งบดุล มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า balance sheet บางทีก็เรียกเป็นชื่อย่อว่า B/S หรือ BS ก็ได้นะครับ เจ้างบดุลนี้ เป็นตัวบอก "สภาพทางการเงิน" ของธุรกิจ เป็นสิ่งที่บอกนักลงทุนว่า ธุรกิจนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร คือมีสินทรัพย์อยู่ในมือเท่าไร และมีหนี้สินอยู่เท่าไร และส่วนที่ต่างกันระหว่างทรัพย์สินและหนี้สินก็คือ ส่วนของบริษัทเองจริงๆ เป็นเจ้าของ ถามว่าบริษัทคือใคร บริษัทก็คือผู้ถือหุ้น นี่เอง ก็จึงเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นก็ได้ คำว่า งบดุล คือการ "ดุล" กันหรือ "เท่ากัน" ตามสมการหรือนิยาม
สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
หรือ
สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น
นั่นเอง
ถามว่า ทำไมธุรกิจต้องเป็นแบบนี้ด้วย คำตอบนั้นดูเหมือนง่ายมาก และอาจจะง่ายเกินไปด้วยซ้ำก็คือ เนื่องจากในการทำธุรกิจ บริษัทอาจจะไม่ได้ใช้เงินของตัวเองทั้งหมดมาทำงานตั้งแต่เริ่มแรกก็ได้ เช่นอาจจะเริ่มด้วยการลงขันของผู้ถือหุ้น (ก็เป็นเงินส่วนของผู้ถือหุ้น จะมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือไม่ก็ตามที) และกู้เงินสดมาด้วยอีกส่วนหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นเช่นเงินเบิกเกินบัญชีหรือ OD หรือระยะยาว) โดยทั้งเงินที่ผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายมาแต่แรก รวมกับเงินส่วนที่กู้มานี้ ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินรวมของบริษัท และบริษัทอย่างนี้ก็เริ่มด้วยการมีทั้งส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินแต่แรก แต่ถึงแม้ว่า บริษัทไม่ได้กู้เงินมาเพื่อรวมกับเงินของผู้ถือหุ้นแต่แรก ในระหว่างการทำธุรกิจไป ก็จะต้องมีการซื้อของโดยการเครดิต (คือจ่ายเงินทีหลัง) แบบนี้ก็เป็นหนี้สินอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ตรงจุดนี้ พวกเรานักลงทุนจะต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า หนี้สินนั้น ไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ หนี้สินถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยและเงินต้นจ่ายคืน ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่ดีนะครับ เรียกว่า ยิ่งกู้ยิ่งรวย นั่นเอง
งบการเงินที่เรียกว่า งบดุล นี้ เป็นตัวเลขที่ทำการบันทึกลงในจุดเวลาหนึ่งๆ เช่น 31 ธันวาคม ก็จะเป็นงบดุลปลายปี คือเป็นตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคมเท่านั้นว่ามีสินทรัพย์เท่าไร ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไร และมีหนี้สินเท่าไร ส่วนของสามอย่างนี้จะเป็นเท่าใดในวันเวลาก่อน 31 ธันวาคม จะมองไม่เห็นในงบดุล ดังนั้น เวลาที่เราดูงบการเงินที่เรียกว่า งบดุล เขาจึงเขียนไว้ว่า งบดุล ณ วันที่ หนึ่งๆ อย่างไงล่ะครับ
ตรงจุดนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องสังเกตไว้ว่า งบดุล ต่างจากงบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด (ที่เราจะได้ดูกันต่อไป) ที่เป็นตัวเลขแบบสะสม (cumulative) ที่เกิดในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นงบกำไรขาดทุนของไตรมาสที่ 1 จะเป็นตัวเลขสะสมของการได้มาซึ่งกำไร ในช่วงเวลาจาก 1 มกราคม - 30 มีนาคม (สมมติว่าปีงบประมาณของบริษัทนั้นเริ่มที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม เพราะอาจจะมีบางบริษัทที่ปีงบประมาณขยับเลื่อนไปไม่ตรงกับปีปฏิทินก็เป็นได้)
