การจ่ายหุ้นปันผล (stock dividend)

การจ่ายหุ้นปันผล (stock dividend)

เป็นวิธีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญอีกแบบหนึ่ง ส่วนมากจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่า หุ้นสามัญ เช่น จ่ายหุ้นปันผล 10 % หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละคนจะได้รับหุ้นเพิ่ม 10 หุ้นจากหุ้นเดิม ที่ถืออยู่ 100 หุ้น ดังนั้นถ้ามีหุ้นสามัญอยู่ทั้งหมด 30 ล้านหุ้น หลังการจ่ายหุ้นปันผล บริษัทจะมีหุ้นสามัญทั้งสิ้น 33 ล้านหุ้น การออกหุ้นปันผลไม่มีส่วนกระทบต่อสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด บริษัทที่จ่ายหุ้นปันผล มักจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเก็บเงินสดไว้เพื่อการลงทุน เช่น การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานหรือลงทุนในสินค้าคงเหลือและลูกหนี้ เพื่อการขยายตัวของธุรกิจตามแผนที่กำหนดไว้ บริษัทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมักจะใช้เงินที่ได้จากกำไรสุทธิเพื่อเป็นเงินทุน บริษัทในลักษณะนี้จะไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายเป็นหุ้นโดยออกหุ้นใหม่ซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินปันผลทั้งสิ้นที่จะจ่าย ผลจากการออกหุ้นใหม่เพื่อมาจ่ายปันผลก็คือ ทำให้จำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีการโอนเงินจากบัญชีกำไรสะสมตามราคาตลาดในเวลานั้นไปเข้าบัญชีทุนหุ้นสามัญและส่วนเกินทุน ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลก็ตาม แต่ว่าเงินส่วนนี้ได้ถูกเก็บไว้เพื่อการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อไป ผลประโยชน์ที่ได้รับก็คือ ถ้าบริษัทสามารถขยายตัวได้ตามแผน กำไรต่อหุ้นจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในอนาคตสูงขึ้น

Credit >> http://www.investnews.biz


ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

หลักการหรือหัวใจของ Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็คือ  การหามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือมูลค่า “พื้นฐาน” ของหุ้น  จากนั้นก็ดูว่าราคาหุ้นในตลาดเป็นเท่าไร  ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ก็ให้ซื้อ  ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานก็ให้ขาย  เพราะนักลงทุนแบบ VI เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าพื้นฐานเสมอ

คำถามสำคัญมีอยู่ 2 ข้อ  นั่นคือ  หนึ่ง  มูลค่าพื้นฐานคืออะไร?  มาจากไหน?  อะไรเป็นตัวกำหนดมูลค่าพื้นฐานของหุ้น  พูดง่าย ๆ  คำนวณมูลค่าพื้นฐานอย่างไร?   ข้อสอง เมื่อไรเล่าที่ราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐาน?  เป็นไปได้ไหมที่ราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเป็นระยะเวลานานมาก  เผลอ ๆ ตลอดไป  กลายเป็นหุ้นที่อาจจะ  “ถูกตลอดกาล”  และถ้าเป็นอย่างนั้น  VI จะได้อะไร?

คำตอบทั้งสองข้อนั้นเกี่ยวเนื่องกันนั่นคือ  คำตอบของข้อแรกก็จะตอบคำถามของข้อสองได้   คำถามที่ว่ามูลค่าพื้นฐานคืออะไรนั้น  ถ้าจะตอบก็คือ  เป็นมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้จากบริษัทตลอดไป  และผลตอบแทนที่ว่านั้นก็คือ  “ปันผล” ในอนาคตทั้งหมดของบริษัท

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายไม่เป็นวิชาการก็คือ  “เป็นราคาหุ้นที่เรายินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเพื่อเก็บกินปันผลไปตลอดชีวิต  โดยที่เราจะไม่ขายหรือเป็นหุ้นที่เราไม่สามารถขายได้”  ดังนั้น  เวลาที่ผมจะซื้อหุ้น  ผมจะต้องคิดว่าราคาที่ผมจ่ายนั้น  ผมยินดีหรือไม่ที่จะเก็บมันไว้ตลอดชีวิตเพื่อรับปันผล  ถ้าคำตอบคือ  “ไม่เอา”  นั่นก็แปลว่าราคานั้นสูงเกินไป  อาจจะเป็นเพราะผมไม่แน่ใจว่าปันผลจะลดลง  หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมกลัวว่าอนาคตบริษัทอาจจะเจ๊งหรือธุรกิจตกต่ำลงมากและจ่ายปันผลน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งผมจะ  “ไม่มีทางออก”   แต่ถ้าคำตอบของผมก็คือ  “เอา”  นั่นก็แปลว่าผมมั่นใจในตัวบริษัทว่าจะยังดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ   ปันผลในอนาคตนั้นมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะตกต่ำลงมีน้อยมาก  ดังนั้น  ผมยินดีซื้อและถือหุ้นตัวนั้นตลอดชีวิต

แน่นอน  ในชีวิตจริง   เราไม่จำเป็นที่จะต้องถือหุ้นตลอดชีวิตเพื่อเก็บกินปันผล  แต่เวลาพิจารณาซื้อหุ้นโดยอิงกับ  “มูลค่าพื้นฐาน”  ของหุ้น   เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องเก็บหุ้นไว้ตลอดชีวิตจริง ๆ   ถ้าเราคิดว่าเราสามารถขายได้ทุกนาที  หรือเราสามารถขายได้ถ้า “สถานการณ์เปลี่ยน”  หรือแม้แต่เราจะขายเมื่อ  “บริษัทโตเต็มที่แล้ว”  ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใน 3-4 ปีข้างหน้า  แบบนี้แสดงว่าเรายังไม่ได้ซื้อหุ้นโดยอิงกับมูลค่าพื้นฐานจริง ๆ  เราอาจจะ “เก็งกำไร”  โดยอาจจะอิงกับปัจจัยพื้นฐานบางส่วนเท่านั้น

นอกจากเรื่องของปันผลในอนาคตแล้ว  ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการคำนวณหามูลค่าพื้นฐานของหุ้นก็คือ  “อัตราคิดลด”  ซึ่งก็คืออัตราผลตอบแทนที่เราต้องการในการลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น  อัตราผลตอบแทนนี้จะคล้าย ๆ  กับอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารหรือลงทุนซื้อพันธบัตรซึ่งเราจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอนเช่นปีละ 1% หรือ 3-4%  ตามลำดับ   แต่การลงทุนในหุ้นนั้นเราจะได้ปันผลที่มีอัตราไม่แน่นอนขึ้นกับผลกำไรของบริษัท  ดังนั้นเราจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยเช่นอาจจะได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10%

ปัจจัยสำคัญตัวสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ  อัตราการเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของเงินปันผลในอนาคต  นี่คือสิ่งที่จะทำให้มูลค่าหุ้นสูงหรือต่ำอย่างมีนัยสำคัญ  เพราะถ้าปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เราก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นทุกปีหรือเกือบทุกปี  ยิ่งนานปันผลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น  บางทีผ่านไป 15-20 ปี  เงินปันผลแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินค่าหุ้นที่เราจ่าย  ถ้าเป็นแบบนี้มูลค่าของหุ้นก็จะมาก  แต่ถ้าปันผลไม่โตเลย  เคยได้เท่าไร  ผ่านไป 5-10 ปีก็ยังได้ปันผลเท่าเดิม  แบบนี้หุ้นก็จะมีมูลค่าน้อย

ผมคงไม่อธิบายวิธีคำนวณหามูลค่าพื้นฐานตามวิชาการซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินไป  แต่จะลองให้แนวคิดในการพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นโดยใช้หลักการของ “มูลค่าพื้นฐาน”  ดังที่ได้กล่าวมา  โดยสมมุติว่าเราพบหุ้นตัวหนึ่งที่ทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดหรือค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ผลประกอบการไม่ยากนัก

บริษัท ก. มีกำไรปีละ 0.40 บาทต่อหุ้น  จ่ายปันผลปีละ 0.30 บาท  ราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น  เราคาดว่ากิจการของบริษัทนี้จะเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% ไปได้เรื่อย ๆ  โดยที่บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพราะฐานะทางการเงินดีมากไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงินเลย   ถามว่ามองโดยพื้นฐานเราควรซื้อหุ้นบริษัทนี้หรือไม่

ก่อนอื่นลองคำนวณดูว่าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น  เราจ่ายเงินค่าหุ้น 10 บาทและได้ปันผล 0.30 บาทเท่ากับว่าเราได้ปันผลปีแรก 3%  ดูแล้วก็อาจจะไม่น่าจูงใจอะไร  เพราะเราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลยเรายังได้ดอกเบี้ยประมาณ 4%   แต่เนื่องจากกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นได้ปีละ 10%  ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มขึ้นปีละ 10% เช่นกัน  ดังนั้น  ปีที่สองปันผลน่าจะเป็น 3.3%  และปีที่สามน่าจะเป็น 3.63%  ปีที่สี่เท่ากับประมาณ 3.99 หรือ 4% ซึ่งเท่ากับพันธบัตรแล้ว  หลังจากนั้นอัตราก็จะสูงกว่าไปเรื่อย ๆ  พอถึงปีที่ 10 ปันผลก็เท่ากับ 8.56% และเมื่อถึงปีที่ 37 ซึ่งอาจจะเป็นปีที่เราเกษียณ  ปันผลที่ได้ในแต่ละปีอาจจะเป็น 10 บาทเท่ากับราคาหุ้นในวันนี้และทำให้เราเกษียณอย่างมีความสุข   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ตั้งแต่ปีที่ 4 ของการถือหุ้น  เราก็ได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่น ๆ แล้ว   ดังนั้น  เราจึงคิดว่า  ราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาท  เป็นราคาหุ้นที่เหมาะสมกับพื้นฐานในแง่ของเราและเรายินดีที่จะซื้อมัน

คำถามต่อมาก็คือ  ถ้าราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาทซึ่งเราคิดว่าถูก  แต่ถ้าถือแล้วมันไม่ขึ้นทั้งที่กำไรและปันผลของบริษัทก็ดีขึ้นตามที่คาดแต่ราคาหุ้นกลับไม่ขึ้นซักทีเป็นเวลาหลายปี  แบบนี้เราควรจะขายทิ้งไหม?  คำตอบก็คือ  ไม่จำเป็น  จำไว้ว่าถ้าเรา “ลงทุนตามพื้นฐาน”  และมั่นใจว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ถูกต้อง  เราก็ถือมันไป  ผลตอบแทนของเรานั้น  เราต้องคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยนักลงทุนคนอื่นในการมาซื้อหุ้นต่อจากเราในราคาที่สูงขึ้น   แต่มันมาจากปันผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ของบริษัท   แต่เชื่อผมเถอะครับว่า  ในที่สุดแล้ว  คนจะต้องเห็นว่าบริษัทดีและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น  ผมเองเคยถือหุ้นมา 3-4 ปีโดยที่ราคาไม่ไปไหน  แต่พอมันวิ่ง  มันก็ขึ้น  “ชดเชย”  ช่วงเวลาที่มันนิ่งในเวลาอันรวดเร็ว ประเด็นสำคัญก็คือ  VI ต้อง “รอเป็น”  ว่าที่จริง  การที่หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้ง ๆ  ที่บริษัทดีขึ้นหรือจ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อย ๆ  นั้น  กลับเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นเพิ่มและทำกำไรมากขึ้น


Credit >> ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ปรับฐานคืออะไร

ปรับฐานคืออะไร

ช่วงเวลานี้ หุ้นไทยกำลังทะยานขึ้นจากการตกต่ำเมื่อหลายปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2551) ดัชนีทำ New High ในรอบสิบกว่าปีอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อหุ้นได้เพิ่มราคาปรับตัวขึ้นมามากๆ ก็มักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "การปรับฐาน" แทรกซ้อนอยู่ด้วยเสมอๆ สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ แล้ว อาจจะงงกับภาษาของตลาดค้าหุ้นนี้ ว่ามันคืออะไร เลยขอยกมาอธิบายไว้ตรงนี้นะครับ

การปรับฐาน ภาษาต่างด้าวเรียกว่า Correction ครับ เวลาไปได้ยินคำนี้เกี่ยวกับการลงทุน จะได้นึกออกนะครับว่าคืออะไร แต่สิ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่ๆ อาจจะสงสัยก็คือ มันคืออะไรและมักจะเกิดจากอะไร มาลองดูกันนะครับ

เมื่อหุ้นมีการปรับราคาขึ้นมามากแล้ว ผู้ที่ซื้อไว้ที่ราคาต่ำกว่านั้นค่อนข้างมากอาจจะเกิดความกลัว หรือต้องการทำกำไรบ้าง ก็ทะยอยขายหุ้นออกมา ซึ่งการขายแบบนี้ค่อนข้างที่จะ "ขายได้ทุกราคา (ก็ยังมีกำไร)" ทำให้หุ้นออกจะปรับราคาลดลงมา พร้อมกับทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาด้วย

แล้วใครเป็นผู้ซื้อหุ้นล่ะ ผู้ซื้อหุ้นก็คือคนที่ "คอยเฝ้า" หุ้นที่เคยเห็นราคาสูงๆอยากซื้อก็ไม่มีโอกาสได้ซื้อสักที แต่คนเหล่านี้ก็คอยระวังตัวอยู่ คือไม่ค่อยซื้อมากนัก ถ้าหุ้นปรับตัวลง ก็ค่อยๆ เข้าไปทะยอยซื้อ ถ้าหุ้นปรับตัวลงแรงมากไปกว่านั้น ส่วนมากก็คือ หยุดซื้อ มักจะไม่ค่อยตามลงไปเสนอซื้อเท่าไรนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ หุ้นก็ไม่สามารถปรับตัวลงไปอีกได้มาก (พร้อมกับโวลลุ่มการซื้อ/ขาย ที่ลดลง) เมื่อการซืื้อขายชะงัก ราคาไม่ขยับลงไปมากอีก เราก็เรียกได้ว่าการปรับฐานนั้นเสร็จสิ้นลง แต่ต้องประกอบกับเหตุการณ์ด้านล่างด้วยคือ

เมื่อนักลงทุนส่วนที่ได้กำไร ขายหุ้นออกไปแล้ว ก็จะมีเงินในมือจำนวนมากและหากเขาเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจยังดี หรือผลประกอบการต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ น่าจะออกมาดี ก็จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นด้วยเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นเดิมที่ได้กำไรออกไป คราวนี้หุ้นก็จะกลับขึ้นมาอีกได้ ซี่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ยอมซื้อหุ้นที่ราคาสูงขึ้นๆ (จะเป็น รายใหญ่, กองทุน, ต่างชาติ, พร๊อพเทรด, หรือรายย่อย ก็ลองนึกๆ ดูนะครับ) ทั้งหมดก็เรียกว่า "การปรับฐาน" ครับ

หมายเหตุ
ในทางตรงกันข้าม ถ้านักลงทุนที่ได้กำไรมามากๆ และเป็นผู้ที่กำหุ้นไว้ในมือจำนวนมาก ขายหุ้นออกมา ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการลงทุน (หรือการเก็งกำไรที่อื่น/อย่างอื่น) ที่ดีกว่า ก็อาจจะขายแบบไม่ซื้อคืนเลย เรียกว่าไปแล้วไปก่อน (ไม่ถึงกับไปลับหรอก แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับมา) หุ้นก็จะหมดรอบของมัน

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com


วิธีการ Stop loss เพื่อรักษาเงินลงทุน

วิธีการ Stop loss เพื่อรักษาเงินลงทุน

ตามปกติแล้ววิธีการ Stop loss มักจะใช้เพื่อจุดประสงค์ใน 2 กรณี กล่าวคือ

1. ใช้เพื่อหยุดการขาดทุน เพื่อปกป้องเงินลงทุนเริ่มต้น และ

2. ใช้เพื่อปกป้องผลกำไรที่กำลังลดน้อยลง

ซึ่งในกรณีที่เรานำหลักการ Stops ไปใช้งานร่วมกับอินดิเคเตอร์หรือเครื่องมือวิเคราะห์ทาง เทคนิคที่มีอยู่ เราก็จะสามารถแบ่งชนิดของการ Stops ได้ออกเป็น

Initial stop

Break-even stop

Trailing stop

ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่นำมาใช้งาน

สำหรับในส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะเป็นการนำหลักการ Stop loss มาใช้งานร่วมกับ ปริมาณเงินลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียได้ หรืออาจเรียกว่าการ Limit loss ของจำนวนเงินที่ใช้สำหรับการลงทุน ณ เวลานั้น

< สามารถพิจารณาได้ตามขั้นตอนตัวอย่างดังต่อไปนี้ >

ขั้นตอน การกำหนด Limit loss จากเงินลงทุนเริ่มต้น

กำหนดให้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท

กำหนด limit loss ไว้ที่ 2% ของเงินลงทุน

ดังนั้น จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้

จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้  = เงินลงทุนเริ่มต้น * Limit loss (2%)

= 50,000*2/100

= 1,000 บาท

ขั้นตอน การประยุกต์ใช้งาน เพื่อคำนวณหาจำนวนหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้

คัดเลือกหุ้นที่จะเข้าลงทุนและกำหนดราคาหุ้นที่เหมาะสมไว้

ในกรณีนี้สมมุติให้ราคาหุ้นที่จะเข้าซื้อมีราคาที่เหมาะสมที่ 5 บาทต่อหุ้น

กำหนดจุด Stop loss ไว้...ในกรณีที่ราคาหุ้นลดต่ำลงไปที่ราคา 4 บาทต่อหุ้น

โดยการขายหุ้นออกไปทั้งหมด (ตามที่ได้วางแผนการลงทุนเอาไว้)

การ Stop loss ในครั้งนี้จะยอมรับการขาดทุนได้เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท

ดังนั้น จำนวนหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้

= จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความสูญเสียได้ / (ราคาซื้อ – ราคา Stop loss)

= 1,000 / (5-4)

= 1,000 / 1

= 1,000 หุ้น

โดยสรุปคุณสามารถซื้อหุ้นได้จำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 5 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทโดยได้กำหนดจุด Stop loss ไว้ที่ราคา 4 บาทต่อหุ้น ซึ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงมาถึงราคาดังกล่าว คุณก็สามารถขายหุ้นออกได้ทันที ตามแผนการลงทุนที่ได้วางไว้ และในกรณีนี้คุณจะขาดทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,000 บาท (จากการที่ได้กำหนด Limit loss ไว้)

Credit >> http://www.tasimplified.com


Cut loss หรือ Stop loss คืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Cut loss หรือ Stop loss กันจนคุ้นหู แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีซักกี่คนที่มีวินัยและปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด(>< “)  เหตุเพราะจะมีคำพูดอยู่ประโยคนึงเข้ามาหักล้างในความคิดอยู่เสมอ คือ “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน”......ทางไหนถูก ทางไหนควร ผมกำลังจะอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ

          ยกตัวอย่างง่ายๆครับ : สมมติให้ “นายระเบียบ  ตามระบบ” ลงทุนไป 100,000บ.
ปรากฎว่าขาดทุนไป 10%  แล้วเขาตัดสินใจ Cut loss ....เขาจะเหลือเงินอยู่ 90,000บ. จากนั้นถ้าเขาอยากได้ทุนคืนเขาก็เอาเงิน 90,000บ.ไปลงทุนต่อ  ดังนั้นการที่เขาจะทำให้ได้ทุน 100,000บ.คืนมา  ก็แค่รอลุ้นให้พอร์ต 90,000บ.ของเขาทำกำไรขึ้นมา 11.11%  (90,000 + 11.11% = 99,999บ.)  “แค่ 11.11% มันยังดูมีความหวังอยู่บ้างใช่มั้ยครับ”

          ถ้างั้นเอาใหม่:  “นายมั่นใจ  ไร้สติ” ลงทุนไป 100,000บ.
ปรากฎว่าราคาหุ้นตกลงไป 10%  ซึ่งถึงจุดที่ต้อง Cut loss ตามระบบแล้ว แต่กลับเชื่อมั่นขึ้นมาว่า “อีก 2-3วันหุ้นต้องกลับตัวขึ้นมาแน่”  เลยถือต่อ...ผ่านไป 1 เดือน พอร์ตขาดทุนถึง 50% จึงรีบขายเก็บเงินต้นคืนเหลือ 50,000บ.  ดังนั้นการที่เขาอยากจะได้ทุน 100,000บ.คืนมา  เขาจะต้องนำเงิน 50,000บ.ไปลงทุนต่อ  แต่คราวนี้เขากลับต้องลุ้นให้พอร์ต 50,000 บ.ของเขาทำกำไรขึ้นมา 100% (50,000 + 100% =  100,000บ.) “แม่จ้าวว 100%เชียวนะครับ(-..- “)

          "ผมรู้ว่าใครๆก็มีสิทธิ์ที่จะมีหวัง  แต่จะได้ดังหวังรึเปล่า มันก็อีกประเด็นนึง”

          อยากเล่นหุ้นต้องรู้จัก Cut loss ครับ...ถ้างั้นคราวนี้ผมจะนำกราฟมาให้ดูสัญญาณกันนะครับว่า “หลักการที่มีระบบ Cut loss “ กับ “หลักการไม่ขายไม่ขาดทุน”....ใครจะมีโอกาสอยู่รอดในตลาดหุ้นได้มากกว่ากัน

 ณ จุดที่ 1: ผมกับเพื่อนเข้าซื้อผิดจังหวะ เพราะคิดไปเองว่าราคาจะขึ้นไปต่อ (ซื้อโดยไม่ดูสัญญาณ) โดยเข้าซื้อไปคนละ 1000 หุ้น เป็นเงินลงทุนคนละ 20,800บ. (1,000หุ้น x 20.80บ.)

