เริ่มลงทุนในหุ้นหรือเริ่มเล่นหุ้นอย่างไรดี

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความต้องการจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นอันดับแรก คือ เงินลงทุน

เงินที่จะนำมาลงทุนในหุ้นแนะนำว่า ควรจะเป็นเงินเย็น ความหมายก็คือ เป็นเงินที่แบ่งออกมาเพื่อลงทุนโดยเฉพาะ ไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายอย่างทันทีทันใด

เนื่องจากราคาของหุ้นจะมีความผันผวนเปลี่ยนไปในทิศทางขึ้น หรือ ลง ค่อนข้างไว หากท่านนำเงินที่มีกำหนดต้องใช้จ่ายแน่นอนมาใช้แล้ว เมื่อถึงเวลานั้น หากเป็นช่วงเวลาที่ราคาหุ้นกำลังตกต่ำอยู่ เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในประเทศ ท่านก็จะต้องขายหุ้นขาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆที่ท่านเองก็รู้ว่าหากรอให้พ้นสภาวะน้ำท่วมไปได้ ราคาหุ้นก็จะกลับมาสูงขึ้น

จำนวนเงินเริ่มต้น ควรจะเป็นเท่าไรดี ?

ไม่ได้มีข้อจำกัดมากนักในจำนวนเงินเริ่มต้นของการลงทุน ท่านจะเริ่มที่ 10,000 บาท หรือ 10,000,000 บาท ก็แล้วแต่ท่าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอแนะนำว่า หากท่านเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ควรจะเริ่มต้นที่เงินจำนวนน้อยก่อน จากนั้นใน 1-2 เดือนถัดไป ค่อยเพิมเงินเข้าไป

มีเงินแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?

เมื่อคุณเตรียมเงินลงทุนในหุ้นไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดไป คือ เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ โบรกเกอร์

โบรกเกอร์ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเข้าเป็น  “บริษัทสมาชิก” ของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เข้าสู่ระบบซื้อขาย ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง

ควรเลือกโบรกเกอร์อย่างไร ?

ควรเลือกบริษัทที่น่าเชื่อ และที่สำคัญควรพิจารณาถึงรูปแบบการซื้อขายหุ้นของคุณ และค่าธรรมเนียมการซื้อขายด้วย

ในการซื้อ หรือ ขายหุ้น คุณสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี

1. ซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทโบรกเกอร์ โดยโทรศัพท์ติดต่อเข้าไป (หลังจากเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว ท่านจะมีเจ้าหน้าที่ประจำตัว เรียกว่า มาร์ คอยติดต่อประสานงาน)

2. ซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต

การซื้อขายหุ้นผ่านมาร์เก็ตติ้ง จะเหมาะสำหรับนักลงทุน ผู้ที่ไม่สะดวกในการทำการซื้อขายด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ข้อดีของการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ คือ สะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ข้อเสีย คือ ค่าธรรมเนียมจะสูงกว่า

การซื้อขายด้วยตนองผ่านอินเตอร์เน็ต จะมีค่าคอมมิสชั่นที่ต่ำกว่า ในส่วนนี้ขอเน้นว่า ให้ท่านเลือกโบรกเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการซื้อขาย ซึ่งปัจจัย หลายบริษัทไม่คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ หากผู้ลงทุนเลือกรับข้อข้อมูลทางอีเมล์และแจ้งความประสงค์ให้ทราบตั้งแต่ตอนเปิดบัญชีซื้อขาย

คำว่า ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ คือ ค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าท่านซื้อขายหลักทรัพย์มูลค่ามากน้อยเพียงใด ก็ต้องเสียเท่านี้

ประเภทบัญชี ซื้อขายหุ้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. Cash Balance บัญชีประเภทนี้ ท่านจะต้องโอนเงินลงทุนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ก่อน และซื้อขายหุ้น ได้เท่าที่เงินลงทุนจะมีเท่านั้น

2. Credit Balance หรือ Cash Account บัญชีประเภทนี้ ท่านจะมีวงเงินซื้อ หรือ ขาย หุ้น มากกว่าเงินที่ท่านโอนไปที่บัญชีโบรกเกอร์ กล่าวง่าย ๆ คือ ท่านสามารถยืมเงินโบรกเกอร์มาลงทุนได้ก่อน แล้วค่อยชำระคืนในเวลาที่โบรกเกอร์กำหนด

หากท่านเป็นนักลงทุนผู้เริ่มต้น ขอแนะนำให้เปิดบัญชีแบบที่ 1 จะดีกว่า คือ มีเงินเท่าไรก็ลงทุนเท่านั้น

หลังจากที่ท่านเปิดบัญชี ซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว ท่านก็สามารถเริ่มที่จะลงทุนได้ทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน

Credit >> http://www.setmai.com/


Ceiling และ Floor คืออะไร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันไว้ เพื่อไม่ให้ราคาของหุ้นมีความผันผวนมากจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเสี่ยงเกินกว่าจะรับได้สำหรับนักลงทุน

ราคา Ceiling ก็คือ ราคาสูงสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน กำหนดไว้ที่ + 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ราคา Floor คือ ราคาต่ำสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน  กำหนดไว้ที่ – 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า

ทั้งนี้หากเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายวันแรก หรือ ที่เรียกว่า หุ้น IPO
- ราคาหุ้นสูงสุด (Ceiling) จะเท่ากับ 3 เท่าของราคา IPO
- ส่วนราคาขั้นต่ำ (Floor) จะเท่ากับ 0.01 บาท

ส่วนหลักทรัพย์ประเภท Warrant / DW / TSR นั้น Ceiling/Floor คือ ราคา IPO ± (100% x
ราคาปิดหุ้น Underlying วันก่อนหน้า x อัตราการแปลงสภาพ) โดยราคาหุ้นขั้นต่ำเท่ากับ 0.01
บาท

ปล. รายละเอียดวิธีคำนวนราคา Ceiling และ ราคา Floor อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งที่เรานำมาลงในบทความนี้ เป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจาก ปก.(ว) 9/2555 ในวันที่ 16 กค. 2555

Credit >> http://www.setmai.com


ตลาดหมี ตลาดกระทิง คืออะไร

นักการเงินได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมา เพื่อแสดงถึงสภาวะของตลาดหุ้น ซึ่งมีทิศทางขึ้นหรือลง อย่างชัดเจน โดยได้นำสัตว์ 2 ชนิดมาเป็น สัญลักษณ์ได้แก่ กระทิง และ หมี

ตลาดกระทิง (bull market)  คือ สภาพตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนโปรดปรานมากที่สุด ทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นไปในทางที่ดี ราคาหุ้นและดัชนีหลักทรัพย์โดยรวมล้วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่เรียกว่า ตลาดกระทิง เนื่องจาก กระทิงจะโจมตีคู่จ่อสู้ด้วยการขวิดเขา จากด้านล่างขึ้นบน เหมือนกราฟดัชนีในช่วงนี้ที่พุ่งขึ้นด้านบน

ตลาดหมี (bear market) เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของนักลงทุน ดัชนีหลักทรัพย์และราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางทิศทางลบ

สาเหตุที่เรียกว่าช่วงเวลาซึ่งตลาดหุ้นดิ่งลงต่ำอย่างต่อเนื่องว่าตลาดหมี เพราะ เวลาที่หมีโจมตีคู่ต่อสู้ จะใช้กรงเล็บตะปบ จากด้านบนลงล่าง เหมือนช่วงเวลาที่กราฟหุ้นดิ่งลงต่ำนั่นเอง

Credit >> http://www.setmai.com/

เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆในตลาดหุ้นไทย

เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และเพื่อเป็นการเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำการขึ้นเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบ เรามาศึกษากันว่า แต่ละสัญลักษณ์ มีความหมายเช่นไร

เครื่องหมายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

XD (Excluding Dividend) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XI (Excluding Interest) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XE (Excluding Exercise) แสดงการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
XR (Excluding Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XW (Excluding Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
XS (Excluding Short-term Warrant) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นระยะสั้น
XT (Excluding Transferable Subscription Right) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XP (Excluding Principal) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XM (Excluding Meetings) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XN (Excluding Capital Return) ผู้ซื้อหุ้นไม่มีสิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
XA (Excluding All) ผู้ซื้อหุ้นไม่ได้สิทธิทุกประเภท

เครื่องหมายหุ้นที่แสดงการห้าม หรือ เตือน

NP (Notice Pending) บริษัทจดทะเบียนต้องรายงาน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
NR (Notice Received) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่ขึ้น
เครื่องหมาย NP แล้ว และจะขึ้นเครื่องหมาย NR เป็นเวลา 1 วัน
SP (Suspension) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย
H (Halt) ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวโดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย

Credit >> http://www.setmai.com/


NVDR คืออะไร

เนื่องจากกฏหมายในประเทศไทยได้จำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติเอาไว้ ไม่ให้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทเกินสัดส่วนที่กำหนด เพื่อป้องกันการทุ่มซื้อกิจการจากต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนให้มากเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง  ”บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” (Thai NVDR Company Limited)”

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะทำหน้าที่ออกตราสารเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) ซึ่งจะอ้างอิงตรงกับหลักทรัพย์ทุกตัวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในระดับราคาที่เท่ากัน เมื่อนักลงทุนซื้อตราสารเอ็นวีดีอาร์ตัวไหน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ก็จะนำเงินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ตัวนั้น

