 4 บาทหักต้นทุนนู่นนี่นั่นแล้วขาดทุนกระจาย เขาเลยป้องกันความเสี่ยงโดยการโทรไปหาธนาคารตอนวันที่ตกลงซื้อจากเมกา บอกว่าขอซื้อดอลล่าล่วงหน้าที่ 31 บาท พอถึงวันส่งมอบของชำระเงินจริงผู้นำเข้าก็ได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาท ควบคุมต้นทุนได้

อีกพวกหนึ่งคือ speculator หรือนักเกร็งกำไร มีประมาณ 90% ของการซื้อขาย พวกนี้เขาไม่ได้นำเข้าส่งออกสินค้าอะไรทั้งสิ้น มีเงินมาดูกราฟแล้วก็ซื้อๆขายๆ ได้เงินก็ดีใจ เสียเงินก็หดหู่ พวกนี้วันๆไม่ทำอะไรครับลุ้นกันตัวเกร็งทั้งวัน เหมือนเข้าบ่อนเล่นไฮโลยังไงก็ไม่รู้ เหมาะกับพวกเล่น day trade มากครับ

ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง สรุปมาจากการบรรยายของ k-bank ครับ

* ค่าเงินจะขึ้นกับสภาพเศษฐกิจ ทุกวันศุกร์ประมาณ 1 ทุ่ม เมกาก็จะประการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ยอดขายปลีก ฯลฯ ตัวเลขไม่ดีค่าเงิน USD ก็อ่อน ตัวเลขดีค่าเงิน USD ก็แข็ง เขาเทรดกันแค่นี้แหละไม่ต้องคิดมาก

* สงคราม เวลาเมกาสำแดงเดชไปถล่มประเทศนู้นี้นั้น ก็ต้องใช้เงินเยอะ ค่าเงิน USD ก็อ่อน
* น้ำมัน ทอง หุ้น อยู่ตรงข้ามกับ USD วันไหนทองราคาขึ้น USD ก็อ่อน
* ค่าเงินประเทศอื่น ยูโร หยวน บาท  อยู่ตรงข้ามกับ USD (หยวน กับ บาท วิ่งทางเดียวกัน)
* ตอนนี้ เมกากลัวจีนมากเพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จะบีบก็ตายจะคลากก็รอด
* ตอนต้นปี 54 ทุกคนคิดว่า USD พังแน่ค่าเงินต้องอ่อน แต่ปลายปี euro เจ้งซะงั้น คนก็เลยแห่กันมาซื้อ USD ทำให้เงินแข็งซะงั้น คาดการณ์ผิดหมด 555 ตอนนี้ค่าเงินก็เลยผันผวนทั่วโลก เพราะเมกาก็ยังเศรษฐกิจไม่ดีมาเท่าไร

trick
* ทองจะขึ้นช่วง มีนา-เมษา
    เหตุผล : ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำรายใหญ่ของโลก ช่วง มีนา-เมษา ทั่วโลกแห่กันมาใช้หนี้ ญี่ปุ่น รวมถึ่งเงินปันผลจากบริษัทลูกๆของญี่ปุ่นที่กระจายทั่วโลก เข้ามาช่วงนี้ คนก็แห่กันขาย USD ซื้อ YEN พอ USD อ่อนทองก็ขึ้น
* ช่วงบ่ายสอง ราคาจะสวิงกิ้งมากเพราะตลาดลอนดอนเปิด

Credit >> http://www.investidea.in.th/2011/12/blog-post_29.html


ข้อผิดพลาดของนักลงทุนมือใหม่

อน เริ่มต้นด้วยการเดาการเติบโตของยอดขาย สมมติว่าบริษัทมียอดขายปีนี้เท่ากับ 100 ล้าน ใช้หลักสถิติก็ย้อนไปดูปีก่อนๆว่ากำไรโตปีละ 20% ทุกปีติดต่อกันมา10ปี เดาว่าปีหน้าก็คงโต 20% เหมือนกัน

ขั้นต่อมาก็ประมาณการต้นทุน ก็สังเกตุอีกว่าต้นทุนขายปีนี้เท่ากับ 50 ล้านบาทและโตในอัตราเดียวกับยอดขาย ก็เดาอีกว่าปีนี้ก็คงเหมือนเดิมโต 20% เหมือนกับยอดขาย

