อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น

อัตราส่วนต่างๆ ที่บอกถึงประสิทธิภาพของบริษัท (Efficiency Ratios)

ไม่ว่าบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ จะอยู่ในอุตสาหกรรมใด บริษัทจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ของตัวเองเพื่อที่จะสร้างการทำงานขึ้น ตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพนี้จะบอกให้เรารู้ว่าบริษัทได้ใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร และเราก็จะรู้ด้วยว่าบริษัทมีการจัดการหนี้สินได้ดีแค่ไหน

- การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover)
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง จะแสดงให้เราเห็นว่าบริษัทจัดการเรื่องการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังได้ดีแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังต่ำเกินไป ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังสร้างสินค้าคงคลังจำนวนมากเกินไป หรือเก็บวัตถุดิบมากเกินไปหรือว่ามีปัญหาในการขาย (คือขายไม่ทันผลิต ขายได้น้อยเกินกว่ากำลังการผลิต) โดยหลักการแล้ว ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด การหมุนเวียนของสินค้าคงคลังยิ่งมากยิ่งดี และคิดได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) = ค่าใช้จ่ายในการขาย / ปริมาณสินค้าคงคลังเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover)
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าเป็นการวัดนโยบายการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของบริษัทว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามีค่าต่ำเกินไป แสดงว่าบริษัท "ใจดี" เกินเหตุหรือว่ามีปัญหาในการเก็บหนี้จากลูกค้าของตัวเอง ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมด ยิ่งตัวเลขการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ามาก ยิ่งดี
การหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover) = รายได้ / ตัวเลขจำนวนลูกหนี้การค้าเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover)
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า ตัวเลขนี้เมื่อทำการคำนวณ เราจะเอาตัวเลขหนี้มาคำนวณ (ก็เพราะว่าตัวเลขเจ้าหนี้การค้าก็คือการที่เราเป็นหนี้คู่ค้าอื่น และยังไม่ได้จ่ายเงิน) ตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเพราะแสดงถึงความสามารถในการยื้อไม่ยอมจ่ายเงิน การที่ตัวเลขนี้ต่ำเกินไปอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าบริษัทไม่ได้รับการปล่อยเครดิตที่ดีจากผู้ขาย ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้วล่ะก็ ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ
การหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable Turnover) =  ค่าใช้จ่ายในการขาย / ตัวเลขเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย

- การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยรวมเลยที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการจัดการสินทรัพย์ของตัวเอง (ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม) ได้ดีแค่ไหน ถ้าตัวเลขอย่างอื่นเท่าๆ กันหมดแล้ว ตัวเลขของการหมุนเวียนสินทรัพย์ยิ่งมากยิ่งดี และสามารถคำนวณได้ตามข้างล่างนี้
การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) = รายได้ / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย

ตอนที่ 49 (23 มี.ค. 54)

ตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องต่างๆ (Liquidity Ratios)

โดยสรุปสั้นๆ ได้ใจความอย่างรวดเร็วก็คือ สภาพคล่องของบริษัทหมายถึงความสามารถในการทำตามสัญญาการใช้เงินในระยะสั้นได้ และเป็นตัวหลักในการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท สภาพคล่องสามารถวัดได้ด้วยอัตราส่วนหลายอย่างดังนี้

- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)
ตัวเลขอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่องนี้ เป็นตัวเลขอัตราส่วนสภาพคล่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นด้วยสินทรัพย์ระยะสั้น ตัวเลขระดับ 1 เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ และถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่ามีปัญหาแล้วล่ะ
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน

- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio หรือ Acid Test Ratio)
เป็นตัวเลขการทดสอบที่โหดกว่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนธรรมดา โดยเป็นตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณที่ได้ตัดเอาสินค้าคงคลังและรายจ่ายล่วงหน้าซึ่งยากในการจะแปลงเป็นเงินสดออกไป ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่ามากกว่า 1 ก็น่าจะแสดงว่าบริษัทน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ยิ่งมีค่าสูงมากขึ้น ยิ่งมีสภาพคล่องสูงขึ้นและบริษัทแบบนี้จะสามารถอยู่รอดได้ในช่วงขาลงของวัฏจักรธุรกิจ
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (เงินสด + ลูกหนี้การค้า + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน

- อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เพื่อนๆ อาจจะไม่ค่อยได้เคยเห็นเท่าไร ถือว่าเป็นตัวเลขที่อนุรักษ์นิยมที่สุดตัวหนึ่งของทั้งหมด เป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถทางเงินสดและการลงทุนอื่นของบริษัทที่สามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายหนี้ระยะสั้น และเหมือนกันกับ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) ก็คือ ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งหมายถึงว่าบริษัทมีสถานะการเงินดีขึ้นครับ คือจะไม่ขาดเงินไปจ่ายหนี้คนอื่น แล้วโดนชาวบ้านเขาว่าเอาว่าเบี้ยวครับ
อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio) = (เงินสด + หลักทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว) / หนี้สินหมุนเวียน

ตอนที่ 50 (24 มี.ค. 54)

อัตราส่วนอำนาจเพิ่มทางการเงินต่างๆ (Leverage Ratios)

การเพิ่มอำนาจของเงิน (ตัวเอง) ของบริษัทต่างๆ จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์มากกับการสร้างหนี้ของบริษัทนั้นๆ ในบัญชีงบดุล และหนี้เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวัดสุขภาพทางการเงินของบริษัทด้วย โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งบริษัทมีหนี้สินมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นกับหุ้นของบริษัทนั้น เนื่องจากเจ้าหนี้จะเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของบริษัทก่อน เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญได้เนื่องจากว่า หากบริษัทเกิดล้มละลายไป อาจจะไม่มีอะไรเหลือไว้ให้กับผู้ถือหุ้นเลยก็ได้หลังจากที่บริษัทได้ชดใช้สิ่งต่างๆ ให้กับเจ้าหนี้ไปแล้ว

- อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio)
อัตราส่วนนี้แสดงว่าบริษัทดำเนินงานทางด้านการเงิน ด้วยเงินส่วนที่เป็นหนี้สินเมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นเองเป็นอย่างไร บริษัทที่มีหนี้จำนวนมหาศาลจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมาก ในขณะที่บริษัทที่่มีหนี้สินน้อยจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ สมมติว่าถ้าบริษัทมีความสามารถอื่นๆ เท่าๆ กันหมด บริษัที่มีหนี้สินน้อยกว่าจะปลอดภัยกว่า
อัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity ratio) = (หนี้สินระยะสั้น + หนี้สินระยะยาว) / ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

- ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage)
ถ้าบริษัทมีการกู้เงินมาทำงาน ก็จะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บ้าง ไม่มากก็น้อย (ตรงนี้ ขอให้เพื่อนๆ นักลงทุนลองสังเกตดูนะครับว่า บางทีเราจะเห็นบางบริษัทที่มีหนี้สินมากๆ แต่ว่ากลับมีดอกเบี้ยจ่ายน้อย แสดงว่าเป็นหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ย จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ เช่น เป็นหนี้สินแบบยอดเครดิต หรือเงินให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย และถ้าหากบริษัทสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้หาประโยชน์ได้มากโดยที่ดอกเบี้ยจ่ายน้อย จะเป็นประโยชน์กับบริษัทเป็นอย่างมาก) ตัวเลขความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยนี้ เป็นอัตราส่วนความสามารถของบริษัทว่า มีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติเป็นกี่เท่าของดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ยิ่งเป็นหลายๆ เท่าได้ยิ่งดี และหากตัวเลขนี้เข้าใกล้ 1 หรือกลับต่ำกว่า แสดงว่าบริษัทจะมีปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ยในไม่ช้า

ตอนที่ 51 (26 มี.ค. 54)

อัตราส่วนต่างๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร

ธุรกิจที่เราสนใจนะลงทุนนั้นดีแค่ไหน ทำกำไรได้แค่ไหน ความสามารถของธุรกิจดูเหมือนจะดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ธุรกิจมีกำไรหรือเปล่า ทำกำไรได้มากกว่าหรือน้อยกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน คำถามพวกนี้เราสามารถได้คำตอบจากการดูตัวเลขแสดงอัตราส่วนของความสามารถในการทำกำไร

- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin)
ในงบกำไรขาดทุน เราได้เห็นมาแล้วว่า กำไรขั้นต้นเป็นการคำนวณแบบง่ายๆ มาจากส่วนต่างระหว่างรายได้จากการขาย และ รายจ่ายหรือต้นทุนขาย (ที่จะได้สินค้าและบริการนั้นพร้อมจะขายให้กับลูกค้า) อัตรากำไรขั้นต้นเป็นตัวเลขที่บอกว่า ทุกๆ การขายจำนวน 1 บาท บริษัทมีอัตรากำไรเป็นจำนวนกี่สตางค์ และโดยปกติแล้วก็จะมีการบอกเป็นร้อยละ ยิ่งมีตัวเลขที่ยิ่งมากยิ่งดี คือมีอัตรากำไรสูง (แต่ถ้าอัตรากำไรสูงมาก และธุรกิจเป็นแบบไม่ผูกขาด หรือไม่มี Entry Barrier มากคือใครๆ ก็ทำได้ ก็จะต้องเผชิญกับคู่แข่งในไม่ช้า) นักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลข Gross Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้นนี้ สามารถต่างกันได้มากขึ้นอยู่กับชนิดของธุรกิจ ตัวเลขนี้ ยิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานมานาน และตัวเลขนี้ยังคงสูงได้อย่างต่อเนื่อง (เช่น 30% ขึ้นไป) จะแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่คนอื่นไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่ายๆ ด้วยสงครามราคา
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) = กำไรขั้นต้น (Gross Profit) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin)
คล้ายๆ กับอัตรากำไรขั้นต้น แต่ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงาน จะเป็นตัวเลขของกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ คือเป็นกำไรที่เกิดจากการหักรายจ่ายของต้นทุนสินค้า รายจ่ายด้านการบริหารการขาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่อาจจะมีขึ้นได้ด้วย เราสามารถคำนวณได้ดังนี้
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) = กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin)
อัตรากำไรสุทธิเป็นตัวเลขที่บอกเราว่า บริษัทสามารถเก็บเงินไว้เป็นผลกำไรที่แท้จริงจากการขาย เมื่อหักเอาค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างออกไปแล้วได้เป็นจำนวนเท่าไร (กลายเป็นรายได้สุทธิ หรือ Net Income) แต่นักลงทุนจะต้องสังเกตให้ดีเนื่องจากตัวเลขนี้อาจจะผิดไปได้มากเนื่องจากรายได้พิเศษ รายจ่ายพิเศษ จึงจะต้องสังเกตดูให้ดี อัตรากำไรสุทธิคำนวณได้จาก
อัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) = รายได้สุทธิ (Net Income) / รายได้จากการขาย (Sales)

ตอนที่ 52 (28 มี.ค. 54)

- อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin)
ในตอนที่ 42 ข้างบน เราได้พูดถึงเรื่องของกระแสเงินสดอิสระไว้แล้ว ตัวเลขอัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระนี้ เป็นตัวเลขที่บอกว่า รายได้จากการขายนั้นจะทำให้เกิดเป็นกระแสเงินสดอิสระจำนวนเท่าไร ซึ่งคำนวณได้ง่ายๆ ตามนี้
อัตราส่วนกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow Margin) = กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) / รายได้จากการขาย (Sales)

- อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA)
ตัวเลข ROAนี้เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการสร้างผลกำไรจากสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่ (ซึ่ง สินทรัพย์นั้นประกอบไปด้วยหนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น) อาจจะดูคล้ายๆ กับ การหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) ที่ได้คุยมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา แต่ว่าตัวเลขการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม เป็นการคำนวณว่าสินทรัพย์ทำให้เกิดยอดขายได้เท่าไร (อาจจะได้ยอดขายมากแต่ขาดทุนก็ได้นะ) หาก ROA เป็นการคำนวณว่าทำกำไรได้เท่าไรดังนี้

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA) = (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) / ทรัพย์สิน (Total Assets)

