งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)

งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)

หลังจากที่เราได้รู้เรื่องของงบกำไรขาดทุน และงบดุลมาแล้ว คราวนี้ลองมาดูงบการเงินอีกอย่างหนึ่งที่เหลือ ซึ่งสำคัญมากเช่นกันโดยที่บางคนบอกว่าซับซ้อนที่สุด และยุ่งยากที่สุดในการทำความเข้าใจในบรรดางบการเงินทั้งสามชนิด ก็คือ "งบกระแสเงินสด" ซึ่งเป็นงบการเงินที่บอกว่ามีเงินสด (เน้นว่า เงินสดๆ) วิ่งเข้าออกบริษัทเป็นจำนวนเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่นหนึ่งไตรมาส จะวันที่เท่าไรถึงเท่าไร หรือว่าในหนึ่งปีงบประมาณ เป็นต้น) หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ งบกระแสเงินสดนี้จะบอกว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน และเงินสดนี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของบริษัท

- งบกระแสเงินสดบอกอะไรเรา

งบกระแสเงินสดดูเหมือนๆ กับงบกำไรขาดทุนที่แสดงให้เราเห็นรายได้ที่เข้ามาและรายจ่ายที่ไหลออกไป แต่แน่นอนล่ะครับว่าจะต้องไม่เหมือนกันจริงๆ หรอก และความแตกต่างนี้ก็อยู่ที่ส่วนของเกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง (Accrual Accounting) นั่นเอง อย่างที่เราเคยได้พูดถึงมาแล้วในเรื่องของงบกำไรขาดทุนว่า บริษัทจะต้องบันทึกรายได้และรายจ่ายเมื่อมีการทำรายการ (Transaction) เกิดขึ้น ไม่ใช่เมื่อเกิดการไหลเข้าออกของเงินจริงๆ หลักการนี้เรียกว่าการจับคู่กัน (matching) คือรายจ่ายต่างๆ จะต้องจับคู่กันได้กับรายได้ที่เกิดจากรายจ่ายนั้นๆ เมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ ในขณะที่หลักการที่ว่านี้ฟังดูง่ายแต่ก็วุ่นวายโกลาหลมากเมื่อลงมือทำเข้าจริงๆ และงบกระแสเงินสดก็จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถแยกความโกลาหลนี้ออกจากกันได้

งบกระแสเงินสดจะจัดการแยกให้เราเห็นส่วนที่เป็นรายได้ที่ไม่ใช่เงินสดและรายจ่ายที่ถูกรวมเข้าไปในงบกำไรขาดทุนออกมาให้เห็น มีบริษัทจำนวนมากที่แสดงงบกำไรขาดทุนสวยหรูคือมีกำไรดี แต่ประสบความลำบากในการดำเนินงานในภายหลังเนื่องจากมีการจัดการด้านเงินสดไม่ดี คือมีเงินสดใช้ไม่เพียงพอ ถ้านักลงทุนสามารถอ่านงบกระแสเงินสดได้ดีก็จะสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า บริษัทนั้นกำลังจะมีปัญหาด้านเงินสดในไม่ช้า

ตอนที่ 41 (13 มี.ค. 54)

- เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash Flows from Operating Activities)

เนื่องจากบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้ด้วยหลายวิธี จึงต้องมีการแยกออกให้แน่ชัดว่าได้มาด้วยวิธีการใด งบกระแสเงินสดจึงแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1) เงินสดจากการดำเนินงาน
2) เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน และ
3) เงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน

เงินสดจากการดำเนินงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและจะบอกพวกเรานักลงทุนว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้จำนวนมากแค่ไหนจากการดำเนินงานตามปกติ (คือด้วยธุรกิจปกติที่บริษัทมีความชำนาญ - Core Business) ไม่ใช่มาจากการลงทุนอื่นหรือการกู้ยืมเงิน(สด)มา ดังนั้นตัวเลขของส่วนที่เป็นเงินสดจากการดำเนินงานจึงเป็นตัวเลขที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นตัวที่บอกว่าบริษัทสามารถทำเงินได้แค่ไหน โดยที่ในที่สุดแล้วเงินสดส่วนนี้ก็จะกลับมาตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนนั่นเอง ส่วนหลักๆ ของเงินสดจากการดำเนินงานนี้ก็เช่น