ในระหว่างที่ผมค่อยๆ เขียนเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน ก็อาจจะต้องมีการใช้คำศัพท์แปลกๆ บ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบาย ขยายความให้ดีที่สุดนะครับ แม้จะยากสักนิดในตอนเริ่มต้น แต่รับรองได้ว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการอ่านและทำความเข้าใจแน่นอน ค่อยๆ ติดตามไปนะครับ
ตอนที่ 28 (27 ก.พ. 54)
- ทรัพย์สิน หนี้สิน และ ส่วนของผู้ถือหุ้น ต้องได้ดุลกัน
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เราจะต้องเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกในเรื่องของงบดุลก็คือ มันจะต้องสมดุลกันตามชื่อของมันนั้นแหละ การดุลกันนี้คือ ทรัพย์สินรวมทั้งหมดของบริษัทจะต้องมีค่าเท่ากับหนี้สินบวกกับส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้น ถ้างบดุลจากไตรมาสหนึ่งไปยังไตรมาสถัดไป มีการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สิน เราก็จะรู้ได้เลยว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของผลรวมของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ที่รวมกันแล้วเป็นตัวเลขที่มากขึ้น สมการความสัมพันธ์ของทรัพย์สิน, หนี้สิน, และส่วนของผู้ถือหุ้นก็เป็นแบบง่ายๆ คือ
ทรัพย์สิน (Assets) = หนี้สิน (Liabilities) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)
ต่อไปเราจะดูเจาะลึกลงไปในแต่ละส่วนของงบดุล ในที่นี้ แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่สามารถจะมากกว่าที่ผมจะหยิบมายกตัวอย่างและพูดถึงได้ แต่ผมจะเลือกเอาเฉพาะที่เป็นแบบปกติทั่วๆ ไป ที่ทำให้เพื่อนๆ นักลงทุนสามารถเข้าใจได้ โดยเลือกเอาส่วนที่สำคัญๆ มาเป็นหลักครับ
- ทรัพย์สินหมุนเวียน
บริษัท จำเป็นต้องมีทรัพย์สิน เพราะว่าทรัพย์สินนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการไป และสามารถสร้างกำไรได้ ทรัพย์สินแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ทรัพย์สินหมุนเวียน (Current assets) และทรัพย์สินไม่หมุนเวียน (Non-current assets) และภายใต้แต่ละชนิด ก็ยังมีประเภทแยกย่อยออกไปอีก
ทรัพย์สินหมุนเวียน คืออะไรก็ตามที่ธุรกิจเป็นเจ้าของที่ดูเหมือนจะสามารถใช้หมดไป หรือเปลี่่ยนสภาพกลายเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งวงรอบของธุรกิจ (ปกติคือ 1 ปี) สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นทรัพย์สินหมุนเวียนก็เช่นเงินสด และสิ่งใดๆ ที่เทียบเท่าเงินสด, เงินลงทุนระยะสั้น, ลูกหนี้การค้า (account receivable - คือบริษัทมีลูกหนี้การค้าอยู่ เช่นขายสินค้าไปแล้วยังเรียกเก็บเงินไม่ได้หรือยังไม่ครบกำหนดนัดชำระ), สินค้าคงคลัง, และทรัพย์สินหมุนเวียนอื่นๆ
- เงินสด และสิ่งเทียบเท่าเงินสด (Cash and Cash Equivalents)
รายการนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเงินสดที่เก็บไว้ในตู้เซฟของบริษัทหรอกนะครับ โดยทั่วไปก็หมายถึงอะไรก็ตามที่เทียบได้เท่ากับเงินสดและมีความเสี่ยงต่ำเช่นเงินในกองทุนตลาดเงินก็ได้ โดยที่เมื่อเราต้องการจะใช้มัน เราสามารถแปลงสภาพได้เป็นเงินสดโดยที่มีความเสี่ยงในการเปลี่ยนค่าต่ำ เปรียบไปก็เหมือนกับเงินสดที่บริษัทสามารถนำไปซื้อหาจับจ่ายสิ่งของจำเป็นที่จะใช้ในการดำเนินกิจการได้ (หรือเอาไปจ่ายเงินใช้หนี้ก็ตามที)
ตอนที่ 29 (28 ก.พ. 54)
- เงินลงทุนระยะสั้น
ส่วนนี้เป็นส่วนที่บริษัทได้นำเงินที่เหลือ และไม่ได้ทำอะไร ไปทำงานลงทุนต่อ โดยทั่วไปจะเป็นการลงทุนที่มีกำหนดครบภายในหนึ่งปี และสามารถให้ผลงอกเงยมากกว่าการเก็บไว้ในธนาคารเฉยๆ เงินลงทุนส่วนนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามสักเล็กน้อยที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดจริงๆ ได้ แต่โดยทั่วไปนักลงทุนสามารถคิดรวมได้ว่าเทียบเท่าเงินสด และบริษัทสามารถมีไว้พร้อมใช้ได้ในกรณีที่่จำเป็นฉุกเฉิน
- ลูกหนี้การค้า (Account receivable)
รายการนี้ก็คือการที่บริษัทได้ส่งใบแจ้งหนี้ เก็บเงินกับลูกค้าที่บริษัทได้ส่งสินค้าให้แล้ว หรือให้บริการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงินให้เป็นที่เรียบร้อย และมีการคาดว่าลูกค้าจะชำระเงินภายในหนึ่งปี พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ รายการนี้คือรายได้จากการขาย (ที่ได้บันทึกไว้แล้วในงบกำไรขาดทุน) แต่ลูกค้ายังไม่ได้จ่ายเงินสดๆ กลับมา โดยทั่วไปแล้วรายการ ลูกหนี้การค้า นี้จะถูกบันทึกไว้เป็นตัวเลขในจำนวนที่บริษัทคิดว่าจะสามารถเก็บเงินได้ เนื่องจากว่าจะต้องยอมรับว่า ลูกค้าบางคนก็ตั้งใจจะไม่จ่ายเงิน (เรียกว่า เบี้ยวหนี้ หรือ ชักดาบ นั่นแหละครับ) จำนวนเงินที่บริษัทคิดว่าจะถูกเบี้ยว หรือเก็บเงินไม่ได้ จะถูกบันทึกไว้เป็นตัวเลขที่มีชื่อว่ารายการ "หนี้สงสัยจะสูญ" (แหม ชื่อได้ใจความซะ!) การที่มีรายการหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก ไม่ใช่ว่าจะแค่ลดจำนวนของ ลูกหนี้การค้า เท่านั้น แต่จะทำให้เกิดรายจ่ายให้กับบริษัทด้วย ซึ่งเรียกว่า "รายจ่ายจากหนี้เสีย"
นักลงทุนจะต้องคอยจับตาดูตัวเลขของลูกหนี้การค้านี้เอาไว้โดยดูว่ามันสัมพันธ์กับตัวเลขการขายหรือไม่อย่างไร ถ้าตัวเลขของลูกหนี้การค้านี้พุ่งเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ายอดขาย นั่นหมายถึงว่าบริษัทมีความสามารถในการเก็บหนี้ได้ไม่ดี และเป็นการบอกผู้ลงทุนได้ว่า บริษัทอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ด้านการจ่ายหนี้ (ให้ช้า หรือ ยื้อได้) เพื่อการเพิ่มยอดขายในขณะที่มีปัญหาในการเก็บเงินสดที่บริษัทเป็นเจ้าหนี้อยู่ (อย่าลืมนะครับว่า เงินสดนั้น สำคัญกับการดำเนินธุรกิจมาก) แต่ในทางตรงกันข้าม หากอัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้านี้ ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายมาก ก็อาจจะหมายถึงการที่บริษัทมีการเข้มงวดเรื่องการจ่ายเงินของลูกค้า (อาจจะมากเกินไป) หรือติดตามหนี้ใกล้ชิดมาก ซึ่งก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขายที่สูงตามมา
ตอนที่ 30 (1 มี.ค. 54)
- สินค้าคงคลัง (Inventories)