จะเห็นได้ว่าเราได้มีการบวกตัวเลข ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) กลับเข้าไปในกำไรสุทธิ (ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักทุกสิ่งทุกอย่างแล้วรวมทั้งภาษีด้วย) โดยตัวเลข (กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี) จะมีค่าเท่ากับกำไรที่ได้จากการหักค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ไปแล้ว (แต่ยังไม่ได้หักดอกเบี้ยจ่าย) และนำตัวเลขกำไรนี้มาหักภาษีออก ถ้าถามว่าทำไมจึงทำอย่างนั้นล่ะ ก็เพราะว่าตัวเลข ROA นี้เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะมาจากผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายเงินมา หรือมาจากการกู้ยืมเงินของตัวบริษัทก็ตาม ดังนั้นเราจึงบวกค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่เจ้าหนี้ได้ทำการคิดเงิน (Charge เงิน) จากบริษัท กลับเข้าไปด้วย

ตัวเลขดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) นี้สามารถคำนวณได้ไม่ยาก ขั้นแรกก็จะต้องรู้อัตราภาษี (Tax Rate) ของบริษัทเสียก่อน โดยการหารตัวเลขจำนวนภาษีจ่ายด้วยกำไรก่อนหักภาษี (อาจจะได้เป็น 0.25 สำหรับอัตราภาษี 25%) จากนั้นคำนวณด้วยสมการ

ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี (aftertax interest expense) = (1 - อัตราภาษี) x (ดอกเบี้ยจ่าย)

ถ้าทุกอย่างของบริษัทเหมือนกันทั้งหมด ROA ยิ่งสูงยิ่งดี
ข้อสังเกต สำหรับตัวเลข ROA ที่แสดงในเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย จะเป็นการคำนวณจากตัขเลขกำไรก่อนหักภาษี เนื่องจากว่าหลายบริษัทมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน และในเมืองไทยยังสามารถเครดิตภาษีได้อีกเป็นบางส่วน จึงเป็นการยุติธรรมกว่าที่จะใช้ตัวเลขก่อนหักภาษีมาคำนวณ

ตอนที่ 53 (31 มี.ค. 54)

- ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity - ROE)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่แสดงว่า บริษัทสามารถสร้างกำไรสุทธิ ต่อส่วนของเงินที่เป็น (หรือสมควรจะเป็น) ของผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริษัท (ที่เห็นได้จากสมการง่ายๆ ของงบดุลว่าบริษัททั้งบริษัทประกอบด้วย สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน) มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากสมการงบดุล เราจะเห็นว่าบริษัทนั้นจริงๆ แล้วสามารถสร้างกำไรได้จาก "สินทรัพย์" ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นกับหนี้สิน ตรงนี้เพื่อนๆ สามารถเห็นได้ว่าถ้าบริษัทเลือกที่จะกู้เงินมากๆ และนำเงินนั้นมาสร้างผลกำไรให้ได้มากๆ (และต้องมากกว่าดอกเบี้ยจ่าย และการใช้หนี้เงินต้นด้วย) ก็จะทำให้ผลตอบแทนเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้มาก แต่ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงด้วยเนื่องจากการเป็นหนี้ อย่างไรก็ตาม หนี้สินตรงนี้อาจจะหมายถึงหนี้สินที่ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายด้วยก็ได้ เช่น หนี้สินการค้า หนี้สินที่เป็นการซื้อเครดิต หรือว่าเป็นการยืมมาวางขายไว้ในห้างสรรพสินค้าของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างกระแสเงินสดได้มากโดยที่ไม่ต้องเกิดรายจ่ายจากดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทแบบนี้มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จึงมีอำนาจต่อรองในเรื่องเหล่านี้สูง (เอาของ มาขายก่อน มาใช้ผลิตก่อน โดยยังไม่จ่ายเงิน) และเช่นเดียวกับอัตราส่วนอื่นๆ ROE มีการวัดผลตอบแทนเป็นร้อยละ (เปอร์เซ็นต์) ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี (12% ถือว่าใช้ได้, 20% ถือว่าดี, 25% ถือว่าดีมาก ถ้าเกินกว่า 30% ถือว่าดีสุดๆ แต่ว่าจะต้องระวังเรื่องของหนี้สินว่ามากเกินไปหรือไม่ ให้ดู debt/equity ratio, ดอกเบี้ยจ่าย, และ pay out ratio ประกอบด้วย) โดย ROE สามารถคำนวณได้จาก

ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) = กำไรสุทธิ (Net Income) / ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders' Equity)

Credit >> http://muegao.blogspot.com