งบกำไรขาดทุน (Income Statement, P/L statement)

งบกำไรขาดทุน (Income Statement, P/L statement)

งบแรกที่เราสนใจคือ งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบการเงินส่วนที่บอกว่าการดำเนินกิจการของบริษัทนั้น มีกำไรหรือไม่มีกำไร สำหรับงบกำไรขาดทุนนี้ ผมอยากจะเน้นให้เพื่อนๆ ได้ทราบในสองจุดก็คือ งบกำไรขาดทุนจะเป็นบัญชีส่วนที่บอกว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน "ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง" และการที่บอกว่าได้กำไรหรือขาดทุนนั้น "อาจจะไม่อยู่ในรูปของตัวเงินหรือเงินสด" ก็ได้ ไว้ว่างๆ เราค่อยกลับมาดูในจุดนี้กันนะครับ ภายในงบกำไรขาดทุน ตัวเลขต่างๆ จะบอกว่าบริษัทได้มีรายได้จากการขายมาเป็นเงินเท่าไร (บางบริษัทอาจจะมีรายได้อัตราแลกเปลี่ยน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น เพิ่มเติมเข้ามาอีก) และใช้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างสินค้าและบริการเป็นเงินเท่าไร ใช้จ่ายเงินส่วนที่เป็นเงินประกอบรายการ (เช่นค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่างๆ) เป็นเงินเทาไร มีค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี จิปาถะทีเป็นรายจ่าย (โห... แย่จริงๆ นะครับ รายรับมีนิดเดียว รายจ่ายมีเยอะแยะมากมายจริง) และสุดท้ายแล้วความแตกต่างของรายได้และรายจ่ายเป็นเท่าไร (ก็คือกำไรหรือขาดทุน) นักลงทุนสามารถดูตัวเลขกำไร/ขาดทุนนี้ว่าบริษัทได้กำไรมากขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา และสามารถที่จะดูแนวโน้มของธุรกิจได้

ตอนที่ 19 (17 ก.พ. 54)

ในเรื่องของกำไร/ขาดทุน นี้ ถ้าพูดกันแบบหยาบๆ ง่ายๆ ก็สามารถจะพูดได้เป็น
กำไร = รายได้ - รายจ่าย

เมื่อใดที่รายได้มากกว่ารายจ่าย ก็คือมีกำไร หรือในทางกลับกัน เมื่อใดที่รายได้น้อยกว่ารายจ่ยก็คือขาดทุน ง่ายๆ แค่นี้แต่ว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรพิจารณาอยู่บ้าง ซึ่งเราจะค่อยๆ ดูว่าแต่ละส่วนของงบกำไร/ขาดทุนนี้ว่ามีอะไร และจะดูว่าตัวเลขต่างๆ เหล่านี้สามารถมีค่าหรือมีลักษณะต่างกันไปในบริษัทประเภทที่ต่างกันไปอย่างไร และในที่สุดเพื่อนๆ จะสามารถรู้วิธีการอ่านงบกำไรขาดทุน และสามารถตอบตัวเองเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของบริษัทได้

- รายได้ (Revenue)
แม้ว่า งบกำไร/ขาดทุนของแต่ละบริษัทที่อยู่ในคนละอุตสาหกรรมกันอาจจะดูต่างกันไปบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันคือจะเริ่มด้วยรายได้สำหรับช่วงเวลาของงบการเงินนั้น รายได้นี้บางทีก็เรียกว่ารายได้จากการขาย เป็นรายได้ที่บริษัทได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ แต่ถ้าเราไปดูงบกำไรขาดทุนของบริษัทอย่างอื่นเช่นธนาคารหรือสถาบันการเงิน รายได้จะมาจากดอกเบี้ย (รับ) นั่นคือเขาไม่ได้ขายอะไร งบกำไรขาดทุนของธุรกิจประเภทดังกล่าวนี้ก็จะดูต่างออกไปจากธุรกิจอื่นโดยทั่วไป