สินค้าคงคลังมีด้วยกันหลายประเภทเช่น วัตถุดิบ, สินค้าที่กำลังผลิตแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี, สินค้าสำเร็จรูปที่พร้อมขาย เป็นต้น สินค้าคงคลังนี้เป็นที่ควรจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษในบริษัทผลิตขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทค้าขาย (ซื้อมาขายไป) ซึ่งมักจะมีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมาก
มูลค่าของสินค้าคงคลังควรจะถูกคิดคำนวณมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเช่นเดียวกันกับลูกหนี้การค้า การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังโดยทั่วไปจะต้องสัมพันธ์กับรายได้จากการขายของบริษัท หรือพูดให้เจาะจงลงไปอีกหน่อยก็คือต้องสัมพันธ์กับกำไรขั้นต้นที่ได้จากการขายแต่ละครั้ง (คือราคาขายลบด้วยต้นทุนของสินค้าคงคลังที่ขายได้) ถ้าระดับของสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการขายของบริษัทมาก นั่นคือบริษัทกำลังซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้าคงคลังขึ้นมากๆ มากกว่าความสามารถในการที่บริษัทจะขายสินค้าได้ ผลก็คือบริษัทจะต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อที่จะขายออกไปให้ได้ ทำให้มีกำไรต่ำลง และในบางกรณีอาจจะต้องถึงกับลดราคาต่ำกว่าทุน (อาจจะเพื่อต้องการเงินสดกลับเข้ามา, ต้องการลดพื้นที่ในการจัดเก็บ, ต้องการลดค่าใช้จ่าย่ในการจัดเก็บ - เช่นเช่าอาคารคลังสินค้าภายนอกอยู่) ทำให้เกิดการขาดทุนได้
และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ วัตถุดิบและสินค้าคงคลังนี้สัมพันธ์กับทุนของบริษัท นั่นคือบริษัทจะต้องใช้เงินไปซื้อหาวัตถุดิบและใช้เงินผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปขึ้นมา เงินที่จ่ายไปในส่วนนี้ก็ไม่สามารถเอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้จนว่าบริษัทจะสามารถขายสินค้านั้นออกไปได้ ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องดูอีกก็คือ บริษัทสามารถขายสินค้าออกไปได้เร็วแค่ไหน
ตอนที่ 31 (2 มี.ค. 54)
- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ
ยังมีรายการที่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะรวมเอาบรรดาสินทรัพย์อื่นใดที่บริษัทสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม ยังมีสินทรัพย์อีกหลายอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้หรอก รายการที่เห็นได้บ่อยๆ คือรายจ่ายล่วงหน้า (prepaid expense) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นรายจ่าย (เงินสด หายไป เพราะจ่ายออกไป) แต่เราก็เรียกมันเป็นสินทรัพย์ (บันทึกกลับมาในด้านของสินทรัพย์) ครับ ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตโครงเหล็ก ได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเอาไว้สำหรับปีที่จะมาถึง กฏทางการบัญชีบอกว่าบริษัทจะต้องบันทึกการใช้จ่ายทั้งจำนวนเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปก่อนล่วงหน้า (prepaid expense - เป็น asset) โดยในกรณีนี้จะไม่เหมือนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามปกติในงบกำไรขาดทุนเนื่องจากจะแสดงถึงอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อตัวบริษัทในอนาคต (กรณีนี้ก็คือความคุ้มครองในการประกันภัยไปอีกหนึ่งปีเต็ม) ในขณะที่เวลาผ่านไปในหนึ่งปี ค่าของสินทรัพย์นี้จะลดลง