หุ้นหลักทรัพย์

หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์อาจจะเป็นหุ้นที่ไม่ใช่”พระเอก”ในตลาดหุ้นยุคปัจจุบัน แต่หากไปถามนักลงทุนในยุคก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นกลุ่มนี้เคยเป็นหุ้น”บลูชิพ”ชั้นดี ที่ติด most active volume/value แทบจะทุกวัน

แต่สำหรับนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ( โดยเฉพาะสาย super stock อย่าง บัฟเฟต์ ) หุ้นหลักทรัพย์คงไม่ได้อยู่ในสายตามากนัก เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่ไม่ได้มีใครได้เปรียบเหนือใคร, มีการแข่งขันต่อการแย่งตัวลูกค้าและมาร์เกตติ้งที่รุนแรง รวมทั้งผลประกอบการที่อ่อนไหวต่อภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างมาก และยิ่งประกอบกับการที่รัฐบาลจะเปิดเสรีธุรกิจโบรคเกอร์ในอีกสองปีข้างหน้ายิ่งเป็นตัวกดดันในการแข่งขันของธุรกิจนี้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยลักษณะของธุรกิจที่ไม่มีความแข็งแรงดังที่กล่าวในข้างต้น ทำให้หุ้นหลักทรัพย์เกือบทั้งหมดถูกเทรดที่ต่ำกว่า book value และบางบริษัทถูกเทรดที่ต่ำกว่าเงินสดต่อหุ้นที่บริษัทมีเสียอีก ซึ่งถ้าหากเรามองจากมุมของเกรแฮมนี่คือการสถานการณ์ของการซื้อแบงค์ดอลลาร์ในราคา 50 เซนต์

แต่ปัญหาก็คือหุ้นในลักษณะนี้มักจะประสบปัญหากับการถูกเรื้อรังอยู่เสมอๆ เพราะตลาดไม่เคยมีมุมมองที่ดีกับหุ้นกลุ่มนี้ ( เราอาจจะคิดว่าเราซื้อได้ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลู ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก แต่หลังจากที่เราถือหุ้นไปสองปีสามปี ราคาก็ยัง”ถูก” อยู่ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลูเท่าเดิม เพราะตลาดก็ยังมีมุมมองที่แย่จ่อหุ้นหลักทรัพย์เหมือนเดิม )

ผมเองเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าสาย bargain hunter ที่มาล่าส่วนลดกับหุ้นหลักทรัพย์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่ใช่เพราะว่าผมเห็นส่วนต่างระหว่างราคาในกระดานกับบุคแวลู แต่ผมเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นวัฎจักรที่อิงกับวัฎจักรของเศรษฐกิจมหภาค ( economic cycle ) เพราะรายได้หลักของบริษัททั้งสามทาง อันได้แก่ 1.ค่าคอมมิชชั่นจากการที่ลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2.กำไร/ขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนของบริษัทเอง และ 3.รายได้จากงานวาณิชธนกิจ ( เช่น การเป็น underwriter เอาหุ้นใหม่เข้าตลาด ) นั้นแปรผันขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งสิ้น ( ในยุคปัจจุบันบางบริษัทจะมีรายได้อีกทาง คือการเป็นเจ้ามือออก DW )

ผมจะเริ่ม watch หุ้นกลุ่มนี้เมื่อเศรษฐกิจมหภาคเริ่มมีปัญหา เพราะอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า รายได้ของบริษัทนั้นผันผวนตามสภาพ macroeconomic และเมื่อ macro มีปัญหา บริษัทมีโอกาสที่จะโดน “perfect storm”เล่นงาน เพราะรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมักจะลดลงอย่างมากจากสภาพตลาดหุ้นที่ซบเซา บริษัทอาจจะไม่มีรายได้จากงานวาณิชธนกิจเลย เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ไม่มีใครอยากจะมาระดมทุนในตลาด หรืออยากจะควบรวมกิจการกัน รวมทั้งบริษัทอาจจะเจอ”แจ๊คพอต” ขาดทุนอย่างหนักจากพอร์ตการลงทุนตามดัชนีที่ลดลงมาอย่างมาก

ผลจาก “perfect storm” และความหวาดกลัวของนักลงทุน มักจะทำให้หุ้นกลุ่มนี้ถูก discount ลงไปอย่างมากในช่วง economic down cycle บางครั้งอาจจะลงไปเหลือแค่ 0.1 -0.2 เท่าของบุคแวลู หรืออาจจะเหลือแค่ 0.5-0.6 เท่าของเงินสดต่อหุ้น

ผมมักจะ watch หุ้นกลุ่มนี้จนผมเริ่มมองเห็น sign of economic recovery หรือเห็น sign of market recovery ( ทั้งในแง่วอลุมและตัวเลขดัชนีตลาด ) เพราะผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมากำไรอย่างมากในช่วง bull market และราคาในกระดานอาจจะพุ่งไปได้หลาย”เด้ง” จากจุดต่ำสุดหลังจากบริษัทเจอ perfect storm

นอกจากนี้บริษัทในกลุ่มนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องกระแสเงินสด เนื่องจากบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนกับสินทรัพย์ถาวรอะไรมากมาย รวมทั้งไม่จำเป็นจะต้องใช้ working capitol ในปริมาณมากเพื่อดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทมักจะมีกระแสเงินสดที่ดีมาก และสามารถจ่ายปันผลได้เป็น%มากๆของกำไร ( บางบริษัทอาจจะปันผลทั้ง 100% ) ซึ่งปันผลที่มาก ก็จะเป็น catalyst ทีดีมากอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ราคาพุ่งไปได้ไกลในช่วง up cycle

อย่างไรก็ดี ข้อที่เราควรจะพึงระวังอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าเศรษฐกิจ/ตลาดหึ้นจะเป็นรอบขาขึ้น บางครั้งผลประกอบการของบริษัทก็อาจจะแย่ลงก็ได้ หากบริษัทบังเอิญไปขาดทุนจากพอร์ตการลงทุน ( เช่นไป short future ไว้มาก หรือขาดทุนจากตลาด commodity ) หรือในกรณีที่บริษัทสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ( เช่นลูกค้าย้ายจากบริษัทเราตามมาร์เกตติ้งออกไป ) ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เราก็ต้องมองภาพรายบริษัทด้วย ไม่ใช่เพียงมองแต่ภาพรวมของตลาดเพียงอย่างเดียว

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com