ณ จุดที่ 2: เวลาผ่านไปซักระยะ...เราทั้ง 2คน เริ่มรู้ว่าเรามากันผิดทาง...จากนั้นก็มีสัญญาณขายเกิดขึ้น คือ MACD ตัดเส้นศูนย์ลง...ผมยอม Cut loss ไปที่ราคา 18.80บ. ได้เงินคืนมา 18,800บ. (1,000หุ้น X 18.80บ.) ขาดทุนไป 2,000บ.(T^T)...แต่เพื่อนผมยึดคติว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ซักวันหุ้นมันต้องขึ้น นี่มันเทพชัดๆ

ณ จุดที่ 3: มีสัญญาณซื้อเกิดขึ้นเมื่อ MACD ตัดขึ้นเส้น Signal...ผมนำเงิน 18,800บ. เข้าลงทุนอีกครั้งโดยเข้าซื้อหุ้นในราคา 17.40บ. ได้หุ้นมา 1,000หุ้น (เหลือเงินเศษอีก 1,400บ. เพราะการซื้อขายหุ้นขั้นต่ำสุด 100หุ้น จึงไม่สามารถซื้อ 1,080.46หุ้นได้) ส่วนเพื่อนผมเริ่มเห็นสัญญาณซื้อ เริ่มใจชื้นขึ้น “บอกแล้ว...หุ้นมีcycleของมัน มีขึ้นก็ต้องมีลง”

ณ จุดที่ 4: เกิดสัญญาณขายเมื่อ MACD ตัดเส้น Signal ลง..เตือนว่าหุ้นเริ่มเปลี่ยนทิศเป็นขาลง...ผมตัดสินใจขายไปที่ราคา 20.20บ. ได้เงินมา 20,200บ.(1,000หุ้น x 20.20บ.) บวกเงินเศษที่เหลืออีก 1,400บ. = 21,600บ. สรุปผมสามารถพลิกกลับจากขาดทุน 2,000บ.(-9.62%) มาเป็นกำไรได้ 800บ.(+3.85%)

          ส่วนเพื่อนเทพของผม เจ้าของคติพจน์ “ไม่ขายไม่ขาดทุน” จนถึงวันที่ผมได้กำไรเขาก็ยังขายไม่ได้  เพราะ ณจุดที่ 4 ถ้าเขาขายหุ้นทั้งหมดไป จะได้เงินมา 20,200บ. ซึ่งยังขาดทุนอยู่ 600บ.(-2.89%)  ดังนั้น  “ไม่ขาย...ไม่ขาดทุน”จึงทำให้เขายังคงต้องกอดหุ้นของเขาต่อไป ซึ่งจะสังเกตุได้ว่าจากกราฟราคาก็ยังคงวิ่งลงต่ำลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ......

Credit >> http://www.stockmanday.com


High Risk High Return

High Risk High Return

ทุกครั้งที่ผมได้ยินคำนี้ พาลอดคิดไปถึงการพนันขันต่อไม่ได้ โดยในทั่วไปของการพนันนั้น มักจะมีการ "ต่อ" และ "รอง" เกิดขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนรวมที่ได้มักจะจูงใจพอที่จะมีการพนันกันเกิดขึ้น ในหลายๆ ครั้งการต่อและการรองที่เกิดขึ้นก็ทำให้ความเสี่ยงและผลตอบแทนมีระดับพอๆ กัน และในอีกหลายๆ ครั้งเช่นกันที่ ความเสี่ยงและผลตอบแทนก็ไม่พอดีกัน โดยที่ผู้ได้รับผลประโยชน์รวมมากที่สุดก็คือเจ้ามือนั่นเอง

ย้อนกลับมาในเรื่องของการลงทุน เรามาลองพิจารณาความเสี่ยง และผลตอบแทนแยกจากกันทีละส่วนดังนี้

Risk (ความเสี่ยง)

เมื่อเทียบกับการทำงานเป็นลูกจ้าง, เทียบกับการทำงานส่วนตัว, เทียบกับการทำธุรกิจส่วนตัว หรืออย่างอื่น ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า การทำอะไรเอง ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคนเราเริ่มต้นธุรกิจใหม่เลยตั้งแต่เริ่่มต้นและไม่มีความชำนาญ ยิ่งมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นไปอีก และที่สำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ การนำเงินที่มีอยู่เพื่อเริ่มธุรกิจของเราเองนั้นหลายกรณีจะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเมื่อผิดพลาด การจะ "คัทลอส" ทำได้ยากหรือแทบจะไม่ได้อะไรเหลือกลับมา มูลค่าซากแทบไม่มีก็มีโอกาสเป็นไปได้มาก จะเห็นได้ว่า การทำธุรกิจเองนั้น ในหลายกรณี เสี่ยงกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทดีๆ ในราคาที่เหมาะสมมากโขอยู่ อย่างน้อย ธุรกิจที่ดี ที่เราเลือกแล้ว ก็คงจะถึงกับขาดทุนจนล้มหายตายจากไปได้ยากกว่าการทำธุรกิจส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความเสี่ยงก็จะต่ำกว่าการทำงานหรือธุรกิจส่วนตัวในระดับหนึ่ง

Return (ผลตอบแทน)

คราวนี้เรามาลองดูในด้านของ Return กันบ้าง ว่าเราอยากให้เป็นขนาดไหนอย่างไร เราจะต้องไม่ลืมว่า การทำงานส่วนตัว, ทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องลงเงิน (หลายกรณีต้องลงเงินเป็นจำนวนมากกว่าการซื้อหุ้นด้วยซ้ำไป) และยังต้องลงแรงที่เป็นต้นทุนเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย ว่าจริงๆ แล้วได้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนสัดส่วนร้อยละเท่าไร ในความเป็นจริง ผลตอบแทนที่ได้จากการทำงานส่วนตัวจะได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่ายังคงเป็นการทำงานอยู่ดี (ลักษณะของ self-employed คือจะได้ค่าตอบแทนจากค่าแรงของตัวเอง) ในขณะที่ผลตอบแทนที่ได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว (คือมีคนอื่นมาช่วยทำงาน) อาจจะมากกว่าในกรณีที่มีจำนวนคนที่มาช่วยงานเป็นจำนวนมาก (เป็นการดำเนินงานในลักษณะของธุรกิจและได้รับผลตอบแทนที่เรียกว่า surplus หรือส่วนเกิน จากการทำงานของคนอื่น)

ต่อไปเราลองมาพิจารณาในเรื่องของการลงทุนโดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นอย่างไรกัน

สำหรับท่านที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นเวลานาน คงไม่ต้องอธิบายมากถึงเรื่องของราคาของหุ้นแต่ละตัวที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เพราะท่านเหล่านั้นจะทราบดีว่า ราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับสารพัดเหตุ โดยที่ในหลายๆ ครั้งก็ไม่ถูกต้องตามสิ่งที่ควรเป็น ถ้าฟังดูแล้วไม่เข้าใจ ก็อาจจะอธิบายง่ายๆ เพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นสูงเกินไปจากการปั่นหุ้นขึ้นไป หรือราคาต่ำเกินไปจากการทำราคาให้ต่ำลงมากๆ เพื่อเก็บของ (เรียกเป็นภาษาตลาดฯ ว่าการทุบหุ้น) เป็นต้น (หากจะให้อธิบายวิธีการปั่นหุ้น และการทำราคาหุ้นลงเพื่อการเก็บของ คงจะต้องเขียนแยกออกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก) นอกจากการมีคนทำราคาให้ผิดปกติแล้วนี้ ก็อาจจะเกิดจากสภาวะแวดล้อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการซื้อหรือขายอย่างบ้าคลั่งด้วยความกล้าหรือความกลัว (Panic-Buy คือไล่ซื้อไม่ว่าจะราคาเท่าไรอาจจะเพราะว่ากลัวตกรถ, หรือ Panic-Sell คือการขายทุกราคาไม่ว่าจะราคาถูกแค่ไหนเพราะกลัวรถจะคว่ำ) ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน

ดังนั้นเราจะเห็นว่า ความผิดปกติของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นได้นี้ เป็นไปได้ในสองทิศทางคือ หุ้นของบริษัทหนึ่งๆ มีราคาแพงเกินไป หรือมีราคาถูกเกินไป ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีสภาวะผิดปกติเกิดขึ้น โดยสภาวะที่นักลงทุนประเภท "คอยจ้องหาโอกาส" จะชอบใจเป็นพิเศษก็คือเมื่อ "หุ้นมีราคาถูกเกินไป(มาก)" เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อมีอะไรก็ตามทำให้นักลงทุนทั่วไปเกิดความกลัว เทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ถ้าผสมกับการไม่มีใครต้องการซื้อหุ้นนั้นด้วยแล้ว ราคาของหุ้นดังกล่าวจะยิ่งตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนที่ได้ทำการบ้านมาแล้ว ได้เตรียมตัวให้พร้อมอยู่แล้วและรู้ว่าหุ้นของบริษัทใด ควรมีราคาทีแท้จริงเท่าไร มีทักษะในการเข้าซื้อหุ้นและปรับพอร์ตการลงทุน และมีเงินเหลือรอไว้พร้อม ก็สามารถใช้โอกาสที่ตลาดไม่มีเหตุผลนี้ เข้าซื้อหุ้นที่หมายตาเอาไว้นั้นได้ในราคาที่มีส่วนลดมากๆ จากนั้นก็มีความสุขกับการรับผลประโยชน์โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนักครับ

โดยสรุปแล้วก็คือ

1. ในเวลาปกติ เมื่อตลาดมีเหตุผล ราคาของหุ้นอาจจะพอใกล้เคียงกับค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น
2. ในบางช่วงเวลา เมื่อตลาดมีเหตุผลน้อยลง หุ้นสามารถที่จะมีราคาที่ไม่ถูกต้องได้
3. นักลงทุนที่ฉลาด จะต้องทำการบ้าน ศึกษาบริษัทต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้า และสามารถรู้ได้ว่า ราคาหุ้นที่เหมาะสมของบริษัทหนึ่งๆ ควรจะเป็นเท่าไร
4. นักลงทุนชั้นเลิศ จะต้องเตรียมเงินไว้พร้อม และมีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่ตลาดไม่มีเหตุผล ยอมตั้งราคาขายหุ้นของบริษัทชั้นดีในราคาที่ต่ำกว่าที่สมควรที่รู้อยู่ในใจแล้วมากๆ จะได้มีโอกาสเข้าซื้อหุ้นนั้นได้ในราคาต่ำกว่าค่าที่แท้จริงของมัน

ในที่สุดแล้ว ในระยะยาว ราคาของหุ้นใดๆ ก็จะเป็นไปตามผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ เอง โดยที่หากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษ ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เทขาย (ผมอยากเรียกว่า เทกระจาด เหลือเกิน) ในที่สุดท้าย ก็จะได้ทั้งผลประโยชน์ทางด้านปันผล (ที่คิดเป็นอัตราที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากสามารถซื้อหุ้นมาได้ในราคาต่ำกว่าปกติ) และการสะท้อนกลับของราคากลับไปยังราคาที่เหมาะสมของมันเอง

กฏทุกอย่างมีข้อยกเว้นฉันใด High Risk - High Return ก็มีข้อยกเว้นฉันนั้น
การเตรียมตัวให้พร้อม หมายถึงการศึกษาล่วงหน้าในบริษัทที่สนใจ การรอคอย และการเตรียมทุนทรัพย์เอาไว้ เป็นวิธีที่จะได้มาซึ่ง Low risk, High return แต่ในขณะเดียวกัน หากเพื่อนๆ ไม่ได้ทำการบ้านให้ดี แต่ดูเพียงราคาขึ้นลงของหุ้นในการตัดสินใจซื้อขาย ก็สามารถกลายเป็น High risk, Low return ได้เช่นกันนะครับ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com

ตลาดหุ้นกับการพนัน

ตลาดหุ้นกับการพนัน

ตลาดหุ้นนั้น เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าใช้ให้ดีก็เป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ดีก็กลายเป็นโทษได้ การเปรียบตลาดหุ้น กับสนามฟุตบอล หรือวงการฟุตบอลนั้น ถือได้ว่าใกล้เคียงไม่น้อย เพราะว่าโดยพื้นฐานแล้ว กีฬาเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ส่งเสริมให้คนรู้จักการแพ้ ชนะ และการให้อภัย แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ยังคงอาศัยสิ่งที่อยู่รอบตัว ในการสร้างสรรค์ทั้งคุณและโทษให้กับตัวเองและสังคมได้เสมอ (โดยที่มักจะมีคนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์แฝงอยู่) จึงเห็นสิ่งที่เรียกว่า การพนันฟุตบอล การแทงบอล โต๊ะบอล หรือแม้แต่ล้มบอล ก็ตามที

ย้อนกลับมาที่ตลาดหุ้นก็เช่นกัน ผมถือว่าตลาดหลักทรัพย์นั้นนับได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเลยก็ว่าได้ ลองคิดดูในเวลาก่อนที่จะมีตลาดหลักทรัพย์สิ ว่าเมื่อคนเราต้องการที่จะเรียกระดมทุน ย้าย เปลี่ยนมือ (แม้กระทั่งเปลี่ยนมือจากเจ้าของคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่งแทบจะทั้งหมด) การจะทำอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ต้องจัดการตกลงกันเอง ตกลงกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ราคาถูกต้องมากบ้าง ถูกต้องน้อยบ้าง แล้วแต่การต่อรอง แต่เมื่อเกิดตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาในโลกนี้ การต่างๆ ดังที่ว่ามาทั้งหมดนั้นก็ง่ายขึ้นมาก การเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของของกิจการ เป็นบางส่วน (หรือแม้แต่เป็นส่วนมาก ส่วนใหญ่) ทำได้ง่ายมากเพียงไม่กี่วินาที ผมจึงถือว่านี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเลยอย่างหนึ่งทีเดียว

ส่วนเรื่องการมองเห็นตลาดเป็นโอกาส หรือวิกฤตนั้น ขึ้นกับตัวของเราเอง เปรียบไปก็เหมือนกับคนที่เข้าไปดูฟุตบอล หากดูเพื่อการบันเทิง ดูเพื่อการศึกษา ดูเพื่อเอามาปรับปรุงการเล่นของตัวเองให้ดีขึ้น (หรือแม่แต่เล่นกีฬาอื่นๆ อยู่) ก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้สนามฟุตบอลในแง่ลบ เช่นเป็นแหล่งทำให้เกิด "ตัวตั้ง" ซึ่งก็คือผลการแข่งขัน แล้วนำมาแทงว่าใครจะแพ้เสมอ หรือชนะ ก็จะกลายเป้นโทษได้

ตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน ในระยะเวลาอันสั้น ราคาหุ้นยังไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ การขึ้นลงของราคาหุ้นจึงเป็นการขึ้นลงจากการ ให้ราคา, จากความคาดหวัง หรือแม้แต่จากการ ทำราคา ก็ตามแต่ ซึ่งกับหุ้นของบางบริษัทในบางเวลา การแกว่งของราคาเนื่องจากสาเหตุดังกล่าว มากมายเกินกว่าผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ด้วยซ้ำไป การเข้าไปซื้อหรือขายหุ้นตามการขึ้นลง โดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงความสมเหตุสมผลของราคาที่ซื้อหรือขายนั้น ก็คือการ "เก็งกำไร" หากทำบ่อยเข้าและผสมกับข่าวที่ได้รับ ก็จะกลายเป็นการ "เล่นหุ้น" ไป โดยหวังการขึ้นลงของราคาทำให้ได้กำไร โดยข้อเสียที่ถูกลืมไปก็คือผู้ซื้อขายมักจะไม่ได้ "เก็งขาดทุน" ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในระยะเวลาอันสั้น ตลาดหุ้นเป็น zero-sum game ก็คือเมื่อมีคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งจะเสีย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก "ค่าแทง" ที่อยู่ในตลาดนั้นเท่ากัน มูลค่าของบริษัทยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาอันสั้นเช่นนั้น แต่ในระยะเวลาที่นานกว่า หากเศรษฐกิจดี หรือ บริษัทมีการดำเนินกิจการที่ดี การซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทหนึ่งๆ นั้นจะไม่ใช่ zero-sum game แต่เป็นผลรวมแบบเพิ่มขึ้น (positive-sum game) เหตุผลก็เพียงง่ายๆ เพราะว่าบริษัทมีกำไร ทำให้มูลค่าที่จับต้องได้ของบริษัทมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้ที่ซื้อหุ้นไว้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปจะได้ประโยชน์กันถ้วนทั่ว

สอนเล่นหุ้น

สอนเทรดหุ้น

สอนมือใหม่เล่นหุ้น


หากจะตอบคำถามที่่ว่า เล่นหุ้นเหมือนกับเล่นพนันฟุตบอลไหม? คำตอบคงเป็นว่าใกล้เคียงกันมาก แต่ถ้าถามเพิ่มอีกสักนิดว่า การลงทุนในหุ้นเหมือนกับเล่นพนันฟุตบอลไหม คำตอบคงต่างไปจากนี้จนแทบจะตรงกันข้ามได้เช่นกัน สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่โชคร้ายจริงๆ แล้ว ทุกอย่างขึ้นกับการเลือกที่จะทำอะไร และไม่ทำอะไรของตัวนักลงทุนเองครับ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com

การเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียน

การเพิ่มทุนจดทะเบียน

ในหลายๆ ช่วงที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ เราอาจจะได้ยินข่าวเรื่องของการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทต่างๆ อยู่ตลอดเวลา วันนี้เราจะมาลองดูว่า การเพิ่มทุนนั้นมีข้อดีและข้อเสียอะไรอย่างไรบ้างกันนะครับ

การเพิ่มทุนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ผู้ถือหุ้นจะต้องควักกระเป๋าตัวเอง เอาเงินใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อยังสามารถคงสัดส่วนการถือหุ้น (กำจัดผลจาก dilution effect) เอาไว้ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทที่ดี (เลิศ) ควรจะสามารถสร้างเงินสดได้ด้วยตัวเอง ทั้งเพื่อการขยายงานในอนาคต และ/หรือ เพิ่มกำลังการผลิต หรือการออกสินค้าใหม่ ฯลฯ โดยไม่ต้องรบกวน
ผู้ถือหุ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มทุน คือรบกวนกระเป๋าของผู้ถือหุ้น จริงๆ ก็จะต้องอธิบายให้ได้ว่าเงินนั้นเอาไปทำอะไร ให้เกิดประโยชน์กว่าการไม่รบกวนผู้ถือหุ้น หรือในทางกลับกัน หากผู้ถือหุ้นไม่ได้จ่ายเงินนั้นออกมา แต่เอาไปทำอย่างอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า การจ่ายเงินออกมากับการเพิ่มทุนนั้นให้ประโยชน์มากกว่าอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วราคาของหุ้นที่จะเพิ่มทุนก็จะสูงกว่าราคาหุ้นในกระดาน (ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีใครยอมไปจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ว่า แต่ซื้อเอาในกระดานดีกว่า) ผลที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือ ราคาหุ้นในกระดานมักจะวิ่งเข้าหาราคาของหุ้นเพิ่มทุนที่ "เคาะ" ออกมา เราจะเห็นเรื่องแบบนี้ได้ในสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ครั้งแรคือเมื่อ บมจ. การบินไทย ทำการเพิ่มทุน ราคาหุ้นที่อยุ่ค่อนข้างนิ่งที่ 25 บาทเมื่อ มิ.ย.-ก.ค. 53 ก็ค่อยๆ  ขยับปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 53 ราคาขึ้นไปเป็นแตะ 42 บาท และก็ค่อยๆลดระดับราคาลงมาจนเหลือระดับ 36 บาทเมื่อบริษัทประกาศราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่ 31 บาทต่อหุ้นออกมาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 53 ซึ่งก็ยังคงสูงกว่าราคาขายของหุ้นเพิ่มทุนอยู่ดี และครั้งที่สองเมื่อ บมจ. ไทยยูเนี่ยนฯ ทำการ เพิ่มทุนที่ 50 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นในกระดานวิ่งขึ้นจากราวๆ 42 บาทต่อหุ้นไปเป็น 64 บาทต่อหุ้นสูงเหนือราคาของหุ้นเพิ่มทุน

การจะเคาะราคาหุ้นเพิ่มทุนออกมาที่ราคาเท่าไร จริงๆ แล้วก็จะต้องคำนวณจากการคาดการผลประกอบการณ์ของบริษัทในอนาคต ว่าจะมีความสามารถในการทำเงินโดยรวมเป็นเท่าไร (เมื่อมีเงินจากการเพิ่มทุนนั้นผสมเข้าไปด้วยแล้ว) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีตัวเลขออกมาที่สวยงาม จึงจะสมควรทำการเพิ่มทุนได้ เช่น ถ้าบริษัท ABC ต้องการเพิ่มทุนที่ 10 บาทต่อหุ้น บริษัทอาจจะคำนวณ (หรือจ้าง third party มาทำการคำนวณ) แล้วว่า หุ้นแต่ละหุ้นของบริษัท (รวม dilution แล้ว) จะมีราคาเหมาะสมเป็น 15 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี DCF (เป็นต้น - ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้จะเต็มไปด้วยการประมาณ คาดการณ์ อนุมาน ต่างๆ อยู่ด้วย) ด้วยเหตุฉะนี้ การเพิ่มทุนจึงสำเร็จและมีนักลงทุนยอมซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น (ไม่นับว่าซื้อด้วยเหตุเก็งกำไรอื่น)

บางครั้ง การเพิ่มทุนแล้วสามารถทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีได้ แต่ก็ยังคงมีหลายบริษัท ที่ทำการเพิ่มทุนเพียงเพื่ออยู่รอด หรือล้างขาดทุนสะสมให้หมดไป ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็มีให้เห็นเหมือนกัน เป็นสิ่งที่พวกเรานักลงทุนจะต้องคอยสังเกตให้ดีครับ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com


Hedging คืออะไร

Hedging คืออะไร

Hedge โดยรากศัพท์แล้วคือการป้องกันความเสี่ยงคล้ายๆ กับการซื้อประกันแหละครับแต่ว่าเน้นไปในเรื่องของการลงทุน

เช่นเมื่อนักลงทุนได้ทำการซื้อหุ้น ปตท เอาไว้เพื่อต้องการปันผล ในขณะเดียวกันก็ต้องการป้องกันความเสี่ยงในการที่หุ้น ปตท จะมีราคาปรับตัวลดลงซึ่งจะทำให้เมื่อขายออกแล้วเกิดผลขาดทุนขึ้น วิธีคือ นักลงทุนจะต้องซื้อ Call Option ของหุ้น ปตท อีกเป็นการคู่กัน ซึ่งหากราคาของหุ้น ปตท ปรับตัวสูงขึ้น จขกท จะได้กำไรจากหุ้นแม่ของ ปตท เองแต่จะขาดทุนจากการซื้อ option แต่ในทางกลับกันคือ หากราคาของหุ้น ปตท ปรับตัวลดลง นักลงทุนจะขาดทุนจากราคาหุ้นแม่ของ ปตท แต่ได้กำไรจาก option เป็นการชดเชย

อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า married hedge นะครับ ซึ่งคือการลงทุนในหุ้นจำนวนสองตัวที่มีการปรับราคาตรงกันข้ามกัน (ในขณะที่หุ้นทั้งสองตัวนั้นเป็นกิจการที่ยังคงทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ) คือเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์หนึ่งขึ้น ราคาของหุ้นสองตัวนี้จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน เช่น (ยกตัวอย่างเพื่อทำให้เห็นภาพเท่านั้นนะครับ) เมื่อน้ำมันดิบขึ่นราคา หุ้นกลุ่มพลังงานมักจะปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่หุ้นกลุ่มขนส่งจะปรับตัวลดลง นักลงทุนก็อาจจะพิจารณาซื้อหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้เอาไว้ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะทำให้มูลค่าของพอร์ตมีเสถียรภาพมากขึ้นครับ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com

สุดยอด 10 วิธีที่จะทำให้ท่านเจ๊งหุ้นอย่างรวดเร็ว

สุดยอด 10 วิธีที่จะทำให้ท่านเจ๊งหุ้นอย่างรวดเร็ว

มีเรื่องเกี่ยวกับหุ้นเขียนไว้เพื่อเป็นเทพแห่งเม่าโดยรวดเร็ว เรียกว่าหมดตัวหรือแม้แต่เป็นหนี้สินติดตามมาก็ยังได้อีก เรียกว่าจะเป็นทางลัดแห่งความเสียหายจากหุ้นก็ว่าได้ ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าใครเป็นผู้รวบรวมสูตรไว้ แต่อย่างไรก็ตาม มีสูตรอยู่สิบประการดังนี้

1. เวลาหุ้นลงมีเท่าไหร่อย่าเพิ่งขาย ไม่ขายไม่ขาดทุนครับ เก็บไว้นานๆ โดยเฉพาะหุ้นผลประกอบการแย่ลง เก็บมันไว้ เดี๋ยวมันก็เด้งกลับ แต่ถ้ามันลงไปเกิน 50% แล้ว กลัวมันลงต่อ ให้ขายออกมา ไม่ว่าจะแค่ลงเพราะตกใจชั่วคราว ก็ให้ขายให้หมดแล้วอย่าไปดูมันอีก มันขึ้นก็อย่าไปสนใจปล่อยมันไปซะ

2. เวลาหุ้นลงข่าวร้ายเยอะๆ อ่านข่าวมันเข้าไป กลัวให้มากๆ อย่าไปซื้อตอนข่าวร้ายเต็มตลาดเด็ดขาด เพราะมันไม่น่าซื้อ เดี๋ยวมันจะต้องลงต่ออย่างแน่นอน ถึงฝรั่ง กองทุนจะอัดซื้อจำนวนมหาศาลก็ปล่อยเขาไปเดี๋ยวเขาก็เจ๊งเอง

3. หุ้นราคาขึ้นมานิด ได้กำไรมาหน่อยเดียวให้รีบขายทิ้งซะ อย่าโลภ เดี๋ยวกำไรหาย ให้ขายทิ้งให้หมดเลย ไม่งั้นจะติดดอยต่อได้

4. เชื่อฟังนักวิเคราะห์และมาร์เยอะๆ เพราะนักวิเคราะห์มีประสบการณ์มากกว่าเรา ต้องเชื่อฟังไว้มากๆ เขาเชียร์ซื้อตัวไหน ซื้อตามเขาไปเลยครับ เอาราคา ATO ไปเลย ซื้อแล้วราคาร่วงอย่าเพิ่งขาย เพราะที่เขาแนะนำดีจริงๆ ให้ถือไว้ยาวๆก็ได้ แล้วบอกคนอื่นๆว่าเราเป็น VI

5. เวลามีข่าวดีเต็มตลาด หุ้นวิ่งกระจาย ดัชนีพุ่งสูงปิ๊ด ต้องรีบซื้อตาม เพราะตอนนั้นแหละคือมันขึ้นแน่ๆ ซื้อพร้อมรายย่อยคนอื่นๆ รวยทั่วๆกัน เย้

6. หุ้นปั่นเป็นสิ่งที่ทำให้รวยเร็วที่สุด เรื่องอะไรจะต้องไปอยู่กับหุ้นพื้นฐานดีๆล่ะ ดูอย่าง SCC กว่ามันจะขึ้นแต่ละบาทแทบกระอัก ไม่คุ้มเสี่ยงหรอก เอาหุ้นปั่นเลยดีกว่า เห็นตัวไหนใน ticker ยาวๆ รีบตามเข้าทันที แล้วอย่าเพิ่งออก รอซักสามวันเจ็ดวัน หุ้นจะราคาพุ่งไปไกลอย่างแน่นอน

7. จากข้อหก ถ้าหุ้นปั่นที่ซื้อราคามันร่วงลงมา อย่าตกใจ ของถูกมากองอยู่ตรงหน้าแล้ว ให้รีบซื้อในราคาที่ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลทันที โอกาสรวยอยู่ตรงหน้าแล้ว มันลง ก็ถัวซื้อเข้าไป ต้นทุนเราก็ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทีนี้แหละ พอมันขึ้นเรากำไรเละ...

8. เล่นเองใช้เงินนิดเดียวคงไม่พอ รวยไม่ทันเขา ควรไปกู้ธนาคาร ยืมเพื่อน กดบัตรเครดิตออกมาซื้อด้วย โดยเฉพาะตอนมันเริ่มลงนิดนึง จะได้ถัวซื้อเข้าไป ไม่ต้องกลัว ต้นทุนเราต่ำลงเรื่อยๆ เดี๋ยวกำไรจากหุ้นก็เยอะกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งเยอะ ยิ่งถ้าลงหนักๆ ควรขายบ้าน ขายรถออกมาซื้อให้ได้ ขายไม่ทันก็เอาไปจำนองหรือไฟแนนซ์ไว้ก่อน

9. เวลาเล่นหุ้น ไม่ต้องหาหนังสือมาอ่าน หรือหาความรู้เพิ่มเติมหรอกครับให้เสียเวลา แน่ใจหรอว่าเราอ่านแล้วจะวิเคราะห์ได้ มือใหม่อย่างเราอย่ามั่นใจตัวเองเกินไปครับ ไม่ต้องไปสนใจมัน เดี๋ยวก็มีนักวิเคราะห์แจกหุ้นให้อยู่ทุกวัน ตามเว็บไซต์เว็บบอร์ดก็มี โทรถามมาร์เอาก็ได้เขาวิเคราะห์ดีกว่าเราเยอะแน่นอน

10. จะซื้อหุ้นไม่ต้องสนใจหรอกครับว่าบริษัทนั้นจะชื่ออะไร ทำธุรกิจยังไง ผลประกอบการเป็นยังไง จำตัวย่อให้ได้ก็พอ มันจะทำธุรกิจอะไรก็ช่างหัวมัน ซื้อตามเขาไปไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจอะไรทั้งนั้น งบการเงินไม่จำเป็นต้องอ่านหรอก ใครเขาซื้ออะไรก็ซื้อตามๆ เขาไปนั่นแหละ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com

การเลือกหุ้น

การเลือกหุ้น

ช่วงนี้ ในระหว่างที่หุ้นกำลังขึ้น คงมีนักลงทุนรายย่อยหลายๆ รายที่เริ่มทะยอยขายหุ้นออกไป เมื่อหุ้นเริ่มร่อยหรอในมือ บางท่านก็อาจจะปิดจอปิดคอมพ์ ไม่ดูราคาหุ้นไปเลย แต่หลายๆ ท่านที่โดยปกติแล้วต้องมีหุ้นติดพอร์ตอยู่บ้าง ก็อาจจะพยายามควานหาหุ้นที่มีราคาไม่แพงมากนัก ประกอบกับสืบเนื่องจากการตอบกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป เรื่องการเลือกหุ้นเอาไว้ ผมเลยขอนำมาเก็บไว้ที่บล็อกนี้ด้วยเลย โดย

สรุปแล้วในการเลือกหุ้นนั้นเรามีสิ่งที่ต้องดูอยู่หลายประการ เช่น

1. บริษัท ที่ ธรรมาภิบาล ไม่ดี อย่าลงทุน อย่าซื้อ
ขึ้นชื่อว่า อะไรก็ขึ้นอยู่กับคน บริษัทที่ดำเนินกิจการด้วยเจ้าของหรือผู้บริหารที่ไม่ชอบมาพากล เราควรจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากเขาเหล่านั้นอาจจะสร้างสิ่งลวงตาต่างๆ ให้เราได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย กำไร หนี้สิน ต่างๆ เป็นต้นที่เอื้ออำนวยให้งบการเงินออกมาดูดี ตลอดจนการให้ข่าวต่างๆ ที่มีผลต่อราคาหุ้นมากเกินไปด้วยความตั้งใจ แบบนี้ต้องแนะนำให้เลี่ยงหลีกไว้เป็นดี

2. บริษัท ที่ได้กำไร แล้ว ไม่มีปันผล แบบนี้ต้องพิจารณาก่อนว่าเพราะอะไร
นักลงทุนต้องดูว่ากำไรอยู่ในรูปไหน มีกำไรแต่บางขณะอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสด ก็จ่ายปันผลไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงชั่วคราวก็ยอมรับได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือดูว่าเขาเอากำไรไปทำอะไรให้งอกเงยไหม ถ้าเก็บไว้เฉยๆ แบบนั้นถือว่านอกจากไร้สมรรถภาพ (ทางการเงิน ทางธุรกิจ) แล้ว ยังออกแนวหวงก้างด้วย ก็หลีกเลี่ยงไว้ดีกว่า

3. บริษัท ที่ ผลประกอบการขาดทุน แล้ว ราคาหุ้นขึ้น ให้พิจารณาก่อนเช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้น
ราคาหุ้นนั้นขึ้นกับอนาคต ถ้าผลการขาดทุนนั้นเกิดเพียงครั้งคราว และราคาหุ้นได้ลดลงจนไม่ยอมลงไปอีก แต่กลับเริ่มปรับตัวขึ้นมา อาจจะเป็นโอกาส
ที่ดีที่ได้ซื้อของดีราคาถูกก็ได้ แต่หากผลประกอบการขาดทุนมาตลอด มีการแอบเพิ่มทุน (จริงๆ ก็ไม่ได้แอบหรอก) มาเรื่อยๆ ทำให้บริษัทอยู่ได้แต่ก็ขาดทุนไปเรื่อยๆ แล้วราคาก็หวือหวาวิ่งขึ้นลง ก็ควรเลี่ยงครับ

4. บริษัทที่ผลประกอบการกำไร แล้ว ราคาหุ้น ไม่ขึ้น หรือว่า ราคาลดลงก็ให้พิจารณาก่อนเช่นกันว่าทำไม
ต้องกลับไปดูข้อแรก ที่ว่าราคาหุ้นมักจะขึ้นกับอนาคต ถ้าบริษัทยังมีอนาคตที่ดี และราคาปัจจุบันนั้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของมัน การเข้าไปซื้อหุ้น หรือทะยอยสะสม ก็เป็นโอกาสที่ดีในระยะยาวได้สำหรับนักลงทุน ยกเว้นแต่ว่าเป็นนักเก็งกำไร ที่มักต้องมองหาหุ้นที่ราคากำลังปรับขึ้นให้ได้
(เว้นว่าทำ short sale)

5. บริษัท ที่ กู้เงินมาจ่ายปันผล ควรหลีกเลี่ยง
เพราะขึ้นชื่อว่า กู้ ย่อมมีต้นทุนทานการเงิน การกู้ ใดๆ ย่อมจะต้องมีเหตุผลอันสมควร หากเหตุผลไม่สมควรแล้ว เราจะไว้ใจ ผบห. ของบริษัทอย่างนั้น
ก็ต้องมีเหตุผลพิเศษอีกเช่นกัน ไม่อย่างนั้นก็อยู่ห่างๆ ไว้เป็นดีกว่าครับ

Credit >> http://www.muegao.blogspot.com


หุ้นวัฏจักรเป็นหุ้น VI (Value Investment) ได้หรือไม่

หุ้นวัฏจักรเป็นหุ้น VI (Value Investment) ได้หรือไม่

หลายๆ ครั้งที่มีการคุยกันในเรื่องของหุ้นที่เรียกว่าหุ้นสำหรับนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของหุ้น หรือที่เรียกว่าหุ้นวีไอ​ (VI: Value Investment) ซึ่งก็มักมีการหยิบยกหุ้นในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม และหลายๆ พฤติกรรม เช่นหุ้นอาหาร เหล็ก สินค้าเกษตร ไอซีที เทคโนโลยี ก่อสร้าง และหลายๆ ครั้งเราก็จะได้ยินหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "กลุ่มโภคภัณฑ์" ขึ้นมาพูดคุยกันด้วย

โดยหุ้นกลุ่มสุดท้ายที่เรียกว่ากลุ่มโภคภัณฑ์นี้ จริงๆ ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ แต่เป็นกลุ่มที่มีลักษณะของสินค้าเป็นโภคภัณฑ์ ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีความแตกต่างในตัวสินค้าเองระหว่างผู้ผลิตหลายๆ ราย นอกจากนั้นสินค้าประเภทนี้ยังมีอุปสงค์ (demand) เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจอื่นๆ อีก เรียกว่าหากเศรษฐกิจบางอย่างดี สินค้าโภคภัณฑ์มีความต้องการสูง ราคาก็จะพุ่งขึ้นสูง บรรดาผู้ผลิต ผู้ค้า ก็จะได้กำไรมาก แต่ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจซบเซา ความต้องการสินค้าต่ำ บรรดาผู้ผลิตไล่ไปจนถึงผุ้ค้าก็ได้กำไรน้อยลง บางรายถึงกับเอาตัวแทบไม่รอดก็มี

คราวนี้ ก็มาถึงเรื่องของการลงทุนที่ว่า หุ้นแบบวัฏจักรอย่างนี้ สามารถเป็นหุ้นแบบ VI หรือหุ้นที่นักลงทุนแบบ VI เลือกซื้อได้หรือไม่ ซึ่งความคิดเห็นก็แตกแขนงกันออกไป แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว หุ้นไหนๆ ก็เป็นหุ้นแบบ VI ได้ ถ้ามัน "ถูกเกินเหตุ" นั่นคิดนายตลาดเกิดความกลัว ไม่ให้ค่ามัน หรือแม้แต่แทบจะไม่ให้ค่ามันเลย เป็นต้น ถ้าพูดกันง่ายๆ แบบนี้อาจจะไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไรนัก ลองมาสมมติตัวเลขกันสักหน่อยดีกว่า

สมมติมีหุ้นตัวหนึ่ง ที่ว่ากันว่าเป็นหุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ (และมันก็เป็นจริงๆ นั่นแหละ) ที่มีกำไรขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง 1 กับ 5 บาท วนไปวนมาอยู่อย่างนี้หลายปี ถ้าวันหนึ่งเราไปเห็นราคาหุ้นในกระดานมันอยู่เพียง 2-3 บาท นักลงทุนที่มองเห็นก็อาจจะซื้อเพื่อการลงทุนไว้ได้ เพราะแม้กำไรมันจะแกว่งมากไปมา แต่ราคาหุ้นมันต่ำเกินไปจริงๆ เพราะลงทุนเพียง 2-3 ปีก็คุ้มแล้ว แบบนี้ก็เรียกได้ว่า "Value ของมันเกินราคา" เพราะแม้ว่า คุณค่าทางด้านความโดดเด่นของสินค้ามันไม่ได้ดีเลิศเลออะไร แต่ราคามันต่ำมากเกินเหตุ แบบนี้ก็ทำให้คุณค่าเกินราคาได้เช่นกัน (เปรียบเทียบให้เห็นแบบเกินเหตุสักหน่อยก็คือ ถ้ามีคนให้หุ้นที่เป็นวัฏจักร ที่ทำกำไร 1 บาทต่อปีกับท่านในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ ทำไมจะไม่ซื้อล่ะ จริงไหม)​

อย่างไรก็ตาม การจะซื้อหุ้นต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นของบริษัทด้วย เช่นหนี้น้อย, การหมุนเวียนเงินสดไม่ติดขัด มีกำลังสำรองมาก, ผบห. ไม่โกง, สินค้า/บริการ มีความได้เปรียบคู่แข่งบ้าง (เป็นตัวเลือกแรกๆ หน่อย) แม้ว่ามันจะขึ้นๆ ลงๆ ก็ตามทีเถิด โดยคงต้องยกเว้นในเรื่องของ profit margin และ ยอดขาย ที่คงขึ้นๆ ลงไป ไปตามวัฏจักรที่เป็นลักษณะของหุ้นประเภทนี้ครับ

ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวของผม หุ้นไหนๆ ก็เป็นอะไรก็ได้ ขึ้นกับว่าเราซื้อมันที่ราคาไหนต่างหาก บางที
เราอาจจะไม่ต้องหาหุ้นเลอเลิศ แต่เป็นบริษัทที่ดีพอควร แต่หุ้นมันราคาถูกเกินเหตุ ก็รวยได้เหมือนกัน ซึ่งในแง่นี้อาจจะ ตรงกันข้ามกับการลงทุนใน Growth Stock ที่หวังในเรื่องของ Performance ของบริษัทที่ดีมาก เป็นหลัก ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้วเรามักจะ "เห็นช้ากว่าคนอื่น" ในขณะที่หุ้นวัฏจักร ก็ทำให้เรารวยได้เหมือนกันถ้าสามารถประเมินมูลค่าและความเสี่ยงได้ถูกต้อง และ "กล้า (อย่างมีเหตุผล)" ในขณะที่คนอื่นกลัว (เพราะไม่กล้า) ครับ

Credit >> http://muegao.blogspot.com

การวิเคราะห์ธุรกิจด้วยตัวเอง

การวิเคราะห์ธุรกิจด้วยตัวเอง

การลงทุน ไม่ใช่เรื่องของการร่ำเรียนมาทางด้านการเงิน การบัญชี แล้วก็ทำการคำนวณตัวเลขอัตราส่วนสารพัด แล้วนำไปใช้งานแค่นั้น แต่เป็นเรื่องของการรอบรู้ ที่จะต้องคอยสังเกตความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของเรา การลงทุนเป็นเรื่องของการคอยจับตาดูแนวโน้มของสิ่งต่างๆ และพิจารณาว่าแนวโน้มเหล่านั้นจะมีผลอะไรต่อธุรกิจอะไรบ้างหรือไม่อย่างไร

นักวิเคราะห์ธุรกิจชั้นดี จะมีแนวทางการวิเคราะห์อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ถ้าเราสามารถทำการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างที่นักวิเคราะห์ฝีมือดีทำ ผลที่ได้ก็น่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับหนึ่ง แนวทางการวิเคราะห์ที่ดี จะมีหลักการในการสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบๆ ตัวเรา คนเราทุกคนล้วนมีทักษะในการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็มีความสามารถไม่เท่ากัน และที่สำคัญ คนเราจะต้องมีความสามารถในการเลือกที่จะวิเคราะห์อะไร อย่างไร เพราะทุกวันนี้เราถูกล้อมรอบด้วยข้อมูลต่างๆ เต็มไปหมดตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งนอนหลับไป

ลองยกตัวอย่างกันให้เห็นนะครับ อย่างเช่นร้านอาหารละกัน จะเห็นว่า บางย่าน มีร้านอาหารเต็มไปหมด เช่นริมถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา หรือว่าถนนเกษตร-นวมินทร์ เป็นต้น เราก็คงจะต้องลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ไปเปิดที่อื่นกันบ้างไม่ได้หรือ หรือว่าถ้าร้านนี้ ไปเปิดข้างๆ ร้านนั้น จะเกิดอะไรขึ้น ทำนองนี้

คำถามพื้นฐาน 4 ข้อเมื่อเราพิจารณาธุรกิจ
เมื่อเราเกิดความสงสัยในธุรกิจอะไร อย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องภัตตาคารที่ผ่านมา ลองถามคำถามข้างล่างนี้ดูเช่น
1. เป้าหมายของธุรกิจนั้น คืออะไร
2. ธุรกิจนั้น จะมีรายได้ หรือกำไร มาได้อย่างไร
3. ธุรกิจนั้น มีผลการดำเนินงานที่ดีหรือไม่ หรือว่า มีฝีมือการทำธุรกิจดีหรือไม่
4. เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ธุรกิจนั้นมีความพิเศษแตกต่างจากคู่แข่งหรือไม่

เมื่อเราเริ่มที่จะถามคำถามเหล่านี้ นั่นคงเราเริ่มคิดแบบนักวิเคราะห์ชั้นดีแล้ว และจะทำให้เราต้องเพิ่มการสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจที่เราสนใจ ลึกลงไปอีก การฝึกตัวเองให้ถาม ให้สังเกต ให้คิด บ่อยๆ อย่างนี้ ทำให้เราลับคมความคิดของเราขึ้นทุกวันๆ และทำให้เรามีความสามารถในการหาโอกาสในการลงทุน ในการทำเงิน ได้ดีขึ้น

ตอนที่ 6 (2 ก.พ. 54)

ย้อนกลับไปเรื่องของภัตตาคาร เป้าหมายหรือหน้าที่ของธุรกิจภัตตาคาร ก็คือทำอาหารให้คนกิน (อ้าว... จะให้เติมลมยางรถให้หรือจ๊ะ) ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของธุรกิจนี้ แม้ว่าภัตตาคารหรือผับ (หรือจะผับๆ อะไรก็ตามเถิดจ้า) บางที่จะมีวงดนตรี พนักงานเสริฟ น้องๆ เด็กเชียร์เบียร์ แม้แต่โคโยตี้ อะไรก็ตามแต่ รวมเข้ามาไว้ในร้านนั้นด้วย ในบางครั้ง การพิจารณาว่าหน้าที่หรือเป้าหมายของธุรกิจหนึ่งๆ นั้นคืออะไร อาจจะไม่ใช่เรื่องงานก็ได้ เพราะว่าอาจจะเกิดการผสมกันของบริการ/สินค้า หลายๆ อย่าง แต่ก็เป็นหน้าที่ของนักลงทุนอย่างพวกเราที่จะต้องพิจารณาว่า การมีสินค้า/บริการแปลกๆ ปนๆ มาในธุรกิจนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม หรือว่าเข้าท่า หรือไม่ครับ

เมื่อเรารู้แล้วว่า เป้าหมายหรือหน้าที่ของธุรกิจที่เราสนใจนั้นคืออะไรกันแน่ ก็ลองมาดูที่การทำเงินของธุรกิจกันบ้าง ว่ามีวิธีอย่างไรที่จะหาเงินและทำให้เกิดกำไรจากการดำเนินงานขึ้นมาได้ ในตัวอย่างเรื่องภัตตาคารหรือร้านอาหาร นักลงทุนอาจจะลองคิดดูว่า ต้นทุนของอาหารต่างๆ ที่อยู่ในร้านนั้นเป็นเท่าไร และร้านสามารถคิดราคาแพงเป็นพิเศษเพราะว่ามีดนตรี เด็กเสริฟ เด็กเชียร์เบียร์ ฯลฯ อยู่ในร้านด้วย ได้หรือไม่ และแนวทางการทำธุรกิจเป็นแบบ ต้องการขายราคาถูกแต่จำนวนมาก หรือว่าขายจำนวนน้อยแต่ว่าราคาสูง เป็นต้น

จากนั้นก็ ลองถามตัวเองดูว่า ร้านอาหารหรือภัตตาคารที่เรากำลังสนใจอยู่นั้น ทำมาค้าขายเป็นอย่างไรบ้าง อย่าเพิ่งไปกังวลกับการขุดคุ้ยค้นหาพวกงบการเงินอะไรมาดู ขั้นตอนนี้ ยังไม่ต้องก็ได้ ลองดูแค่สภาพทั่วๆ ไปก่อนที่เราเห็นเกี่ยวกับธุรกิจนั้น เช่นว่า ถ้าเป็นเรา (หรือเพื่อนๆ เรา) เราจะเลือกภัตตาคารอย่างไร เราจะเลือกอันไหนเพราะว่าอะไร เราเปลี่ยนภัตตาคารบ่อยๆ ไหม (อาจจะเพราะว่าเบื่อนักร้อง รำคาญนักดนตรี ไม่มีโคโยตี้ อะไรก็แล้วแต่) หรือว่าเรากินไม่เลือก อันไหนก็ได้ที่สะดวก มีคนมาใช้บริการกันเยอะไหม ที่จอดรถแน่นตลอดหรือเปล่า หรือว่าไปทีไรก็ว่างตลอดจอดได้สบายลุกนั่งสะดวกแม่ครัวนั่งหลับเด็กผับนั่งหาว หรือว่ามีลูกค้าเก่าๆ แวะเวียนมาเป็นประจำเรียกว่าเป็นเหมือนบ้านหลังที่สี่ (เออ สองกับสาม ไปไหนล่ะ) การตกแต่งภายในเป็นอย่างไร พนักงานต้อนรับดีไหม อาหารดีดนตรีไพเราะนักร้องอร่อย (คือคุยอร่อย สนุก ครับ อย่าคิดเป็นอื่น) หรือเปล่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่่น่าสนใจจะต้องวิเคราะห์ทั้งสิ้น

ถ้าเราคิดว่า เราเข้าใจธุรกิจที่เราสนใจนั้นได้ในระดับหนึ่งแล้ว (อย่างน้อยก็ในฐานะของผู้สังเกตการณ์ล่ะ) ลองใช้เวลาสักนิด พิจารณาว่า ธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรในสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน (และอนาคต) อ่ะพูดกันง่ายๆ ก็คือ มีดีอะไรมากกว่าคนอื่นหรือคู่แข่งบ้าง

อย่างแรกที่เราต้องดูคือ มีการแข่งขันมากไหมในอุตสาหกรรมนั้น ยกตัวอย่างของภัตตาคาร จะเห็นว่าผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย คือมีหลายร้านให้เลือกเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ เช่นคอมพิวเตอร์ล่ะ ในโลกนี้มีคอมพิวเตอร์มากมายสักกี่ยี่ห้อที่เราสามารถเลือกซื้อกันได้บ้าง ก็คงมีไม่มาก อ่ะ นี่ก็แสดงว่าการแข่งขันของคอมพิวเตอร์นั้นมีน้อยกว่าภัตตาคารมากล่ะสิ - ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นหรอก แต่อาจจะเป็นเพราะว่าการจะเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ หรือสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั้น จะต้องใช้เงินทุนมากกว่าการเปิดภัตตาคารมาก หรือไม่ก็เป็นเพราะสภาพการแข่งขันนั้นดุเดือดอยู่แล้ว จนไม่มีใครอยากเข้ามาใหม่ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ซึ่งแตกต่างจากภัตตาคารที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการเปิดร้าน หรืออาจจะเป็นเพราะว่าการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาขายนั้นยากกว่าเยอะ หรือว่าเป็นธุรกิจที่จะต้องต่อสู้กันด้วยราคาแต่เพียงอย่างเดียว (จริงๆ แล้ว ไม่มีธุรกิจไหนที่ต่อสู้กันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวหรอก มีแต่คนเรานี่แหละที่คิดว่าลูกค้าจะต้องชอบของที่ถูกกว่าเสมอ) การถามคำถามเพวกนี้กับตัวเราเอง จะทำให้เราเห็นภาพว่า ในวันนี้หรือวันข้างหน้าถ้าธุรกิจจะต้องมีคู่แข่ง ธุรกิจนั้นจะทำอย่างไรในการเอาตัวรอดและชนะคู่แข่งได้

การถามคำถามพวกนี้มากๆ เข้า อาจจะทำให้ดูเหมือนเราเริ่มเพี้ยน แต่การคิดแบบนักวิเคราะห์เป็นการถามเพื่อทำความเข้าใจว่าธุรกิจอะไร ทำงาน ทำเงินได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน มีการเติบโตหรือไม่อย่างไร และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้หรือไม่ หรือว่าคู่แข่งทำธุรกิจนั้นได้ดีกว่า เรื่องพวกนี้ในหลายๆ ครั้งก็ถูกแสดงออกมาในงบการเงินด้วยเช่นกัน และก็ยังมีผู้ชำนาญการได้ทำการวิเคราะห์เรื่องพวกนี้ไว้ให้เราอยู่แล้ว เราก็มีหน้าที่ติดตามดูและพิจารณาว่าน่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่

ตอนที่ 7 (3 ก.พ. 54)
การพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ: เกราะป้องกันธุรกิจ

ในการพิจารณาวิเคราะห์ด้านการลงทุน สิ่งที่ต้องดูเป็นพื้นฐานก็คือตัวธุรกิจเอง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขต่างๆ ในงบการเงิน และหน้าที่ของนักลงทุนก็คือ ต้องหาบริษัทชั้นเลิศที่แตกต่างจากบริษัทธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปให้ได้ หลักการหนึ่งที่มีประโยชน์ก็คือการเสาะหา "เกราะป้องกัน" ของธุรกิจ แม้ว่าพวกเราจะไม่ค่อยได้ยินคำๆ นี้บ่อยนักเหมือนกับคำเช่นอัตราส่วน P/E หรือ กำไรจากการดำเนินงาน, กำไรสุทธิ อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่า "เกราะป้องกัน" นี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการประเมินค่าของธุรกิจเลยทีเดียว

"เกราะป้องกัน" เหล่านี้ พูดง่ายๆ ก็คือลักษณะที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และกำไรในระยะเวลานานต่อไปในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีความเฉพาะ และมีกำแพงป้องกันตัวเองจากการแข่งขันแล้ว บริษัทหรือธุรกิจนั้นก็มีโอกาสที่จะสร้างตัวเองให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต

เรื่องของเกราะป้องกันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าเมื่อใดที่บริษัทหนึ่งออกผลิตภัณฑ์หนึ่งขึ้นมา ในไม่ช้าไม่นานก็จะมีคู่แข่งออกผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกันออกมา ซึ่งถ้าไม่มีประสิทธิภาพดีเท่ากัน ก็มักจะดีกว่า เรียกง่ายๆ ว่าสามารถที่จะถูกเลียนแบบได้ง่าย หรือหัวเราะทีหลังย่อมดังกว่า หรือว่าคลื่นลูกใหม่ย่อมแรงกว่าคลื่นลูกเก่า อะไรก็ตามทีเถิดครับ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นบอกไว้ว่า ในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ คู่ต่อสู้จะทำให้กำไรส่วนที่มากกว่าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นหดเหลือน้อยลงๆ หรือพูดง่ายๆ อีกอย่างได้ว่า การแข่งขันทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถมีการเติบโตของรายได้และกำไรสูงๆ เป็นเวลานานๆ ได้เนื่องจากความได้เปรียบนั้นจะถูกเลียนแบบได้

คราวนี้เรามาลองพิจารณาว่าบริษัทหนึ่งๆ มีเกราะป้องกันธุรกิจของเขาหรือไม่อย่างไรกันดู โดยลองดูตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ลองดูความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอดีต ดูว่าสามารถมี ROA และ ROE สูงได้ตลอดเวลาหรือไม่ ตัวเลขพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกได้ว่า บริษัทมีความพิเศษและสามารถใช้ความพิเศษนั้นให้คงอยู่ได้เสมอต้นเสมอปลายหรือเปล่า จริงๆ แล้วการวิเคราะห์เรื่องของเกราะป้องกันธุรกิจนี้ เป็นเรื่องของ qualitative (เชิงคุณภาพ) แต่ว่าผลของมันก็จะสะท้อนออกมาในรูปของตัวเลขทางการเงินด้วย

2. สมมติว่า บริษัทที่เราสนใจ มีตัวเลขทางการเงินดีมาสม่ำเสมอ ก็ลองพิจารณาต่อไปอีกว่า กำไรต่างๆ ที่ได้มานั้น มาจากความได้เปรียบเป็นพิเศษของตัวบริษัทนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเลียนแบบกันได้ง่ายจากคู่แข่ง ยิ่งการเลียนแบบทำได้ยากแค่ไหน การรักษาความได้เปรียบของธุรกิจไว้ก็ยิ่งง่ายเท่านั้น

ตอนที่ 8 (4 ก.พ. 54)

3. ลองพิจารณาดูว่า ใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ที่บริษัทจะยังคงได้เปรียบอยู่ ว่ากันง่ายๆ คือ คู่แข่งยังโงหัวไม่ขึ้น (อืม ภาษาชาวบ้านมากๆ ขออภัย) เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า ช่วงเวลาที่บริษัทยังคงมีความได้เปรียบอยู่ ซึ่งอาจจะสั้นแค่ไม่กี่เดือน หรือยาวนานเป็นหลายสิบปีก็ได้ ยิ่งนานยิ่งดีครับ

4. ลองคิดถึงเรื่องโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมดู มีการแข่งขันในระดับสูงหรือเปล่า อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มักจะไม่สามารถมีการเติบโตของกำไรได้สูงมากในระยะเวลาติดต่อกันนานๆ คือบางปีอาจจะมีกำไรมาก บางปีอาจจะกำไรน้อย เป็นต้น

จากการลองพิจารณาศึกษา สารพัดธุรกิจต่างๆ จะสรุปได้ว่า
เกราะป้องกันธุรกิจนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4-5 อย่างคือ

ก) การเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำ อันนี้เรียกได้ว่าเอาราคาเข้าสู้ หรือเข้าขู่ ก็แล้วแต่ล่ะครับ ธุรกิจประเภทนี้ จะมีขนาดใหญ่ยอดขายสูง แต่ว่าอัตรากำไรไม่สูง เรียกว่าเอาราคาเข้าสู้ ได้การประหยัดจากปริมาณการผลิตหรือการขายที่สูง (economics of scale) คู่ต่อสู้รายใหม่ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามา เนื่องจากปริมาณการขายไม่มากเท่ากับเจ้าเก่าที่ทำอยู่ ตัวอย่างเช่นห้างขายสินค้าแบบยกเข่งขนาดใหญ่ๆ ที่ขายด้วยราคาที่ต่ำมาก เพราะว่าได้สินค้ามาในราคาต่ำกว่าเนื่องจากซื้อมาทีละมากๆ ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงได้

ข) การเป็นผู้ที่มีสินค้าและบริการที่เป็นพิเศษจริงๆ เหนือกว่าคนอื่น เช่นมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า หรือว่ามีสิทธิบัตรพิเศษที่คนอื่นไม่มี แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า เรื่องนี้ต้องระวังเหมือนกัน เนื่องจากคนเทคโนโลยีมีการพัฒนาตลอดเวลา และสิทธิบัตรที่เป็นเรื่องที่ค้นคิดกันอยู่ตลอดเวลาที่ได้เปรียบอยู่ในวันนี้ อาจจะเสียเปรียบในวันหน้าก็ได้

ค) จับตัวลูกค้าเอาไว้ ด้วยการที่ให้บริการสินค้าหรือบริการที่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงสูง ค่าใช้จ่ายนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนจากสินค้าและ/หรือบริการที่ใช้อยู่อย่างหนึ่งจากผู้ขายคนหนึ่ง ไปเป็นอีกอย่างหนึ่งจากผู้ขายอีกคนหนึ่ง แบบนี้ ผู้ใช้สินค้าหรือบริการ ก็ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าต้องเสียเงินและเสียเวลามากในการเปลี่ยน

ตอนที่ 9 (5 ก.พ. 54)

ง) ผลดีที่เกิดจากเครือข่ายที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ข้อได้เปรียบนี้เกิดขึ้นเมื่อยิ่งมีจำนวนผู้ใช้หรือลูกค้าของธุรกิจนั้นมากขึ้น ธุรกิจนั้นยิ่งมีข้อแข็งแกร่งมากขึ้นๆ เพราะเครือข่ายใหญ่ขึ้นเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนั้น ยกตัวอย่างเช่นเว็ปไซต์ ebay ยิ่งมีคนขายและคนซื้อมากขึ้น ตัว ebay เองก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะทั้งผู้ซื้อ จะหาอะไรก็พบได้เพราะมีผู้ขายจำนวนมาก คนขาย จะขายอะไรก็ขายได้เพราะว่ามีคนจำนวนมากมาหาของสารพัดชนิด เป็นต้น

จ) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น บางบริษัทมีข้อได้เปรียบเหนือว่าคู่แข่งเนื่องจากมีคุณสมบัติอื่นเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้เป็นของที่จับต้องได้ ตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน หรือข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ในบางกรณี คู่แข่งทุกๆ เจ้าในอุตสาหกรรมนั้นอาจจะอยู่ได้ หรือขายได้ด้วยสิ่งที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ ตัวอย่างเช่นสินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างที่อาศัยยี่ห้อในการขาย หรือสามารถขายได้ด้วยราคาที่สูงกว่าปกติได้เป็นต้น ตัวอย่างเช่น กระเป๋าสตรี ไม่ว่าจะยี่ห้อหลุยส์ กุ๊ชชี่ หรือแว่นตา ทำไมต้องเป็นเรย์แบน หรือยี่ห้ออื่นๆ ที่ราคาสูงลิ่ว เป็นต้น

ฉ) คู่แข่งถูกกันเอาไว้ ไม่ให้สามารถเข้ามาได้ เช่นการที่มีสิทธิบัตรหรือใบอนุญาตต่างๆคุ้มครองอยู่ การที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการเข้ามาร่วมทำธุรกิจ หรือการที่เป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน มีลูกค้าจำนวนจำกัดและแข็งแกร่งกันอยู่แล้ว แม้กระทั่งมีอัตรากำไรที่ต่ำแม้จากยอดขายที่สูง (จุดคุ้มทุนสูง) พวกนี้จะเป็นการกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามาได้ง่ายนักในอุตสาหกรรม

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเสริมก็คือ เป็นไปได้ที่ บริษัทหนึ่งๆ สามารถจะมีเกราะป้องกันธุรกิจหลายแบบได้ ตัวอย่างเช่นบริษัทหนึ่งอาจจะใช้ผลจากเครือข่ายในขณะที่ใช้ผลดีจากการประหยัดด้วยขนาดคือมีต้นทุนราคาต่ำกว่าไปพร้อมๆ กัน หลักการโดยทั่วๆ ไปคือ ยิ่งบริษัทหรือธุรกิจมีเกราะป้องกันหลายอย่างเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ปลอดภัยจากการแข่งขันมากเท่านั้น

การลงทุนที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เกี่ยวข้องไปมากกว่าการมองหาธุรกิจที่แข็งแกร่ง หรือหาธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือซื้อหุ้นที่ราคาถูกกว่าความจริง การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องขึ้นกับการได้เลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถยืนยงต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคในระยะเวลานานได้อีกด้วย เกราะป้องกันธุรกิจชนิดต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาใช้ในการพิจารณาเลือกธุรกิจที่จะลงทุน การมองหาและพิจารณาเรื่องพวกนี้อาจจะต้องใช้แรงมากกว่าการดูตัวเลขทางบัญชีต่างๆ อีกสักหน่อยแต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและควรทำเนื่องจากเป็นการสร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนในการลงทุน และการที่กิจการสามารถทำกำไรได้ดีได้มาก สุดท้ายก็จะสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นนั่นเอง

ตอนที่ 10 (7 ก.พ. 54)
เพิ่มเติมในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน

ที่ผ่านมา เราได้คุยเรื่องของเกราะที่ทำหน้าที่ป้องกันธุรกิจแบบต่างๆ กัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เกราะเหล่านี้ของแต่ละบริษัทก็มีไม่เหมือนกันและมีคุณภาพไม่เหมือนกัน (เปรียบไปก็เหมือนกับเกราะที่นักรบโบราณเขาใส่กันแหละครับ มีทั้งทำจากหนังสัตว์หรือโลหะชั้นดี หรือมีความหนาต่างกัน ดังนั้นก็สามารถป้องกันศาสตราวุธได้ไม่เหมือนกัน) การที่จะดูว่าบริษัทมีเกราะป้องกันธุรกิจของตัวเองดีแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และเป็นกระบวนการที่อาจจะพิสดารสักหน่อย มาคราวนี้เราจะมาลองพิจารณาแบบจำลองที่อาจจะบอกได้ถึงความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกัน

พลังขับดัน 5 ประการของ Micheal E. Porter

ในหนังสือเรื่อง กลยุทธ์การแข่งขันของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1980 กล่าวถึงเรื่องของการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งวางรากฐานของการมองสภาพการแข่งขันระหว่างธุรกิจหนึ่งๆ กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และพิจารณาดูว่าตำแหน่งของธุรกิจนั้นๆ อยู่ในสภาพอย่างไรในอุตสาหกรรม (สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้หรือไม่อย่างไร) ส่วนใหญ่แล้วก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของเกราะป้องกันธุรกิจอยู่มาก และทำให้เข้าใจสภาพการแข่งขันของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร

1) อุปสรรคในการเข้าทำธุรกิจของผู้เล่นรายใหม่ (Entry Barrier) ยิ่งมีอุปสรรคมาก คือไม่ใช่ใครก็สามารถเข้ามาทำได้ ยิ่งดี เช่นต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล มีจุดคุ้มทุนยาวไกล หรือว่าต้องได้รับสัมปทานหรือสัญญาซื้อในระยะยาว ตัวอย่างเช่นการสร้างมหาวิทยาลัย หรือสร้างโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทขุดเจาะน้ำมัน บริษัทให้บริการกิจการสื่อสารโทรคมนาคมบางประเภท เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เริ่มกันได้ง่ายๆ สำหรับผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ๆ

2) กำลังของผู้ซื้อ (Customer's Bargaining Power) ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมาก ธุรกิจอาจจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก หรือผู้ซื้อสามารถซื้อใครก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีกับธุรกิจ ยิ่งผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองน้อย ยิ่งเป็นผลดีกับธุรกิจ

ตอนที่ 11 (8 ก.พ. 54)

3) กำลังของผู้ที่เตรียมวัตถุดิบหรือบริการสำคัญให้ ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท ยิ่งผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองน้อยยิ่งดี

4) การรุกรานของสิ่งที่ทดแทน สมมติว่าบริษัทผลิตอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ใช้การได้ดี แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง อุปกรณ์นั้นกลับล้าหลังไปแล้วถูกทดแทนด้วยของที่ใหม่กว่า เช่นนี้ธุรกิจก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เรื่องนี้ต้องดูว่า มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าหรือคุณภาพดีกว่าหรือไม่ ธุรกิจประเภทเทคโนโลยีชั้นสูง จะตกอยู่ในสภาพอย่างนี้คือ ไม่นานผลิตภัณฑ์ก็ล้าสมัยไปได้เร็ว

5) สภาพการแข่งขันกันเองภายในอุตสาหกรรมนั้น ต้องดูว่าสภาพการแข่งขันเป็นอย่างไร บริษัทแต่ละบริษัทใช้สารพัดกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาโดยยอมลดราคาหรือได้กำไรน้อยลงหรือไม่ หรือว่าอุตสาหกรรมมีกำลังผลิตที่เหลือมากและแต่ละบริษัทมีจุดคุ้มทุนที่ยอดขายสูง หากเป็นแบบนี้ย่อมทำให้สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือตลาดนั้นสูงมากอย่างแน่นอน

เมื่อเรานำหลักการเรื่องแรงขับดัน (หรือแรงขัดขวางความเจริญ ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ) ทั้ง 5 ประการของพอร์เตอร์มาพิจารณา ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถพิจารณาได้ว่าธุรกิจมีเกราะป้องกันได้ดีแค่ไหน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เราก็จะพอคาดเดาสภาพในอนาคตของบริษัทหนึ่งๆ ได้ ยิ่งถ้าหากบริษัทมีเกราะป้องกันที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่มีคู่แข่งที่เข้มแข็ง แข็งแรง และมีเงินทุนหนารวมทั้งต้องการฟาดฟันคู่ต่อสู้อื่นให้ล้มหายตายจากไป ธุรกิจก็ย่อมอยุ่ในสภาพที่ลำบากอย่างแน่นอน

เมื่อนักลงทุนคัดเลือกบริษัทที่ตัวเองสนใจออกมาแล้ว การพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าธุรกิจนั้นมีความสามารถในการแข่งขันดีหรือไม่เพียงใด เป็นสิ่งที่จะทำให้ตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น การที่ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ อาจจะไม่เลวร้ายขนาดที่จะทำให้ธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป แต่ว่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำกำไรต่ำลงๆ เนื่องจากถูกคุกคาม สุดท้ายก็จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่แย่กับนักลงทุนมากกว่า

อาจจะมีนักลงทุนบางส่วนที่เก่งพอที่จะเข้าซื้อหุ้นในช่วงจังหวะเวลาที่หุ้นตกลงอย่างรุนแรง และถือไว้เพียงในระยะเวลาสั้น แล้วก็ขายหุ้นนั้นไป แต่ในฐานะของนักลงทุนแบบยั่งยืนในระยะยาวแล้ว วิธีการแบบนั้นอาจจะไม่ใช่วิธีที่นักลงทุนแบบนี้เลือกจะทำ เนื่องจากนักลงทุนระยะยาวคิดว่า การยอมเสียเวลาคัดเลือกบริษัทชั้นเลิศจะให้ผลตอบแทที่ดีกว่าในระยะเวลายาวกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

ตอนที่ 12 (9 ก.พ. 54)
การพิจารณาคุณภาพในการบริหารจัดการ

เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทต่างๆ จะดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยตัวมันเองโดยปราศจากคน ดังนั้นจะกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ก็คือว่า ธุรกิจก็คือคนที่กำลังทำหน้าที่บริหารจัดการมันอยู่นั้นเอง การที่เราระลึกไว้เสมอว่า "ผู้บริหารและบุคคลากรของบริษัท" เป็นคนทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ต่างหาก จะทำให้เราไม่ลืมว่ายังมีแง่มุมนี้ด้วยที่นักลงทุนจะต้องพิจารณา ในท้ายของเรื่องนี้เราจะมีตัวอย่างของคำถามหรือจุดที่จะต้องพิจารณาเมื่อเราต้องการเลือกลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ

ทำไมผู้บริหารจึงมีความสำคัญ

ผู้บริหารเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดมากกับการบริหารจัดการ และเรื่องราวภายในต่างๆ ของบริษัท หากได้บุคคลที่ไม่มีความสามารถ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ผู้บริหารเหล่านี้มีวิธีมากมายที่จะหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองและพรรคพวกได้ (โดยที่ไม่ผิดกฏหมายด้วย) ดังนั้นนักลงทุนควรจะต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารใได้มากที่สุดโดยการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือแม้แต่ในธุรกิจนั้นเอง อาจจะโดยการเข้าพบเป็นการส่วนตัว พูดคุยกับพนักงานของบริษัท คุยกับบริษัทคู่แข่งขัน คุยกับลูกค้าของบริษัท ตลอดจนผู้ที่ขายวัตถุดิบให้กับบริษัทเป็นต้น ในมุมมองของนักวิเคราะห์มืออาชีพแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นข้อมูลที่จะต้องทราบ แต่ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ข้อมูลพวกนี้เราอาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหาไม่ได้เลย

สุดท้ายแล้ว นี่คือเรื่องของความเชื่อถือและไว้ใจ นั่นคือในฐานะนักลงทุน เราต้องถามตัวเองด้วยว่า เราสามารถเชื่อและไว้ใจให้ผู้บริหารเหล่านี้ ดำเนินกิจการแทนเราได้หรือไม่??

ตอนที่ 13 (10 ก.พ. 54)

เราในฐานะนักลงทุนรายย่อย สามารถที่จะทำความเข้าใจและรู้จักผู้บริหารต่างๆ ได้จากข้อมูลส่วนตัว ผลงานที่ผ่านมา ประวัติการทำงาน ในเว็ปไซต์ของตัวบริษัทเอง ตลอดจนดูวิธีการตอบคำถามของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างๆ แล้วก็มาพิจารณาว่า เราสามารถที่จะเชื่อถือไว้ใจให้กลุ่มผู้บริหารนี้ทำงานดูแลกิจการแทนเราหรือไม่ แต่ในหลายๆ กรณี ผู้บริหารก็เติบโตมากับบริษัทและข้อมูลต่างๆเหล่านี้ก็ไม่ได้สามารถหาได้ง่ายนัก แต่จุดหนึ่งที่สำคัญและนักลงทุนควรสังเกตคือ ดูว่าผู้บริหารเหล่านี้มีวิธีการทำงานและวัดผลการทำงานของพวกเขาอย่างไร หรือว่าได้ทำตามที่สัญญาต่างๆ เอาไว้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ เป็นต้น

การซื้อธุรกิจ

การซื้อหุ้น ก็เหมือนเป็นการซื้อบางส่วนของธุรกิจนั่นเอง คือผู้ถือหุ้นก็คือเจ้าของส่วนของธุรกิจ และสมมติว่าเราได้ซื้อธุรกิจเอาไว้ และต้องการถือหุ้นนั้นไว้ คือเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ เป็นเวลานานแสนนาน เราจะดูได้อย่างไรล่ะว่า ผู้บริหารต้องการที่จะทำธุรกิจร่วมกันกับเรา?

