การประเมินมูลค่าหุ้น

การประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อหาราคาที่เหมาะสมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ง่ายนัก เพราะนักลงทุนแต่ละคนมีความคิดและวิธีการที่แตกต่างกัน ต้องใช้ศิลปะพอสมควรในการประเมินควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เชิงตัวเลข วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีหลายวิธีมากเช่น วิธี PE, PB หรือ DCF เป็นต้น ซึ่งผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงวิธีดังกล่าวเพราะมีบทความหรือว่าหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับวิธีประเมินมูลค่าหุ้นมากมายอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร

ผมขอยกตัวอย่าง มีขวดโหลใส 1 ขวด บรรจุเหรียญต่างๆกันคือเหรียญ 1,2,5,10 บรรจุอยู่ในขวดโหลอย่างอัดแน่นทั้งขวด และผมจะกำหนดราคาขายมาให้ คุณมีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะซื้อในราคาที่กำหนดหรือไม่ คุณมีโอกาสตัดสินใจในการซื้อเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกผมจะให้คุณมองขวดโหลด้วยสายตาเปล่าเพียงอย่างเดียวห้ามมีการสัมผัสขวดโหล คุณจะเห็นเหรียญแค่ภายนอกเท่านั้นและตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ สำหรับครั้งที่ 2 ผมจะให้คุณสามารถสัมผัสขวดโหลได้ แต่ห้ามเปิดขวดโหล และตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ สำหรับครั้งที่ 3 ผมให้คุณสามารถสัมผัสขวดโหลและเทเหรียญออกมานับได้ครึ่งหนึ่งของขวด แล้วทำการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่เช่นกัน

สำหรับการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ของคุณทั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีความเสี่ยงมากหากคุณจะตัดสินใจซื้อในราคาที่กำหนด เพียงเห็นเหรียญแค่ภายนอกเท่านั้น โดยที่ไม่สามารถประเมินเหรียญที่อยู่ภายในได้ทั้งหมด และคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าราคาที่เสนอขายนั้นมีราคาต่ำหรือว่าสูงกว่ามูลค่าเหรียญทั้งหมดที่อยู่ในขวดโหล สำหรับครั้งที่ 2 คุณจะมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้นจากการสัมผัสขวดโหล ทำให้คุณสามารถประเมินน้ำหนักขวดโหลได้ หากมีน้ำหนักมากโอกาสที่ราคาเสนอขายจะต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นเป็นไปได้ การซื้อครั้งนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างมากแต่น่าจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าครั้งแรก สำหรับครั้งสุดท้าย ครั้งนี้คุณมีความเสี่ยงลดลงค่อนข้างมากเพราะคุณรู้มูลค่าเหรียญที่เทออกมาครึ่งหนึ่ง คุณก็สามารถประเมินมูลค่าน้ำหนักของเหรียญที่เหลือได้ ทำให้คุณสามารถประเมินมูลค่าเหรียญและเปรียบเทียบกับราคาที่เสนอขายได้อย่างสมเหตุสมผล หากราคาที่เสนอขายมีราคาสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับราคาที่คุณประเมิน คุณก็จะไม่ตัดสินใจซื้อเพราะมันมีโอกาสขาดทุนได้

สำหรับการประเมินมูลค่าหุ้นก็มีความคล้ายคลึงกับการประเมินมูลค่าเหรียญในขวดโหล ถ้าเราซื้อหุ้นเหมือนกับตัดสินใจแบบครั้งแรกคือใช้สายตามองดูเหรียญที่อยู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนว่าคุณซื้อหุ้นบริษัท A โดยที่พิจารณาราคาซื้อเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร หรือแม้แต่ชื่อบริษัทคุณก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไป ทำให้คุณไม่สามารถบอกได้ว่าราคาที่ซื้อมานั้นมันมีราคาที่สูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากในการซื้อ แต่หากคุณซื้อหุ้นเหมือนกับการประเมินเหรียญในครั้งที่ 2 เปรียบได้กับการที่คุณได้มีการศึกษาบริษัทนั้นมาบ้าง พอเข้าใจว่าบริษัทที่คุณซื้อนั้นประกอบธุรกิจอะไร มีแนวโน้มเป็นอย่างไร แต่อาจยังไม่รู้ลึก แต่ก็พอมองเห็นทิศทางของบริษัท แต่การประเมินมูลค่าบริษัทนั้นก็ยังขาดข้อมูลที่สำคัญพอสมควรในการประเมินมูลค่าที่แท้จริง สำหรับครั้งที่ 3 คือคุณสามารถนับเหรียญที่อยู่ภายในได้ครึ่งหนึ่งหรือถ้ามีโอกาสที่จะนับได้มากกว่านั้น เปรียบเสมือนว่าคุณได้เข้าไปเจาะลึกบริษัทอย่างละเอียด เข้าใจธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ทิศทางบริษัทได้ในอนาคต แต่ก็อาจมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่มันก็เป็นการยากมากที่เราจะสามารถรู้ข้อมูลบริษัททุกอย่าง แต่หากเราเข้าใจบริษัทมากเท่าไร การประเมินมูลค่าของบริษัทนั้นจะเป็นมูลค่าที่มีเหตุผล สามารถใช้ตัดสินใจในการลงทุนได้ และหากราคาที่เสนอขายมีส่วนต่างกับราคาทีเราประเมินไว้มากจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่ลดลง และมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่ยังซื้อหรือขายหุ้นโดยไม่สนใจมูลค่าที่แท้จริง พิจารณาเพียงแค่ราคาที่ซื้อเท่านั้น ถ้าหุ้นขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจรีบขายออกไป ซึ่งราคาที่ขายนั้นอาจยังเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก ทำให้เสียโอกาสในการทำกำไรที่มากในอนาคต แต่ถ้าหุ้นตกก็จะรีบขายออกไปเพราะตอนซื้อนั้นพิจารณาเพียงแค่ราคาอย่างเดียว แต่หากนักลงทุนนั้นสามารถหามูลค่าที่แท้จริงได้เวลาหุ้นตกก็อาจเป็นโอกาสในการที่จะซื้อเพิ่ม ซึ่งจะทำให้มีส่วนต่างของราคาที่ซื้อกับมูลค่าที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น หรือที่เรียกว่า ส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of safety) ถ้ามีค่าส่วนต่างความปลอดภัยมากๆ ก็จะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงในการซื้อ และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบที่สูงมากกว่าการซื้อที่พิจารณาแค่ราคาที่ซื้อเท่านั้น แล้วคุณละใช้หลักการใดเวลาซื้อหุ้นขายหุ้น พิจารณาราคาหรือมูลค่าที่ควรจะเป็น?

Credit >> SETHA