การตีความหมายของตัวเลขทางการเงิน

การตีความหมายของตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน

ในข้อเขียนต่างๆ ข้างบนที่ผ่านมา หรือแม้แต่เพื่อนๆ นักลงทุนได้ไปอ่านมาจากที่ใดก็ตาม เราได้คุยกันไปแล้วถึงงบการเงินที่สำคัญๆ จำนวน 3 งบ (คืองบกำไรขาดทุน, งบดุล, และงบกระแสเงินสด) เราได้ดูกันแล้วว่า งบกำไรขาดทุนนั้นเป็นอย่างไร ตัวเลขต่างๆ ในงบกำไรขาดทุนมีผลอย่างไรกับการทำกำไรหรือการขาดทุนของบริษัท และตัวเลขต้องเป็นอย่างไร บริษัทจึงได้กำไร ในงบดุล เราได้ดูกันในเรื่องของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น และได้รู้ว่าตัวเลขแต่ละตัวในงบดุลนั้นจะอยู่ตรงไหน (การที่รู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ที่อยู่ ก็เหมือนกับการที่รู้จักหน้าตาหญิงสาว หรือชายหนุ่มก็ตามที แต่ไม่รู้ว่าเจ้าตัวอยู่ไหน ทำอะไรเป็นอย่างไร คงใช้การอะไรไม่ได้มาก) และสุดท้ายสำหรับในเรื่องของงบกระแสเงินสด เราได้ดูไปแล้วว่าบริษัทใช้เงินสดไป หรือได้มา จากกิจกรรมสำคัญจำนวนสามอย่างคือ กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการจัดหาเงิน และกิจกรรมการลงทุน อย่างไร

ปัญหาก็คือ เมื่อเรามีความรู้เหล่านี้แล้ว ในฐานะนักลงทุน เราจะใช้งานมันอย่างไร?

ในตอนต่อๆ ไปนี้เราจะนำความรู้ที่เราได้อ่านมาแล้วในตอนที่ผ่านๆ มาทำการวิเคราะห์ทางการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Statement Analysis) นี้โดยส่วนมากก็คือการดูเพื่อการอธิบายความสัมพันธ์กันระหว่างตัวเลขต่างๆ ในงบการเงิน ซึ่งส่วนมากจะโดยการดูที่อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratios) ต่างๆ วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์นี้คือจะช่วยเราแปลความหมายของตัวเลขต่างๆ และทำให้เรามองภาพของความสามารถและสถานะทางการเงินของบริษัทได้ชัดเจน

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มเข้าไปดูตัวเลขกันจริงๆ ผมอยากจะบอกเพื่อนๆ ไว้ก่อนว่า ตัวเลขสัดส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เราจะดูกันจะเป็นตัวเลขของบริษัทที่ "ไม่ใช่" บริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน โดยที่สำหรับบริษัทที่ดำเนินงานทางการเงิน (ธนาคาร, บริษัทประกัน, บริษัทที่ดำเนินงานด้านสินเชื่อ) จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ทำให้ตัวเลขต่างๆ ผิดแผกไปจากนี้มาก

ตอนที่ 47 (20 มี.ค. 54)

แล้วเราใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอย่างไร

บางทีเราจะเห็นตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้มาแล้วเช่น P/E, ROE, ROA, P/BV เป็นต้น แต่ในบทความช่วงนี้ผมจะเล่าให้ฟังแบบเน้นเรื่องของเนื้อหาเฉพาะตัวเลขที่สำคัญที่เราจะต้องดู ตัวเลขพวกนี้บางตัวจะมีประโยชน์เลยด้วยตัวของมันเอง แต่อีกหลายๆ ตัวที่เหลืออาจจะแทบไม่มีประโยชน์หรือใช้ตีความอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ดูส่วนอื่นประกอบ โดยปกติแล้วอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ จะมีประโยชน์มากที่สุดเมื่อเราได้จับมันไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนอื่นๆ ที่เหมือนกัน

ปกติแล้วเราจะใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในสองวิธีคือ เปรียบเทียบกับของบริษัทเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน (เช่นดูย้อนหลังไป 5 ปี) หรือเมื่อเปรียบเทียบกับของบริษัทอื่น การเปรียบเทียบกับตัวเลขของบริษัทเองทำให้เรารู้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริษัทว่าดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่นตัวเลข net profit margin ว่าเมื่อ 5, 4, 3, 2 และเมื่อปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น คงที่ หรือแย่ลง) ถ้าตัวเลขเดียวกันของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทน่าจะมีการปรับปรุงการทำงานไปในทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขมีแนวโน้มที่แย่ลง ก็อาจจะแสดงว่าบริษัทมีแนวโน้มการทำงานที่แย่ลงหรือว่ามีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่ผ่านมา)

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือนักลงทุนควรจะเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทที่ตัวเองสนใจ กับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตัวเลขทางการเงินของบริษัทหนึ่งอาจจะดูดีขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา (เช่น 3 ปีหลัง) แต่เราก็ต้องดูไปอีกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นล่ะ ตัวเลขเหล่านี้ดีกว่าคนอื่นหรือไม่ ถ้ากลับกลายเป็นว่าแย่กว่าบริษัทอื่น ความหมายก็อาจจะเป็นเพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสู้บริษัทอื่นไม่ได้ เป็นต้น

นักลงทุนอาจจะเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินจำนวนหลายๆ ตัว โดยสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดูเป็นพิเศษคือตัวเลขที่เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพ (efficiency), สภาพคล่อง (liquidity), การเพิ่มพลังของเงิน (leverage - ใช้เงินคนอื่นมาร่วมทำงานกับเงินของเราด้วย), และอัตรากำไรต่างๆ เมื่อผมพูดถึงตัวเลขแต่ละตัว ก็จะอธิบายไปด้วยพร้อมๆ กันว่ามันแสดงถึงอะไร หรือว่า เรากำลังวัดอะไรอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นหมายความถึงอะไรได้บ้างนะครับ

Credit >> http://muegao.blogspot.com