ผู้ถือตราสารเอ็นวีดีอาร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) ได้เสมือนลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายกว่านี้ คือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เหมือนกับเป็นตัวแทนในการถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างชาติ เพราะกฏหมายควบคุมไม่ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นของแต่ละบริษัทมากเกินไปจนกระทั่งสามารถเข้าไปมีสิทธิในการกำหนดทิศทางบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นได้ ดังนั้นถ้านักลงทุนต่างชาติอยากซื้อหุ้นตัวไหนในตลาดหลักทรัพย์ ก็เลือกซื้อผ่าน (NVDR) แทน ผลประโยชน์ที่ได้รับก็เหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป เพียงแต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อควรทราบก็คือ หุ้น NVDR ไม่ได้จำกัดให้ซื้อเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น นักลงทุนไทยก็สามารถซื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่บางราย ที่ไม่ต้องการให้ชื่อของตนปรากฏขึ้นมาในรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ของแต่ละบริษัทที่ลงทุน ก็จะเลือกซื้อหุ้น NVDR แทน

*** บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านบาท โดยตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน บริษัทประกอบธุรกิจโดยการออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt :NVDR) เพื่อขายให้แก่ผู้ลงทุน***

- หากท่านต้องการซื้อหุ้น NVDR สามารถที่จะสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่ท่านเป็นสมาชิกได้เลย แต่ถ้าท่านซื้อขายหุ้นด้วยตัวเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็เพียงแค่เลือกประเภทหุ้นเป็น NVDR โดยเมื่อซื้อแล้วรายชื่อหุ้นที่แสดงจะเป็นชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุน ตามด้วย -R

Credit >> http://www.setmai.com/


Defensive Stock คือหุ้นแบบไหน

ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เรามักจะได้ยินนักวิชาการด้านการลงทุน ออกมาแนะนำผู้ลงทุน ให้เน้นไปที่หุ้นประเภท Defensive Stock  วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหุ้นประเภทนี้กัน

คำว่า Defensive Stock แปลว่า หุ้นตั้งรับ , ความหมาย คือ หุ้นที่มีเสถียรภาพสูงภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆได้รับผลกระทบในทางลบจากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ แต่หุ้นของบริษัทที่มีการดำเนินการอยู่ในรูปแบบ Defensive จะไม่ได้รับผลมากนัก เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทยังคงที่เช่นเดิม

ตัวอย่างของหุ้น Defensive Stock เช่น กิจการประเภทระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ,ประปา ) , อาหาร ,ยา ,โรงพยาบาล เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างข้างต้น ถ้าจะขยายความให้เห็นได้ชัด  เช่น กิจการไฟฟ้า ถึงแม้ว่าวงจรเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป

หุ้น Defensive Stock ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า non-cyclical stock ความหมายคือ เป็นหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในวงจรเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหุ้นประเภทนี้ จะมีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่ แต่ในทางกลับกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ ก็ยังให้ผลตอบแทนที่คงที่ไม่เพิ่มขึ้น มีอัตราการผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

Credit >> http://www.setmai.com


PEG Ratio คืออะไร

Price/Earnings To Growth หรือ PEG Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ P/E Ratio ที่ไม่ได้มีการนำเอาอัตราการเติบโตของผลกำไรมาร่วมคำนวนด้วย ทำให้ค่า P/E ของหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง (Growth Stock) อาจจะดูมีค่ามากเกินไปจนไม่น่าลงทุน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์การเติบโต มูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุนอยู่

วิธีคำนวน ค่า PEG Ratio ทำได้โดยนำค่า P/E มาหารด้วย เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth)

สำหรับ เปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) นักลงทุนแต่ละท่านอาจจะเลือกใช้ตัวเลขที่แตกต่างกัน บางคนใช้อัตราเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปีล่าสุด ,บางคนใช้อัตราการเติบโตปีล่าสุดเพียงปีเดียวมาใช้ เป็นต้น

จากการที่ตัวแปรซึ่งใช้คำนวนมีความแตกต่างกัน ทำให้ค่า PEG Ratio ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจ หากดูข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิชาการจากหลายแห่งแล้วไม่ตรงกัน

ค่า PEG Ratio เหมือนกับ P/E คือ Ratio คือ  หุ้นตัวไหนที่มีค่าน้อย แสดงว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุน

มาตรฐานโดยส่วนมาก จะแนะนำกันว่าค่า PEG Ratio ไม่ควรเกิน 1 เท่า

ตัวอย่าง วิธีคำนวน PEG Ratio

หุ้น A มีค่า P/E = 16 , มีเปอร์เซ็นต์อัตราการเติบโตเฉลี่ยใน 5 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่ 20%

นำ 16 หารด้วย 20 จะ = 0.8 เท่า

Credit >> http://www.setmai.com/