การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average)

สวัสดีครับ ผมห่างหายไปจากการเขียนบล๊อกนี้ซะนาน ต้องขออภัยทุกท่านด้วยครับ บังเอิญได้แวะเข้ามาเช็คเรตติ้ง ปรากฎว่าระหว่างที่ผมหายไปจากการเขียนนี้ ยังมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมบล๊อกนี้อยู่อย่างต่อเนื่องจนยอดรวมแตะหลักหมื่นแล้ว ผมแอบปลื้มใจเพราะตอนเขียนแรกๆ แทบไม่มีคนอ่านเลย แต่มาวันนี้ ยอดผู้อ่านแต่ละวันเฉลี่ย 100 คน และยังมีผู้อ่านที่อยู่ต่างประเทศด้วยครับ หากอยากทักทายกันก็อีเมล์มาหากันได้นะครับ ที่ pattanachai.k@gmail.com ครับ

เมื่อสัปดาห์ที่่ผ่านมา ทางสมาคมนักวางแผนการเงิน ได้ส่งอีเมล์มายังนักวางแผนการเงินที่เป็นสมาชิกสมาคม (รวมตัวผมด้วย) เชิญชวนให้เข้าไปตอบคำถามที่เว็บบอร์ดของสมาคม เนื่องจากมีผู้เข้ามาเขียนกระทู้คำถามเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินต่างๆ ผมจึงลองเข้าไปดู โดยมีหัวข้อหนึ่งมีผู้ถามเกี่ยวกับ DCA ซึ่งผมได้ตอบกระทู้ไป และจึงอยากมาเขียนขยายความเรื่องนี้ในบล๊อกของผมด้วยให้หลายๆ ท่านได้อ่านกันครับ


DCA คือ Dollar Cost Averaging เป็นรูปแบบการลงทุนลักษณะหนึ่ง ขอนุญาตอธิบายเพิ่มนะครับ คือเป็นการที่เราทะยอยเอาเงินจำนวนเท่าๆ กัน ไปลงทุนอะไรอย่างหนึ่ง (ส่วนมากอนุมานว่าเป็นหุ้น) เป็นประจำ เช่น เป็นรายเดือน และทำแบบต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. นำเงิน 3,000 บาท ไปลงทุนซื้อหุ้นบริษัท ญ ทุกๆ วันที่ 10 ของทุกเดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี (60 เดือน)   บางคนอาจจะเรียกว่า การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า DCA นะครับ

การลงทุนแบบนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า
1. เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่า เราควรซื้อหุ้นตอนไหน จึงจะได้ราคาดีที่สุด
2. การทะยอยซื้อหุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อผิดจังหวะ (คือซื้อตรงราคาแพง) และเพิ่มโอกาสในการเข้าซื้อถูกจังหวะ

ฟังแล้วงง ไม่เป็นไรครับ เอาเป็นว่า DCA ก็คือการซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยไปเรื่อยๆ โดยอาจกำหนดวันที่จะซื้อไว้แน่นอน เช่น ทุกวันที่ 25 ของเดือนซื้อทีนึง เดือนหน้าก็ซื้ออีกทีนึงวันที่ 25 เหมือนเดิม เดือนนู้นอีกทีนึง....ไปเรื่อยๆ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างวินัยในการลงทุน คือบางครั้ง การที่เราเก็บเงินไว้เป็นก้อนใหญ่ แล้วกะจะเอาไปลงทุนตูมเดียวครั้งเดียวใน 1 ปี บางคนก็คิดเยอะ คิดนาน พยายามหาจังหวะที่จะคิดว่าดีที่สุด แล้วก็ไม่ลงทุนซักที แล้วพอตัดสินใจได้ บางทีก็สายไป หรือไม่ก็ไปซื้อเอาตอนที่คนส่วนใหญ่ก็ซื้อกัน ดังนั้นราคาหุ้นก็แพงสิครับ (ตามหลัก อุปสงค์ อุปทาน ทั่วไป) เช่น คนส่วนใหญ่จะซื้อเอาตอนปลายปี เช่น ท่านที่ซื้อ LTF , RMF ซึ่ง เอาไปใช้หักลดหย่อนภาษี และช่วงใกล้ปลายปี ทางธนาคารต่างๆ ก็พยายามออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมายั่วใจนักลงทุน ทำให้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นในช่วงปลายปีหรือโค้งสุดท้าย ไม่เช่นนั้นก็จะเสียดาย ลดหย่อนภาษีไม่ทัน

ผมทำตารางผลตอบแทนมาให้ดูว่า ถ้าหากท่านมีเงินต้น 1 แสนบาท นำไปลงทุน และแต่ละเดือน ท่านยังเติมเงินเข้าไปอีกเดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือน และแต่ละปี ท่านเพิ่มเงินลงทุนนี้ ปีละ 5% เพราะท่านมีรายได้เพิ่มทุกปี จึงสามารถนำเงินมาลงทุนเพิ่มได้ และกำหนดว่าถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10%*  ลองดูนะครับ ว่าเวลาผ่านไปกี่ปี เงินดังกล่าวก้อนนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นกี่บาท

ตัวอาจจะเล็กไปหน่อยนะครับ ขออภัยด้วยครับ แต่สรุปว่า ถ้าทำแบบนี้ไปจนเกษียณ หรือใช้เวลาสัก 29 ปี เงินดังกล่าว จะกลายเป็นเงิน 10 ล้านบาทครับ!  ดังนั้น ถ้าเริ่มเร็ว และมีวินัย เราก็สามารถมีเงินใช้ยามเกษียณได้อย่างสบายๆ นะครับ เริ่มเสียแต่วันนี้นะครับ

สำหรับตัวผมเอง มีประสบการณ์ตรง กับการลงทุนแบบ DCA โดยลงทุนใน LTF ครับ เพิ่งครบกำหนดขายกองทุนได้ตอนปีนี้เอง ผลปรากฎว่า คำนวณดูแล้ว ได้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ต่อปีอีกนะครับ (ขออุบว่ามากกว่าเท่าไหร่ เดี๋ยวบางท่านอิจฉา) ลองดูกันนะครับ เริ่มจากจำนวนเงินไม่ต้องมากก็ได้ครับ และไม่จำเป็นต้องลงทุนใน LTF เสมอไป เดี๋ยวนี้มีกองทุนเปิดที่ลงทุนในหุ้น มากมายหลายกองทุนครับ

อย่างไรก็ดี การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