สภาพคล่องของหุ้น

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor “พันธุ์แท้” จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลยก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะนี่คือปัจจัยที่ “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน” ของกิจการ หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึงสภาพคล่องของหุ้น คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเท็คนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็เป็นหุ้นที่นักเท็คนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์ ว่าที่จริงนักเท็คนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเท็คนิคไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของ VI ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร และต่อไปนี้เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น
ประเด็นแรกก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิตินั่นคือ มิติแรก มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่าย ๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงินเท่าไร ตัวอย่างเช่น พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณเท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียง หนึ่งแสนบาท นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมุติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อมที่จะถือมันไว้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่องก็คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นี่เป็นการวัดอย่างคร่าว ๆ ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คนที่ลงทุนในบริษัทนี้ โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษ ๆ ก็ขายทิ้งแล้ว ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจจะจ่ายปีละครั้ง
คำถามที่อาจจะตามมาก็คือ คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว? คำตอบนั้นก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า 3 เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้ เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้คือ 8.5 ล้าน ล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ 340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย
ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัวก็คือ มันเป็นการบอกถึง “ดีกรี” หรืออัตราในการ “เก็งกำไร” ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว นั่นก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ 100 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่าง ๆ
เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น “เก็งกำไร” และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น ส่วนตัวผมเอง กำหนดว่า หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น “หุ้นเก็งกำไร” ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้น โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่งก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1% ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป
กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัวเนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้นเนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อวันของหุ้นได้ การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้นทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น “เบี้ยหัวแตก” และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลงเนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลัง ๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็ก ๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อองค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนักลงทุนเท่ากัน

Credit >> ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร