การหาหุ้นแบบ fundamentalist

ผมเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานคนหนึ่งที่นิยมลงทุนกับ good stock ในราคาที่ undervalue มากๆ มากกว่า great stock ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก

ข้อดีของการลงทุนในวิธีนี้ คืออาจจะเหมาะกับตลาดทุนที่คุณภาพของกิจการในตลาดไม่ได้”ดีเลิศ”แบบประเทศไทย และ”ความถูก”ของหุ้นก็เป็นตัวป้องกัน downside ในระยะสั้นถึงกลางได้ดีในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนใน good stock ที่มีส่วนลดมากๆ ก็มีข้อเสียประการสำคัญก็คือ บริษัทที่มีคุณสมบัติแบบที่ว่านี้ มักจะเป็นบริษัทที่เราไม่สามารถือหุ้นไว้ได้ตลอดกาล เพราะโดยตัวคุณภาพก็เป็นเพียงกิจการที่”ดี” ไม่ใช่”ดีเลิศ” ที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน หรือจะมีการเติบโตเยอะๆ ไปอีกเป็นสิบปี

ดังนั้นเมื่อเราถือหุ้นมาได้ระยะหนึ่ง และราคาในกระดาน”สะท้อนมูลค่า”ไปเรียบร้อยแล้ว เราก็มักที่จะจำเป็นต้องขายหุ้นตัวนั้นออกมาเสีย

ผมย้อนไปดู portfolio ของตัวเองในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพอร์ตของผม มักจะมี “big move” โดยเฉลี่ยทุกๆ ประมาณ 3 -6 เดือน นั่นก็คงเป็นเพราะ good stock ที่ผมถือ”สะท้อนมูลค่า” จนไม่มีส่วนลดเหลือแล้วนั่นเอง

หลายคนมักจะถามผมว่า แล้วผมหา good stock ตัวใหม่ๆ มาลงทุนเป็นระยะๆ ได้อย่างไร ผมก็มักจะตอบว่าโดยวิถีชีวิตของการเป็น fundamentalist ของผมนั้นเอื้ออำนวยต่อการทำความรู้จักกิจการใหม่ๆอยู่แล้ว

ประการแรกเลยก็คือผมมีสังคมเพื่อนนักลงทุนค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมก็มักจะมีกิจกรรมการพบปะ กินข้าวกับเพื่อนนักลงทุนอยู่บ่อยๆ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 -3 ครั้ง ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง นอกจากเราจะคุยกันเรื่องสารทุกข์สุขดิบ เหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไปแล้ว เราก็มักจะคุยกันเรื่องการลงทุน กิจการที่เราถืออยู่ กิจการใหม่ๆที่น่าสนใจ หรือข่าวคราวบางอย่างที่จะทำให้บริษัทที่อยู่ในความสนใจของเรามีผลการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง ผมก็มักจะได้ไอเดียเกี่ยวกับกิจการที่ผมไม่เคยรู้จัก ทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ๆ มาศึกษาเองต่อ

นอกจากผมก็ยังมี online social network กับเพื่อนนักลงทุนอีกหลายๆ กลุ่ม ที่บางครั้งเราอาจได้พบปะกันแค่ปีละครั้งสองครั้ง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เราใกล้กัน จนบางครั้งผมก็รู้สึกว่า ผมใกล้ชิดกับเพื่อนนักลงทุนกลุ่มนี้ ไม่ต่างอะไรไปจากกลุ่มที่ผมพบปะเป็นประจำ

ประการที่สอง ผมมักที่จะใช้เวลาว่างไปกับการดู opportunity day, เวลาผมไม่มีอะไรทำ ผมมักจะเปิดไฟล์ opp day ของกิจการที่ผมไม่รู้จักมาดู ผมมีความเห็นว่าการฟัง opp day เป็นทางลัดที่ง่ายที่สุด ที่เราจะเข้าใจความเป็นไปของกิจการต่างๆ เพราะใน opp day คนที่มาพูดเกี่ยวกับกิจการนั้นๆ ให้เราฟัง ก็คือคนที่ดูแลบริหารกิจการนั้น”มากับมือ”

หลายคนอาจจะบอกว่า การฟัง opp day ต้องใช้เวลามาก และหลายกิจการเวลาฟังแล้วก็ไม่รู้สึกว่าน่าสนใจ ทำให้เสียเวลาฟังไปฟรีๆ แต่ผมมองว่า ถ้าเราคิดว่าการลงทุนก็เป็นอีกอาชีพของเรา ทำไมเราที่ยอมเสียเวลาวันละ 8 ชม. ให้กับงานอาชีพประจำ จะเจียดเวลาวันละ 1 -2 ชม.ให้กับ”อาชีพ”นักลงทุนไม่ได้ และการฟัง opp day ของบริษัทที่สุดท้ายเราไม่ได้ลงทุนด้วย ก็ไม่ใช่การ ”เสียเวลาเปล่า” แต่หากเป็นการที่เราได้มีโอกาสศึกษาธุรกิจที่เราไม่เคยรู้ อุตสาหกรรมที่เราอาจจะไม่เคยรู้จัก และที่สำคัญแม้เราจะไม่ได้ลงทุนกับกิจการนั้น ในวันนี้ แต่หากวันหน้า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็คงจะไม่ต้องเสียเวลาศึกษากิจการตั้งแต่ศูนย์ใหม่

ประการต่อมา ผมชอบอ่านเวบไทยวีไอ, ใครจะโจมตีจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ผมเชื่อว่าฐานข้อมูลของเวบนี้ เป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนแนวพื้นฐานมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว เมื่อผมมีเวลาว่าง ผมชอบเปิดห้องร้อยคนร้อยหุ้นมาไล่ดูห้องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ผมจะไล่อ่านย้อนหลังไปจากหน้าสุดท้ายประมาณ 7 -8 หน้า บ่อยครั้งที่ผมพบ”ไอเดียหลัก”ของการลงทุนในกิจการนั้นๆ จากการอ่านห้องร้อยคนร้อยหุ้นกลับไปไม่กี่หน้า ทำให้ผมไปศึกษากิจการนั้นต่อในเชิงลึกโดยสะดวกและง่ายขึ้นมาก

ประการสุดท้าย เมื่อผมหาหุ้นมาลงทุนไม่ได้จริงๆ และผมพบว่าเงินสดในพอร์ตมีปริมาณมากในระดับที่ผมไม่สบายใจ ผมจะไปเปิดเวบ settrade เพื่อสกรีนหุ้นเป็นรายอุตสาหกรรม โดยผมจะเปิดเวบทีละ sector แล้วให้เวบเรียงหุ้นจาก pe ต่ำสุดไปยัง pe สูงสุด แล้วผมก็จะเลือกหุ้นที่ pe ต่ำสุด 4- 5 อันดับแรก มาศึกษาโดยละเอียดต่อ ว่าทำไมหุ้นมันถุงเทรดกันที่พีอีเพียงเท่านี้ มีรายการพิเศษอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ และมีแนวโน้มที่ตลาดจะปลดล็อคความถูกหรือเปล่า

Credit >> http://reitertvi.wordpress.com