รายได้ที่บันทึกนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติของธุรกิจด้วย ตัวอย่างเช่นเมื่อเราซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้า ร้านหรือห้างก็จะบันทึกรายได้เมื่อเราได้จ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือจ่ายด้วยบัตรเครดิต แต่ถ้าเป็นบริษัทประกัน บริษัทจะค่อยๆ ทะยอยบันทึกรับรู้รายได้ออกเป็นช่วงๆ แยกย่อยออกมาตลอดอายุการเอาประกันของลูกค้าที่ซื้อประกันนั้น ซึ่งสำหรับในรายละเอียดแล้ว นักลงทุนจะต้องเข้าไปตรวจดูว่านโยบายการบันทึกรายได้ของบริษัทที่ตัวเองสนใจนั้นทำอย่างไร ซึ่งจะอยุ่ในหมายเหตุต่อท้ายงบการเงินเพื่อที่จะเข้าใจว่าบริษัทมีการบันทึกรายได้อย่างไร

ตอนที่ 20 (18 ก.พ. 54)

- รายจ่ายต่างๆ (Expenses)
ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงิน (อย่างน้อยก็ต้องจ่ายเงินบ้างล่ะ แม้ว่าจะพยายามจับเสือมือเปล่าก็ตาม) เพื่อสร้างรายได้หรือผลกำไร และเงินที่ไหลออกมาเพื่อทำให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือความพร้อมในการบริการก็คือรายจ่ายของบริษัท รายจ่ายของบริษัทมักจะถูกจัดเป็นกลุ่มๆ คล้ายๆ กันเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร

ต้นทุนขาย หรือเรียกว่าต้นทุนของสินค้าที่ขาย (Cost of good sold - COGS)
ก็เป็นไปตามชื่อของมันล่ะครับคือ ต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและ/หรือบริการที่สามารถขายหรือให้บริการและมีรายรับเข้ามายังบริษัท ตัวอย่างก็คือวัตถุดิบ ของที่ซื้อมาเพื่อขายไป ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงงานผลิต และค่าจ้างแรงงาน ตัวอย่างเช่นถ้าบริษัทซื้อขนมเค้กมาเพื่อขายต่อ ราคาของขนมเค้กที่ซื้อมานั้นก็เป็นต้นทุน หรือหากบริษัทผลิตเบาะรถยนต์ ต้องซื้อหนังฟอกมาเป็นวัตถุดิบ ราคาต้นทุนของหนังสัตว์นั้นก็เป็นต้นทุนขาย หรือ Cost Of Good Sold

ตอนที่ 21 (19 ก.พ. 54)

- ค่าใช้จ่ายในการขาย ทั่วไป และทางธุรการ
ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายทั่วไป และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำงานทางธุรการ เรียกรวมๆ กันว่า SG&A (Selling, General, and Administration expenses) ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายหลายอย่างรวมกัน ค่าใช้จ่ายในการขายเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดการขาย ตัวอย่างเช่นค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าตอบแทนสำหรับพนักงานขาย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารงานบุคคลหรือเกี่ยวกับการจัดการสภาพของสำนักงาน (เช่นการตกแต่งออฟฟิศ ค่ากาแฟ) จะจัดอยู่ในค่าใช้จ่ายด้านธุรการ

- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ลองดูทีละอันนะครับ

ค่าเสื่อมราคา
เมื่อบริษัทได้ตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อใช้งานในการผลิตสินค้า หรือแม้กระทั่งสร้างตึกอาคาร เครื่องจักรหรืออาคารเหล่านั้นจะได้รับการประเมินอยู่แล้วว่าจะสามารถใช้งานได้นานเท่าไรก่อนที่จะเสื่อมสภาพและไม่สามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายสำหรับสินทรัพย์นี้จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว แต่ว่าจะบันทึกเป็นส่วนๆ กระจายออกไปตลอดช่วงอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้น ค่าใช้จ่ายนี้จะแทนความเสื่อมสภาพหรือความสึกหรอของสินทรัพย์นั้นและเรียกว่าค่าเสื่อมราคา

ตอนที่ 22 (20 ก.พ. 54)

ค่าตัดจำหน่าย
ก็เช่นเดียวกันกับค่าเสื่อมราคา เพียงแต่ว่าค่าตัดจำหน่ายจะใช้กับสินทรัพย์ทางอ้อม หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่นตราสินค้า แต่ในหลายกรณี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ถูกบันทึกไว้ในรายการ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กล่าวไว้ข้างบน ดังนั้นเราจึงอาจจะไม่เห็นว่ามีปรากฏเขียนไว้แยกออกมาอย่างชัดเจนในงบกำไรขาดทุน อย่างไรก็ตาม ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำน่ายจะถูกเขียนไว้ในในงบกระแสเงินสดซึ่งเป็นอีกงบการเงินหนึ่งที่สำคัญอย่างชัดเจน