- รายได้สุทธิ
ตัวเลขนี้ได้มาโดยการดึงมาตรงๆ จากงบกำไรขาดทุน รายได้สุทธินี้เป็นตัวตั้งต้นที่จะนำมาคิดว่าบริษัทสามารถมีเงินสดได้เท่าไรจากการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีรายการอีกจำนวนมากในงบกำไรขาดทุนที่มีผลต่อรายได้แต่ไม่มีผลกับการไหลของเงินสด ดังนั้นรายการอื่นๆ (ที่จะพูดถึงตามหลังต่อไป) จะเป็นตัวเลขที่จะเอาเข้ามา "ช่วยปรับ" ตัวเลขรายได้สุทธินี้เพื่อให้ได้ตัวเลขของเงินสดที่บริษัทสามารถสร้างขึ้นได้จริงๆ

- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
ตามที่เราได้เคยพูดถึงไปแล้วในงบกำไรขาดทุน ค่าเสื่อมราคาเป็นวิธีทางบัญชีที่ใช้บันทึกการเสื่อมสภาพต่างๆ ของสมบัติต่างๆ, โรงงาน, ตึกอาคาร, เครื่องจักรต่างๆ ของบริษัท แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน แต่ค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบต่อการไหล(ออก)ของเงินสด ดังนั้นตัวเลขนี้จะถูกบวกกลับเข้าไปในตัวเลขของรายได้สุทธิ

- การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุนดำเนินงาน
Working Capital หรือทุนดำเนินงานนี้คำนวณได้จากสินทรัพย์หมุนเวียนลบด้วยหนี้สินหมุนเวียนที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน และตัวเลขนี้ก็บอกนักลงทุนเหมือนที่ชื่อของมันบอกไว้แหละครับว่าคือทุนที่บริษัทจะต้องมีไว้เพื่อการทำงาน ดังนั้น เงินสดใดๆ ที่ใช้ไป หรือได้มาจากทุนดำเนินงานจะถูกรวมคิดไว้ใน "เงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน" ด้วย

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแต่ละรายการของทุนดำเนินงานจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังอีกช่วงเวลาหนึ่งจะมีผลต่อการไหลของเงินสดของบริษัท ตัวอย่างเช่น ตัวเลขของลูกหนี้การค้า (Account receivable อยู่ในงบดุล - บริษัทขายของให้ลูกค้า ส่งใบเก็บเงินไปให้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน) ของบริษัท มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2553 (เทียบกับปีที่แล้ว) นี่ก็แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการเก็บเงินจากลูกค้าน้อยกว่าที่ได้บันทึกว่าสามารถขายได้ในทั้งปี 2553 ในงบกำไรขาดทุน ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี คือเป็นผลเสียในเรื่องของงบกระแสเงินสด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ "การเปลี่ยนแปลงสุทธิของทรัพย์สินหมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน" ในงบกระแสเงินสดของบริษัทเป็น "ติดลบ" แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเลขของเจ้าหนี้การค้า (Account Payable อยู่ในงบดุล - บริษัทซื้อสินค้ามา ได้รับใบแจ้งหนี้แล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน) มีขนาดเพิ่มขึ้น ก็หมายความว่าบริษัทมีความสามารถในการพยายามจ่ายเงินช้าๆ ได้ดีขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อการไหลของเงินสด

ตอนที่ 42 (14 มี.ค. 54)

ลองดู "ทางลัด" เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องของกระแสเงินสดให้ง่ายขึ้น โดยนักลงทุนควรจะรู้ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทุนดำเนินงานกับเงินสดดังนี้:
  . ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
  . ถ้าทรัพย์สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
  . ถ้าหนี้สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น
  . ถ้าหนี้สินมีจำนวนลดลง, กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะลดลง
ทรัพย์สินหมุนเวียนอาจจะรวมสิ่งต่างๆ เช่นสินค้าคงคลังและลูกหนี้การค้า (Account receivable) ในขณะที่หนี้สินหมุนเวียนอาจจะรวมหนี้สินระยะสั้นและเจ้าหนี้การค้า (Account payable) ไว้ด้วย

- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน
หลังจากที่ได้ปรับตัวเลขต่างๆ หมดแล้ว ตัวเลขที่เหลือก็คือเงินสดสุทธิที่ได้มาโดยกิจกรรมการดำเนินงาน หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ เงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขเดียวกันกับรายได้สุทธิ แต่เป็นตัวเลขที่บอกได้เป็นอย่างดีว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดจากการดำเนินงานโดยสิ่งที่ตัวเองถนัด (Core Business) ได้มากแค่ไหน

- เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน
ตัวเลขส่วนนี้ในงบกระแสเงินสดแสดงจำนวนของเงินสดที่บริษัทได้ใช้ไปในการลงทุน "การลงทุน" สามารถแบ่งออกได้เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Captital Expenditures) ซึ่งก็คือเงินสดที่จ่ายเพื่อได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ หรือเงินสดที่ใช้ในการลงทุนอื่นๆ เช่นที่ใช้ซื้อหรือขายพันธบัตรเป็นต้น ส่วนที่สำคัญที่สุดของรายการนี้ที่นักลงทุนจะต้องดูให้ดีคือ จำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ซื้อเครื่องจักร เครื่องกล) และจำนวนเงินสดที่ใช้ไปในการซื้อธุรกิจ/บริษัทอื่น ดูคำอธิบายต่อข้างล่างนี้นะครับ

- ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขแสดงจำนวนเงินสดที่บริษัทได้จ่ายออกไปเพื่อซื้อสิ่งของที่มีอายุยืนยาวเช่น ที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร เป็นต้น โดยทั่วไปในบัญชีภาษาอังกฤษเราอาจจะเรียกค่าใช้จ่ายในการลงทุนนี้ว่า "Capex" ก็ได้ ซึ่งเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการและเติบโตไปได้อย่างปกติ ตัวอย่างเช่นโรงแรมก็จะต้องมีการปรับปรุงห้องพักใหม่ ทำการซื้อทีวี ตู้เย็น ใส่ห้องพักของแขกต่างๆ เพื่อให้แขกที่มาพักเกิดความพอใจและแนะนำต่อๆ กันไป ค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้จะแสดงออกมาอยู่ในรายการ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capex) ในส่วนของ เงินสดจากกิจการการลงทุน

- กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)
ตัวเลขหนึ่งทางบัญชีในส่วนของงบกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจดีคือ "กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)" กระแสเงินสดอิสระนี้สามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมการดำเนินงาน (operating cash flow) ลบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures) กระแสเงินสดอิสระนี้แสดงจำนวนของเงินสดส่วนเหลือที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้ เงินสดส่วนนี้สามารถใช้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น หรือนำไปใช้ลงทุนในโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจโดยไม่มีผลร้ายกับการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัท เงินส่วนนี้สำคัญมากต่อผู้ถือหุ้นแบบสุดๆ ล่ะครับ

- เงินสดที่ใช้ไปในการซื้อกิจการอื่น
รายการเงินสดที่ใช้ในการซื้อกิจการ แสดงจำนวนเงินที่บริษัทได้ใช้ไปในการซื้อกิจการของบริษัทอื่น โดยทั่วไปแล้ว บริษัทมักจะจ่ายเงินมากเกินไปในการซื้อกิจการของคนอื่นเข้ามาเป็นของตัวเอง ดังนั้นนักลงทุนควรจะคอยตรวจดูรายกานี้เพื่อดูว่าบริษัทได้จ่ายเงินออกไปเท่าไร และมากเกินไปหรือไม่ ตัวเลขนี้อาจจะทำให้นักลงทุนสามารถมีความรู้สึกได้ว่า การที่บริษัทเติบโตนั้น มาจากการดำเนินงานภายในของตัวเอง หรือว่าจากการซื้อกิจการอื่นเข้ามา (แล้วกิจการพวกนั้นทำกำไรให้)

- กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน
ส่วนสุดท้ายของงบกระแสเงินสดคือ "กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน" ส่วนนี้จะเป็นที่รวมของกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหรือเจ้าหนี้ของบริษัท ตัวอย่างเช่นถ้ามีการออกหุ้นใหม่หรือซื้อหุ้นคืน การสร้างหนี้เพิ่มหรือการจ่ายใช้หนี้คืน รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลออกมาก็จะบันทึกไว้ในส่วนนี้  แม้ว่ารายการต่างๆ ในส่ว่นนี้จะดูชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายด้วยชื่อของมันแบบตรงไปตรงมา เช่นเงินปันผล ก็คือเงินปันผล แต่ขอให้พวกเรานักลงทุนดูตรงการออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน ว่ามีจำนวนมากน้อยอย่างไร

- การออกหุ้นใหม่ และการซื้อหุ้นคืน (Issuance/Purchase of Common Stock)
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สำคัญเนื่องจากจะแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจนั้น บริษัทใหม่ๆ ที่กำลังโตอย่างรวดเร็วจะต้องการเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หนึ่งในวิธีหาเงินคือการออกหุ้นใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการลด (dilute) ส่วนของความเป็นเจ้าของของเจ้าของเดิมลง แต่ก็เป็นการทำให้บริษัทขยายกิจการได้ ในขณะที่บริษัทที่เติบโตแข็งแรงแล้วและมีกระแสเงินสดอิสระจำนวนมาก จะทำการซื้อหุ้นคืน ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของหุ้นที่เหลือ (ในตลาด ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน) มีค่าสูงขึ้น การจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืน เป็นของเพียงสองอย่างที่บริษัทสามารถทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดของบริษัทได้

Credit >> http://muegao.blogspot.com