หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นักลงทุนจะประเมินมูลค่าบริษัทและหุ้นของบริษัทด้วยปัจจัยพื้นฐาน เมื่อได้มูลค่าที่เหมาะสมแล้วจึงพิจารณาราคาในตลาดหลักทรัพย์ หากพบว่าราคาของหลักทรัพย์ทั้งหมดต่ำกว่า ก็จะเข้าซื้อหุ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าราคาในตลาดจะวิ่งไปหามูลค่าที่เหมาะสมในระยะยาว อันที่จริง หลักการลงทุนทุกรูปแบบยกเว้นแบบเทคนิคอล จะเลือกซื้อหุ้นเมื่อพบว่าราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน (หลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็บอกเช่นกันว่า ให้ลงทุนในโครงการที่มี Abnormal Profit หรือ Economic Profit) ดังนั้น การเลือกหุ้นที่ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน จึงมิไม่เป็นหลักการเฉพาะของการลงทุนแบบคุณค่าแต่อย่างใด ที่หลักการการลงทุนแบบคุณค่าแตกต่างกับวิธีการการลงทุนแบบอื่นๆก็คือ การลงทุนแบบคุณค่าเชื่อว่าอัตราส่วนทางบัญชี เช่น P/E และ P/BV ที่ต่ำ สามารถบ่งบอกว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ในขณะที่การลงทุนแบบอื่น อาทิ แบบ Growth เชื่อว่าอัตราเติบโตเร็วบ่งบอกว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้นนั้นสูงกว่าราคาปัจจุบัน (ซึ่งก็แปลว่า ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานเช่นกัน นั่นเอง) สาเหตุที่หุ้นที่ P/E และ P/BV ต่ำมักจะมีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน งานวิจัยบางส่วนบ่งบอกว่าเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินหุ้นที่มีผลการดำเนินงานช่วงหลังๆไม่ค่อยดี หรือว่าหุ้นที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ผลตรงนี้สนับสนุนความเชื่อของ เบนจามิน เกรแฮม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการวิจัยพบว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในระยะยาว ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการว่า สาเหตุของกำไรเกิดจากอะไร ฝ่ายหนึ่งดังที่กล่าวไปแล้ว เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากผลทางจิตวิทยา (Behavioural Finance) นำโดยศาสตราจารย์ ริชาร์ด ทาเลอร์ เดเนียล คาห์เนมาน (โนเบล 2004) ฯลฯ โดยการงานวิจัยทางจิตวิทยาสนับสนุนในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการที่หุ้นที่มีอัตราส่วนทางบัญชีต่ำนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นโดยทั่วไป ซึ่งค่ายนี้นำโดย ยูจีน ฟามา มาร์ค รูบินสไตน์ ฯลฯ โดยมีหลักฐานชี้ว่า หากมีการปรับ Asset Pricing Model โดยพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราส่วนบัญชีเข้าไปด้วย การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนแบบทั่วไปแต่อย่างใด กำไรที่สูงกว่าเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่มากกว่าเท่านั้นเอง (ข้อมูลเพิ่มเติม: Fama and French (1996) )

ปัจจุบันได้มีหนังสือที่ออกมาเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวหลายเล่ม ที่ยอมรับนับถือว่าเป็นคัมภีร์ของนักลงทุนก็เช่น Security Analysis และ The Intelligent Investor โดยเบนจามิน เกรแฮม

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการในการลงทุน จึงมีแนวคิดอื่นเช่นการลงทุนในหุ้นโตเร็ว และปัจจัยทางการบริหารจัดการ ฟิล ฟิชเชอร์เป็นเจ้าของแนวคิดดังกล่าว ท่านเป็นนักลงทุนอีกท่านในยุคนั้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้แต่งหนังสือชื่อ Common Stock and Uncommon Profit ขึ้นมา ในหนังสือนี้จะสอนให้นักลงทุนพิจารณาปัจจัยทางคุณภาพมากกว่า ปัจจัยทางปริมาณซึ่งหลักการนี้ต่างจากหลักการของเกรแฮมที่สอนให้นักลงทุนศึกษาปัจจัยทางปริมาณ

ปัจจุบันมีแนวคิดและหลักการต่างๆ ประยุกต์และแตกแขนงออกไปจากหลักการพื้นฐาน แต่ทุกแนวคิดก็ยังต้องอิงกับปัจจัยทางปริมาณ และปัจจัยทางคุณภาพ ร่วมกันเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม

Credit >> http://th.wikipedia.org