สิ่งที่จะต้องมองหาดูในงบกำไรขาดทุน

สิ่งที่จะต้องมองหาดูในงบกำไรขาดทุน

1. ต้องมีรายได้สูง อย่างน้อยคือสูงเมื่อเทียบกับขนาดบริษัท
2. มีต้นทุนขายต่ำสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปมาต่ำบ้างสูงบ้าง (คิดเป็น % เทียบกับรายได้)
3. มีกำไรขั้นต้นสม่ำเสมอ ถ้าสูงกว่า 30% ขึ้นไปได้จะดี ไม่เปลี่ยนไปมามาก
4. ค่าใช้จ่ายในการขายควรจะสม่ำเสมอ ถ้าต่ำ (กว่า 60% ของกำไรขั้นต้น) ได้ก็จะดี
5. ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและพัฒนา จะดูดเอากำไรออกไป ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ไม่สามารถหยุดวิจัยได้ (ไม่สามารถอยู่รอดได้) บริษัท hi-tech ที่ไม่ได้ผูกขาดทางการตลาด เป็นตัวอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง
6. ค่าเสื่อมราคา ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายจริง แม้ว่าไม่มการจ่ายกระแสเงินสดออกไปก็ตาม อย่าหลงกับ EBITDA ที่ตัดเอาค่าเสื่อมราคา (ที่มีจำนวนมหาศาลในธุรกิจบางประเภท) ออกไป บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน จะมีค่าเสื่อมราคาต่ำกว่า เพราะว่าไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่ๆ เสมอๆ
เพื่อต่อสู้ในธุรกิจ
7. ดอกเบี้ยจ่าย เป็นต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ ไม่ว่าจะขายของได้หรือไม่ก็ต้องจ่าย บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จะมีดอกเบี้ยจ่ายต่ำเมื่อเทียบกับรายได้จากการขายอย่างสม่ำเสมอ [บริษัทที่มีดอกเบี้ยจ่ายมีสองประเภทคือ
พวกที่ต้องกู้มาดิ้นรนปรับปรุงกระบวนการผลิตอยู่ตลอดเวลาเพียงเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจ และบริษัทที่ดีมาก จนต้องกู้มาซื้อบริษัทอื่นๆ ข้างเคียง ต้องแยกให้ออกด้วย]
8. กำไร/ขาดทุน ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่นจากการขายสินทรัพย์) ไม่ควรนำเข้ามาคำนวณเพื่อตัดสินความสามารถในการแข่งขัน (แต่อาจจะนำไปเป็นข้อดีในการพิจารณาเป็นโอกาสในการแข่งขันหรือชำระหนี้เงินกู้เพื่อลดดอกเบี้ยได้ เนื่องจากมีกระแสเงินสดไหลเข้ามา)
9. ในการเปรียบเทียบบริษัท ให้คำนวณจากกำไรก่อนหักภาษีเป็นหลัก เนื่องจากบริษัทแต่ละบริษัท/ชนิด เสียภาษีไม่เท่ากัน (และสำหรับเมืองไทย เราสามารถเครดิตภาษีคืนได้ด้วย)
10. ภาษีจ่าย ตรงนี้ต้องดูด้วย บริษัทที่ดี ที่บอกว่ากำไรมาก จะต้องมีภาษีจ่ายเป็นเงินสดจริงๆ ออกไป ไม่ต้องตุกติกอะไรตรงส่วนนี้
11. กำไรสุทธิ เราจะต้องพิจารณาใน 3 ประการคือ
ก) มีกำไรสม่ำเสมอ
ข) กำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ
ค) มีอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) สูง (จะเทียบเป็น % กับยอดขาย) ถ้าเกิน 20% ได้จะดี การมีอัตรากำไรสุทธิสูง แสดงได้ถึงความสามารถในการแข่งขันที่สูง
12. กำไรต่อหุ้น (EPS - Earning Per Share) จะต้องสูงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ กำไรบ้างขาดทุนบ้าง

สรุป

ในเรื่องของงบกำไรขาดทุนนี้ เราได้พูดถึงการแปลความหมายของตัวเลขต่างๆ ที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน เพื่อที่จะทราบถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สิ่งที่ผมได้เล่ามาในบทนี้ มีรายละเอียดมาก อยากจะให้พวกเรานักลงทุนได้อ่านซ้ำอีกหลายๆ รอบในกรณีที่ยังไม่เข้าใจดี หรือแม้แต่เข้าใจดีแล้ว ก็ยังสามารถอ่านได้ซ้ำๆ อีกเพื่อที่จะได้ซึมซับความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปอีก การที่เราสามารถวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้นี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทนั้นมีกำไรหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทนั้นหรือไม่

Credit >> http://muegao.blogspot.com