เป็นการสะท้อนเวลาเหลือที่กรมธรรม์จะคุ้มครองน้อยลง และจำนวนที่ลดลงนี้จะถูกบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่าย กระบวนการนี้เราเรียกว่า "ค่าตัดจำหน่าย" (amortization) นั่นเอง (เหมือนกับการบันทึก depreciation เป็นค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ที่มีตัวตน ซึ่งบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย และทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ประเภทเครื่องจักรเหลือน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป) โดยหลักการแล้วก็คือ ให้พวกเราจำไว้ว่า ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าของบริษัทจะเป็นการจ่ายเงินสดออกไป และจะทะยอยถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย (expenses) ของบริษัทแทนที่จะเป็นเงินสดในเวลาต่อมา
ตอนที่ 32 (3 มี.ค. 54)
- สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
เป็นส่วนที่ถูกให้คำนิยามไว้แสนง่ายก็คือ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สินทรัพย์หมุนเวียน ก็เรียกว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนก็แล้วกัน (อืม ง่ายดีแฮะ) รายการหลักๆ ในหัวข้อนีก็เช่น การลงทุนระยะยาว, ทรัพย์สมบัติต่างๆ (เช่นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร), โรงงาน, เครื่องจักร, ค่าความนิยม (goodwill) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ ทั้งหลาย
- เงินลงทุนระยะยาว
ส่วนนี้เป็นเงินที่บริษัทได้นำไปใช้ในการลงทุนในตราสารหนี้ หรือสิ่งอื่นใดที่มีกำหนดครบการลงทุนเกินกว่าหนึ่งปี เงินส่วนนี้ไม่ได้มีสภาพคล่องเหมือนเงินสดหรือเงินลงทุนระยะสั้น และมูลค่าของมันอาจจะปรับขึ้นลงไปมาได้ ดังนั้นเมื่อเงินส่วนนี้ปรากฏอยู่ในงบดุล จะเป็นไปได้ว่าจะถูกบันทึกด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงหรือต่ำเกินไปได้ ถ้าเงินจำนวนนี้มีมูลค่าสูง นักลงทุนก็อาจจะต้องเข้าไปดูมากสักหน่อยว่าบริษัทได้เอาเงินของผู้ถือหุ้น (ก็พวกนักลงทุนนี่แหละ) ไปทำอะไรในสิ่งที่ถูกต้องสมเหตุสมผล หรือเสี่ยงมากเกินไป (ด้วยจำนวนเงินที่สูง) หรือไม่
ตอนที่ 33 (4 มี.ค. 54)
- ทรัพย์สมบัติต่างๆ (ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร) หรือ PP&E (Property, Plant, and Equipment)
ทรัพย์สินส่วนนี้เป็นส่วนที่จับต้องได้ของบริษัท เป็นส่วนที่เป็นตึกรามอาคารร้านรวงต่างๆ เช่นพวกที่ดิน, อาคาร, โรงงาน, เครื่องตกแต่งประดับ, เครื่องจักรต่างๆ เป็นต้น ตัวเลขแสดงมูลค่าของสิ่งเหล่านี้จะเป็นมูลค่าที่เหลือสุทธิหลังจากการหักลดค่าเสื่อมราคาแล้ว (ซึ่งจะหักลดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดอายุการใช้งานของทรัพย์สินนั้น) และในที่สุดแล้วทรัพย์สินพวก ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร เหล่านี้ก็จะต้องถูกแทนที่ด้วยของใหม่ และค่าเสื่อมราคาที่บริษัทได้คำนวณมาใช้ จะเป็นตัวเลขที่ดีและเหมาะสมที่สุดที่จะใช้แทนความเสียหายและเสื่อมสภาพของ ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร พวกนี้ ในหลายๆ กรณีเราควรสังเกตไว้ว่า ตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกต้องตามมูลค่าของมันที่ควรจะเป็น เช่นบริษัทอาจจะมีอาคารบางตึกที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาท แต่ถูกบันทึกไว้ในราคาเพียงนิดเดียวอันเนื่องมาจากถูกหักออกด้วยค่าเสื่อมราคามาหลายปี (แต่ตึก กลับยังอยู่ ไม่พังไปอย่างที่คิดตอนแรก) และในทางเดียวกัน ราคาของที่ดิน อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเวลาผ่านไป คือมากเกินกว่าที่บันทึกไว้ในงบดุลในส่วนนี้อยู่เยอะ ก็เป็นได้อีก