นักลงทุนควรมีข้อสังเกตจุดหนึ่งว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนี้ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด เราจะพูดถึงเรื่องของรายรับและรายจ่ายที่ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดในช่วงต่อไปเมื่อเราพูดถึงเรื่องหลักเงินคงค้างทางบัญชี (accrual accounting) กันครับ

- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เป็นตามชื่อของมันคือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานหลักของกิจการแต่ว่าไม่สามารถถูกรวมไว้ในประเภทต่างๆ ที่ผ่านมาได้บ่อยครั้งที่ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นี้อย่างใกล้ชิด บางบริษัทอาจจะพยายามทำให้การเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวนี้ดูเหมือนจะเป็นการเกิดขึ้นเป็นปกติ บางทีบริษัทก็รวมเอาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการปิดโรงงานย่อยเข้าไว้ หรือการใช้จ่ายเงินกับอะไรบางอย่างที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนของบริษัทก็เป็นได้

ตอนที่ 22 (21 ก.พ. 54)

- ดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย
บางบริษัท เลือกใช้วิธีการกู้เงินเข้ามา เพื่อที่จะเป็นทุนในการดำเนินกิจการ (นอกจากที่จะใช้ส่วนที่มาจากผู้ถือหุ้น คือพยายามรบกวนผู้ถือหุ้นในต้องควักกระเป๋าน้อยที่สุด) ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจำต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยให้กับแหล่งเงินกู้ด้วย (เป็นดอกเบี้ยจ่าย) และในทางกลับกัน หากบริษัทมีเงินสดในมือเหลืออยู่มากเกินไป บริษัทก็อาจจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อ ถ้าการลงทุนี้เป็นการให้ผู้อื่นกู้ ก็จะได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้เหล่านี้ด้วย (เป็นดอกเบี้ยรับ) ในงบกำไรขาดทุน เราอาจจะเห็นดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย เขียนแยกไว้ต่างหากจากกัน หรือว่ารวมๆ กันไว้หักลบกลบหนี้กันเสร็จสรรพก็ได้

- ภาษี
เช่นเดียวกับบุคคลที่เราจะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเมื่อมีเงินได้ บริษัทก็จะต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน สำหรับบริษัทที่มีกำไร ภาษีจะเป็นรายจ่ายในงบกำไรขาดทุน

การคำนวณที่สำคัญในงบกำไรขาดทุน

จากข้างบน เราได้ดูเรื่องของรายรับรายจ่ายต่างๆ ที่เป็นตัวเลขต่างหากที่สำคัญซึ่งมักจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจนไว้แล้ว ต่อจากนี้ลองมาดูตัวเลขที่บางทีจะมีการคำนวณเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วเอามาใส่ไว้ในงบกำไรขาดทุนให้เราเลย (จึงเป็นไปได้ที่เรามักจะไม่รู้รายละเอียดมากเกี่ยวกับมัน เสร็จแล้วก็อาจจะตกเป็นเหยื่อ... เอ๊ย ตกเป็นทาสของตัวเลข แบบไม่รู้ๆ ไป)

ตอนที่ 23 (22 ก.พ. 54)

- กำไรขั้นต้น
ปกติแล้ว เราจะไม่เห็นตัวเลขนี้ในงบกำไรขาดทุนหรอก แต่ก็สามารถคำนวณเอาเองได้ไม่ยาก แค่เอารายได้ (Revenue) ลบด้วยรายจ่ายจากต้นทุนสินค้าและบริการ (Cost of good sold) กำไรขั้นต้นนี้จะบอกให้เรารู้ถึงกำไรที่ได้ หรือส่วนต่างจากการทำกิจการของบริษัท ซึ่งสามารถคำนวณเป็น อัตรากำไรขั้นต้น (ในรูปร้อยละ) อีกด้วย ซึ่งยิ่งมาก ยิ่งดี ตัวอย่างเช่น บริษัทจ่ายค่าต้นทุนซื้อปูนมาขายเป็นเงิน 9 ล้านบาท และขายได้เป็นเงิน 12 ล้านบาท จะได้กำไรขั้นต้น 3 ล้านบาท และคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 33% เป็นต้น อัตรากำไรขั้นต้นนี้ เป็นสิ่งที่บอกความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย ถ้าธุรกิจมีการแข่งขันสูง และ/หรือ กิจการนั้นไม่มีความแตกต่างที่ลูกค้าคิดเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ อัตรากำไรขั้นต้นจะไม่สูงนัก บางบริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 10-15% นับว่าอันตรายมาก เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินเปลี่ยนแปลงไป ราคาวัตถุดิบเปลี่ยนไป และไม่สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ทันที ก็อาจจะพลิกจากกำไรเป็นขาดทุนได้ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ครับ

- รายได้หรือกำไรจากการดำเนินงาน
บางคนบอกว่านี่คือตัวเลขที่สำคัญที่สุดที่จะบอกความสามารถจริงๆ ของบริษัท รายได้จากการดำเนินกิจการสามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งคือกำไรจากการดำเนินกิจการ คำนวณได้จากส่วนต่างของรายได้ (Revenue) ลบด้วยต้นทุนสินค้าและบริการ (Cost Of Good Sold), และค่าใช้จ่ายทุกอย่าง (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร, ค่าเสื่อมราคา, ค่าตัดจำหน่าย, รายจ่ายในการปรับโครงสร้าง, และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ) รายได้จากการดำเนินงานนี้เป็นตัวชี้วัดกำไรและความสามารถในการทำกำไร (หรือในทางตรงกันข้าม คือการขาดทุน) ของบริษัทในการดำเนินกิจการหลักของบริษัท การได้บางทีเราจะเรียกรายได้จากการดำเนินงานนี้ว่า รายได้/กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT - Earning Before Interest and Taxes) เนื่องจากว่ารายจ่ายพวกดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ไม่ใช่รายการที่เกิดจากการดำเนินงาน รายได้ที่เป็น EBIT นี้ เป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้เท่าไรถ้าสมมติว่าบริษัทไม่มีดอกเบี้ยจ่าย (คือโดยประมาณว่าไม่มีหนี้สินระยะยาว) และไม่ต้องเสียภาษี การแยกตัวเลขภาษีออกไปก่อนก็เนื่องจากว่า บริษัทแต่ละชนิด ที่มีรายได้/กำไรต่างๆ กัน หรือได้รับการยกเว้น/ส่งเสริมกิจการจากภาครัฐต่างๆ กัน จะมีภาระภาษีต่างกัน การแยกออกไปก็ทำให้นักลงทุนสามารถพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ตอนที่ 24 (23 ก.พ. 54)

- กำไรสุทธิ
กำไรสุทธิ คือสิ่งที่เหลือทั้งหมดของบริษัท หลังจากหักค่าใช้จ่ายใดๆ สารพัดอย่างออกไปแล้ว บางทีตัวเลขนี้ฝรั่งมังค่าชอบเรียกกันว่า "บรรทัดสุดท้าย" (Bottom Line) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือผลสุดท้าย หลังจากที่ดูงบกำไรขาดทุนมายาวเหยียด สุดท้ายก็ต้องจบที่บรรทัดนี้ล่ะครับว่า ตกลงได้กำไรเท่าไร บรรดานักลงทุน ขาใหญ่ ขาเล็ก หรือแม้แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลาย จะพูดถึงตัวเลขของกำไรสุทธิอยู่มาก แต่พวกเรานักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลขนี้เป็นผลพวงรวมของทุกอย่าง ซึ่งรวมทั้งกำไร/รายได้พิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และในทางตรงกันข้าม คือบริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่นจ่ายค่าปรับอะไรบางอย่าง) ทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนไปได้ นอกจากนั้นแล้ว ตัวเลขกำไรสุทธินี้ อาจจะแตกต่างจากตัวเลขของการไหลเวียนของเงินสดอยู่ได้ไม่น้อย ดังนั้นแล้ว แม้ว่าตัวเลขกำไรสุทธิจะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เป็นตัวเลขสุดท้ายของชีวิตที่เราจะมาดูกัน เรายังจะต้องดูอย่างอื่นประกอบไปด้วยอีกมาก

- กำไรต่อหุ้น
กำไรต่อหุ้น หรือที่เรียกว่า Earning Per Share (EPS) ก็คือกำไรสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น (คือหุ้นทั้งหมดที่ออกแล้ว ลบด้วยหุ้นซื้อคืน หรือเรียกว่า Outstanding Shares) ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตัวเลขนี้ พวกเราและนักวิเคราะห์ทั้งหลายจะให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่บริษัททำให้ หรือ สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่ตัวเลข EPS นี้สำคัญ แต่เราก็ต้องดูข้อมูลทางด้านการเงินอื่นๆ ของบริษัทประกอบไปด้วย

