วิเคราะห์พื้นฐานบริษัทด้วยวิธี Five Force Model

Five Force Model คือ โมเดลในการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและคู่แข่ง เพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธการแข่งขัน ผู้คิดค้นหลักการนี้ขึ้นมา คือ ไมเคิล อี พอตเตอร์

ในทฤษฏีนี้ ระบุไว้ว่า มี 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ควรพิจารณาว่า บริษัทในอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้น มีอุปสรรคในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน

1. การคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่

หากธุรกิจไหนง่ายต่อการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ จะส่งผลเกิดการแข่งขันกันสูง ปัจจัยที่จะช่วยป้องกันคู่แข่งเพิ่มเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเดียวกัน คือ

- ตราสินค้าที่แข็งแกร่ง

- กลุ่มฐานลูกค้าประจำ

- ต้นทุนในการดำเนินกิจการสูง

- ทรัพยากร หรือ วัตถุดิบ ที่จำกัด

- ข้อจำกัดทางกฏหมายในการดำเนินธุรกิจ การผูกขาดโดยรัฐบาล เช่น ธุรกิจสัมปทาน

2. อำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ

หากซัปพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูงมาก อาจะส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียกำไร และขาดความคล่องแคล่วในการดำเนินการต่าง ๆ ปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ว่าอำนาจต่อรองของผู้จำหน่ายวัตถุดิบมีมากหรือน้อย พิจารณาได้จาก

- มีจำนวนซัปพลายเออร์ในอุตสาหกรรมไม่มาก

- ไม่มีวัตถุดิบทดแทน แม้ราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้นเท่าไร ก็จำเป็นต้องซื้อ

- การเปลี่ยนแปลงไปใช้วัตถุดิบอื่นมีต้นทุนสูง

- วัตถุดิบของซัปพลายเออร์มีความสำคัญกับบริษัทมาก ไม่สามารถดับเนินธุรกิจได้เลยหากปราศจากสินค้าจากซัปพลายเออร์

- ธุรกิจของบริษัทซัปพลายเออ มีผลกำไรสูงกว่า ธุรกิจของบริษัทที่ซื้อสินค้า

3. อำนาจของผู้บริโภค

หากธุรกิจไหนที่ลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองสูง จะส่งผลให้บริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของผลกำไรและปริมาณการขายได้ง่าย ปัจจัยที่สังเกตุว่าธุรกิจนั้น ๆ ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูงหรือไม่ ดูได้จาก

- กลุ่มลูกค้ามีขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก บริษัทต้องเอาใจลูกค้า

- การซื้อของลูกค้าเป็นการซื้อจำนวนมาก ทำให้สามารถต่อรองได้มาก

- ลูกค้ามีทางเลือกในการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของคู่แข่งอื่น

- สินค้าไม่ได้มีความสำคัญมากกับลูกค้า ลูกค้าอาจไม่ต้องใช้สินค้าก็ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

- ราคาสินค้ามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ถ้าเจอสินค้าบริษัทไหนถูกกว่า ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยน

4. สินค้าทดแทน
หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ของบริษัทใด มีสินค้าหรือบริการที่สามารถทดแทนได้ ซึ่งลูกค้าสามารถเปลี่ยนไปใช้แทน โดยไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มเติมที่สูง ธุรกิจนั้นก็มีความเสี่ยงต่อการรักษากำไรให้คงที่ เพราะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

- สินค้าของบริษัทมีสินค้าใกล้เคียงกันที่สามารถทดแทนได้หรือไม่ เช่น ถ้าราคากาแฟขึ้นสูงมาก ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปดื่มชาแทน

5. การแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน ธุรกิจในอุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีการแข่งขันสูง จะมีแนวโน้มที่ได้รับอัตราผลกำไรต่ำ เพราะจะต้องแบ่งงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในการแข่งขัน เราสามารถพิจารณาได้ว่าในอุตสาหกรรมนั้นมีการแข่งขันสูงหรือไม่ ดังนี้

- ในอุตสาหกรรมนั้น ขนาดของแต่ละบริษัทใกล้เคียงกัน

- มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างสินค้าของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม

- การเติบโตของแต่ละบริษัทมีอัตราที่ต่ำ และทุกบริษัทมีช่องทางที่จะแย่งชิงลูกค้าของแต่ละฝ่ายได้

หลักการของ Porter ‘ Five Force Model เป็นอีกหนึ่งทฤษฏีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจที่ลงทุนได้ มีความใกล้เคียงกับการพิจารณาการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟต คือ มักจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด

Credit >> http://www.setmai.com