การพิจารณาสกรีนหากิจการที่น่าสนใจโดยการอาศัย financial ratio เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีวิธีหนึ่ง, แต่อย่างไรก็ดี การใช้ financial ratio นั้น เหมาะสมเพียงเพื่อจะเป็นการสกรีนหาหุ้นให้เราสนใจเอาไปศึกษาในเชิงคุณภาพต่อ การใช้ financial ratio เพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจที่จะซื้อหุ้น เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ไม่ได้บอกว่าเราเลยว่า หลังจากที่เราเข้าซื้อกิจการไปแล้ว บริษัทจะกำไรมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร เราอาจจะซื้อหุ้นที่มี PE, PB ต่ำๆ แต่เราไม่ทันศึกษาว่าหลังจากนั้นผลประกอบการณ์ของบริษัทจะตกต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงตาม จนเราขาดทุนได้มาก
ผมจะลองยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามาเปรียบเทียบให้เป็นกรณีศึกษา
ถ้าเราลองมาดูอัตราส่วนทางการเงินของหุ้นโรงไฟฟ้าสามโรงในตลาด ( ใช้ข้อมูล ณ 20 / 6 / 54 )
EGCO PE 7.88 PB 0.84 Div 5.9%
GLOW PE 14.56 PB 2.1 Div 3.9%
RATCH PE 12.35 PB 1.31 Div 5.3%
ถ้าเราใช้แต่อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ในการพิจารณาซื้อขายหุ้น เราก็จะบอกว่า EGCO เป็นหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด เพราะ PE ต่ำ Div สูงเกือบ 6% และราคายังอยู่ต่ำกว่า book value ในขณะที่ GLOW นั้นเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย
แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า อัตราส่วนทางการเงินเป็นเรื่องของความสามารถในการทำกำไรในอดีต แต่ผลประกอบการในอนาคตต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดราคาของหุ้น
ถ้าเราดูแต่ Financial ratio แล้วตัดสินใจซื้อ EGCO, สิ่งที่จะตามมาก็คือเรากำลังจะเผชิญกับการลดลงของผลกำไรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่เป็นรายได้หลักเกินกว่าครึ่งของบริษัทอันได้แก่ โรงไฟฟ้าระยอง ( 1,232 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2558 และโรงไฟฟ้าขนอม ( 800 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2559
ซึ่งถ้าทาง EGAT ( การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ) ไม่ต่อสัญญาให้กับทาง EGCO ก็เป็นที่แน่นอนว่า ผลกำไรของ EGCO จะหายไปเกินกว่าครึ่ง และราคาที่เราเห็นจากอัตราส่วนทางการเงินว่า”ถูก”ในวันนี้ หลังจากปี 58 เป็นต้นไปอาจจะกลายเป็น”แพงมาก” และทำให้ราคาปรับลดลงอย่างรุนแรง
หรือแม้แต่ถ้า EGAT ต่อสัญญาให้ แน่นอนว่า ค่าไฟที่ EGAT จะจ่ายให้กับ EGCO ก็ต้องต่ำลงกว่าในปัจจุบัน ทำให้ผลกำไรของ EGCO ต้องลดต่ำลงอยู่ดี ( ร่วมกับ EGCO จะยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามานอกจาก SPP ขนาดเล็ก ( 375 MW ) ในปี 58 )
ตรงกันข้ามกับ GLOW ที่ในช่วงอีกปีสองปีต่อจากนี้จะมีกำลังการผลิตเข้ามาใหม่ถึง 1176 MW ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มถึง 63% ของกำลังการผลิตเดิม ซึ่งถ้าคิดแบบง่ายๆเลยว่า กำลังการผลิตเพิ่ม 63% ผลกำไรก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 63% แต่ถ้าคำนวณแบบละเอียดจริงๆ จะพบว่า ผลกำไรของ GLOW จะเพิ่มมากกว่านั้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามา สามารถผลิตไฟได้มีประสิทธิภาพมากกว่าและใช้ต้นทุนเชื้อเพลิงน้อยกว่าโรงเก่า รวมทั้งลักษณะสัญญาขายไฟที่ช่วงแรกจะขายได้ราคาต่อหน่วยมากกว่าช่วงท้ายของสัญญา
ในปี 2013 -2014 เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่เดินเครื่องเต็มที่แล้ว, GLOW น่าจะมีกำไรแตะถึงหลักหมื่นล้าน ( คิด EPS ประมาณ 7 บาท ) ซึ่งทำให้ PE ในตอนนั้นลดลงเหลือไม่ถึง 7 เปรียบเทียบกับ PE 14.5 ที่ดูเหมือนว่าจะ”แพง”จนไม่น่า”ลงทุน”ในเวลานี้
สำหรับ RATCH นั้น ถูกเทรดที่อัตราส่วนทางการเงินที่อยู่ระหว่าง GLOW กับ EGCO ซึ่งก็สมเหตุสมผล ที่ RATCH จะถูกเทรดอยู่ตรงกลางระหว่างอีกสองเจ้า เพราะ RATCH ไม่ได้มีโปรเจคในมือที่จะเพิ่มผลกำไรในอนาคตชนิดที่ชัดเจนแบบ GLOW ( RATCH มีการลงทุนใหม่ๆ แต่ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นของ EDL GEN หรือการซื้อกองทุนสาธารณูปโภคที่ออสเตรเลีย ) แต่โรงไฟฟ้าหลักของ RATCH ก็ไม่ได้ใกล้จะหมดอายุสัมปทานแบบ EGCO ( อย่างน้อยผถห.ก็สบายใจได้ว่า แม้การลงทุนใหม่ๆจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า อย่างน้อยผลกำไรจากโรงเก่า ก็จะไม่น้อยลงไปกว่าเดิม )
Credit >> http://reitertvi.wordpress.com