พวกเราบางคนอาจจะเป็นคนช่างสังเกต และเห็นว่ามีตัวเลข EPS จำนวนสองตัวอยู่ในงบกำไรขาดทุน ตัวแรกคือ EPS แบบพื้นฐาน (Basic EPS) และ diluted EPS (diluted แปลว่าเจือจาง เหมือนเราเอาน้ำเปล่า เติมใส่ในน้ำเชื่อม ความหวานก็จะลดลงเนื่องจากถูกเจือจาง ในกรณีของหุ้น คำว่า dilute คือการที่มีหุ้นใหม่ โผล่เพิ่มเข้ามาผสมกับหุ้นเดิมที่มีอยู่ ทำให้สัดส่วนการเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง หรือเจือจางลง และผลที่ตามมาอีกอย่างคือต้องแบ่งกำไรไปยังหุ้นใหม่นั้นด้วย ทำให้เกิดการเจือจางของกำไรต่อหุ้นด้วย) ตัวเลขสองตัวนี้ต่างกันเนื่องจากตัวหาร (จำนวนหุ้น ซึ่งคือ Outstanding Shares) ต่างกัน โดยที่ EPS พื้นฐานได้มาจากการใช้ตัวเลข Basic Shares คือจำนวนหุ้น Outstanding จริงๆ ในเวลานั้นๆ เป็นตัวหาร และในทางกลับกัน ตัวเลขที่เรียกว่า Diluted EPS จะใช้ตัวหารเป็น Oustanding share ที่เป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งอาจจะมาจากการแปลงสภาพมาจากตราสารใดๆ ของบริษัท เช่นวอร์แร้นท์, ESOP (Employee Stock Options ตราสารให้สิทธิพนักงานแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ), หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น การใช้ตัวเลขของ Diluted EPS จะดูเข้าท่ากว่าเพราะเป็นการเผื่ออนาคต (อันเลวร้ายลง) เอาไว้ด้วยแล้ว

ตอนที่ 25 (24 ก.พ. 54)

- บัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีการบันทึกรายรับ/จ่ายโดยอาศัยเกณฑ์บัญชีแบบคงค้างด้วย มันมีประโยชน์ที่ตรงไหน คำตอบก็คงเป็นเพราะว่ามันมีประโยชน์จริงๆ ล่ะครับ ไม่อย่างนั้นคงไม่ถูกพัฒนามาใช้จนกลายเป็นมาตรฐานหนึ่งทางบัญชีไปได้ เรื่องนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการอธิบายด้วยตัวอย่าง เช่น สมมติว่า เพื่อนๆ ทำการสมัตรสมาชิกรับหนังสือพิมพ์เอาไว้อ่านตอนเช้าๆ (จะเป็นหนังสือพิมพ์หัวดำ หัวสี เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับหุ้น ภาษาอะไรก็แล้วแต่ ไม่เกี่ยงกันล่ะ) บริษัทที่ทำหนังสือพิมพ์ ก็คงจะขอให้เพื่อนๆ ต้องจ่ายเงินค่าหนังสือพิมพ์ของทั้งปีเสียก่อนเลยแต่ทีแรก (โอ้ว) แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งที่บริษัทหนังสือพิมพ์ ได้รับเงินเต็มจำนวนจากการจ่ายของเพื่อนๆ ตั้งแต่ต้นปีที่รับหนังสือพิมพ์นั้น แต่ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกเงินรับนี้ทั้งจำนวนเป็นรายได้โดยทันที (แต่ในบัญชีกระแสเงินสดจะเห็นว่าบันทึกเต็มทั้งจำนวน เพราะว่าเป็นเงินสดรับจริง)

