ตามปกติแล้ววิธีการ Stop loss มักจะใช้เพื่อจุดประสงค์ใน 2 กรณี กล่าวคือ
1. ใช้เพื่อหยุดการขาดทุน เพื่อปกป้องเงินลงทุนเริ่มต้น และ
2. ใช้เพื่อปกป้องผลกำไรที่กำลังลดน้อยลง
ซึ่งในกรณีที่เรานำหลักการ Stops ไปใช้งานร่วมกับอินดิเคเตอร์หรือเครื่องมือวิเคราะห์ทาง เทคนิคที่มีอยู่ เราก็จะสามารถแบ่งชนิดของการ Stops ได้ออกเป็น
Initial stop
Break-even stop
Trailing stop
ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่นำมาใช้งาน
สำหรับในส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะเป็นการนำหลักการ Stop loss มาใช้งานร่วมกับ ปริมาณเงินลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียได้ หรืออาจเรียกว่าการ Limit loss ของจำนวนเงินที่ใช้สำหรับการลงทุน ณ เวลานั้น
< สามารถพิจารณาได้ตามขั้นตอนตัวอย่างดังต่อไปนี้ >
ขั้นตอน การกำหนด Limit loss จากเงินลงทุนเริ่มต้น
กำหนดให้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท
กำหนด limit loss ไว้ที่ 2% ของเงินลงทุน
ดังนั้น จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้
จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ = เงินลงทุนเริ่มต้น * Limit loss (2%)
= 50,000*2/100
= 1,000 บาท
ขั้นตอน การประยุกต์ใช้งาน เพื่อคำนวณหาจำนวนหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้
คัดเลือกหุ้นที่จะเข้าลงทุนและกำหนดราคาหุ้นที่เหมาะสมไว้
ในกรณีนี้สมมุติให้ราคาหุ้นที่จะเข้าซื้อมีราคาที่เหมาะสมที่ 5 บาทต่อหุ้น
กำหนดจุด Stop loss ไว้...ในกรณีที่ราคาหุ้นลดต่ำลงไปที่ราคา 4 บาทต่อหุ้น
โดยการขายหุ้นออกไปทั้งหมด (ตามที่ได้วางแผนการลงทุนเอาไว้)
การ Stop loss ในครั้งนี้จะยอมรับการขาดทุนได้เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท
ดังนั้น จำนวนหุ้นที่สามารถเข้าซื้อได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้
= จำนวนเงินที่สามารถยอมรับความสูญเสียได้ / (ราคาซื้อ – ราคา Stop loss)
= 1,000 / (5-4)
= 1,000 / 1
= 1,000 หุ้น
โดยสรุปคุณสามารถซื้อหุ้นได้จำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 5 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทโดยได้กำหนดจุด Stop loss ไว้ที่ราคา 4 บาทต่อหุ้น ซึ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงมาถึงราคาดังกล่าว คุณก็สามารถขายหุ้นออกได้ทันที ตามแผนการลงทุนที่ได้วางไว้ และในกรณีนี้คุณจะขาดทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,000 บาท (จากการที่ได้กำหนด Limit loss ไว้)
Credit >> http://www.tasimplified.com