ส่วนต้นทุนที่เหลือก็เท่าเดิมที่20ล้านมา 10 ปีแระก็ให้เป็นค่าคงที่ไป

สรุปว่ากำไรปีหน้าเท่ากับ
กำไรปีหน้า = ยอดขายปีหน้า-ต้นทุนขายปีหน้า-ต้นทุนคงที่
120-60-20 = 40ล้าน ..........เย้

2. ค่า PE ที่เหมาสมของอุตสาหกรรมคือ 10 เท่า
ดังนั้นราคาที่เหมาะสมคือ 40*10= 400 ล้านบาท (ทั้งบริษัทมีหุ้นเดียว)

3 ราคาตลาดของหุ้นตัวนี้อยู่ที่ 200 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมที่ 400 ล้านบาทมาก เห็นดังนี้ก็รีบขายบ้า้้นขายรถมาซื้อ

ดูผ่านๆไปก็เหมือนดูดี ทุกอย่างไม่มีความคิดเราเข้ามาเกี่ยวข้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ซึ่งไม่เคยโกหกใครอย่างเดียว แต่นี่ก็เป็นอคติอย่างหนึ่งคือมีอคติว่ามันไม่มีอคติ ในตัวอย่างเราบอกว่ายอดขายปีหน้าจะโต 20% ก็ต้องถามกลับว่าเหตุมันเหมือนเดิมหรือเปล่า เมื่อเหตเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน ยกตัวอย่างบริษัท CEI ทำพัดลมติดเพดานยอดขายโตทุกปีวันดีคืนดีลูกค้ารายใหญ่หนีไปสั่งผลิดที่จีนยอดขายหายไป 90% แล้วไม่กลับมาอีกเลย สถิติทุกอย่างที่หามาใช้ไม่ได้ในวันเดียว จนบัดนี้(พ.ศ.2554)ก็ัยังตอบไม่ได้ว่าเลิกผลิตพัดลมแล้วจะทำอะไรให้บริษัทมีกำไร ตอนนี้ก็ขายของเก่ากินไปเรื่อยๆ

สรุปว่า จะวิเคราะห์หุ้นก็ต้องมองหุ้นตามความเป็นจริง เห็นอย่างที่มันเป็น ก็คือไตรลักษ์คือทุกสิ่งมีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ แล้วอยู่กับหุ้นอย่างมีความสุขครับ

Credit >> http://www.investidea.in.th/2011/12/blog-post_21.html


อาชีพนักลงทุน

อาชีพนักลงทุน บทสัมภาษณ์ ด.ร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จากรายการ money talk มีประโยชน์ดีก็มาแบ่งปันกัน เขาตั้งคำถามเปิดประเด็นว่าเป็นนักลงทุนอย่างเดียวเป็นอาชีพได้หรือไม่

ด.ร.นิเวศน์ บอกว่าอาชีพนักลงทุนก็คือคนที่มีมีทรัพย์สินที่ไปลงทุนและออกดอกออกผลให้เลี้ยงตัวเองได้ ผลตอบแทนที่ปลอดภัยจากเงินทุนอย่างน้อย 5% ของเงินลงทุนต่อปีหรือคิดง่ายๆว่ามีทุนมากกว่ารายจ่ายประมาณ 200 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

คุณสมบัติ ของคนที่จะยึดอาชีพนี้ ต้องมีความทุ่มเท มีความรู้การลงทุนอย่างถูกต้อง รู้จักความเสียง เทคนิคการลดความเสียง บริษัทไหนถูกแพง หุ้นตัวไหนเก็งกำไร หุ้นตัวไหนลงทุน ฯลฯ พื้นหลังควรมีความรู้ทางธุรกิจ อ่านงบการเงินให้เป็นเพราะคือภาษาของธุรกิจ

ข้อดีก็คือมีชีวิตอิสระ ไม่มีเวลาเข้าออกงาน ไม่มีเจ้านาย ส่วนข้อเสียไม่มีฐานะในสังคมเพราะไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสวัดิการ รถประจำตำแหน่ง

