Free Float คืออะไร

Free Float คือ ปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นปริมาณหุ้นที่ไม่ได้ถือโดยผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหารหรือถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร และ ผู้ถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ได้แก่

- กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหาร 4 ระดับแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่มีความสัมพันธ์

-  ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มดังต่อไปนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน

- ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สัดส่วนหุ้น Free Float ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทัพย์ จะต้องไม่น้อยกว่า 15%และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย

หากบริษัทใดมีจำนวนหุ้นที่ถือโดยรายย่อย ( Free Float ) น้อยกว่า 15% เมื่อครบปีที่ 1 จะถูกประกาศชื่ออยู่ในรายการบริษัทที่มี Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์

จากนั้นหากยังแก้ปัญหาไม่ได้เมื่อครบปีที่ 2 จะถูกประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC  (Non – Compliance) พร้อมทั้งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท

และหากในปีที่ 3 บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยได้เกินกำหนด บริษัทนั้นก็จะถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่ม NPG (NPG หรือ Non Performing Group) และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข

แนวทางแก้ไขสำหรับบริษัทซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหุ้น Free Float น้อยกว่า 15%

- การเสนอขายหุ้นเพิ่มให้นักลงทุนรายย่อย การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล

สามารถตรวจดูอัตราส่วน Free Float ของแต่ละบริษัทได้ที่ไหน

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน SET สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

- หุ้นของบริษัทที่อยู่ใน MAI สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่

หุ้นที่มี Free Float สูง หรือ ต่ำ จะเป็นอย่างไร

หุ้นที่มีเปอร์เซ็นต์สัดส่วน Free Float ต่ำ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะถูกควบคุมโดยนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหุ้นได้ง่าย เมื่อเจ้าของหุ้นต้องการให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง ทิศทางราคาก็จะเคลื่อนไหวอย่างหวือหวามากกว่าหุ้นที่มีFree Float สูง

หุ้นที่มี Free Float สูง แสดงว่าเจ้าของหุ้นปล่อยหุ้นออกสู่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ส่วนที่จะปล่อยมากเพราะอะไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจเป็นเพราะกิจการมีแนวโน้มไม่ดีผู้บริหารเลยไม่ถือไว้ หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่นก็ได้

หุ้นที่มี Free Float ต่ำ อาจจะมีสภาพคล่อง หรือ ปริมาณการซื้อขายต่ำ แต่เมื่อใดที่มีแรงซื้อเข้ามา ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

Credit >> http://www.setmai.com/