- ค่าความนิยม (Goodwill) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ ก็เหมือนกับชื่อของมันแหละครับ ก็คือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถจับ ยก ถือ อุ้ม ใดๆ แตะ สัมผัส ใดๆ ได้และโดยปกติก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสด (กันได้ง่ายๆ) ทรัพย์สินแบบนี้โดยทั่วไปอันหนึ่งก็คือค่าความนิยม ค่าความนิยมนี้โดยปกติก็คือส่วนต่างที่บริษัทหนึ่งยอมจ่ายเพื่อซื้ออีกบริษัทหนึ่งด้วยรคาที่เกินกว่าความเป็นจริง (ตามที่ได้รับการประเมินว่าควรมีราคาเท่าไร ด้วยวิธีการใดๆ อาจจะด้วยวิธีคิดลดเงินสด เป็นต้น) ตัวอย่างของค่าความนิยมนี้ก็คือ ยี่ห้อตราสินค้า เป็นต้น
นักลงทุนควรจะสังเกตไว้ว่า หากบริษัทหนึ่งใด คิดตรายี่ห้อของตัวเองขึ้น บริษัทนั้นจะไม่สามารถบันทึกค่าความนิยมในสิ่งใดๆ ที่ตัวเองคิดขึ้นมาเองไว้ในงบดุลได้ (แต่ถ้าซื้อมา สามารถบันทึกได้ นะครับ)
นักลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับรายการค่าความนิยมนี้ คือซอกแซกชวนสงสัยเอาไว้ให้มากๆ เนื่องจากว่าบริษัทส่วนมากมีแนวโน้มท่าทีที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อค่าความนิยมนี้เป็นจำนวนที่มากเกินความจำเป็น ทำให้ตัวเลขของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนชนิดนี้ แสดงเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริงที่ค่าความนิยมนั้นจะมีประโยชน์จริงๆ กฏทางบัญชีจะกำหนดให้บริษัทจะต้องทำการประเมินมูลค่าของความนิยมนี้ทุกๆ ปี และหากบริษัทบันทึกค่าความนิยม ลดลงๆ ทุกปี นั่นแปลว่าเงินที่จ่ายซื้อมาตอนแรกนั้นมัน แพงไปนั่นเอง
ตอนที่ 34 (6 มี.ค. 54)
หลังจากที่ดูว่าบริษัทมีทรัพย์สิน หรือสมบัติในการดำเนินงานเป็นอะไรบ้างแล้ว คราวนี้เราก็มาดูในส่วนของหนี้สินกันบ้าง หนี้สินเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องมีโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากใครบางคนด้วยเงินเชื่อ ก็ทำให้บริษัทเกิดหนี้สินแล้ว แต่ถ้าหากบริษัทสามารถสร้างกำไรจากส่วนของหนี้นั้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการ และแบบนี้เรียกว่า ยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งรวย ครับ
หนี้สิน
เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งที่บริษัทเป็นเจ้าของ เราก็สามารถมองอีกด้านหนึ่งของงบดุลได้ นั่นคือดูว่าบริษัทมีหนี้สินอะไรไว้กับใครบ้าง ก็เหมือนกับสินทรัพย์ที่ว่ามีประเภทหรือรายการหลักๆ ของหนี้สินอยู่สองประเภทคือ หนี้สินหมุนเวียน (current liabilities) และหนี้สินไม่หมุนเวียน (noncurrent liabilities)
- หนี้สินหมุนเวียน