สำหรับเด็กที่พึงจบมาแล้วอยากเป็นนักลงทุนเลย ด.ร.ไม่แนะนำให้ทำงานซักพักแล้วค่อยมาทำได้ีเรียนรู้ชีวิตก่อน ถ้าเป็นนักลงทุนตั้งแต่ทีแรกเพื่อนก็ไม่ค่อยมี ประสบการณ์ก็น้อย ลองสำรวจว่าตัวเองรักที่จะทำอะไร ควรทำคู่ขนานกันไป จนทุนถึงระดับนึกก็ออกมาได้

สุดท้ายด.รให้นิยามของนักลงทุนว่าเป็นจุดสูงสุดทางธุรกิจเพราะเป็นผู้จัดสรรเงินทุนให้กับกิจการต่างๆ กิจการไหนที่ทำแล้วสร้างมูลค่าเพิ่มมากๆ

Credit >> http://www.investidea.in.th/2011/12/blog-post.html


Logistics Management คืออะไร

logistics management คำนี้เริ่มดังในปี 1985 สมัยนั้นบริษัทต่างๆยังไม่ค่อยจัดการในภาพรวมซักเท่าไร บางบริษัทก็เน้นแต่การผลิต บางบริษัทก็ขายอย่างเดียว แต่หลังจากที่ Michael Porter เขียนในหนังสือชื่อดัง Competitive Advantage ว่าการที่จะส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าได้นั้นทุกแผนกต้องสัมพันธ์กัน เฮียPorterก็ทำมาเป็นแบบจำลองว่ามี 9 ปัจจัยตามรูปที่ทำให้กิจการมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่ง
พอโมเดลนี้ออกมาทำให้ธุรกิจต้องรีบปรับปรุงตัวเองใุนทุกด้านทั้งโครงสร้าง องค์กร ไอที จัดซื้อ มาติดอยู่คำว่า "logistics" ทุกบริษัทงงเป็นไก่ตาแตกว่า logistics คืออะไรและ Inbound Logistics กับ Outbound logistics คืออะไรวะรวมถึง logistics management

ด.ร พงษชัย อธิคมรัตนกุลได้ให้ความหมายของคำว่า logistics management ว่า

    "การจัดการโลจิสติกส์ หมายถึง การบริหารจัดการขบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การดำเนินการ และการควบคุมการทำงานขององค์กร ให้เกิดการเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ การรวบรวม และการกระจายสินค้า วัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบ หรืออาจรวมถึงการบริการ ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด โดยคำนึงถึงความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันถือว่าเป็นขบวนการหนึ่งในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน"

จากความหมายนี้คำว่า logistics management ประกอบด้วยสองคำครับคือ  logistics และคำว่า management ก็จะขออธิบายแยกดังนี้ครับ

1.  logistics สรุปเป็นคำสี่คำก็คือ เคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจาย ซึ่งบริษัทไหนๆก็มีกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ Inbound Logistics Outbound logistics
       1.1 Inbound Logistics ก็คือกิจกรรมเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจาย วัตถุดิบหรือชิ้นส่วน
       1.2 Outbound logistics ก็คือกิจกรรมเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจาย สินค้าหรือบริการไป หาลูกค้า

2. management ในการจัดการผู้บริหารมีหน้าที่สามอย่างคือ Planning Monitoring Controlling  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ (ผลเท่าเดิมแต่ใช้วัตถุดิบน้อยลง) และประสิทธิผล(เน้นผลงานเป็นสำคัญเปลืองวัตถุดิบเท่าไหร่ไม่ว่า) โดยคำนึงถึงความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ

สรุปวัตถุประสงค์หลักจริงๆของการจัดการโลจิสติกส์ก็คือการบริหารจัดการการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้านั่นเอง หรือเขียนเป็นหลักการ Seven Rights ไว้ท่องให้ขึ้นใจว่า
ได้ผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ (Right product & Right customer)
ตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ (Right quantity)
ถือเอาคุณภาพที่ตกลง (Right condition)
ส่งตามที่นัดหมาย (Right place)
ได้ตามเวลาที่กำหนด (Right time)
อยู่ในปริบทที่คุ้มต้นทุน (Right cost)

Credit >> http://www.investidea.in.th/2011/12/logistics-management.html