เหตุการณ์ตามตัวอย่างข้างบนนี้ล่ะคับที่เป็นวิธีทำงานของหลักการบัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง การบัญชีแบบนี้มีหลักการคือจะต้องบันทึกรายจ่ายและรายรับให้สัมพันธ์กับระยะเวลากำหนดหนึ่งๆ ที่ขณะที่รายจ่ายและรายรับนั้นเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นบริษัทจะบันทึกรายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง่ได้ก็ต่อเมื่อ ได้มีการขายหรือให้บริการที่สัมพันธ์กับระยะเวลานั้นเกิดขึ้น ในตัวอย่างของหนังสือพิมพ์ข้างต้น บริษัทจะต้องค่อยๆ บันทึกรายรับตามระยะเวลาที่ผ่านไป ตลอดอายุการให้บริการแก่ผู้รับหนังสือพิมพ์ ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ขายหนังสือพิมพ์ ยังคงจะต้องบันทึกรายได้ (เป็นครั้งแรก) เป็นเวลานับสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งหลายเดือนหลังจากที่ได้รับเงินจากเรา

บัญชีแบบเกณฑ์คงค้างนี้ก็มีผลต่อการซื้อและใช้ทรัพย์สิน เครื่องจัก ขนาดใหญ่หรือแม้แต่อาคาร ด้วย เมื่อบริษัทซื้อทรัพย์สินเหล่านั้น บริษัทจะไม่บันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดล่วงหน้าไว้เป็นรายจ่ายของบริษัทขณะที่เริ่มซื้อสินทรัพย์นั้นเข้ามาไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่ว่าจะบันทึกการซื้อทรัพย์สินนั้นเอาไว้ในงบดุล (ไว้เราจะคุยกันเรื่องงบดุลในภายหลังนะครับ) และในแต่ละปีที่ผ่านไป บริษัทก็จะบันทึกเอาบางส่วนของราคาทรัพย์สินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนในรูปของค่าเสื่อมราคา (เมื่อเป็นดังนี้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีผลไปมีส่วนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล ลดลง)

ตอนที่ 26 (25 ก.พ. 54)

- ค่าเสื่อมราคา
ค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ซึ่งแทนการที่ทรัพย์สินหรือเครื่องไม้เครื่องมือของบริษัท มีการเสื่อมสภาพลง (เหมือนกับการที่เราซื้อรถ และรถก็มีค่า มีราคา น้อยลงทุกปี เพราะว่าอายุการใช้งานที่เหลือก็สั้นลงๆ) ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้มูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์นั้นๆ ลดลงๆ ทุกปี (มีผลทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลง โดยจะได้รับการสะท้อนให้ถูกต้องโดยการบันทึกค่าเสื่อมราคานี้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท) ตรงจุดนี้ ขอให้เพื่อนนักลงทุนสังเกตด้วยว่า ค่าเสื่อมราคานี้ไม่ใช่รายจ่ายที่เป็นเงินสด เพราะว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อบริษัทได้ทำการซื้อสินทรัพย์นั้น และได้บันทึกเอาไว้แล้วในงบดุล (คือ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นเงินสดลดลง และแปรรูปไปเป็นทรัพย์สินส่วนที่เป็นที่ดินอาคารอุปกรณ์ แทน)

บัญชีแบบเกณฑ์คงค้าง ทำให้เราสามารถพิจารณารายได้และรายจ่ายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้บริษัทสามารถจับคู่สิ่งที่บริษัทขายหรือให้บริการได้ กับรายจ่ายที่เกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับการขายนั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ถ้าบริษัทไม่ได้ใช้เกณฑ์บัญชีแบบคงค้าง พวกเรานักลงทุน (หรือใครๆ ก็ตาม) ที่นั่งดูบัญชีอยู่ จะทำการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้ยาก ว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้นบริษัทได้กำไรหรือขาดทุนจริงๆ หรือไม่และเป็นจำนวนเท่าไรแน่ แต่ด้วยการใช้หลักบัญชีแบบเกณฑ์คงค้างนี้ นักลงทุนจะเห็นได้ว่า เงินที่บริษัทรับเข้ามา (เป็นเงินสดๆ ก้อนโตนี่ล่ะ) ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นรายได้ของบริษัททั้งจำนวนเสมอไป (ย้อนกลับไปดูกรณีบริษัทขายหนังสือพิมพ์) และในทางกลับกัน รายจ่ายที่จ่ายออกไป (เป็นเงินสดๆ ก้อนโตอีกเหมือนกัน) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรายจ่ายของบริษัททั้งก้อนในช่วงเวลาหนึ่งๆ ด้วยเช่นกัน นี่เป็นจุดที่นักลงทุนจะต้องจำไว้ให้ดีเมื่อทำการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท

Credit >> http://muegao.blogspot.com