หนี้สินที่บริษัทจะต้องจ่ายคืนภายในหนึ่งปีจะเรียกว่าหนี้สินหมุนเวียน รายการหลักๆ ที่นักลงทุนจะต้องให้ความสนใจก็คือเรื่องของ หนี้สินระยะสั้นและเจ้าหนี้การค้า (เรียกว่า account payable - เจ้าหนี้การค้า คือ บริษัทมีเจ้าหนี้การค้าอยู่) ซึ่งเรียกง่ายๆ ก็คือหนี้สินที่เกิดจากการที่บริษัทได้ไปซื้อเงินเชื่อมา ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะต้องใช้คืนนะครับ
- หนี้สินระยะสั้น
รายการนี้คือเงินที่บริษัทได้ขอยืมมาโดยมีกำหนดที่จะใช้คืนภายในหนึ่งปี ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นเงินเบิกเกินบัญชีทั้งหลาย โดยทั่วไปแล้ว เงินในส่วนนี้จะต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ในระยะสั้น คือเป็นเงินหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ใช่นำไปซื้อเครื่องจักวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เวลาในการคืนทุนนาน บางทีเงินส่วนที่เป็นหนี้สินระยะยาวที่ถึงคราวที่จะครบกำหนดชำระคืนเหลือภายในหนึ่งปี ก็จะโดนย้ายมาไว้ในรายการนี้เช่นกัน เงินส่วนนี้เป็นหนี้สินที่มีความสำคัญ เนืองจากจะต้องมีการใช้หนี้คืนกลับไปในเวลาอันสั้น ทำให้ต้องวุ่นวายมากในการจัดการกับเงินสด
ตอนที่ 35 (7 มี.ค. 54)
- เจ้าหนี้การค้า
เจ้าหนี้การค้าหมายถึงหนี้สินที่เกิดจากการทบริษัทได้ซื้อสินค้าและ/หรือ บริการจากผู้อื่น แล้วยังไม่ได้ชำระเงินให้กับผู้ขายนั้น รายการนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ลูกหนี้การค้า จะพูดไปก็คือ นักลงทุนจะต้องการเงินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ตรงกันข้ามกันของรายการทั้งสองอย่างนี้ (คือ อยากจะเห็นลูกหนี้การค้ามีมากขึ้น ในขณะที่เจ้าหนี้การค้ามีน้อยลงๆ) และในอีกแง่มุมของเวลา หากบริษัทมีลูกหนี้การค้า ผู้ถือหุ้นก็ย่อมอยากให้บริษัทสามารถเก็บหนี้ได้เร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม ในรายการเจ้าหนี้การค้า บริษัทก็ย่อมอยากจะประวิงเวลาจ่ายเงินออกไปให้นานอีกหน่อย (โดยที่ไม่สร้างปัญหาให้กับทั้งตัวเองและคู่ค้า) การที่ทำเช่นนี้ จะทำให้บริษัทสามารถถือเงินสดไว้ได้นานขึ้น ทำให้มีสถานะการไหลของเงินสดเป็นบวก
- หนี้สินไม่หมุนเวียน
หนี้สินไม่หมุนเวียนเป็นอีกด้านตรงกันข้ามของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หนี้สินพวกนี้ก็คือเงินที่บริษัทเป็นหนี้และมีกำหนดที่จะต้องชำระคืนในเวลามากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แม้ว่าเราอาจจะเห็นรายการย่อยหลายอย่างเขียนฝังไว้ในรายการนี้ แต่โดยหลักใหญ่ใจความก็คือหนี้สินระยะยาวนั่นเอง
- หนี้สินระยะยาว
รายการนี้เป็นรายการที่แสดงถึงเงินที่บริษัทได้หยิบยืมมา โดยทั่วไปก็เช่นการออกตราสารหนี้ (บ้านเราเรียกว่า หุ้นกู้) ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินต้นคืนเป็นเวลาหลายปี การที่บริษัทมีหนี้สินระยะยาวมากเกินไป เป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทเนื่องจากบริษัทจะยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ ไม่ว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร (กำไรมาก กำไรน้อย หรือแม้แต่ไม่มีกำไร ก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ย) การที่จะบอกว่าบริษัทหนึ่งๆ มีหนี้สินระยะยาวมากเกินไปหรือไม่ หรือควรมีไม่เกินแค่ไหน เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับชนิดของบริษัทนั้นๆ เอง (คือไม่สามารถกำหนดบอกตายตัวได้ เพราะว่าขึ้นอยู่กับธรรมชาติของธุรกิจ เช่นบริษัทที่ต้องลงทุนจำนวนมาก ซึ่งหากใช้เงินของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ก็จะทำให้ผลตอบแทน ROE - Return On Equity ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้่ในภายหลัง - ต่ำลง แต่สินค้า/บริการนั้นเป็นการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดในระยะยาว มีลูกค้าแน่นอน การกู้ระยะยาวมากก็อาจจะเป็นการเหมาะสมได้) การที่จะดูว่าหนี้สินระยะยาวมากเกินไปหรือไม่อย่างง่ายๆ ก็คือ ดูว่ากำไรของบริษัทหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่างๆ และค่าเสื่อมราคาแล้ว แต่ก่อนหักภาษี (EBIT - Earning Before Interest and Tax) เป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย (พูดง่ายๆ คือ มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างสบายๆ หรือไม่) ยิ่งกำไรมีค่าเป็นหลายเท่าของดอกเบี้ย ยิ่งแปลว่าสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างสบายๆ
ตอนที่ 36 (8 มี.ค. 54)
- ส่วนของผู้ถือหุ้น
รายการนี้นี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ถือหุ้นมาก เนื่องจากชื่อของมันก็บอกอยู่ชัดเจนว่า "ส่วนของผู้ถือหุ้น" อย่างไงล่ะครับ ตามสมการของงบดุลแล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ก็คือสินทรัพย์ของบริษัททั้งหมด ลบออกด้วยหนี้สิน ซึ่งแสดงตัวเลขของส่วนของบริษัทที่เป็นของผู้ถือหุ้นจริงๆ จึงเรียกชื่อว่าส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง ในบางที่บางเวลา อาจจะมีคนเรียกส่วนนี้ว่า ทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งต้องระวังให้ดีเพราะว่าอาจจะเกิดความสับสนได้ (เรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นกันนั่นล่ะ ดีแล้วครับ ชัดเจนดี) ถึงแม้ว่าจะมีรายการย่อยจำนวนหลายรายการในส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ รายการย่อยที่สำคัญสนส่วนนี้มีสองอย่างคือ กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร (Retained Earnings) และหุ้นซื้อคืน (Treasury Stock)
- กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
รายกานี้แสดงตัวเลขของกำไรทั้งหมดของบริษัทที่มีมาตั้งแต่ตั้งกิจการ หักออกด้วยเงินที่บริษัทได้จ่ายออกไปให้กับผู้ถือหุ้นเป็นปันผล เนื่องจากตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสะสม ถ้าบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่เรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ ตัวเลขกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรนี้ก็สามารถจะมีค่าเป็นติดลบได้ และจะกลายเป็น "ขาดทุนสะสม" (accumulated deficit) ไป
- หุ้นซื้อคืน (Treasury Stock)
รายการนี้แสดงถึงว่าบริษัทได้มีการซื้อหุ้นของตัวเองคืนจากตลาดหรือไม่เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งจริงๆ แล้วการซื้อหุ้นคืนจากตลาด ก็เปรียบเสมือนเป็นการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น (และในบางกรณี ดีกว่าการจ่ายปันผลด้วยซ้ำไป) นักลงทุนควรจะคอยสังเกตตัวเลขนี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่ง
Credit >> http://muegao.blogspot.com