นักลงทุนควรจะมองหาบริษัทที่ให้ข่าวสาร หรือติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนอย่างโปร่งใส มีการแยกแยะอย่างชัดเจนออกจากกันระหว่างเรื่องงานทางธุรกิจและเรื่องผลประโยชน์หรือความคิดส่วนบุคคล มีการตั้งเป้าหมายในการทำงานและประเมินอย่างตรงไปตรงมา การดูการตั้งเป้าหมายและการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับพรรคพวกตัวเอง เป็นสิ่งที่นักลงทุนสามารถสังเกตได้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นมีความจริงใจในการทำงานเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น (ซึ่งคือเจ้าของบริษัท) หรือไม่อย่างไร

ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเข้าไปสืบเสาะแสวงหาดูลักษณะการทำงาน หรือการบริหารจัดการว่าทำได้ดีหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะปล่อยยกเลิกความตั้งใจส่วนนี้ไปเสียเลย แต่นักลงทุนก็ยังมีทางเลือกอื่นโดยการดูจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชนในการที่จะประเมินความสามารถหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นนามธรรมสุดๆ อย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการบริหารจัดการนี้ โดยสิ่งที่เราต้องจับตาดูก็คือความโปร่งใสในการบริหาร (Good Governance) เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้บริหารของบริษัทบางบริษัท มองเห็นที่ทำงานของตัวเองเป็นเหมือนกับธนาคารส่วนตัว (ที่ไม่ต้องฝากเงิน แต่มีเงินให้ถอนได้ตลอด) อยู่

ตอนที่ 14 (11 ก.พ. 54)
จุดที่ต้องลองตรวจสอบ
เหมือนกับเล่นเกม 20 คำถามล่ะครับ เพื่อที่จะดูว่าการบริหารจัดการเป็นอย่างไร มีฝีมือหรือไม่ และผู้บริหารตั้งใจที่จะทำงานเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นหรือไม่ ลองดูกันนะครับว่าพวกเราควรจะต้องดูอะไรบ้าง จุดที่ต้องพิจารณาบางจุดอาจจะต้องใช้ความรู้ทางด้านบัญชีนิดหน่อย แต่คงไม่เกินความสามารถของพวกเรานักลงทุนที่จะเรียนรู้

เรื่องของความโปร่งใส
1. มีการใช้ตัวเลขประเภท "ค่าใช้จ่ายที่เปิดขึ้นเพียงครั้งเดียว" มากเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างที่ทำและประกาศผลทางการเงินออกมา เป็นการประกาศสิ่งที่คิดคำนวณตามมาตรฐานทางบัญชีที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปหรือไม่ พุดอีกอย่างคือ มีปัญหากับผู้สอบบัญชีที่จะต้องมีข้อสังเกตบ่อยๆ หรือเปล่า
2. บริษัทมีมาตรฐานทางบัญชีที่มั่นคงหรือเปล่า หมายความว่า เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยไหม การทำแบบนั้นบ่อยๆ อาจจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังหลบซ่อนอะไรบางอย่างได้
3. บริษัทประกาศเปลี่ยนตัวเลขทางบัญชีไปมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับการปรับมาตรฐานทางบัญชีหรือเปล่า หรือว่ามีอาการออกงบการเงินช้า ไม่ยอมออกสักที ออกแล้วก็แก้อีก อะไรทำนองนี้เป็นต้น
4. มีการจ่ายเงินกันเองเช่นเงินโบนัสพิเศษมากเกินไปหรือไม่ (เมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน) ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะเรียกว่า ชงเอง ยิงเอง เอาเงินเข้ากระเป่ากันเอง ต้องระวังให้ดีนะครับ

ตอนที่ 15 (12 ก.พ. 54)
ความเป็นมิตรกับผู้ลงทุน
5. มีการใช้ข้อมูลภายในในการออกเสียงหรือเปล่า
6. บริษัทได้จัดการป้องกันการครอบงำกิจการที่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลให้เกิดการลดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่าส่วนของเจ้าของเดิมหรือผู้บริหารหรือไม่
7. คะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นถูกต่อต้าน โดยสิ่งต่อไปนี้หรือไม่ ก) ความขี้เกียจหรือชักช้าของผู้บริหาร ข) การแทรกแซงของผู้บริหารในกระบวนการลงคะแนนเสียง ค) การรวมกลุ่มกันของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ (คือ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยโหวตอย่างไรก็ไม่ชนะแน่)
8. ประธานกรรมการกับประธานบริษัทเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า
9. คณะกรรมการหรือผู้บริการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกัน ที่เป็นที่ต้องสงสัยว่าจะทำการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอาไว้เป็นหลักหรือเปล่า

ตอนที่ 16 (13 ก.พ. 54)
ค่าตอบแทน, การเป็นเจ้าของ, และการบริการดูแล
10. คณะกรรรมการมีการจัดการค่าตอบแทนในลักษณะของการทำงานในฐานะลูกจ้างเท่านั้นหรือไม่ หรือว่ามีการใช้รางวัลอย่างอื่นในการตัดสินใจที่ทำให้เกิดประโยชน์อื่นๆ แต่บริษัทเพิ่มเติมเข้าไปอีก
11. ในสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทได้มีการแจกหุ้นสำหรับพนักงานมากกว่า 3% ในแต่ละปีหรือไม่
12. ในยามที่สถานการณ์ไม่ดี เช่นผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก มีผู้บริหารได้รับโบนัสพิเศษที่จะทำให้ไม่ลาออกหนีไปไหน หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายแบบหักดิบกลางปล้องหรือว่าได้รับผลประโยชน์อื่นใดเป็นพิเศษหรือเปล่า เรียกว่า นอกจากผลงานการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะแย่อันอาจจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ดีแล้ว ศึกภายในยังจะกัดกินบริษัทซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
13. ส่วนของการเป็นเจ้าของของผู้บริหารระดับสูงมีน้อยเกินไปหรือไม่ คือน้อยเสียจนคิดว่าไม่ได้มีส่วนได้เสีย หรือว่าไม่มีความรู้สึกร่วมว่าเป็นเจ้าของเหมือนกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย
14. บรรดาผู้บริหารได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนมากๆๆๆ หรือไม่ (สังเกต ว่ามี "ๆ" เยอะ) คือเอาเงินส่วนที่เป็นเงินสด มาแจกกันเองมากกว่าที่จะได้เป็นหุ้น (และบังคับว่าจะต้องเก็บไว้เป็นระยะเวลานานหนึ่งๆ) หรือเปล่า
15. การตั้งเป้าหมายในการบริหารงาน เป็นการดูจำเพาะในช่วงระยะเวลสั้น (ผลระยะสั้น) แทนที่จะเป็นผลระยะยาวที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่ หรือว่า การเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใสพอที่จะทำให้กิดข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่

ตอนที่ 17 (14 ก.พ. 54)
จากทั้ง 15 ข้อข้างต้น ที่เป็นคำถามหรือข้อสงสัยนี้ มีน้ำหนักไม่เท่ากัน บางอันก็เป็นข้อสังเกต แต่บางข้อก็ถึงกับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างเคร่งครัด ข้อหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือข้อ 9 เนื่องจากอาจจะเป็นการแสดงถึงการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสไม่มีธรรมาภิบาลได้ การทำผิดบ่อยๆ หรือทำอะไรเป็นที่ต้องสงสัยบ่อยๆ จะเป็นจุดหรือการกระทำที่นักลงทุนจะต้องจับตาดูว่ามีอะไรผิดปกติกับกลุุ่มผู้บริหาร ที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ถือหุ้น ตัวอย่างเรื่องแบบนี้ก็เช่น บริษัทได้จัดจ้างให้บริษัทย่อยของผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารให้ทำงานอะไรบางอย่าง และจ่ายเงินให้เป็นจำนวนมากอย่างไม่สมเหตุผล หรือบริษัททำการซื้อทรัพย์สินของใครบางคนที่มีอำนาจอิทธิพลควบคุมบริษัท ในราคาสูงและ/หรือทรัพย์สินนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเลย เป็นต้น

Credit >> http://muegao.blogspot.com


หุ้นคืออะไร

หุ้นคืออะไร

บางที ความเข้าใจหรือความรู้สึกผิดๆ เกี่ยวกับหุ้นก็คือ หุ้นคืออะไรก็ไม่ทราบได้ อาจจะเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นที่สามารถซื้อขายได้ และมีราคาเปลี่ยนแปลงไปได้ อาจะขึ้นหรือลงก็ได้ และในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงหุ้นอาจจะนึกไปถึงตัวอักษรและตัวเลขต่างๆ ที่วิ่งอยุ่บนหน้าจอ และสามารถกดปุ่มซื้อขายเปลี่ยนมือจากคนนี้ไปคนนั้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจากความเป็นจริงไปมาก เพราะในเรื่องของการลงทุนในหุ้นแล้ว การซื้อขายหุ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง แต่ว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดแค่นั้น

ในความเป็นจริง หุ้น แสดงถึงความเป็นเจ้าของในบริษัทที่เราสนใจ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยทั่วไป ธุรกิจเล็กๆ นั้นเกิดขึ้นด้วยการนำเงินส่วนตัวของคน อาจจะเป็นหนึ่ง สอง สาม หรือกี่คนก็ได้ นำเงินมารวมกัน แล้วทำธุรกิจนั้น ส่วนของความเป็นเจ้าของของแต่ละคนก็ขึ้นกับสัดส่วนในการนำเงินมาลงในธุรกิจนั้น ในลักษณะแบบนี้ ธุรกิจแบบนี้ได้ชื่อว่าเป็น "บริษัทเอกชน" หรือยังคงมีความเป็นส่วนตัวอยู่ และเมื่อธุรกิจใหญ่ขึ้นเติบโตขึ้น ก็อาจจะปรับตัวไปเป็น "บริษัทมหาชน" และมีการขายบางส่วนออกมาให้กับผู้ที่สนใจลงทุน นี่คือต้นตอที่ทำให้ต้องมี "หุ้น" เกิดขึ้น

เมื่อเราซื้อหุ้น เราก็จะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจ - จบข่าว (โห ง่ายซะ) ในระยะเวลานานผ่านไป มูลค่าในการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นจะขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยุ่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ถ้าธุรกิจดำเนินไปได้ดีมีกำไรมากหนี้สินน้อยลง มูลค่าของความเป็นเจ้าของก็จะสูงขึ้น

ทำไมเราจึงลงทุนในหุ้น

การลงทุนในหุ้น หรือหุ้นสามัญนั้น เป็นเพียงวิธีหนึ่งในหลายๆ วิธีของการลงทุนจากเงินที่เราเหนื่อยยากหามาได้ ยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่บางทีอาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นการลงทุนเช่น การซื้อของสะสมมาเก็บไว้ เช่นพระเครื่อง เหรียญเก่าๆ รถยนต์รุ่นเก่าๆ เป็นต้น เหตุผลนั้นง่ายมากก็เพราะว่า นักลงทุนที่มีความสามารถดีนั้นทราบดีว่า การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด และในระยะเวลานาน (ย้ำ) การลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ให้ผลตอบแทนได้สูงที่สุด

เรามาดูในด้านที่ไม่ดีบ้าง การลงทุนในหุ้นก็เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่แน่นอนได้ เช่นมูลค่าของหุ้นสามารถที่จะตกลงได้ในบางช่วงเวลา บางครั้งราคาหุ้นอาจะจตกลงมาเป็นเวลานาน ความโชคร้าย หรือว่าการเข้าซื้อหุ้นที่ผิดราคาผิดเวลา สามารถทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่่ต่ำได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการวางแผนในการลงทุนระยะยาว แต่ (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง) สำหรับหุ้นแต่ละตัวที่นักลงทุนได้เลือกลงทุนแล้ว ไม่มีอะไรเป็นการรับประกันได้ว่าจะมีกำไรทุกครั้งไป ถ้านักลงทุนโชคร้ายจริงๆ หรือว่าเลือกหุ้นที่มีราคาลดลงเรื่อยๆ (มันมีเหตุ ที่ทำให้เป็นแบบนั้น ซึ่งเราหลีกเลี่ยงได้) นักลงทุนก็สามารถขาดทุนได้เช่นกันแม้ในระยะเวลานาน

ถ้าพวกเราได้อ่านบทความของผมไปเรื่อยๆ และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนโดยมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้และมีผลตอบแทนที่สูงได้ (low risk, high return) บทความนี้จะเป็นตัวช่วยทำให้พวกเรามีโอกาสเลือกหุ้นได้ถูกตัว ก็คือเลือกธุรกิจที่ดี และหลีกเลี่ยงหุ้นที่เราไม่ควรจะซื้อ (คือธุรกิจที่ไม่ดี) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องทำงานคัดเฟ้นหาบริษัทเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าเพราะจะเป็นวิธีที่ทำให้เงินของเราทำงานให้กับเราได้ดีกว่าการนำเงินไปทำอย่างอื่น

Credit >> http://muegao.blogspot.com


การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

การลงทุนที่ในหลักทรัพย์ที่ปลอดภัยวิธีหนึ่งก็คือ การลงทุนที่เราได้พิจารณาตีราคาสิ่งที่เราลงทุนเรียบร้อยแล้ว เปรียบเทียบไปก็เหมือนกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อขายต่อ หากเราเห็นบ้านหรือที่ดินที่เจ้าของอยากขายโดยเร็ว ร้อนเงิน หรืออยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมนิดหน่อย แต่อยู่ในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเราได้ศึกษาแล้วว่าราคาปกติของทรัพย์สินนั้นควรจะเป็นเท่าไร แต่ถ้ามีใครขายให้เรา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดในราคาที่ต่ำกว่า แล้วเราได้ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรขายต่อ (หรือให้เช่าก็ตามที) โอกาสที่จะขาดทุนย่อมน้อยลง

กับหลักทรัพย์หรือที่เรียกว่า หุ้น ก็เช่นเดียวกัน หากผู้ลงทุนได้คิดคำนวณแล้วว่าราคาที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ของบริษัทหนึ่งๆ ควรเป็นเท่าไร ก็จะทำให้สามรถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและถูกต้องมากขึ้นได้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องซื้อหรือขาย การตัดสินใจลงทุนด้ยการพิจารณามูลค่าของบริษัทอย่างนี้ มีคำเรียกเป็นพิเศษว่า Value Investment ครับ

ในหนังสือหรือตำราหลายๆ เล่มมักจะแปลออกมาเป็น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ ท่านอื่นฟังแล้วรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า คือ แว่บแรกนั้น ไม่เข้าใจว่า "คุณค่า" หมายถึงอะไร เพราะในหลายๆ โอกาส การใช้คำว่า คุณค่า ในความหมายส่วนใหญ่นั้นมักเกี่ยวข้องกับของที่จับต้องไม่ได้ แต่สำหรับการลงทุนนั้น "ค่า" ของบริษัทเรามักจะตีความออกมาจนจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าทางด้าน Subjective/Qualitative (เช่น การได้รับความนิยม, การเป็นผู้นำ, การมีข้อแตกต่างจากผู้อื่น, การผูกขาดโดยทางอ้อม เป็นต้น) หรือด้าน Quantitative (งบการเงินที่แข็งแกร่ง, ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินที่ดี เป็นต้น) ผมจึงพยายามหาคำที่ดูจะเหมาะสมขึ้นอีกสักนิดก็คือคำว่า "มูลค่า" ครับ

ดังนั้นหากเราจะเรียกว่า Value Investment คือการลงทุนที่เน้นมูลค่าของสิ่งที่เราลงทุนไป ก็คงไม่ผิดอะไรนะครับ หรืออาจจะฟังดูตรงความหมายกว่าด้วยก็เป็นได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม ขอให้เพื่อนๆ เข้าใจว่า เป็นของอย่างเดียวกันนะครับ

Credit >> http://muegao.blogspot.com/


อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น

อัตราส่วนต่างๆ ที่บอกถึงประสิทธิภาพของบริษัท (Efficiency Ratios)

ไม่ว่าบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ จะอยู่ในอุตสาหกรรมใด บริษัทจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ของตัวเองเพื่อที่จะสร้างการทำงานขึ้น ตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพนี้จะบอกให้เรารู้ว่าบริษัทได้ใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร และเราก็จะรู้ด้วยว่าบริษัทมีการจัดการหนี้สินได้ดีแค่ไหน

- การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover)
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง จะแสดงให้เราเห็นว่าบริษัทจัดการเรื่องการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังได้ดีแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังต่ำเกินไป ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังสร้างสินค้าคงคลังจำนวนมากเกินไป หรือเก็บวัตถุดิบมากเกินไปหรือว่ามีปัญหาในการขาย (คือขายไม่ทันผลิต ขายได้น้อยเกินกว่ากำลังการผลิต) โดยหลักการแล้ว ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด การหมุนเวียนของสินค้าคงคลังยิ่งมากยิ่งดี และคิดได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) = ค่าใช้จ่ายในการขาย / ปริมาณสินค้าคงคลังเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover)
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าเป็นการวัดนโยบายการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของบริษัทว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามีค่าต่ำเกินไป แสดงว่าบริษัท "ใจดี" เกินเหตุหรือว่ามีปัญหาในการเก็บหนี้จากลูกค้าของตัวเอง ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด ยิ่งตัวเลขการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามาก ยิ่งดี
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover) = รายได้ / ตัวเลขจำนวนลูกหนี้การค้าเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover)
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า ตัวเลขนี้เมื่อทำการคำนวณ เราจะเอาตัวเลขหนี้มาคำนวณ (ก็เพราะว่าตัวเลขเจ้าหนี้การค้าก็คือการที่เราเป็นหนี้คู่ค้าอื่น และยังไม่ได้จ่ายเงิน) ตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเพราะแสดงถึงความสามารถในการยื้อไม่ยอมจ่ายเงิน การที่ตัวเลขนี้ต่ำเกินไปอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าบริษัทไม่ได้รับการปล่อยเครดิตที่ดีจากผู้ขาย ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้วล่ะก็ ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover) =  ค่าใช้จ่ายในการขาย / ตัวเลขเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยรวมเลยที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการจัดการสินทรัพย์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม) ได้ดีแค่ไหน ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้ว ตัวเลขของการหมุนเวียนสินทรัพย์ยิ่งมากยิ่งดี และสามารถคำนวณได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) = รายได้ / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย

ตอนที่ 49 (23 มี.ค. 54)

ตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องต่างๆ (Liquidity Ratios)

โดยสรุปสั้นๆ ได้ใจความอย่างรวดเร็วก็คือ สภาพคล่องของบริษัทหมายถึงความสามารถในการทำตามสัญญาการใช้เงินในระยะสั้นได้ และเป็นตัวหลักในการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท สภาพคล่องสามารถวัดได้ด้วยอัตราส่วนหลายอย่างดังนี้

- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)
ตัวเลขอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่องนี้ เป็นตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นด้วยสินทรัพย์ระยะสั้น ตัวเลขระดับ 1 เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ และถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่ามีปัญหาแล้วล่ะ
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน

- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio หรือ Acid Test Ratio)
เป็นตัวเลขการทดสอบที่โหดกว่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนธรรมดา โดยเป็นตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณที่ได้ตัดเอาสินค้าคงคลังและรายจ่ายล่วงหน้าซึ่งยากในการจะแปลงเป็นเงินสดออกไป ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่ามากกว่า 1 ก็น่าจะแสดงว่าบริษัทน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ยิ่งมีค่าสูงมากขึ้น ยิ่งมีสภาพคล่องสูงขึ้นและบริษัทแบบนี้จะสามารถอยู่รอดได้ในช่วงขาลงของวัฏจักรธุรกิจ
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (เงินสด + ลูกหนี้การค้า + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน

- อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เพื่อนๆ อาจจะไม่ค่อยได้เคยเห็นเท่าไร ถือว่าเป็นตัวเลขที่อนุรักษ์นิยมที่สุดตัวหนึ่งของทั้งหมด เป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถทางเงินสดและการลงทุนอื่นของบริษัทที่สามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายหนี้ระยะสั้น และเหมือนกันกับ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) ก็คือ ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งหมายถึงว่าบริษัทมีสถานะการเงินดีขึ้นครับ คือจะไม่ขาดเงินไปจ่ายหนี้คนอื่น แล้วโดนชาวบ้านเขาว่าเอาว่าเบี้ยวครับ
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) = (เงินสด + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน

ตอนที่ 50 (24 มี.ค. 54)

อัตราส่วนอำนาจเพิ่มทางการเงินต่างๆ (Leverage Ratios)

การเพิ่มอำนาจของเงิน (ตัวเอง) ของบริษัทต่างๆ จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์มากกับการสร้างหนี้ของบริษัทนั้นๆ ในบัญชีงบดุล และหนี้เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัทด้วย โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งบริษัทมีหนี้สินมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นกับหุ้นของบริษัทนั้น เนื่องจากเจ้าหนี้จะเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของบริษัทก่อน เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญได้เนื่องจากว่า หากบริษัทเกิดล้มละลายไป อาจจะไม่มีอะไรเหลือไว้ให้กับผู้ถือหุ้นเลยก็ได้หลังจากที่บริษัทได้ชดใช้สิ่งต่างๆ ให้กับเจ้าหนี้ไปแล้ว

- อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio)
อัตราส่วนนี้แสดงว่าบริษัทดำเนินงานทางด้านการเงิน ด้วยเงินส่วนที่เป็นหนี้สินเมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นเองเป็นอย่างไร บริษัทที่มีหนี้จำนวนมหาศาลจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมาก ในขณะที่บริษัทที่่มีหนี้สินน้อยจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ สมมติว่าถ้าบริษัทมีความสามารถอื่นๆ เท่าๆ กันหมด บริษัที่มีหนี้สินน้อยกว่าจะปลอดภัยกว่า
อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio) = (หนี้สินระยะสั้น + หนี้สินระยะยาว) / ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

- ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage)
ถ้าบริษัทมีการกู้เงินมาทำงาน ก็จะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บ้าง ไม่มากก็น้อย (ตรงนี้ ขอให้เพื่อนๆ นักลงทุนลองสังเกตดูนะครับว่า บางทีเราจะเห็นบางบริษัทที่มีหนี้สินมากๆ แต่ว่ากลับมีดอกเบี้ยจ่ายน้อย แสดงว่าเป็นหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ย จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ เช่น เป็นหนี้สินแบบยอดเครดิต หรือเงินให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย และถ้าหากบริษัทสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้หาประโยชน์ได้มากโดยที่ดอกเบี้ยจ่ายน้อย จะเป็นประโยชน์กับบริษัทเป็นอย่างมาก) ตัวเลขความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยนี้ เป็นอัตราส่วนความสามารถของบริษัทว่า มีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติเป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ยิ่งเป็นหลายๆ เท่าได้ยิ่งดี และหากตัวเลขนี้เข้าใกล้ 1 หรือกลับต่ำกว่า แสดงว่าบริษัทจะมีปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ยในไม่ช้า

ตอนที่ 51 (26 มี.ค. 54)

อัตราส่วนต่างๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร

ธุรกิจที่เราสนใจนะลงทุนนั้นดีแค่ไหน ทำกำไรได้แค่ไหน ความสามารถของธุรกิจดูเหมือนจะดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ธุรกิจมีกำไรหรือเปล่า ทำกำไรได้มากกว่าหรือน้อยกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน คำถามพวกนี้เราสามารถได้คำตอบจากการดูตัวเลขแสดงอัตราส่วนของความสามารถในการทำกำไร

- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin)
ในงบกำไรขาดทุน เราได้เห็นมาแล้วว่า กำไรขั้นต้นเป็นการคำนวณแบบง่ายๆ มาจากส่วนต่างระหว่างรายได้จากการขาย และ รายจ่ายหรือต้นทุนขาย (ที่จะได้สินค้าและบริการนั้นพร้อมจะขายให้กับลูกค้า) อัตรากำไรขั้นต้นเป็นตัวเลขที่บอกว่า ทุกๆ การขายจำนวน 1 บาท บริษัทมีอัตรากำไรเป็นจำนวนกี่สตางค์ และโดยปกติแล้วก็จะมีการบอกเป็นร้อยละ ยิ่งมีตัวเลขที่ยิ่งมากยิ่งดี คือมีอัตรากำไรสูง (แต่ถ้าอัตรากำไรสูงมาก และธุรกิจเป็นแบบไม่ผูกขาด หรือไม่มี Entry Barrier มากคือใครๆ ก็ทำได้ ก็จะต้องเผชิญกับคู่แข่งในไม่ช้า) นักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลข Gross Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้นนี้ สามารถต่างกันได้มากขึ้นอยู่กับชนิดของธุรกิจ ตัวเลขนี้ ยิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานมานาน และตัวเลขนี้ยังคงสูงได้อย่างต่อเนื่อง (เช่น 30% ขึ้นไป) จะแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่คนอื่นไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่ายๆ ด้วยสงครามราคา
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) = กำไรขั้นต้น (Gross Profit) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin)
คล้ายๆ กับอัตรากำไรขั้นต้น แต่ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงาน จะเป็นตัวเลขของกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ คือเป็นกำไรที่เกิดจากการหักรายจ่ายของต้นทุนสินค้า รายจ่ายด้านการบริหารการขาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่อาจจะมีขึ้นได้ด้วย เราสามารถคำนวณได้ดังนี้
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) = กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin)
อัตรากำไรสุทธิเป็นตัวเลขที่บอกเราว่า บริษัทสามารถเก็บเงินไว้เป็นผลกำไรที่แท้จริงจากการขาย เมื่อหักเอาค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างออกไปแล้วได้เป็นจำนวนเท่าไร (กลายเป็นรายได้สุทธิ หรือ Net Income) แต่นักลงทุนจะต้องสังเกตให้ดีเนื่องจากตัวเลขนี้อาจจะผิดไปได้มากเนื่องจากรายได้พิเศษ รายจ่ายพิเศษ จึงจะต้องสังเกตดูให้ดี อัตรากำไรสุทธิคำนวณได้จาก
อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) = รายได้สุทธิ (Net Income) / รายได้จากการขาย (Sales)

ตอนที่ 52 (28 มี.ค. 54)

- อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin)
ในตอนที่ 42 ข้างบน เราได้พูดถึงเรื่องของกระแสเงินสดอิสระไว้แล้ว ตัวเลขอัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระนี้ เป็นตัวเลขที่บอกว่า รายได้จากการขายนั้นจะทำให้เกิดเป็นกระแสเงินสดอิสระจำนวนเท่าไร ซึ่งคำนวณได้ง่ายๆ ตามนี้
อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin) = กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA)
ตัวเลข ROAนี้เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการสร้างผลกำไรจากสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่ (ซึ่ง สินทรัพย์นั้นประกอบไปด้วยหนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น) อาจจะดูคล้ายๆ กับ การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) ที่ได้คุยมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา แต่ว่าตัวเลขการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม เป็นการคำนวณว่าสินทรัพย์ทำให้เกิดยอดขายได้เท่าไร (อาจจะได้ยอดขายมากแต่ขาดทุนก็ได้นะ) หาก ROA เป็นการคำนวณว่าทำกำไรได้เท่าไรดังนี้

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA) = (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) / ทรัพย์สิน (Total Assets)

จะเห็นได้ว่าเราได้มีการบวกตัวเลข ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) กลับเข้าไปในกำไรสุทธิ (ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักทุกสิ่งทุกอย่างแล้วรวมทั้งภาษีด้วย) โดยตัวเลข (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) จะมีค่าเท่ากับกำไรที่ได้จากการหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ไปแล้ว (แต่ยังไม่ได้หักดอกเบี้ยจ่าย) และนำตัวเลขกำไรนี้มาหักภาษีออก ถ้าถามว่าทำไมจึงทำอย่างนั้นล่ะ ก็เพราะว่าตัวเลข ROA นี้เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะมาจากผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายเงินมา หรือมาจากการกู้ยืมเงินของตัวบริษัทก็ตาม ดังนั้นเราจึงบวกค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่เจ้าหนี้ได้ทำการคิดเงิน (Charge เงิน) จากบริษัท กลับเข้าไปด้วย

ตัวเลขดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) นี้สามารถคำนวณได้ไม่ยาก ขั้นแรกก็จะต้องรู้อัตราภาษี (Tax Rate) ของบริษัทเสียก่อน โดยการหารตัวเลขจำนวนภาษีจ่ายด้วยกำไรก่อนหักภาษี (อาจจะได้เป็น 0.25 สำหรับอัตราภาษี 25%) จากนั้นคำนวณด้วยสมการ

ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) = (1 - อัตราภาษี) x (ดอกเบี้ยจ่าย)

ถ้าทุกอย่างของบริษัทเหมือนกันทั้งหมด ROA ยิ่งสูงยิ่งดี
ข้อสังเกต สำหรับตัวเลข ROA ที่แสดงในเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย จะเป็นการคำนวณจากตัขเลขกำไรก่อนหักภาษี เนื่องจากว่าหลายบริษัทมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน และในเมืองไทยยังสามารถเครดิตภาษีได้อีกเป็นบางส่วน จึงเป็นการยุติธรรมกว่าที่จะใช้ตัวเลขก่อนหักภาษีมาคำนวณ

ตอนที่ 53 (31 มี.ค. 54)

- ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity - ROE)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่แสดงว่า บริษัทสามารถสร้างกำไรสุทธิ ต่อส่วนของเงินที่เป็น (หรือสมควรจะเป็น) ของผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริษัท (ที่เห็นได้จากสมการง่ายๆ ของงบดุลว่าบริษัททั้งบริษัทประกอบด้วย สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน) มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากสมการงบดุล เราจะเห็นว่าบริษัทนั้นจริงๆ แล้วสามารถสร้างกำไรได้จาก "สินทรัพย์" ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นกับหนี้สิน ตรงนี้เพื่อนๆ สามารถเห็นได้ว่าถ้าบริษัทเลือกที่จะกู้เงินมากๆ และนำเงินนั้นมาสร้างผลกำไรให้ได้มากๆ (และต้องมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย และการใช้หนี้เงินต้นด้วย) ก็จะทำให้ผลตอบแทนเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้มาก แต่ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงด้วยเนื่องจากการเป็นหนี้ อย่างไรก็ตาม หนี้สินตรงนี้อาจจะหมายถึงหนี้สินที่ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายด้วยก็ได้ เช่น หนี้สินการค้า หนี้สินที่เป็นการซื้อเครดิต หรือว่าเป็นการยืมมาวางขายไว้ในห้างสรรพสินค้าของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างกระแสเงินสดได้มากโดยที่ไม่ต้องเกิดรายจ่ายจากดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทแบบนี้มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จึงมีอำนาจต่อรองในเรื่องเหล่านี้สูง (เอาของ มาขายก่อน มาใช้ผลิตก่อน โดยยังไม่จ่ายเงิน) และเช่นเดียวกับอัตราส่วนอื่นๆ ROE มีการวัดผลตอบแทนเป็นร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี (12% ถือว่าใช้ได้, 20% ถือว่าดี, 25% ถือว่าดีมาก ถ้าเกินกว่า 30% ถือว่าดีสุดๆ แต่ว่าจะต้องระวังเรื่องของหนี้สินว่ามากเกินไปหรือไม่ ให้ดู debt/equity ratio, ดอกเบี้ยจ่าย, และ pay out ratio ประกอบด้วย) โดย ROE สามารถคำนวณได้จาก

ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = กำไรสุทธิ (Net Income) / ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders' Equity)

Credit >> http://muegao.blogspot.com

การตีความหมายของตัวเลขทางการเงิน

การตีความหมายของตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน

ในข้อเขียนต่างๆ ข้างบนที่ผ่านมา หรือแม้แต่เพื่อนๆ นักลงทุนได้ไปอ่านมาจากที่ใดก็ตาม เราได้คุยกันไปแล้วถึงงบการเงินที่สำคัญๆ จำนวน 3 งบ (คืองบกำไรขาดทุน, งบดุล, และงบกระแสเงินสด) เราได้ดูกันแล้วว่า งบกำไรขาดทุนนั้นเป็นอย่างไร ตัวเลขต่างๆ ในงบกำไรขาดทุนมีผลอย่างไรกับการทำกำไรหรือการขาดทุนของบริษัท และตัวเลขต้องเป็นอย่างไร บริษัทจึงได้กำไร ในงบดุล เราได้ดูกันในเรื่องของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น และได้รู้ว่าตัวเลขแต่ละตัวในงบดุลนั้นจะอยู่ตรงไหน (การที่รู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ที่อยู่ ก็เหมือนกับการที่รู้จักหน้าตาหญิงสาว หรือชายหนุ่มก็ตามที แต่ไม่รู้ว่าเจ้าตัวอยู่ไหน ทำอะไรเป็นอย่างไร คงใช้การอะไรไม่ได้มาก) และสุดท้ายสำหรับในเรื่องของงบกระแสเงินสด เราได้ดูไปแล้วว่าบริษัทใช้เงินสดไป หรือได้มา จากกิจกรรมสำคัญจำนวนสามอย่างคือ กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการจัดหาเงิน และกิจกรรมการลงทุน อย่างไร

ปัญหาก็คือ เมื่อเรามีความรู้เหล่านี้แล้ว ในฐานะนักลงทุน เราจะใช้งานมันอย่างไร?

ในตอนต่อๆ ไปนี้เราจะนำความรู้ที่เราได้อ่านมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มาทำการวิเคราะห์ทางการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Statement Analysis) นี้โดยส่วนมากก็คือการดูเพื่อการอธิบายความสัมพันธ์กันระหว่างตัวเลขต่างๆ ในงบการเงิน ซึ่งส่วนมากจะโดยการดูที่อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratios) ต่างๆ วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์นี้คือจะช่วยเราแปลความหมายของตัวเลขต่างๆ และทำให้เรามองภาพของความสามารถและสถานะทางการเงินของบริษัทได้ชัดเจน

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มเข้าไปดูตัวเลขกันจริงๆ ผมอยากจะบอกเพื่อนๆ ไว้ก่อนว่า ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เราจะดูกันจะเป็นตัวเลขของบริษัทที่ "ไม่ใช่" บริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน โดยที่สำหรับบริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน (ธนาคาร, บริษัทประกัน, บริษัทที่ดำเนินงานด้านสินเชื่อ) จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ทำให้ตัวเลขต่างๆ ผิดแผกไปจากนี้มาก

ตอนที่ 47 (20 มี.ค. 54)

แล้วเราใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอย่างไร

บางทีเราจะเห็นตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้มาแล้วเช่น P/E, ROE, ROA, P/BV เป็นต้น แต่ในบทความช่วงนี้ผมจะเล่าให้ฟังแบบเน้นเรื่องของเนื้อหาเฉพาะตัวเลขที่สำคัญที่เราจะต้องดู ตัวเลขพวกนี้บางตัวจะมีประโยชน์เลยด้วยตัวของมันเอง แต่อีกหลายๆ ตัวที่เหลืออาจจะแทบไม่มีประโยชน์หรือใช้ตีความอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ดูส่วนอื่นประกอบ โดยปกติแล้วอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ จะมีประโยชน์มากที่สุดเมื่อเราได้จับมันไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนอื่นๆ ที่เหมือนกัน

ปกติแล้วเราจะใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในสองวิธีคือ เปรียบเทียบกับของบริษัทเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน (เช่นดูย้อนหลังไป 5 ปี) หรือเมื่อเปรียบเทียบกับของบริษัทอื่น การเปรียบเทียบกับตัวเลขของบริษัทเองทำให้เรารู้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริษัทว่าดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่นตัวเลข net profit margin ว่าเมื่อ 5, 4, 3, 2 และเมื่อปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น คงที่ หรือแย่ลง) ถ้าตัวเลขเดียวกันของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทน่าจะมีการปรับปรุงการทำงานไปในทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขมีแนวโน้มที่แย่ลง ก็อาจจะแสดงว่าบริษัทมีแนวโน้มการทำงานที่แย่ลงหรือว่ามีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่ผ่านมา)

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือนักลงทุนควรจะเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทที่ตัวเองสนใจ กับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตัวเลขทางการเงินของบริษัทหนึ่งอาจจะดูดีขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา (เช่น 3 ปีหลัง) แต่เราก็ต้องดูไปอีกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นล่ะ ตัวเลขเหล่านี้ดีกว่าคนอื่นหรือไม่ ถ้ากลับกลายเป็นว่าแย่กว่าบริษัทอื่น ความหมายก็อาจจะเป็นเพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสู้บริษัทอื่นไม่ได้ เป็นต้น

นักลงทุนอาจจะเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินจำนวนหลายๆ ตัว โดยสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดูเป็นพิเศษคือตัวเลขที่เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพ (efficiency), สภาพคล่อง (liquidity), การเพิ่มพลังของเงิน (leverage - ใช้เงินคนอื่นมาร่วมทำงานกับเงินของเราด้วย), และอัตรากำไรต่างๆ เมื่อผมพูดถึงตัวเลขแต่ละตัว ก็จะอธิบายไปด้วยพร้อมๆ กันว่ามันแสดงถึงอะไร หรือว่า เรากำลังวัดอะไรอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นหมายความถึงอะไรได้บ้างนะครับ

Credit >> http://muegao.blogspot.com


จุดเวลาที่ควรซื้อ-ขายหุ้น

จุดเวลาที่ควรซื้อ-ขายหุ้น

1) ซื้อเมื่อบริษัทชั้นยอดทำความผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นในครั้งเดียวและสามารถแก้ไขได้ในครั้งเดียว ไม่มีภาระผูกพันเกิดขึ้นไม่ว่าทางกฏหมาย, ทางการตลาด, กับลูกค้า เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้จะทำให้หุ้นตกลงมามากๆ แต่เพียงชั่วคราว
2) ซื้อเมื่อตลาดเป็นหมีแบบสุดๆ คือ P/E ของหุ้นทุกตัวต่ำมาก คือหุ้นถูกมากๆ และในทางกลับกันก็จะต้องระวังการซื้อหุ้นในตลาดกระทิงเต็มที่ คือเมื่อ P/E > 15 (กรณีของไทย)
3) ขายหุ้นเมื่อมีโอกาสในการลงทุนอื่น (ไม่ใช่เก็งกำไรอื่น) ที่ดีกว่า
4) ขายหุ้นเมื่อบริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันไป คือพื้นฐานเปลี่ยนจนทำให้กำไรหดหายหมด
5) ขายหุ้นเมื่อตลาดเป็นกระทิงแบบสุดๆ และหุ้นมีราคาแพงไปมาก ให้ขายเพื่อเอาเงินไปลงทุนในพันธบัตร คือไปพักไว้ก่อน เมื่อตลาดกลับมาเป็นหมีอีกครั้งหนึ่ง ค่อยนำเงินออกมาซื้อหุ้น

Credit >> http://muegao.blogspot.com


สรุปสิ่งที่จะต้องมองหาในงบการเงิน

สรุปสิ่งที่จะต้องมองหาในงบการเงินมีดังนี้

1) มองหาบริษัทที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยการดูจาก
- ธรรมชาติของสินค้า คือเป็นสินค้าพื้นฐาน ไม่ใช่แฟชั่น สามารถอยู่ยงคงกระพันได้ดี
- โครงสร้างของสินค้า การมีสินค้าหลากหลายชนิด จะสามารถแบ่งความเสี่ยงลงได้
- ลูกค้า มีความแข็งแกร่ง มีความมั่นคงทางการเงิน ไม่ใช่เบี้ยวหนี้ หนีเก่ง
- โครงสร้างลูกค้า ต้องมีลูกค้าหลายเจ้า ไม่ใช่มีเพียงรายใหญ่ๆ 1-2 ราย หากมีปัญหาจะลำบาก
- เรื่องของคู่แข่ง การต่อสู้ในตลาด จะต้องมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนในการต่อสู้ ทั้งจากภายในอุตสาหกรรมเอง (Same Industry) เอง และตลาดทดแทน (Substitution) ส่วนนี้จะสัมพันธ์มากกับการวิเคราะห์พื้นฐานเชิงคุณภาพ
- มีการหมุนเวียนของสินค้าเร็ว, สินค้าคงคลังมีจำนวนพอดี (ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป) และสินค้าคงคลังไม่ล้าสมัยหรือตกรุ่นง่าย ทำให้เสียราคา
- เก็บหนี้ได้เร็ว จ่ายหนี้ได้ช้า กระแสเงินสดจะเป็นบวก ไม่มีปัญหาในการดำเนินงานมาก
2) บริษัทควรมีหนี้สินระยะยาวน้อย หรือน้อยลงๆ เรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 5-10 ปี และมีกำไรที่สามารถใช้หนี้สินก้อนโตนี้ได้ภายใน 3-4 ปี (แต่เลือกที่จะไม่ใช้หนี้ก็ไม่เป็นไร) ไม่ต้องไปลงทุนอะไรที่ไม่คุ้มค่า หรือลงทุนมากๆ เพียงเพื่อต้องการอยู่รอดในตลาด/ธุรกิจเท่านั้น
4) มีเงินสดในมือเยอะ (โดยทั่วไป ยกเว้นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมาก จนไม่คิดว่าจะต้องมีเงินสดไว้มาก คือเอาไปทำงานให้ดีกว่า)
5) มีกำไรขั้นต้น > 30% และกำไรก่อนหักภาษีในอัตรา > 10% และเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อยๆ สม่ำเสมอ แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่สูง สามารถคิดราคาสินค้า/บริการได้สูง
6) บริษัทจะต้องสามารถทำกำไรเป็นเงินสดได้มาก เพื่อที่จะนำเงินสดที่มีไปลงทุนเพิ่มได้อย่างคุ้มค่า หรือให้ดีกว่านั้นคือไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าที่ตัวเองจะทำได้ เรียกว่าใช้เงินทำงานให้เต็มที่
7) เป็นบริษัทที่ลงทุนเพิ่มน้อย หรือถ้าลงทุนเพิ่มก็จะต้องให้ผลตอบแทนในเวลาอันรวดเร็วและคุ้มค่า ไม่ใช่ว่าจะต้องลงทุนตลอดเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น
8) เป็นบริษัทที่เติบโต จุดนี้เป็นสิ่งที่ดีคือทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้ และข้อดีอีกอย่างคือสามารถเติบโตชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อได้
9) เมื่อบริษัทมีการเติบโตที่แน่นอน เราจะสามารถคำนวณผลตอบแทนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน (Net Present Value) ได้ง่าย หรืออีกวิธีคือเราสามารถคำนวณค่าของ P/E ของหุ้นนั้นในอนาคตเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ P/E ของอุตสาหกรรมนั้น ทำให้สามารถประเมินราคาหุ้นนั้นในอนาคตได้โดยประมาณ
10) ความพิสดารและยากของนักลงทุนก็คือ จะต้องสามารถหาบริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1-9 ข้างบนให้ได้ และจะต้องมีความสามารถในการประเมินความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้ดี

Credit >> http://muegao.blogspot.com


สรุปสิ่งที่ต้องเข้าใจสำหรับงบกระแสเงินสด

สรุปสิ่งที่ต้องเข้าใจสำหรับงบกระแสเงินสด

กระแสเงินสดในงบฯ เป็นผลรวมของตัวเลข 3 ส่วน (ซึ่งเมื่อจับรวมเข้าด้วยกัน จะทำให้ได้ยอดการเปลี่ยนแปลงของเงินสดสุทธิ) คือ
ก) กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน
เป็นตัวเลขของเงินสดของบริษัทที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจหลักของตัวเอง ส่วนนี้เราจะตั้งต้นด้วยกำไรสุทธิแล้วบวกกลับเข้าไปด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (ซึ่งตัวเลขสองตัวนี้ ไม่ได้เป็นเงินสดจริงๆ ที่บริษัทจ่ายออกไปในงวดงบการเงินนั้น แต่กลับถูกหักออกจากผลกำไร ก่อนที่จะคิดเป็นกำไรสุทธิ - จริงๆ แล้วบริษัทได้จ่ายเงินสดออกไปเพื่อการซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ไปก่อนแล้วล่วงหน้า)
ข) กระแสเงินสดจาก (ที่ใช้ไป) กิจกรรมการลงทุน
จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน (Capital Expenditures) ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่จะติดลบเสมอ จะเขียนในวงเล็บแสดงถึงการจ่ายออกไปทำให้จำนวนเงินสดในมือลดลง และอีกส่วนคือกระแสเงินสดจากการลงทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นการรวมกันของเงินสดทุกรายการที่เข้าและออกจากบริษัทในการซื้อขายสินค้าที่ทำให้เกิดกำไร ตัวเลขนี้อาจจะเป็นบวกหรือลบก็ได้ หากเงินเข้ามากกว่าเงินออกในงวดบัญชีนั้นก็จะเป็นบวก หากเงินออกมากกว่าเงินเข้าในงวดบัญชีนั้นก็จะเป็นลบ ทั้งนี้ไม่ได้สนใจว่าการลงทุนนั้นจะได้กำไรหรือเปล่า
ค) กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
ตัวเลขภายใต้รายการนี้ แสดงถึงจำนวนเงินสดที่ไหลเข้าหรือออก(อะไรมากกว่ากัน) จากกิจกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะกู้เงินเข้ามา จ่ายเงินออกไปด้วยประการใดๆ ก็ตาม เช่นจ่ายเงินปันผล (เงินไหลออก) ซื้อขายหุ้น (เงินไหลเข้า) หรือซื้อหุ้นคืน (เงินไหลออก) ของบริษัท ขายหุ้นกู้ (เงินไหลเข้า) ไถ่ถอนหุ้นกู้ (เงินไหลออก) เป็นต้น ตัวเลขส่วนนี้สุดท้ายแล้วอาจจะเป็น บวก หรือ ลบ ก็แล้วแต่ว่าเงินสดไหลเข้าหรือออกมากกว่ากัน

สิ่งที่ต้องดูในงบกระแสเงินสด

1) ธุรกิจที่มีความแข่งขันอย่างยั่งยืน ไม่ควรจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน (Capital Expenditures) มากเกินกว่า 30% ของกำไร และต้องไม่ลงทุนบ่อยๆ ซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยง
2) ดูว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนหรือไม่ การซื้อหุ้นคืนเป็นวิธีการในการเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นที่ยังเหลืออยู่ในตลาด (Outstanding shares) คือสามารถเพิ่ม EPS ได้โดยที่ไม่ต้องเพิ่มกำไรจริงๆ และบริษัทที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้จะต้องมีเงินสดในมือ
3) ระวังพวกบริษัทที่ออกวอร์แร้นท์หรือเพิ่มทุนบ่อยๆ ถ้าการเพิ่มทุน ไม่สามารถจะนำไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงแล้ว จะเกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อมูลคาของหุ้นที่เราถืออยู่

ตอนที่ 44 (16 มี.ค. 54)

จากงบการเงินทั้งหมด เราสามารถประเมินงบการเงินโดยรวม เพื่อมองหาบริษัทที่สามารถแขงขันได้อย่างยั่งยืน และมีความทนทานต่อการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและเศรษฐกิจได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในรูปของงบการเงินเป็นเครื่องยืนยัน

Credit >> http://muegao.blogspot.com

งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)

งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)

หลังจากที่เราได้รู้เรื่องของงบกำไรขาดทุน และงบดุลมาแล้ว คราวนี้ลองมาดูงบการเงินอีกอย่างหนึ่งที่เหลือ ซึ่งสำคัญมากเช่นกันโดยที่บางคนบอกว่าซับซ้อนที่สุด และยุ่งยากที่สุดในการทำความเข้าใจในบรรดางบการเงินทั้งสามชนิด ก็คือ "งบกระแสเงินสด" ซึ่งเป็นงบการเงินที่บอกว่ามีเงินสด (เน้นว่า เงินสดๆ) วิ่งเข้าออกบริษัทเป็นจำนวนเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่นหนึ่งไตรมาส จะวันที่เท่าไรถึงเท่าไร หรือว่าในหนึ่งปีงบประมาณ เป็นต้น) หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ งบกระแสเงินสดนี้จะบอกว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน และเงินสดนี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของบริษัท

- งบกระแสเงินสดบอกอะไรเรา

งบกระแสเงินสดดูเหมือนๆ กับงบกำไรขาดทุนที่แสดงให้เราเห็นรายได้ที่เข้ามาและรายจ่ายที่ไหลออกไป แต่แน่นอนล่ะครับว่าจะต้องไม่เหมือนกันจริงๆ หรอก และความแตกต่างนี้ก็อยู่ที่ส่วนของเกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง (Accrual Accounting) นั่นเอง อย่างที่เราเคยได้พูดถึงมาแล้วในเรื่องของงบกำไรขาดทุนว่า บริษัทจะต้องบันทึกรายได้และรายจ่ายเมื่อมีการทำรายการ (Transaction) เกิดขึ้น ไม่ใช่เมื่อเกิดการไหลเข้าออกของเงินจริงๆ หลักการนี้เรียกว่าการจับคู่กัน (matching) คือรายจ่ายต่างๆ จะต้องจับคู่กันได้กับรายได้ที่เกิดจากรายจ่ายนั้นๆ เมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ ในขณะที่หลักการที่ว่านี้ฟังดูง่ายแต่ก็วุ่นวายโกลาหลมากเมื่อลงมือทำเข้าจริงๆ และงบกระแสเงินสดก็จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถแยกความโกลาหลนี้ออกจากกันได้

งบกระแสเงินสดจะจัดการแยกให้เราเห็นส่วนที่เป็นรายได้ที่ไม่ใช่เงินสดและรายจ่ายที่ถูกรวมเข้าไปในงบกำไรขาดทุนออกมาให้เห็น มีบริษัทจำนวนมากที่แสดงงบกำไรขาดทุนสวยหรูคือมีกำไรดี แต่ประสบความลำบากในการดำเนินงานในภายหลังเนื่องจากมีการจัดการด้านเงินสดไม่ดี คือมีเงินสดใช้ไม่เพียงพอ ถ้านักลงทุนสามารถอ่านงบกระแสเงินสดได้ดีก็จะสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า บริษัทนั้นกำลังจะมีปัญหาด้านเงินสดในไม่ช้า

ตอนที่ 41 (13 มี.ค. 54)

- เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash Flows from Operating Activities)

เนื่องจากบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้ด้วยหลายวิธี จึงต้องมีการแยกออกให้แน่ชัดว่าได้มาด้วยวิธีการใด งบกระแสเงินสดจึงแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1) เงินสดจากการดำเนินงาน
2) เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน และ
3) เงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน

เงินสดจากการดำเนินงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและจะบอกพวกเรานักลงทุนว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จำนวนมากแค่ไหนจากการดำเนินงานตามปกติ (คือด้วยธุรกิจปกติที่บริษัทมีความชำนาญ - Core Business) ไม่ใช่มาจากการลงทุนอื่นหรือการกู้ยืมเงิน(สด)มา ดังนั้นตัวเลขของส่วนที่เป็นเงินสดจากการดำเนินงานจึงเป็นตัวเลขที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นตัวที่บอกว่าบริษัทสามารถทำเงินได้แค่ไหน โดยที่ในที่สุดแล้วเงินสดส่วนนี้ก็จะกลับมาตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนนั่นเอง ส่วนหลักๆ ของเงินสดจากการดำเนินงานนี้ก็เช่น

- รายได้สุทธิ
ตัวเลขนี้ได้มาโดยการดึงมาตรงๆ จากงบกำไรขาดทุน รายได้สุทธินี้เป็นตัวตั้งต้นที่จะนำมาคิดว่าบริษัทสามารถมีเงินสดได้เท่าไรจากการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีรายการอีกจำนวนมากในงบกำไรขาดทุนที่มีผลต่อรายได้แต่ไม่มีผลกับการไหลของเงินสด ดังนั้นรายการอื่นๆ (ที่จะพูดถึงตามหลังต่อไป) จะเป็นตัวเลขที่จะเอาเข้ามา "ช่วยปรับ" ตัวเลขรายได้สุทธินี้เพื่อให้ได้ตัวเลขของเงินสดที่บริษัทสามารถสร้างขึ้นได้จริงๆ

- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
ตามที่เราได้เคยพูดถึงไปแล้วในงบกำไรขาดทุน ค่าเสื่อมราคาเป็นวิธีทางบัญชีที่ใช้บันทึกการเสื่อมสภาพต่างๆ ของสมบัติต่างๆ, โรงงาน, ตึกอาคาร, เครื่องจักรต่างๆ ของบริษัท แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน แต่ค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบต่อการไหล(ออก)ของเงินสด ดังนั้นตัวเลขนี้จะถูกบวกกลับเข้าไปในตัวเลขของรายได้สุทธิ

- การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุนดำเนินงาน
Working Capital หรือทุนดำเนินงานนี้คำนวณได้จากสินทรัพย์หมุนเวียนลบด้วยหนี้สินหมุนเวียนที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน และตัวเลขนี้ก็บอกนักลงทุนเหมือนที่ชื่อของมันบอกไว้แหละครับว่าคือทุนที่บริษัทจะต้องมีไว้เพื่อการทำงาน ดังนั้น เงินสดใดๆ ที่ใช้ไป หรือได้มาจากทุนดำเนินงานจะถูกรวมคิดไว้ใน "เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน" ด้วย

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแต่ละรายการของทุนดำเนินงานจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งจะมีผลต่อการไหลของเงินสดของบริษัท ตัวอย่างเช่น ตัวเลขของลูกหนี้การค้า (Account receivable อยู่ในงบดุล - บริษัทขายของให้ลูกค้า ส่งใบเก็บเงินไปให้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน) ของบริษัท มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2553 (เทียบกับปีที่แล้ว) นี่ก็แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการเก็บเงินจากลูกค้าน้อยกว่าที่ได้บันทึกว่าสามารถขายได้ในทั้งปี 2553 ในงบกำไรขาดทุน ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี คือเป็นผลเสียในเรื่องของงบกระแสเงินสด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ "การเปลี่ยนแปลงสุทธิของทรัพย์สินหมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน" ในงบกระแสเงินสดของบริษัทเป็น "ติดลบ" แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเลขของเจ้าหนี้การค้า (Account Payable อยู่ในงบดุล - บริษัทซื้อสินค้ามา ได้รับใบแจ้งหนี้แล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน) มีขนาดเพิ่มขึ้น ก็หมายความว่าบริษัทมีความสามารถในการพยายามจ่ายเงินช้าๆ ได้ดีขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อการไหลของเงินสด

ตอนที่ 42 (14 มี.ค. 54)

ลองดู "ทางลัด" เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องของกระแสเงินสดให้ง่ายขึ้น โดยนักลงทุนควรจะรู้ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทุนดำเนินงานกับเงินสดดังนี้:
  . ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
  . ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
  . ถ้าหนี้สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
  . ถ้าหนี้สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
ทรัพย์สินหมุนเวียนอาจจะรวมสิ่งต่างๆ เช่นสินค้าคงคลังและลูกหนี้การค้า (Account receivable) ในขณะที่หนี้สินหมุนเวียนอาจจะรวมหนี้สินระยะสั้นและเจ้าหนี้การค้า (Account payable) ไว้ด้วย

- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน
หลังจากที่ได้ปรับตัวเลขต่างๆ หมดแล้ว ตัวเลขที่เหลือก็คือเงินสดสุทธิที่ได้มาโดยกิจกรรมการดำเนินงาน หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ เงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขเดียวกันกับรายได้สุทธิ แต่เป็นตัวเลขที่บอกได้เป็นอย่างดีว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดจากการดำเนินงานโดยสิ่งที่ตัวเองถนัด (Core Business) ได้มากแค่ไหน

- เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน
ตัวเลขส่วนนี้ในงบกระแสเงินสดแสดงจำนวนของเงินสดที่บริษัทได้ใช้ไปในการลงทุน "การลงทุน" สามารถแบ่งออกได้เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Captital Expenditures) ซึ่งก็คือเงินสดที่จ่ายเพื่อได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ หรือเงินสดที่ใช้ในการลงทุนอื่นๆ เช่นที่ใช้ซื้อหรือขายพันธบัตรเป็นต้น ส่วนที่สำคัญที่สุดของรายการนี้ที่นักลงทุนจะต้องดูให้ดีคือ จำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ซื้อเครื่องจักร เครื่องกล) และจำนวนเงินสดที่ใช้ไปในการซื้อธุรกิจ/บริษัทอื่น ดูคำอธิบายต่อข้างล่างนี้นะครับ

- ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขแสดงจำนวนเงินสดที่บริษัทได้จ่ายออกไปเพื่อซื้อสิ่งของที่มีอายุยืนยาวเช่น ที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร เป็นต้น โดยทั่วไปในบัญชีภาษาอังกฤษเราอาจจะเรียกค่าใช้จ่ายในการลงทุนนี้ว่า "Capex" ก็ได้ ซึ่งเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการและเติบโตไปได้อย่างปกติ ตัวอย่างเช่นโรงแรมก็จะต้องมีการปรับปรุงห้องพักใหม่ ทำการซื้อทีวี ตู้เย็น ใส่ห้องพักของแขกต่างๆ เพื่อให้แขกที่มาพักเกิดความพอใจและแนะนำต่อๆ กันไป ค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้จะแสดงออกมาอยู่ในรายการ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capex) ในส่วนของ เงินสดจากกิจการการลงทุน

- กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)
ตัวเลขหนึ่งทางบัญชีในส่วนของงบกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจดีคือ "กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)" กระแสเงินสดอิสระนี้สามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (operating cash flow) ลบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures) กระแสเงินสดอิสระนี้แสดงจำนวนของเงินสดส่วนเหลือที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้ เงินสดส่วนนี้สามารถใช้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น หรือนำไปใช้ลงทุนในโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจโดยไม่มีผลร้ายกับการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัท เงินส่วนนี้สำคัญมากต่อผู้ถือหุ้นแบบสุดๆ ล่ะครับ

- เงินสดที่ใช้ไปในการซื้อกิจการอื่น
รายการเงินสดที่ใช้ในการซื้อกิจการ แสดงจำนวนเงินที่บริษัทได้ใช้ไปในการซื้อกิจการของบริษัทอื่น โดยทั่วไปแล้ว บริษัทมักจะจ่ายเงินมากเกินไปในการซื้อกิจการของคนอื่นเข้ามาเป็นของตัวเอง ดังนั้นนักลงทุนควรจะคอยตรวจดูรายกานี้เพื่อดูว่าบริษัทได้จ่ายเงินออกไปเท่าไร และมากเกินไปหรือไม่ ตัวเลขนี้อาจจะทำให้นักลงทุนสามารถมีความรู้สึกได้ว่า การที่บริษัทเติบโตนั้น มาจากการดำเนินงานภายในของตัวเอง หรือว่าจากการซื้อกิจการอื่นเข้ามา (แล้วกิจการพวกนั้นทำกำไรให้)

- กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
ส่วนสุดท้ายของงบกระแสเงินสดคือ "กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน" ส่วนนี้จะเป็นที่รวมของกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหรือเจ้าหนี้ของบริษัท ตัวอย่างเช่นถ้ามีการออกหุ้นใหม่หรือซื้อหุ้นคืน การสร้างหนี้เพิ่มหรือการจ่ายใช้หนี้คืน รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลออกมาก็จะบันทึกไว้ในส่วนนี้  แม้ว่ารายการต่างๆ ในส่ว่นนี้จะดูชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายด้วยชื่อของมันแบบตรงไปตรงมา เช่นเงินปันผล ก็คือเงินปันผล แต่ขอให้พวกเรานักลงทุนดูตรงการออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน ว่ามีจำนวนมากน้อยอย่างไร

- การออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน (Issuance/Purchase of Common Stock)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สำคัญเนื่องจากจะแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจนั้น บริษัทใหม่ๆ ที่กำลังโตอย่างรวดเร็วจะต้องการเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หนึ่งในวิธีหาเงินคือการออกหุ้นใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการลด (dilute) ส่วนของความเป็นเจ้าของของเจ้าของเดิมลง แต่ก็เป็นการทำให้บริษัทขยายกิจการได้ ในขณะที่บริษัทที่เติบโตแข็งแรงแล้วและมีกระแสเงินสดอิสระจำนวนมาก จะทำการซื้อหุ้นคืน ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของหุ้นที่เหลือ (ในตลาด ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน) มีค่าสูงขึ้น การจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืน เป็นของเพียงสองอย่างที่บริษัทสามารถทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดของบริษัทได้

Credit >> http://muegao.blogspot.com